Skip to main content
sharethis

นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มาภาพ: raosukunfung.com

MGR Online อ้างรายงานเว็บไซต์ข่าวภาษาลาว 'เล่าสู่กันฟัง' รายงานโดยอ้างคำแถลงของ นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ว่าสาเหตุที่ทำให้คันกั้นน้ำเขื่อน D ซึ่งเป็นเขื่อนย่อยของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกนั้น ในเบื้องต้นเป็นเพราะการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ส่วนสาเหตุในรายละเอียดกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และตามพันธสัญญานั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

นายคำมะนี กล่าวอีกว่า ภารกิจหลักของรัฐบาลในฐานะผู้พัฒนาโครงการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งไปที่การฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก ซึ่งภารกิจนี้จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการมุ่งช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุน้ำท่วม ระยะที่ 2 เป็นระยะยาวจะมีการฟื้นฟูหมู่บ้าน ก่อสร้างบ้านเรือน จัดหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชน 

ขณะที่ นายไซปะเสิด พมสุพา อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงรายละเอียดการจ่ายชดเชยค่าเสียหายในขณะนี้ จะต้องไปดูถึงสาเหตุและความเสียหายที่เกิดจากเขื่อนภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการสัมปทาน ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่าง ฉะนั้น จะต้องไปย้อนดูจึงจะทราบอย่างละเอียดว่าบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ลงทุนในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยคือ บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) เป็นการร่วมทุนของบริษัทข้ามชาติ 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24% (อ่านรายละเอียด)

สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถือหุ้นอยู่ 45%

4 สถาบันการเงินไทยให้กู้สร้างเขื่อน 22,000 ล้านบาท

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2557 ยอง จู ชอย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย (PNPC) เปิดเผยว่าประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว โดยมีกำลังติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่าย 1,860 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี (อ่านรายละเอียด) โดยในเว็บไซต์ของบริษัท PNPC ระบุว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี  2562

สำหรับสถาบันการเงิน 4 แห่งที่ให้เงินกู้ก่อสร้างโครงการในรูปแบบสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต

โดยตามสัญญากระแสไฟฟ้า 370 เมกะวัตต์ จะจำหน่ายให้กับ กฟผ. โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 27 ปี ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศลาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net