Skip to main content
sharethis

“เรากลายเป็นคนไม่เคร่งศาสนา” คือประโยคหนึ่งที่สมัคร์บอกขณะที่เรานั่งคุยกัน แววตาและน้ำเสียงของเขาไม่ได้เคร่งเครียดจริงจัง แต่คล้ายแฝงความเจ็บปวด

เราสนใจเรื่องราวของเขาตั้งแต่ตอนได้อ่านบทความของเขาเกี่ยวกับเรื่อง ‘เควียร์’ ในศาสนาอิสลาม และประสบการณ์ตรงของเขาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กในโรงเรียนสอนศาสนา ทั้งยังมีโอกาสได้ฟังการบรรยายของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกในเวลาต่อมา 

สมัคร์ กอเซ็ม คือชายร่างท้วมผิวคล้ำหน้าตาเข้มและมีรอยยิ้มที่เป็นมิตร ออกจะขี้อายอยู่สักหน่อยหากรู้จักกันผิวเผิน แต่เมื่อแสงแดดในร้านกาแฟเริ่มอ่อนลง เราก็คุยกันอย่างออกรสมากขึ้น

เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ชั่วคราวอยู่ที่มิวเซียมสยาม ก่อนหน้านี้เขาเรียนปริญญาตรีและโทในสายมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเป็นนักวิชาการมุสลิมที่สนใจเรื่องของ ‘เควียร์’ ซึ่งพอจะเทียบเคียงความหมายว่า แปลก, พิลึก, วิตถาร ทั้งในด้านเพศและในด้าน “ความเป็นอื่น” ซึ่งออกมาในงานศึกษาวิจัยที่เขาทำควบคู่ไปกับงานศิลปะทั้งภาพถ่ายและวิดีโออาร์ต

สมัคร์พูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Spotlight ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ในปี 2015 ซึ่งว่าด้วยทีมข่าวสืบสวนที่เปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กชายของบาทหลวงในศาสนาคริสต์ มีคำกล่าวหนึ่งในหนังที่บอกว่า นอกจากเป็นการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว มันยังเป็นการล่วงละเมิดทางจิตวิญญาณด้วย สมัคร์คิดว่าเขาเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน

เขาเกิดในครอบครัวมุสลิมที่จังหวัดระยอง ฐานะค่อนข้างยากจน มีพี่น้อง 9 คน และเขาเป็นคนที่ 5 เป็นลูกคนกลางอย่างที่มีคนบอกกันว่า จะแปลกออกไปจากคนอื่นๆ และเป็นลูกที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง

“เราก็รู้ว่าเราเป็นตุ๊ดมาตั้งแต่เด็ก ตอนประถมก็เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ไม่ได้สาวมากแต่นุ่มนิ่ม เรียบร้อย ออกแนวดื้อเงียบ” คือความทรงจำเกี่ยวกับเพศของตัวเองที่สมัคร์เล่าให้ฟัง แต่ความทรงจำที่เป็นบาดแผลฝังใจเขา ความทรงจำที่มีทั้งช่วงที่เขาจำได้แม่นและช่วงที่เขาจำอะไรแทบไม่ได้เพราะอยากลืมมันไป คือความทรงจำในวัย 12 ปี

 

สมัคร์วัย 12 ปี

ป้าบอกว่า เหตุการณ์นี้เราจะต้องถูกพระเจ้าลงโทษ พระเจ้าลงโทษพวกที่เป็นเกย์ มันอยู่ในคัมภีร์

สมัคร์เล่าว่า ตอนอายุ 12 ขวบ มีเพื่อนของพ่อเอาเขาไปเลี้ยงที่ท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรีในชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู เขาได้ไปเรียนที่โรงเรียนปอเนาะซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนสอนศาสนา เขาอธิบายความรู้สึกในช่วงนั้นว่า

