Skip to main content
sharethis

จัดงาน “กลับบ้านกองผักปิ้ง...ดีจัง” ทวงถามความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐหลังผ่านไปปีกว่าคดีวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" ขณะที่ในหมู่บ้านนักปกป้องสิทธิ์ถูก จนท.ดำเนินคดี และกลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่แตกสลาย

ที่มาของภาพ: เพจจากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุมcedaw

ในงาน “กลับบ้านกองผักปิ้ง...ดีจัง” เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ณ หมู่บ้านกองผักปิ้ง อ. เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีการรายงานความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส และคดีที่เกี่ยวข้อง โดย ทีมกฎหมายและทนายความ รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกองผักปิ้ง และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับคดีวิสามัญฆาตกรรมและการทำให้สูญหาย

ภาพจากกล้องวงจรปิด
หลักฐานสำคัญในคดีที่ยังไม่คืบหน้า

สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนจากทีมกฎหมายและทนายความ รายงานความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส ที่รอศาลรับฟังการไต่สวนในเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีภาพจากกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานสำคัญในคดี ที่ควรต้องนำเข้าสู่สำนวนการสอบสวนเพิ่ม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้มา

“มีสื่อมวลชนสำนักหนึ่งไปร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ขอให้เปิดเผยภาพ คณะกรรมการก็มีคำสั่งให้เปิดเผยได้ แต่พอไปติดต่อทางตำรวจภูธร ภาค 5 หรือกองกำกับการจังหวัดเชียงใหม่ ก็ให้ความร่วมมือ แต่กล้องบันทึกภาพที่ว่าไม่สามารถเปิดได้ เหตุผลคือไม่มีรหัส เปิดเข้าไปไม่ได้ นี่คือทีมนักข่าวบอก แต่ผมก็แนะนำว่า ทำไมไม่ส่งเครื่องนี้ให้นักเทคนิคที่มีความชำนาญดู มันน่าจะต้องมีความพยายามที่จะเปิดให้ได้ แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งล่าสุด แต่สำนวนการสอบสวนวคดีวิสามัญ ก็ต้องดำเนินการเพิ่มเติม หลักฐานชิ้นสำคัญ ยังไงก็ต้องส่งเข้าสู่สำนวนการสอบสวนเพิ่ม ว่าจะวินิจฉัยหรือไม่”

คดีของนาหวะ ผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดี
เพราะลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม
สิ่งที่สังคมควรแสวงหาความจริงร่วมกัน

นอกจากคดีของชัยภูมิที่ยังไม่คืบหน้าแล้ว ยังมีคดีความของ นาหวะ จะอึ ชาวลาหู่ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการถูกวิสามัญฆาตกรรมของชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ในข้อหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

โดย ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนประเทศไทยของ Protection International รายงานว่า ศาลตั้งเงินประกันตัวนาหวะ 2 ล้านบาท ทางครอบครัวใช้เวลา 5 เดือนกว่า จึงได้รับการอนุมัติเงินจากกองทุนยุติธรรมเพื่อไปประกันตัว แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว จนถึงวันนี้ ถูกจองจำมาเป็นเวลา 369 วันแล้ว โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 เมษายน นี้ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

“อยากเชิญสื่อมวลชน ชาวบ้าน คนที่สนใจไปร่วมฟังคำพิพากษา ถือว่าเป็นการแสวงหาความยุติธรรมให้กับชัยภูมิ ครอบครัว และแสวงหาความจริงกับคดีวิสามัญฆาตกรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีของชัยภูมิ คดีของอาเบะ แสวงหาความยุติธรรมจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น คนเหล่านี้เป็นนักปกป้องสิทธิ์ที่รัฐต้องให้การคุ้มครอง ไม่ควรต้องโทษ วันนี้เป็นงานวัฒนธรรม 1 ปีแล้ว สื่อมวลชน เราไม่ควรละเลย เราไม่ควรหันหลังให้กับโศกนาฎกรรมหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อคนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่งั้นก็เป็นสังคมที่ไร้ความหมายในการแสวงหาความจริงร่วมกัน”

ยุพิณ ซาจ๊ะ ได้เล่าถึงนาหวะว่า เป็นผู้หญิงที่ทำกิจกรรมดูแลเด็กๆ ในกิจกรรมรักษ์ลาหู่มาโดยตลอด “ตอนนาหวะโดนหมายจับ เขามาบุกที่บ้าน ค้นไม่เจอสิ่งผิดกฎหมาย แต่เอาหมายจับมาจับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ถามว่าทำไมเธอไม่หนี นาหวะก็ตอบว่า ทำไมฉันต้องหนี ฉันไม่ได้ทำผิดอะไร”

