Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 


ที่มา: http://www.bbs.bt/news/?p=83207

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ไทยและภูฏานค่อนข้างมีความใกล้ชิด โดยเฉพาะความนับถือของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesar Namgyel Wangchuck) ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือรัชกาลที่ 9 ของไทย ในแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้งสองรัฐบาลต่างให้ความสำคัญและเป็นแบบแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มันคงไม่มีอะไรมากนักหากผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องสายสัมพันธ์เบื้องต้น เพราะคงเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว และสามารถหาอ่านได้ไม่ยากนัก แต่ในส่วนของบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะพาไปมองปรากฎการณ์ทางด้านความสัมพันธ์ทางด้านการทูต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมระหว่างไทยและภูฏาน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีไทยจะเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กรกฎาคม

หากย้อนไปในประวัติศาสตร์พบว่าการถือกำเนิดความเป็นรัฐสมัยของภูฏาน เติบโตมาพร้อมกับการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิตะวันตก การสถาปนาราชอาณาจักรภูฏานเป็นผลสำคัญจากการสนับสนุนของผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำประเทศอินเดีย เพื่อเป็นดินแดนเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างอังกฤษกับธิเบต อาณาจักรภูฏานก่อตั้งอย่างเป็นทางการภายหลังกษัตริย์อุกเยน วังชุก (Ugyen Wangchuck) สามารถเอาชนะตระกูลต่าง ๆ ในแว่นแคว้นภูฏานได้ทั้งหมด ในปี 1907 ความน่าสนใจคือภูฏานถือเป็นไม่กี่ประเทศในยุคอาณานิคมที่ไม่ถูกปกครอง เช่นเดียวกับเนปาล นับแต่นั้นเป็นต้นมาระบอบการปกครองของภูฏานก็อยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์เสมอมา กระทั่งปี 2008 ประเทศภูฏานได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้หนึ่งในประเทศที่มีบทบาทและสายสัมพันธ์ที่ดีที่สุดกับภูฏานเสมอมาคือประเทศอินเดีย โดยนับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 รัฐบาลอินเดียก็ได้มีการสานสัมพันธ์กับภูฏานอย่างต่อเนื่อง และมีความมุ่งหวังอย่างมากที่จะให้ภูฏานเป็นประเทศอธิปไตยสมบูรณ์ ภายหลังปัญหาการยึดครองธิเบตของจีน ทั้งนี้อินเดียและภูฏานได้ทำสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างกันขึ้น เพื่อเป็นการเกื้อหนุนให้ภูฏานหลุดพ้นจากความพยายามในการยึดครองดินแดนของจีน อย่างไรก็ตามกว่าภูฏานจะได้รับการยืนยันสิทธิความเป็นรัฐจากสหประชาชาติก็ล่วงเข้าสู่ปี 1971 ไปแล้ว หนึ่งในรายละเอียดสำคัญของเนื้อหาตามสนธิสัญญาที่ภูฏานทำไว้กับประเทศอินเดียในปี 1949 นั้นระบุไว้อย่างชัดเจนว่าแนวนโยบายต่างประเทศของภูฏานจะเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลอินเดียแนะนำ กล่าวกันว่านับตั้งแต่ปี 1949 รัฐบาลภุฏานแทบไม่มีโอกาสได้กำหนดแนวนโยบายต่างประเทศของตัวเองเลย เพราะติดปัญหาเรื่องสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้กับอินเดีย ลักษณะดังกล่าวจึงส่งผลให้ภูฏานดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ฝักใฝ่อินเดียอย่างชัดเจนเสมอมา ถึงแม้ภูฏานจะมีพรมแดนติดกับจีนและมีข้อพิพาทกับจีนเสมอมา ภูฏานก็ไม่เคยเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการกับประเทศจีน ส่งผลให้ภูฏานเป็นประเทศเพื่อนบ้านเดียวของจีนที่ไม่มีสถานทูตและการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการ

ในขณะที่ประเด็นด้านความมั่นคงนั้นก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันนักกับนโยบายต่างประเทศ เพราะปัจจุบัน ฐานทัพของกองทัพอินเดียจำนวนมากยังคงฐานที่มั่นอยู่ในประเทศภูฏาน โดยเฉพาะภายหลังจากเกิดปัญหาการยึดครองธิเบตของจีน ซึ่งยังผลให้ทั้งอินเดีย และภูฏานมีพรมแดนติดกับประเทศจีนไปโดยปริยาย นอกจากนี้การนำเข้าอาวุธสงครามของภูฏานเพื่อเสริมสร้างกองทัพยังคงเป็นเรื่องยากจากปัญหาเรื่องสนธิสัญญากับอินเดีย และเนื่องด้วยประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเลยิ่งทำให้ภูฏานต้องเอาใจใส่ต่อความสัมพันธ์กับอินเดียเป็นอย่างมากเสมอมา จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจของภูฏานโดยภาพรวมมากกว่าร้อยละ 80 มาจากการสนับสนุนและการทำการค้ากับประเทศอินเดีย เพราะภูฏานไม่สามารถส่งออกสินค้าไปทางด้านอื่นได้เลย

ถึงแม้ว่านโยบายต่างประเทศของภูฏานจะถูกครอบงำบางส่วนโดยรัฐบาลอินเดีย แต่ภูฏานก็
พยายามวางกรอบนโยบายของตนเอง เช่น ภูฏานจะไม่เจริญสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และรัสเซีย และนับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา ภูฏานเริ่มวางนโยบายเพื่อเพิ่มสมดุลกับอินเดียมากยิ่งขึ้น โดยขยายการเจรจาความสัมพันธ์ไปยังหลากหลายประเทศ ในการนี้ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 53 ประเทศ ที่ภูฏานมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่รัฐบาลภูฏานจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูตอย่างเป็นทางการ นอกเหนือจาก อินเดีย บังคลาเทศ และคูเวต ไทยจึงถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพิเศษอย่างมากกับประเทศภูฏาน ที่สำคัญกรุงเทพถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการบินตรงของสายการบิน Druk Airline สายการบินแห่งชาติของภูฏานอีกด้วย


ภาพการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีภูฏานเพื่อเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และร่วมประชุมสัมมนาสหประชาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาประจำปี 2561
ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของภูฏานทั้งในทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศคือภายหลังปี 2007 เพราะมีเหตุการณ์สำคัญ 2 ประการ คือประการแรกรัฐบาลภูฏานตัดสินใจยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาลอินเดียในการขอแก้ไขสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างสองประเทศโดยเฉพาะในส่วนเกี่ยวกับประเด็นนโยบายต่างประเทศ ที่ระบุว่าการดำเนินนโยบายต่างประเทศใด ๆ ของภูฏานจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำหรือให้ความเห็นจากรัฐบาลอินเดียด้วย นี่นำมาซึ่งการเปิดทางให้รัฐบาลภูฏานสามารถมีแนวนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ ภูฏานเริ่มมีการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนเองบ้างแล้วในช่วงสงครามเย็น และเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องเท่าไหร่นักจากรัฐบาลอินเดีย เช่นประเด็นปัญหาเขมรแดงในกัมพูชา เป็นต้น ทั้งนี้การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) พระราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบันประกาศสละราชสมบัติ และเสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองดังกล่าวเริ่มดำเนินการมานับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 ทั้งนี้รัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2007 นำมาซึ่งการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภูฏานในปี 2007 และ 2008 นี่ถือเป็นเหตุประการที่สองอันส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาลภูฏานในเวลาต่อมา

ปัจจุบันประเทศไทยมีการตั้งสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศภูฏาน ภายใต้การดูแลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและภูฏานมีร่วมกันในหลายลักษณะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ทั้งสองที่ค่อนข้างมีความชัดเจนอย่างมาก เห็นได้จากการเสด็จเยือนระหว่างกันของทั้งราชวงศ์ไทยและราชวงศ์ภูฏานในโอกาสต่าง ๆ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองระหว่างรัฐบาลเองก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันแม้ว่าสายสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้าระหว่างสองประเทศจะยังไม่มากนัก แต่ต้องยอมรับประเทศไทยได้ดุลการค้าจากประเทศภูฏานจำนวนมาก ภูฏานถือเป็นคู่ค้าลำดับที่ 166 ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการค้าราว 15.5 ล้านเหรียญ แต่มูลค่าการค้าเติบโตในแต่ละปีมากกว่าร้อยละ 38 โดยส่วนใหญ่รัฐบาลภูฏานจะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นสำคัญ นอกจากนี้สัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวภูฏานที่มาเยือนไทยยังสูงมากกว่านักท่องเที่ยวไทยที่ไปภูฏานอีกด้วย ทำให้ในปี 2013 นายกรัฐมนตรี Lyonchhen Tshering Tobgay เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศเพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้าระหว่างไทยและภูฏานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีภูฏาน
ครั้งนั้นถือเป็นการเยือนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีภูฏาน ณ ประเทศไทย

ในด้านความร่วมมืออื่น ๆ นั้น ไทยและภูฏานมีความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายด้านทั้งทางด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การสาธารณสุขและการศึกษา โดยรัฐบาลไทยได้ส่งความช่วยเหลือและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากไปยังประเทศภูฏานเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศที่มีต่อกันเสมอมา ตลอดจนมีการมอบทุนการศึกษาจำนวนมากให้นักเรียนภูฏานในการเข้ามาศึกษาในประเทศไทย  ในด้านความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีทั้งไทยและภูฏานต่างเป็นสมาชิกของความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ซึ่งองค์การความร่วมมือนี้เป็นการเริ่มต้นของรัฐบาลไทยโดยการใช้เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ปัจจุบันความร่วมมือนี้ยังมีข้อติดขัดในหลายประการ ทำให้ยังคงไม่มีความก้าวหน้ามากนัก จากการอาศัยช่องทางความร่วมมือพหุภาคีนี้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคโดยภาพรวม อีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญที่ค่อนข้างมีความชัดเจนระหว่างไทยและภูฏานคือความร่วมมือทางด้านศาสนา ซึ่งปัจจุบันภูฏานถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการระบุให้พระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นศาสนาหลักของชาติ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเสมอมาระหว่างคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์แห่งภูฏาน เกี่ยวกับประเด็นด้านพระพุทธศาสนา

สำหรับในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ทางรัฐบาลภูฏานได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีของไทยเยือนอย่างเป็นทางการ และมีการตอบรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการนี้คาดว่าจะมีการพูดคุยและเจรจาประเด็นทางด้านการค้าและโอกาสทางด้านการลงทุนของไทยในภูฏานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้รายงานระบุว่าตามที่ทางการภูฏานได้มีการขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับตำราเรียนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนนั้น การเดินทางเยือนครั้งนี้ของรัฐบาลไทยจะได้มอบตำราดังกล่าวด้วย นี่ถือเป็นภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียใต้อย่างภูฏาน ที่มีหลากหลายมิติอันเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ทั้งนี้ในบทความถัด ๆ ไป ผู้เขียนจะบอกเล่าเรื่องราวและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์และเหตุการณ์ที่สำคัญของประเทศภูฏานให้ได้อ่านกันด้วย

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก กำลังศึกษาปริญญาโท สาขา International Relations and Area Studies ณ Jawaharlal Nehru University ประเทศอินเดีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net