“ความรู้สึกมันเหมือนที่บ้านทิ้งให้เราไปอยู่กับคนอื่นตั้งแต่วันนั้น ไปอยู่กับคนที่ไม่ได้รู้จักแต่ก็เป็นโอกาสเดียวที่จะได้เรียนหนังสือ บ้านที่เรามาอยู่ห่างจากโรงเรียนแค่ประมาณหนึ่งกิโลเมตร แต่เราไม่ค่อยได้กลับบ้าน เพราะป้าที่เรามาอยู่ด้วยค่อนข้างระเบียบเยอะ ชอบดุ”

ที่โรงเรียนปอเนาะจะแบ่งแยกหญิงชายชัดเจนตามหลักศาสนาอิสลาม แม้กระทั่งถนนยังแบ่งเป็นฝั่งชายหญิง การแตะต้องตัวเพศตรงข้ามเป็นเรื่องบาป ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเซ็กส์ มีเซ็กส์ได้ต่อเมื่อแต่งงานกันแล้วเท่านั้น สมัคร์อยู่ในสังคมชายล้วน ได้เจอรุ่นพี่หลายคนที่อยู่ปีสูงๆ อายุ 17-18 ปี ไปจนถึง 20 กว่าปี รุ่นพี่เหล่านั้นเลี้ยงดูเขา ทำกับข้าวให้กิน ทำให้เขารู้สึกอุ่นใจ

อยู่ที่โรงเรียนได้ประมาณ 2 เดือน ก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาชอบพอ พาเขาไปอยู่ที่บ้านซึ่งไกลจากโรงเรียน สมัคร์อธิบายความรู้สึกตอนนั้นว่า

“ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงยอมไป จำได้ว่าไม่ชอบสิ่งที่รุ่นพี่ทำกับเรา เหมือนเป็นการบังคับที่ทำให้เราไม่รู้จะหนีไปจากตรงนั้นได้ยังไง เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ชอบคนนี้ เขากระทำทางเพศกับเรา ให้เรานอนแล้วเขาก็อมให้เรา ทำนั่นทำนี่ให้ เราจำได้ว่าเรานอนให้เขาทำ เพราะตอนนั้นเราเด็กมาก เราไม่รู้ว่าการทำแบบนี้มันคืออะไร เหมือนไปไหนไม่ได้ เราหายตัวไป 3 วัน แม่พยายามติดต่อโรงเรียนแต่ไม่มีใครรู้ว่าเราอยู่ไหนหรือเกิดอะไรขึ้น”

หลังจากกลับมา สมัคร์จึงไม่ยุ่งกับรุ่นพี่คนนี้อีก เขาไปอยู่กับเพื่อน และในหมู่เพื่อน เมื่อเห็นคนท่าทางตุ้งติ้ง เป็นกะเทย หรือที่เรียกว่า “ปอแน” ก็จะขอให้ช่วยสำเร็จความใคร่โดยใช้มือบ้างปากบ้าง เรียกว่า “การเล่นเพื่อน” แต่พอเป็นวัยเดียวกัน สมัคร์จึงไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับ

“เราคิดว่า เพราะสังคมแบ่งแยกชายหญิงเข้มงวด ความใคร่ที่เกิดขึ้นเลยต้องไปลงกับผู้ชายด้วยกัน ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เกิดขึ้นกับผู้ชายแมนๆ ที่มีแฟนเป็นผู้หญิง เกิดขึ้นกับทั้งเด็กที่ดูเกเรและตั้งใจเรียน รวมถึงที่เคร่งศาสนา และความสัมพันธ์แบบนี้ไม่เคยพัฒนาไปสู่ความรัก เพราะทุกคนจบออกไปก็แต่งงานกันหมด” คือเหตุผลที่เขาให้เกี่ยวกับเรื่องเพศและเซ็กส์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน

“หลังจากที่เราปฏิเสธคนแรก เขาก็ตามเราว่า เราไปยุ่งกับใคร ต่อมาเราก็ไปรู้จักกับรุ่นพี่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความต้องการเรื่องทางเพศเยอะ เป็นรุ่นพี่กลุ่มเคร่งศาสนา มีความรู้ศาสนาเยอะ บางคนอายุ 20 กว่าแล้ว เขาจะเอาเรามาอยู่ด้วยที่ห้อง จำได้ว่าตอนนั้นเราเปลี่ยนเมทบ่อยมาก ใครพาไปอยู่ห้องไหนเราก็ไป เหมือนเราเคว้งไปหมด มันคือปีแรกที่ออกจากบ้าน แล้วเราก็ไม่อยากอยู่บ้านป้า มันเหมือนไม่มีคนดูแลเรา เราต้องไปหากินข้าวด้วยตัวเอง พอมีคนเลี้ยงเรา เอ็นดูเรา เราก็อยู่กับเขา แล้วเขาก็ให้อมให้ ให้กลืนบ้าง เขาจะเอาเรื่องศาสนามาตีความให้เรารู้สึกว่า มันยังไม่ถึงขั้นเป็นบาปใหญ่ซึ่งคือการสอดใส่ทางทวารหนัก มันโอเค ยังทำได้อยู่ บางคนไม่ได้ต้องการแค่ออรัล แต่ต้องการมีอะไรด้วย เขาจะใช้วิธี “ขาหนีบ” คือใช้ตรงขาหนีบแทนเพราะเขาไม่อยากสอดใส่ทางทวารหนัก ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในตอนนั้น” เป็นประสบการณ์ที่เขายังจำได้ไม่ลืม

แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งสมัคร์ไปนอนที่ห้องซึ่งเป็นที่รวมตัวของกลุ่มรุ่นพี่ วันนั้นครูพละของโรงเรียนที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยก็มาร่วมกินข้าวและนอนด้วย

“มันเหมือนเกิดการสปาร์คกันท่าไหนไม่รู้ อีกวันหนึ่งเขาก็เรียกเรามาคุยส่วนตัว นึกว่าจะเคลียร์เลิกยุ่งกัน แต่ปรากฎว่ากลายเป็นมีความสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์กันแบบจริงจัง แล้วก็อยู่ด้วยกัน ตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน ก่อนหน้านี้เราไม่ได้รู้สึกชอบใคร แต่พอมาเจอครูพละเรารู้สึกชอบเขา”

ความโชคร้ายเกิดขึ้นเมื่อรุ่นพี่ที่เคยมาล่วงละเมิดคนแรกพยายามตามดูสมัคร์ และครั้งหนึ่งเขาเห็นสมัคร์กับครูพละคนนี้มีอะไรกันอยู่ในโรงเรียน เขาเอาเรื่องไปบอกครูใหญ่และประกาศไปทั่ว ทั้งโรงเรียนและคนในชุมชนจึงรู้ ผลคือครูพละคนนั้นต้องออกจากโรงเรียน

“ความรู้สึกเรา เหมือนโดนประจาน โดนคนทั้งชุมชนมอง โดนล้อเลียน โดนลงโทษ เป็นที่โจษจัน เป็นความอับอาย เราโดนลงโทษด้วยการให้รุ่นพี่มาโกนผมเราทุกวันพุธ ทุกสัปดาห์จนจบ ม.1 เหมือนเป็นการลงโทษทางสัญลักษณ์ให้เรารู้สึกว่า เราผิดและต้องสำนึกผิด  เป็นช่วงที่เราจำอะไรไม่ค่อยได้ เหมือนอยากลืมๆ มันไป”

“สุดท้ายเรากลับไปอยู่บ้านป้า ป้าบอกว่าเหตุการณ์นี้เราจะต้องถูกพระเจ้าลงโทษ พระเจ้าลงโทษพวกที่เป็นเกย์ มันอยู่ในคัมภีร์ ตอนนั้นเขาก็ไม่ดูแลเราเลย ไม่ให้ข้าว ไม่ให้ค่าขนม จำได้ว่ามีแค่เงินกินมาม่าร้านน้ำชา 6-7 บาท ที่ได้จากค่าจ้างที่เราไปช่วยเขาขนของในตลาด อดทนอยู่อย่างนั้น 2 ปี ม.2 ม.3 ก็ไม่ได้ย้ายโรงเรียนเพราะไม่มีที่ไป อยู่จนจบม.3 แล้วก็รู้สึกไม่อยากอยู่บ้านป้าแล้ว” สมัคร์เล่า

