Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ร้องเรียนถูกอำเภอสั่ง "ปลูกป่าไผ่" ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน แต่หลายบ้านกลับ "ปลูกป่าไผ่" ทับไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านปลูกข้าวไร่ต้นกล้าสูงเป็นคืบ ทั้งนี้เริ่มต้นเป็นโครงการเสริมอาชีพของอำเภอ ใช้ "งบไทยนิยม" หมู่บ้านละ 2 แสนบาท ตั้งเป้าปลูกป่าไผ่ 3,000 ต้นต่อ 1 หมู่บ้าน ครอบคลุมทั้งอำเภอรวม 67 หมู่บ้าน แต่ปลูกแล้วลูกบ้าน-ผู้ใหญ่บ้านเกิดขัดแย้งกันหลายหมู่บ้านเพราะกลายเป็นการทวงคืนผืนป่า-ไล่ที่ทำกิน

15 ก.ค. 2561 กรณีราชการใช้งบจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนปลูกป่าไผ่ ทับไร่หมุนเวียนชาวกะเหรี่ยง ถูกเปิดเผยโดยนายชาลี ตรีสุรผลกุล ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จ.ตาก (สกน.จังหวัดตาก) เปิดเผยว่า ช่วงสายวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ผู้ใหญ่บ้านแม่วะหลวง ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก นำชาวบ้านจำนวนหนึ่ง เข้าไปปลูกป่าทับพื้นที่ไร่หมุนเวียน ที่มีต้นข้าวขึ้นสูงกว่าคืบหนึ่งแล้ว โดยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านทำกินอย่างน้อย 7 ครอบครัว และเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ยังทราบว่า ก่อนหน้านี้มีพื้นที่ไร่หมุนเวียนหลายหมู่บ้านในตำบลเดียวกัน ได้ถูกปลูกป่าทับที่ไปแล้วเช่นเดียวกัน

ภาพกล้าไผ่ "โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ที่ปลูกลงไปในที่ทำกินของชาวบ้านที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก จะเห็นว่าข้าวไร่ที่ชาวบ้านปลูกเริ่มโตแล้ว

ภาพกล้าไผ่ที่ปลูกทับลงไปในไร่ข้าวของชาวบ้านใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

จากการสอบถามชาวบ้านบ้านแม่วะหลวงต่างบอกว่า “ผู้นำชุมชนแจ้งแก่ชาวบ้านเพียงว่าเป็นโครงการปลูกป่าของ อ.ท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งนายอำเภอได้มีคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านต้องดำเนินการ แต่ไม่ทราบว่าปลูกเพื่ออะไร และพื้นที่ดังกล่าวจะถูกยึดไปด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ก่อนดำเนินการปลูกยังไม่มีการสอบถามหรือขอความยินยอมแต่อย่างใด” สำหรับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ที่ถูกปลูกป่าทับนั้นกล่าวว่า “รู้สึกสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมและล้วนอยู่ภายในเขตพื้นที่โฉนดชุมชน ที่ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2555 นอกจากนี้เมื่อชาวบ้านทราบว่าเป็นโครงการที่สั่งการโดยนายอำเภอ ต่างก็เกิดความกลัวและไม่กล้าออกมาโต้แย้งคัดค้าน”

มีผู้นำชุมชนหลายคน ให้ข้อมูลว่าก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนมิถุนายน นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอท่าสองยาง ได้นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปปลูกป่าที่หมู่บ้านปอเคลอะเด หมู่ 5 ซึ่งอยู่ในเขต ต.แม่วะหลวงเช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนเก่า ไม่ใช่พื้นที่บุกรุกใหม่ ที่ชาวบ้านปลูกข้าวจนขึ้นสูงกว่าคืบหนึ่งแล้ว ซึ่งนับแต่ปลูกเสร็จจนถึงขณะนี้ ในหมู่บ้านปอเคลอะเด เกิดความขัดแย้งกันอย่างมาก

ส่วนหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลแม่วะหลวงนั้น นายอำเภอได้สั่งให้ผู้ใหญ่บ้านไปดำเนินการปลูกกันเอง โดยกำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ทำกินปัจจุบันเท่านั้น และนายอำเภอจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบในเร็วๆ นี้ ทำให้ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านต้องเร่งดำเนินการ

ตัวอย่างแปลงปลูกไผ่ "โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2561" ระบุว่าปลูกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ใน "พื้นที่่ป่าเสื่อมโทรม" หมู่ที่ 5 ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดย อบต.แม่วงหลวง โดยมีกล้าไผ่ที่ล้อมรั้ว และระบุชื่อผู้ปลูกคือ ประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอท่าสองยาง

 

แปลงปลูกไผ่ "โครงการณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" พื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านแม่สลิดหลวง ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระบุว่าเป็นการปลูกโดย "ร่วมกับหน่วยงานราชการ ประชาชนและจิตอาสาตำบลแม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก"

