Skip to main content
sharethis

องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานประจำปี 2561 ในวาระครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ระบุถึงประเด็นผู้หญิงทั่วโลกว่า ถึงแม้จะมีการต่อสู้จากกลุ่มผู้หญิงเพิ่มขึ้นทั่วโลกแต่เรื่องสิทธิสตรียังเป็นประเด็นที่ถูกกีดกันไปอยู่ขอบสนามและต้องเผชิญการโจมตีอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ

โปสเตอร์ข้อความ "สิทธิสตรี" หล่นอยู่ที่พื้น (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เลขาธิการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล คูมิ ไนดู ระบุว่าในปี 2561 ยังมีปรากฏการณ์ของผู้นำที่สถาปนาตัวเองว่าเป็น "ชายผู้แข็งกร้าว (tough guy)" เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องที่บ่อนเซาะหลักการความเท่าเทียมซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ไนดูระบุอีกว่าผู้นำแข็งกร้าวเหล่านี้ "คิดว่านโยบายของพวกเขาทำให้พวกเขาดูเข้มแข็ง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรมากไปกว่าเป็นยุทธวิธีในการข่มเหงรังแก พยายามใส่ร้ายและปราบปรามกลุ่มคนที่เป็นชายขอบและเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิอยู่แล้ว"

ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการฝ่ายเพศสภาวะ เพศวิถี และอัตลักษณ์ ของแอมเนสตี กล่าวต่อสื่อไอพีเอสในรูปแบบเดียวกันว่า "ผู้นำแบบแข็งกร้าว" เถลิงอำนาจโดยอาศัยพื้นที่การเหยียดเพศหญิง การเกลียดกลัวคนนอก และการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเป็นเครื่องมือ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมาก

อย่างไรก็ตามมิชราบอกว่ายังมีความหวังในประเด็นเรื่องผู้หญิงเพราะในช่วงปีที่ผ่านมามีขบวนการเคลื่อนไหวที่นำโดยผู้หญิงในหลายแห่งของโลก กระแสการพูดถึงประเด็นล่วงละเมิดทางเพศ #MeToo ตกเป็นเป้าสนใจของนานาชาติเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดขบวนการมวลชนของเรื่องสิทธิสตรีทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

มีการยกตัวอย่างกรณีในอาร์เจนตินาที่มีผู้หญิง 1 ล้านคนออกมาเดินขบวนบนท้องถนนเรียกร้องให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ที่ไนจีเรียก็มีผู้หญิงพลัดถิ่นหลานพันคนขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจากการที่พวกเธอถูกล่วงละเมิดทั้งจากกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารามและกองกำลังความมั่นคงของไนจีเรียเอง มิชราบอกว่าการขับเคลื่อนเหล่านี้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

ในขณะที่การเคลื่อนไหวบางส่วนเป็นการโต้ตอบการกดขี่ข่มเหงรูปแบบใหม่ แต่ก็มีการเคลื่อนไหวบางส่วนที่ยังคงต้องต่อสู้กับการเหยียดเพศแบบเดิมๆ ที่ควรจะหมดไปจากสังคมได้แล้ว มิชรายกตัวอย่างกรณีที่กลุ่มผู้หญิงในอินเดียยที่เรียกร้องสิทธิในการเข้าร่วมแหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญของฮินดูที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือนเข้า พวกเขาประท้วงจนสำเร็จในที่สุดทำให้ศาลสูงสุดของอินเดียสั่งยกเลิกการห้ามผู้หญิงเข้าศาสนสถานดังกล่าว

ทว่าในปี 2561 นี้ก็ยังถือว่ามีอุปสรรคสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในสภาพความเป็นจริงที่ว่ารัฐบาลจำนวนมากในปัจจุบัน และแม้แต่สังคมเองยังคงสนับสนุนนโยบายและกฎหมายที่กดขี่เพศหญิงโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ มีการยกตัวอย่างประเทศเอลซัลวาดอร์ในกรณีนี้เนื่องจากเป็นประเทศที่มีนโยบายกีดกันการทำแท้งเข้มงวดถึงขั้นจับคนขังคุกได้ถ้าถูกต้องสงสัยว่าทำแท้ง มีผู้หญิงเกือบ 30 รายที่ถูกคุมขังจากนโยบายนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วงแต่ร่างข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายบีบรัดนี้ก็ยังคงไม่ได้รับการผ่านร่างในปีนี้

ทั้งนี้ มิชรา ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีการยกตัวอย่างนักสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองชาวบราซิล มาเรียล ฟรังโก ถูกยิงสังหารขณะอยู่ในรถของเธอเหตุเกิดเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนประเด็นผู้หญิงถูกจับกุมคุมขังในที่ต่างๆ เช่นในประเทศซาอุดิอาระเบียมีกรณีผู้หญิงที่นำขบวนการเรียกร้องให้พวกเธอมีสิทธิที่จะขับรถถูกจับกุม ในรายงานของแอมเนสตี้ฯ เมื่อไม่นานนี้ยังระบุว่านักกิจกรรมหญิงเหล่านี้ต้องเผชิญกับการทารุณกรรมและการล่วงละเมิดทางเพศขณะอยู่ในที่คุมขังด้วย

มิชราบอกว่าการละเมิดสิทธิแบบนี้ไม่ได้อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นเพราะพื้นที่การเคลื่อนไหวของประชาชนกำลังถูกบีบให้แคบลงโดยเฉพาะพื้นที่ของนักเรียกร้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้หญิงซึ่งต้องเผชิญกับการกดขี่ในลักษณะเฉพาะ มิชราจึงเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมเองต้องหันมาใส่ใจเรื่องสิทธิของผู้หญิงมากขึ้นไม่ใช่กีดกันให้หลายเป็นเรื่องระดับรอง เช่น การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายระดับประเทศที่เป็นภัยต่อผู้หญิง

ไนดูกล่าวว่าอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) กำลังใกล้จะมีอายุครบ 40 ปีแล้ว และ CEDAW จะกลายเป็นหลักไมล์สำคัญที่โลกไม่ควรมองข้าม

ถึงแม้ CEDAW จะมีการให้สัตยาบันจาก 189 ประเทศ แต่เนื่องจากไม่มีบัญญัติในรูปแบบที่มีผลบังคับทางกฎหมายทำให้รัฐบางรัฐปฏิเสธการทำตามข้อกำหนดในอนุสัญญานี้ เช่น คูเวตที่ไม่ยอมรับมาตรา 9 ว่าด้วยการให้สิทธิเท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงชายรวมถึงเราคพในเชื้อชาติของเด็ก ประเทศไนเจอร์ก็ไม่ยอมรับมาตราที่ 2 ที่ระบุห้ามไม่ให้รัฐเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงรวมถึงให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ

"รัฐบาลควรจะต้องหยุดแค่การดีแต่พูดในเรื่องสิทธิสตรี ถ้าหากกระแสกิจกรรมของผู้หญิงที่เกิดขึ้นอย่างห้ามไม่ได้ในปีนี้จะพิสูจน์อะไรบางอย่าง นั่นคือการที่ประชาชนจะไม่ยอมรับการกระทำแบบนี้ (การไม่ยอมพัฒนาเรื่องสิทธิสตรี) และพวกเราก็ไม่ยอมรับด้วย" ไนดูระบุในรายงาน

เรียบเรียงจาก

Women’s Resistance, Inequality Marks 2018, IPS News, Dec. 11, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net