วงจรที่ไม่รู้จบ

กลายเป็นเราที่รู้สึกแย่ ทั้งที่เราไม่โอเคกับเรื่องที่บางคนเคยทำกับเราตอนเด็ก แต่ตอนเราโต เรากลายเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เหมือนอัตโนมัติ เหมือนเป็นวงจรบางอย่าง

หลังจบ ม.3 สมัคร์กลับไปอยู่ระยองหนึ่งปี ลองทำงานไปสารพัดอย่างและคิดได้ว่า ถ้าไม่เรียนหนังสือก็คงต้องลำบากไปตลอด สุดท้ายเขาตัดสินใจกลับไปอยู่โรงเรียนเดิม แต่ให้เพื่อนช่วยหาที่พักให้ใหม่ ส่วนเหตุการณ์นั้นคนเลิกพูดถึงไปแล้ว แต่คงยังไม่มีใครลืมไปเสียทีเดียว สมัคร์กลายเป็นคนเงียบๆ เน้นทำกิจกรรมโรงเรียน เป็นเด็กเรียน เพื่อพยายามลบภาพเดิมๆ

ตอน ม.ปลาย สมัคร์มีเพื่อนกระเทยคนหนึ่งที่สนิทด้วย เพื่อนคนนี้พาเขาไปเที่ยว ไปช้อปปิ้ง ดูคอนเสิร์ต ไปแหล่งบันเทิง เขาเริ่มเปิดหูเปิดตากับชีวิตเกย์ในเมือง ไปพ้นจากชีวืตในโรงเรียน เพื่อนคนนี้ทำให้สมัคร์เริ่มตั้งคำถามว่า คนเป็นกระเทยจะไม่สามารถอยู่ในขอบเขตของศาสนาได้เลยหรือ เพราะแม้เพื่อนจะแต่งสาว เปรี้ยว แรงและหยาบคาย แต่เพื่อนคนนี้ก็ยังเคร่งศาสนาและละหมาดครบ 5 เวลา

ในขณะเดียวกันเรื่องเซ็กส์ในโรงเรียนปอเนาะก็ไม่เคยหมดไป เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเพียงแต่ไม่มีใครพูดอะไร

“เราจำได้ว่า ตอนเราเรียน ม.ปลาย เราเห็นน้องๆ เด็ก ม.ต้นหน้าตาดี ก็จะมีกระเทยมาชอบ รุ่นพี่มาชอบ มันเหมือนภาพในหนังที่เราดูภาพย้อน ได้เห็นเหตุการณ์เดิมๆ หรือในวันปัจฉิมนิเทศ เราจำได้ว่า เราเห็นภาพประตูที่เปิดอ้าไว้ รุ่นน้องนอนอยู่กับรุ่นพี่คนหนึ่งในห้อง เรารู้สึกว่า เรื่องที่เคยเกิดมันยังดำเนินต่อไป เป็นวงจรไปเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงตัวเขาเองตอนอยู่ ม.ปลาย สมัคร์ยอมรับว่า แม้จะไปเที่ยวในเมือง แต่นานๆ ครั้งก็ยังจะไปยุ่งกับรุ่นน้องในโรงเรียนอยู่บ้าง อาจจะไม่ใช่เด็กอายุ 12 ปี แต่ก็เป็นรุ่นน้องม.ปลาย ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีความใคร่

“บางทีเราเผลอตัว ก็จะไปเจ๊าะแจ๊ะกับน้องๆ เด็กๆ หลังจากนั้นพอเราโตขึ้น เราตั้งคำถามกับตัวเองเพราะเรารู้สึกผิด หลายครั้งที่เรากลายเป็นคนกระทำ เรายังหาคำตอบอยู่ว่ามันคืออะไร