ยุพินยังเล่าต่อถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนาหวะ ภายหลังถูกจับไปอยู่ในเรือนจำ ว่าต้องเผชิญกับความหวาดกลัวในการดำเนินชีวิตอย่างไร “ลูกของเขา อายุเพียง 6 ขวบ อธิษฐานต่อพระเจ้า ขอให้พระเจ้าปล่อยแม่เขามา ช่วยพ่อให้ปลอดภัย ทำมาหากินได้ จะได้เป็นครอบครัวเดียวกันแบบคนอื่นๆ” และมีความหวังจะได้เห็นความยุติธรรมในการพิพากษาของศาลต่อคดีนาหวะในวันที่ 24 เมษายนนี้ “มีความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมบ้าง ไม่อยากให้ใครที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม ความเป็นคน ไม่อยากให้ถูกดำเนินคดีเลย”

10 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของเยาวชน
กลุ่มรักษ์ลาหู่ที่แตกสลายภาย
หลังจากการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส

ทางด้าน ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ที่มีเยาวชนในหมู่บ้าน 50-60 คนทำกิจกรรมด้วยกัน โดยมีชัยภูมิ ป่าแสเป็นหนึ่งในเยาวชนหลักของกลุ่ม ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มภายหลังจากการวิสามัญฆาตกรรมว่า ส่งผลให้เยาวชนหวาดกลัว และหนีหายออกไปจากหมู่บ้านอย่างไร

“หลังจากเกิดเรื่องราว กิจกรรมที่เราทำมา 10 กว่าปี แต่วันนี้มันหายไปหมด ไม่เหลือแล้ว ผมไม่ได้กลับมาบ้าน 329 วัน เมื่อคืนกลับมาถึง มันเศร้ามาก มันเหงาไปหมด บ้านที่เคยเฮฮาก็เงียบ เมื่อก่อนเด็กอยู่ที่นี่ตลอด ถามทุกบ้านได้เลย เป็นสถานที่ซึ่งเด็กๆ มาเล่น มากิน มาทำอาหารที่นี่”

ไมตรียังสะท้อนถึงความยุติธรรมที่ตัวบทกฎหมายอาจจะเข้าไม่ถึง “กฎหมายผมไม่รู้ แต่ในเรื่องศีลธรรม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ความเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดกับพวกผมมันไม่ถูกต้อง“ รวมทั้งข้อจำกัดของกฎหมายและบทลงโทษว่าไม่สามารถการันตีว่าจะเปลี่ยนแปลงคนหรือสร้างชุมชนให้ดีขึ้น ในขณะที่กิจกรรมรักษ์ลาหู่ที่ไมตรีทำกับเยาวชนในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ปีนั้น เห็นผลได้จากคนในชุมชนเองว่าเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น

“คุณจับคนชั่วไป 100 คนไปไว้ในเรือนจำ ออกมาแล้วจะกลายเป็นคนดีไหม กี่คนในร้อยคนจะเป็นคนดี เมื่อเขาอยู่ในเรือนจำ 5 ปี 10 ปี ครอบครัวเขาแตกสลายแล้ว เมียมีผัวใหม่ ลูกไม่ได้เรียน ผมกำลังทำสิ่งเหล่านี้กับชุมชน กับบ้านที่มียาเสพติด ที่มีอำนาจมืด ผมกำลังทำสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำไม่ได้ ทำไมคุณไม่ช่วยผมให้ชุมชนดีขึ้น แล้วยังมากล่าวหาผม ทำให้ผมอยู่ในบ้านไม่ได้”

เมื่อการวิสามัญฆาตกรรมและสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทบต่อสิทธิในวิถีชีวิตของครอบครัวและชุมชน

ปิดท้ายเวทีโดย อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหรือชุมชน ภายหลังการวิสามัญฆาตกรรมและการทำให้สูญหาย โดยยกตัวอย่างกรณีต่างๆ หรือแม้แต่ความเชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐไทยซึ่งเรียกกลุ่มคนลาหู่ว่ามูเซอดำ และมีความฝังใจว่าคนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด

“เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่างในช่วงสงครามยาเสพติดของคนลาหู่ที่ฝาง ชาวบ้านเล่าว่า เวลาใครถูกอุ้มหายไปหนึ่งคน ก็กลัวกันทั้งหมู่บ้าน อย่างที่พี่ไมตรีเล่าให้ฟัง คนที่เสียชีวิตถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนไม่ดี ว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย หรือครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ถูกทำให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ก็ทำให้ไม่มีใครกล้าไปมาหาสู่ด้วย มันจึงส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตผู้คนในวงกว้างมากๆ”

ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ในกรณีอุ้มหายหรือวิสามัญฆาตกรรมที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฎแม้แต่ครั้งเดียว่ามีการนำตัวคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเรียกร้องภาครัฐ ดูแลสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น “รัฐในฐานะมีหน้าที่ดูแลคนทุกคนที่อยู่ในรัฐ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีสัญชาติหรือไม่ จะมีเชื้อชาติใด รัฐต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน”

สื่อมวลชนและคนที่สนใจ สามารถร่วมแสดงตนในการแสวงหาความจริงและเข้าฟังพิพากษาคดีของนาหวะได้ ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เช้าวันที่ 24 เมษายน 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net