นอกจากนี้ยังมีแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะ ต.แม่วะหลวงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ครอบคลุมทั้งอำเภอ เป็นโครงการที่นายอำเภอต้องการทวงพื้นที่ แต่การปลูกในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่โล่ง ในป่าเขาก็ไม่ปลูก ดังนั้นเราจะเห็นว่าเป็นการปลูกในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยให้แต่ละหมู่บ้านไปหาพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้ถนน มองเห็นได้ชัด เขาเรียกว่า สวมรองเท้าให้ดอย สวมหมวกให้ภูเขา โดยใช้งบโครงการไทยนิยมยั่งยืน 200,000 บาทที่รัฐบาลให้มา”

จากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านใน อ.ท่าสองยาง รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า นายอำเภอได้ชี้แจงในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า จะให้ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง ปลูกต้นไม้ไผ่เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ โดยอำเภอได้จัดต้นกล้าให้หมู่บ้านละ 3,000 ต้น กำหนดพื้นที่ปลูกอย่างน้อยหมู่บ้านละ 50 ไร่ ขึ้นไป โดยให้เหตุผลว่า ในระยะยาวชาวบ้านจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในวันดังกล่าวยังได้นำวิทยากรจากที่อื่นมาพูดถึงประโยชน์ของไม้ไผ่อีกด้วย แต่มีเงื่อนไขว่าพื้นที่ที่ปลูกไปแล้วนั้นให้เป็นของชุมชน โดยให้เจ้าของที่ดูแลรักษาไว้และสามารถตัดไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ห้ามไม่ให้แผ้วถางทำประโยชน์อย่างอื่น พอตอนจะลงมือปลูกจริงๆ ชาวบ้านก็กล่าวหาว่าผู้ใหญ่บ้านไปยึดที่ทำกินของเขาไปให้อำเภอปลูกป่า ตอนนี้ปลูกเสร็จไปหลายหมู่บ้านแล้ว และเกิดความขัดแย้งในหมู่บ้านกันอย่างรุนแรง     

ผู้ใหญ่บ้านอีกคนหนึ่ง บอกว่า จุดที่ปลูกนั้นนายอำเภอเป็นผู้ลงพื้นที่ไปชี้ให้ปลูก โดยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปจับพิกัด GPS ไว้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะลงมือปลูกนั้น ตนได้ทักท้วงนายอำเภอแล้ว ว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านได้ทำมาแต่เดิม หากปลูกชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งตนได้เสนอให้ไปปลูกในจุดอื่นที่ตนเองได้ขอเจ้าของที่ดินและเขาก็ยินยอมให้ปลูกแล้ว แต่นายอำเภอก็ยืนยันว่าให้ปลูกที่เดิม โดยบอกเพียงว่า "เพราะเป็นเขาหัวโล้น” นอกจากนี้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งยังได้บอกว่า “ตอนนี้รู้สึกกังวลมาก เนื่องจากเจ้าของที่ไม่ยินยอมให้ปลูก และเมื่อดูเงื่อนไขของทางอำเภอแล้วก็เหมือนเป็นการยึดที่ดินทำกินของเขาไปเลย”

เมื่อถามว่าเป็นโครงการอะไร ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช้งบประมาณจาก “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้หมู่บ้านละ 200,000 บาท โดยในรายละเอียดอย่างอื่นนั้นผู้นำชุมชนไม่ทราบ เมื่อถึงเวลาทางอำเภอก็นำกล้าต้นไผ่และปุ๋ยมากระจายให้แต่ละหมู่ที่

โครงการนี้มีผลกระทบต่อชาวบ้านกระจายไปทั้งอำเภอ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตำบล 67 หมู่บ้าน ชาวบ้านในท้องที่ ต.แม่วะหลวง จึงได้เริ่มปรึกษาหารือกันแก้ไขปัญหาและขอความชัดเจนจากทางอำเภอ หากการปลูกป่าทับที่ครั้งนี้เป็นการยึดที่ดินทำกิน ก็จำเป็นต้องดำเนินการร้องเรียนไปยังรัฐบาลต่อไป เนื่องจากรัฐบาลนี้ได้ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

สำหรับข้อมูลทางการปกครอง อ.ท่าสองยาง เป็นอำเภอตอนเหนือสุดของ จ.ตาก ประกอบดว้ย 6 ตำบล 67 หมู่บ้าน เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภออยู่ในเขตการปกครองของ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ต่อมาโอนมาขึ้นกับ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อ พ.ศ. 2497 และยกฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่ พ.ศ. 2501

ทั้งนี้ สกน.จังหวัดตาก ยังได้ทำหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 11 ก.ค. 61 เรื่อง ขอให้ตรวจสอบโครงการปลูกป่าอำเภอท่าสองยาง โดยเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ทำสำเนาถึง ผอ.กอ.รมน. จังหวัดตาก, สหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ รวมทั้งร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net