“ตอนดูเรื่อง Spotlight (2015) ดูแล้วจมเลย เริ่มกลัว เริ่มรู้สึกว่าทุกคนได้รับผลกระทบหมดเลย มันมีคำพูดหนึ่งที่เขาใช้ว่า เหมือนโดนละเมิดทางจิตวิญญาณไปด้วย เราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยมากว่าที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เราลืมมันจริงๆ เหรอ เราไม่คิดอะไรจริงๆ รึเปล่า ที่ผ่านมามันคือความแย่ทั้งหมดเหรอ ทำไมเราต้องเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราต้องการเอามันออกจากหัวเรา แล้วเรารู้สึกต้องการทบทวนมัน

“ถ้าถามว่า อะไรทำให้เราจะกลายไปเป็น abuser (ผู้ละเมิด) เราตอบตัวเองว่า เหมือนเราต้องการไปเอาความไร้เดียงสานั้นกลับมา เหมือนเราโดนเอาไป อันนี้คือสิ่งที่เรารู้สึกในท้ายที่สุด เมื่อเราดูหนังแล้วนึกถึงเรื่องที่ผ่านมา ผู้ชายปกติที่พยายามจะไปมีอะไรกับเด็กเล็กๆ เราตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงทำ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่รู้ว่า วันหนึ่งเราจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า”

สมัคร์เล่าต่อว่า ความรู้สึกสับสนและความกลัวนั้นมีเรื่อยมาจนกระทั่งตอนเรียนปริญญาโทช่วงอายุ 20 ปลายๆ เขาต้องลงพื้นที่ทำวิจัยที่ศูนย์ศาสนาที่มีเด็ก 14-15 ปี สูงสุด 18 ปี เขาคิดตลอดเวลาว่า ต้องยั้งตัวเองไม่ให้เกิดปัญหา เขาเริ่มระแวงและกลัวว่าตัวเองจะทำอะไรลงไป และบางครั้งเขายอมรับว่าคิด แต่ไม่ได้เกินเลยและไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

หลังจากจบปริญญาโทแล้วทำงานในองค์กรเอ็นจีโอแห่งหนึ่ง มีเด็กวัยกำลังโตที่มาเป็นเคสในที่ทำงาน สมัคร์สนิทด้วยและเผลอเล่นแตะเนื้อต้องตัวเด็กโดยไม่ได้คิดอะไร แต่ก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะเด็กคนนี้บอกว่า สมัคร์พยายามจะละเมิดทางเพศ

“มันเหมือนเส้นบางๆ มันบอกยากมาก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าตามกฎขององค์กรคือมันผิด แล้วเขาก็ตราหน้าเราว่า เรา abuse กลายเป็นเรารู้สึกแย่ ทั้งที่เราไม่โอเคกับเรื่องที่บางคนเคยทำกับเราตอนเด็ก แต่ตอนเราโตเรากลายเป็นแบบนั้นเหมือนกัน เหมือนอัตโนมัติ เหมือนเป็นวงจรบางอย่าง หลังจากนั้นเราก็สัญญากับตัวเองว่า เราจะซื้อกินเท่านั้น เราจะไม่ไปยุ่ง ไม่ไปละเมิดใครที่เรารู้จัก โดยเฉพาะที่ต่ำกว่า 18 แล้วสมัยนี้ทุกคนที่ทำงานบริการทางเพศก็สมัครใจจะมาทำงาน เราเคยสัมภาษณ์เขา เขาอาจจะไม่มีทางเลือกมาก แต่เขาก็ต้องการเงิน เราก็ต้องการความใคร่ ก็แฟร์กัน แล้วเราก็ไม่ได้อยากมีความสัมพันธ์แบบคบกับใครด้วย”

