Skip to main content
sharethis

รายงานสถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะ (Health Effect Institute) จากสหรัฐฯ ระบุว่ามีประชากรมากกว่าร้อยละ 95 ของโลกต้องสูดอากาศเสียซึ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพ ผู้เผชิญปัญหาหนักสุดคือคนจน ช่องว่างระหว่างประเทศที่มีมลพิษน้อยที่สุดกับประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดมีช่องว่างห่างกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพควันจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม (ที่มา:Maxpixel)

17 เม.ย. 2561 ในรายงานชื่อ "สถานภาพของอากาศโลก" (State of Global Air) ปี 2561 ระบุว่าประชากรราวร้อยละ 95 ของโลกอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือมากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร ประชากรเกือบร้อยละ 60 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละอองในอากาศมากกว่า 35 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร

สถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะระบุว่า มลภาวะทางอากาศมาจากทั้งฝุ่นละอองและก๊าซที่ผสมปนเปกัน ในการวัดมลภาวะภายนอกมีการวัดตามขนาดฝุ่นละอองระดับละเอียดคือเล็กกว่าหรือเท่ากับ 2.5 ไมโครเมตร หรือที่เรียกว่า PM 2.5 นอกจากมลภาวะทางอากาศภายนอกแล้ว ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในเขตชนบทมีความเสี่ยงต่อมลภาวะทางอากาศในครัวเรือนด้วยซึ่งมักจะมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงหุงต้มต่างๆ เช่น ถ่าน ฟืนหรือเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งเผาไหม้แล้วเกิดเขม่าควัน ผนวกกับการที่ครัวเรือนขาดระบบระบายอากาศและเขม่าควัน

มีผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการเผชิญมลภาวะทางอากาศกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คน 6 ล้านคนเสียชีวิตในปี 2560 เพราะมลภาวะเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ, หัวใจวาย, มะเร็งปอด และโรคปอดเรื้อรัง ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากมลภาวะครึ่งหนึ่งคือประชากรของจีนกับอินเดีย

บ็อบ โอคีฟ รองประธานของสถาบันผลกระทบด้านสุขภาวะกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างประเทศที่อากาศดีกับประเทศที่อากาศเป็นพิษอยู่ในระดับที่ห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่ทำให้มลภาวะแย่ลงไปเรื่อยๆ ในช่วงที่พยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยในตอนนี้มีช่องว่างระดับมลภาวะระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเป็น 11 เท่า เทียบกับในปี 2533 ที่วัดได้ 6 เท่า เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนายังไม่มีระบบควบคุมมลภาวะที่ดีพอ

อย่างไรก็ตามในประเทศที่ดูมีปัญหาหนักๆ อย่างจีนกับอินเดียก็กำลังพยายามพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้ โอคีฟระบุว่าถึงแม้จะยังต้องแก้ไขปัญหาอีกยาวไกล แต่จีนก็พยายามปรับปรุงอย่างจริงจังด้วยการลดถ่านหินในประเทศตัวเองและพยายามควบคุมมลภาวะมากขึ้น ขณะที่อินเดียก็พยายามลดปัญหามลภาวะภายในครัวเรือนด้วยการให้หันมาใช้ก๊าซ LPG และการเข้าถึงไฟฟ้า

ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงมีปัญหามลภาวะซึ่งหลักๆ มาจากการจราจรบนท้องถนนโดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นปัญหาที่ทำให้มีคนเสียชีวิตหลายล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม โอคีฟบอกว่ารัฐบาลหลายประเทศถูกกดดันให้ต้องแก้ปัญหานี้มากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนที่มากขึ้นด้วย โดยโอคีฟมองว่าการเรียกร้อง การให้ข้อมูลและปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับเรื่องปัญหามลภาวะทางอากาศในอินเทอร์เน็ตส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเรื่องนี้ นอกจากความเป็นห่วงเรื่องปากท้องแล้วประชาชนมีวิธีการหารือในที่สาธารณะกันมากขึ้น

รายงานสถานภาพของอากาศโลกที่ออกมาเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมามีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งจากการสำรวจผ่านดาวเทียมและการสังเกตการณ์บนภาคพื้นดิน รวมถึงรวบรวมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของมลภาวะซึ่งอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ในระยะยาว

เรียบเรียงจาก

More than 95% of world's population breathe dangerous air, major study finds, The Guardian, Apr. 17, 2018

How clean is the air you breathe?, State of Global Air

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net