 “มองไปแล้วเหมือนเราผ่านความย้อนแย้งมาตลอดเวลา เรามาจากครอบครัวไม่เคร่งศาสนา แต่ก็ไปเรียนศาสนาอยู่ 7 ปี ตอนเรียนก็เจอการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมที่เคร่งศาสนาอีก เราเห็นความขัดแย้งในตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา เรากลายเป็นคนไม่เคร่งศาสนา เรามีคำถามมากมายต่อศาสนาของตัวเอง ความทรงจำในโรงเรียนสอนศาสนา คือการล่วงละเมิดจิตวิญญาณของตัวเองที่มีทั้งหมด เรารู้สึกก้าวร้าวกับความศรัทธาของตัวเอง พอมาเรียนมานุษยวิทยา เรากลายเป็นนักวิชาการไม่กี่คนที่จะออกมาวิจารณ์ในทางไม่ดีเกี่ยวกับมุสลิม”

ในถ้อยคำเหล่านั้นมีอารมณ์ความรู้สึกอัดอั้นข้างใน นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกเรียนในสายมนุษย์ศาสตร์ เพื่อพยายามทำความเข้าใจตัวเองและสังคมที่หล่อหลอมจิตวิญญาณและความซับซ้อนสับสนและขัดแย้งในตัวเองของมนุษย์

สมัคร์ ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องเควียร์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เราอยากรู้ว่า เควียร์หรือ LGBT แต่ละคนอธิบายตัวเองและประนีประนอมกับตัวเองอย่างไรให้อยู่ที่นั่นได้ เช่น มีเด็กผู้ชายที่บอกว่า ฉันไม่ใช่ปอแน ฉันก็เป็นผู้ชาย แต่เป็นผู้ชายแบบหวานๆ หน่อย ฉันยังอยากแต่งงานกับผู้หญิง หรือเกย์บางคนที่แต่งงานและวางแผนที่จะมีเซ็กส์กับภรรยาเพียงครั้งเดียวเพื่อให้ติดลูก เพราะการแต่งงาน มีลูก คือการดำเนินตามเส้นทางของศาสนา

เมื่อถามเขาว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องเควียร์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ สมัคร์เริ่มเล่าถึงมุมมองเรื่องเพศหรือ Gender Perspective ที่ในสังคมมุสลิมยังไม่ค่อยมี แม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด

“มันใกล้ตัวที่สุด มันส่งผลต่อคนทุกคน มันเป็นพื้นฐานในการจะเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม ความเป็นมนุษย์ ทุกคนควรจะมีอัตลักษณ์ของตัวเอง มุสลิมมองเรื่องนี้ว่ามันเป็นอิทธิพลจากภายนอก เป็นความคิดแบบตะวันตกที่ไม่สามารถมาใช้กับศาสนาอิสลามได้ เขาไม่มีนิยามคำว่า Homosexual แต่ในทางปฏิบัติมันมีแน่ๆ หรือคำว่า Human Right, Feminism เขาจะไม่ใช้คำเหล่านี้ แต่แนวคิดเรื่องความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม เคารพความแตกต่าง มันต้องมีอยู่ในทุกเรื่อง คุณต้องยอมรับความเป็นมุสลิมแบบที่ไม่ได้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่ศาลนาบอกไว้ทุกอย่างได้ คุณต้องยอมรับผู้หญิงมุสลิมที่ไม่คลุมผมได้ว่าเป็นมุสลิมเหมือนกัน หรือคุณต้องยอมรับเกย์ที่อาจจะแต่งหน้าทาปากอยู่บ้าง ทุกคนควรเป็นมุสลิมในแบบของเขาได้โดยที่ไม่อยู่ในมาตรฐานของคุณเท่านั้นเอง มุสลิมในภาคเหนือที่เป็นคนจีนเขาก็ไม่ได้คลุมผม ก็ไม่มีใครมาตราหน้าเขา เพราะอยู่คนละสังคม

หนังสือทางศาสนาอิสลามประเด็นเรื่องเพศไม่มีการอัพเดต ไม่มีการเอามาคุยใหม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันควรจะมองอย่างไร จะคิดยังไงต่อ เรื่องเพศคุยกันแค่ผิว นักกิจกรรมมุสลิมที่มีความเป็นลิเบอรัล ส่วนใหญ่ถ้าเราโยนคำถามเรื่อง LGBT เข้าไป เขาจะไปไม่เป็น ตรรกะเขาจะพังทันที เขาไม่ได้โง่ แต่เขาไม่เคยคิดคำตอบกับมัน ไม่มีการนั่งถกเถียงคุยกันจริงๆ

มีค่านิยมบางอย่างในสังคมมุสลิมทั้งการทำงานเชิงวิชาการ การเคลื่อนไหวทางสังคม เขามองว่าคุณต้องนำเสนอแต่ภาพลักษณ์ที่ดีของศาสนาอิสลาม เพราะสังคมเจอภาพลักษณ์เรื่องการก่อการร้ายมาเยอะแยะ จะมาพูดเรื่องนี้อีกทำไม แต่ประเด็นคือ สังคมวิชาการในโลกมุสลิมเองก็ไม่เคยหลุดออกไปจากเรื่องการก่อการร้าย เราโตมากับดีเบตเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก จนทุกวันนี้ก็ยังคุยเรื่องนี้อยู่ เหมือนเขายังก้าวไม่พ้นกับดักเรื่องความรุนแรง การก่อการร้าย ทั้งที่จริงๆ เรื่องอื่นในโลกมันไปไกลกว่านั้น มันมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นนอกจากการก่อการร้าย เพศหลากหลายในอิสลามเองก็มีความรุนแรงซ่อนอยู่ แค่คุณเป็นกระเทยมันก็ผิดแล้ว เพศกลายเป็นตัวกำหนด เราถูกบอกตั้งแต่เด็กๆ ว่า ละหมาดไปพระเจ้าก็ไม่รับหรอกเพราะเป็นกระเทย มันถูกรังเกียจ มันถูกทำให้รู้สึกอับอาย

ที่เราสนใจเรื่องเควียร์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เรามองว่ามันเป็นสังคมมุสลิมชัดเจนมาก มีลักษณะเป็นสังคมปิด เป็นชุมชนเคร่งศาสนา ศาสนามีอิทธิพลสูงมากในชีวิต ซึ่งมันใกล้เคียงกับสังคมแบบ Islamic Fundamentalism ที่เราสนใจ คือเป็นสังคมที่พยายามเอาศาสนามาใช้ในการตีความชีวิตประจำวัน เพราะมองว่าต้องการให้สังคมไปสู่สังคมแบบอุดมคติ เราอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้วชุมชนนั้นอธิบายความเป็นเควียร์ว่ายังไงบ้าง แล้วความเป็นเควียร์มันจะอยู่ยังไง มันต้องถูกผลักออกอย่างเดียวหรือเปล่า ถ้ามันอยู่มันจะอยู่ในสภาพแบบไหน มันถูกให้ความหมายอย่างไร มันเจออะไรบ้าง

เราอยากรู้ว่า เควียร์หรือ LGBT แต่ละคนอธิบายตัวเองและประนีประนอมกับตัวเองอย่างไรให้อยู่ที่นั่นได้ เช่น มีเด็กผู้ชายที่บอกว่า ฉันไม่ใช่ปอแน ฉันก็เป็นผู้ชาย แต่เป็นผู้ชายแบบหวานๆ หน่อย ฉันยังอยากแต่งงานกับผู้หญิง หรือเกย์บางคนที่แต่งงานและวางแผนที่จะมีเซ็กส์กับภรรยาเพียงครั้งเดียวเพื่อให้ติดลูก เพราะการแต่งงาน มีลูก คือการดำเนินตามเส้นทางของศาสนา หรือบางคนโดนสังคมถีบกระเด็นเพราะอาจจะแสดงออกชัด เราก็ต้องมานั่งคิดว่า จะให้เขาอยู่ในพื้นที่อย่างไร ให้เขามีตัวตนขึ้นมาบ้าง ให้เขาเป็นตัวเองแต่ก็ยังอยู่ในศาสนาได้อย่างไร

หลายคนที่รู้ว่าเราทำเรื่องเกี่ยวกับเกย์ในสามจังหวัดชายแดนจะถามว่า ทำไปทำไม จะเอามาเล่าทำไม มันได้ประโยชน์ยังไง แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร เราไม่สามารถตอบได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะมันไม่มีการคุยกัน ยิ่งในสามจังหวัดชายแดนซึ่งเข้มข้นมากเรื่องศาสนา เรื่องแบ่งหญิงชาย เราก็ได้ยินตลอด เช่น มีโต๊ะครูซึ่งเป็นคนสอนศาสนามายุ่งกับเด็กผู้ชายหน้าตาดี แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไม่อยากพูดจริงๆ หรือหากรู้ว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็เงียบๆไป”

เมื่อถามเขาว่า เราพูดได้ไหมว่าวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลามเรื่องการแบ่งแยกหญิงชาย เอื้อให้เกิดสภาพความสัมพันธ์ทางเพศแบบชายกับชาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้

สมัคร์ยกตัวอย่างว่า ตอนที่เกิดเรื่องทีมฟุตบอลบูคูที่ปัตตานี ก็มีนักวิชาการมุสลิมออกมาเขียนบอกว่า บูคูสั่งสอนให้เด็กเป็นพวกรักร่วมเพศ เราก็ยังคิดว่า มุสลิมเองก็เป็นแหล่งกำเนิดเรื่องนี้เหมือนกัน ทำไมเขาต้องมองว่าคนพุทธ คนภายนอกเป็นตัวนำอะไรที่ไม่ดีเข้ามาในสังคมเขา เหมือนพยายามผลักคนข้างนอกที่มาตั้งประเด็นล่อแหลมให้ออกไป เราไม่เคยมองว่า ใครทำไม่ได้ เราไม่รู้สึกว่ามันมีกำแพง เพียงแต่มันต้องใช้เวลา เราไม่แน่ใจว่า พวกเขารู้ปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องนี้ไหม แต่เพราะมันไม่มีคำนิยาม ดังนั้นเขาจึงมองว่ามันไม่มีอยู่ ตอนที่เราอยากจะทำวิจัยเรื่องเกย์ที่ปัตตานี ที่นั่นเหมือนมีกฎทางสังคมเลยว่า เรื่องนี้ทำไม่ได้ มันเหมือนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ บรรยากาศมันอึมครึมแปลกๆ

เขาเล่าถึงบรรยากาศในสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อว่า คนสามจังหวัดชายแดนจะมีวัฒนธรรมที่แปลก เช่น การมายุ่งเรื่องส่วนบุคคล หรือการมาล้อกันเรื่องเพศ เรื่องรูปร่างหน้าตา เหมือนสังคมที่นั่นอยู่อีกยุคหนึ่ง

“สามจังหวัดในความคิดของเราคือ ถ้าเรามองว่าประเทศไทยมีกะลาครอบอยู่ สามจังหวัดมีโดมใสๆ ครอบอีกที เรารู้สึกแบบนี้เพราะเราเห็นพฤติกรรมของนักศึกษาที่นั่น มันมีไดเล็มม่าหรือความย้อนแย้งอยู่ เหมือนเขาเห็นโลกที่มันเปลี่ยนไป แต่สังคมข้างในของเขามันยังคงรักษาเรื่องประเพณี วัฒนธรรมทางศาสนาเอาไว้เคร่งครัด บางครั้งมันเหมือนเขาก็อยากจะลิเบอรัล แต่ก็ไปไม่สุด เหมือนเขาชะงัก เหมือนเขาอยู่ไม่ถูกที่ถูกทาง มันเหมือนเห็นว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่บ้านฉันก็ยังอยู่ในยุค 80 มันทำให้เรารู้สึกว่า เราคงไม่เหมาะที่จะอยู่ในสังคมมุสลิมแบบนั้น มันผลักเรา”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net