Skip to main content
sharethis

ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในไทยเริ่มต้นไปแล้ว ผู้นำประเทศและคณะทำงานมีความคืบหน้าหลายเรื่องตามระเบียบ วาระ ในขณะที่ประชาชนถูกกีดกันออกไปให้ห่างสายตา ทั้งผู้ชุมนุม ชาวโรฮิงญาที่จะมายื่นหนังสือ ไปจนถึงภาคประชาสังคมที่ไม่ได้พบหน้าผู้นำตามระเบียบวาระมาแล้วสามปี ชวนดูปัญหาและความคาดหวังว่าอาเซียนที่ 'มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง' ควรจะไปในทิศทางไหน

ธงชาติสมาชิกและธงอาเซียนที่ศูนย์สื่อมวลชนที่โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เพลินจิต

“ทุกประเทศรับรู้และเห็นชอบกับหัวข้อการประชุมของไทยเรื่อง ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเน้นในเรื่องของความยั่งยืนของสังคม ทางฝ่ายนายกฯ ไทย ก็ยืนยันนโยบายที่ทุกประเทศต้องคิดก็คือการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เป็นหนึ่งในคำพูดของ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในงานแถลงข่าวหลังการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนแบบเต็มคณะในช่วงค่ำของ 22 มิ.ย. 2562 ระคนไปกับประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนสารพัดไม่ว่าจะเป็นการเรื่องการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เศรษฐกิจดิจิทัล การเพิ่มพูนขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงการให้อาเซียนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า

คำว่า ‘ยั่งยืน’ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เป็นคำที่ได้ยินบ่อยในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนที่มีหัวข้อหลักคือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ส่วนคำว่า ‘อาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง’ นั้นถือเป็นเป้าหมายของอาเซียนนับตั้งแต่มีกฎบัตร

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ภูมิภาคที่มีสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนสารพัด และหลายกรณีก็ลึกลับ จะมีภาพฝันถึงสังคมระดับภูมิภาคที่ดีขึ้น แต่เส้นทางของการทำให้ภาพฝันดังกล่าวเป็นจริงยังคงเต็มไปด้วยประโยคคำถามและความท้าทายต่อคณะทำงาน

เปลี่ยนเพลินจิต-วิทยุ เป็นเขาโอลิมปัสแห่งเอเชียอาคเนย์

แนวกั้นของตำรวจบริเวณสี่แยกเพลินจิต

ถนนวิทยุที่ปกติจะมีการจราจรคับคั่ง ในวันที่ 22-23 มิ.ย. จะเงียบงันเป็นพิเศษ เนื่องจากโรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล บนถนนวิทยุถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ บีบีซีไทยรายงานว่า มีการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 10,000 นาย โดยปิดการจราจรระหว่าง ถ.วิทยุ จากแยกเพลินจิตถึง ถ.สารสินในเวลา 06.00-18.00 น.

บนทางเท้าของถนนวิทยุจะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินลาดตระเวนไปมาเป็นชุดๆ หัวและท้ายถนนที่ถูกปิดมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่ยืนประจำการ ทำให้ถนนวิทยุเป็นพื้นที่ของการประชุมที่ปลอดภัย แม้แต่ผู้สื่อข่าวเองยังถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ในโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยท์ เพลินจิต อีกฝั่งของถนน ห่างออกไปจากดิ แอทธินีราวๆ 100 เมตร

การเปลี่ยนถนนวิทยุเป็นโอลิมปัสทางการเมืองระหว่างประเทศ นัยหนึ่งกลับเป็นการกีดกันประชาชนออกไปจากการมีส่วนร่วมโดยสิ้นเชิง เมื่ออนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' นักกิจกรรมด้านการเมืองและพรรคพวกอีกราว 10 คนนัดเดินทางไปยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้นำอาเซียนที่กระทรวงการต่างประเทศในเรื่องปัญหาการโกงการเลือกตั้งและการคุกคามนักกิจกรรมในไทย แต่จะนัดสัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สี่แยกเพลินจิตในเวลา 10.00 น.

เจ้าหน้าที่ตำรวจไปรับอนุรักษ์ที่บ้านและเดินทางออกมา แต่ท้ายที่สุดในเวลา 10.20 น. อนุรักษ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปยังกองบัญชาการสันติบาล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาอยู่ในนั้นเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมงโดยที่ผู้สื่อข่าวที่พากันไปติดตามข่าวไม่สามารถติดต่อได้เลย การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สี่แยกเพลินจิตไม่เคยเกิดขึ้น

'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง'-คณะ ร้องผู้นำอาเซียนกรณีไทยโกงเลือกตั้ง นักกิจกรรมถูกทำร้าย

หลังจากนั้นอนุรักษ์ได้โพสท์เฟสบุ๊คว่ากำลังเดินทางไปยัง กต. เพื่อยื่นหนังสือ กิจกรรมแสดงออกทางสัญลักษณ์จึงเกิดขึ้นที่นั่นท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบในจำนวนที่มากกว่าผู้จัดกิจกรรม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะพาอนุรักษ์และพรรคพวกไปรับประทานปิ้งย่างที่ร้านริมน้ำแห่งหนึ่ง

อนุรักษ์และพรรคพวกที่ กต. ในวันที่ 22 มิ.ย. 2562

ชะตากรรมแบบอนุรักษ์ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เมื่อซายิด อาลัม ประธานสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมีแผนจะเดินทางไปยื่นแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์และข้อเรียกร้องต่อผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนในประเด็นชาวโรฮิงญา ณ ที่ประชุมซัมมิทและกระทรวงการต่างประเทศ แต่เขาได้รับสายโทรศัพท์ห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นเมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ด้วยความกลัวจึงตัดสินใจไม่เดินทางไปส่งหนังสือสักที่

ซายิดเล่าอีกว่า ตลอด 5-6 เดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามหลายครั้ง บางครั้งก็ไปพบเขาที่บ้านเพื่อสอบถามว่าจะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ ชาวโรฮิงญาของซายิดด้วย

ผู้นำพบปะประชาสังคม: วาระประจำปีที่ไม่มีมาแล้วสามปี

การพบปะหารือ (Interface) ระหว่างผู้นำประเทศกับองค์กรระดับอาเซียนต่างๆ เป็นพิธีการที่สะท้อนถึงความพยายามจะรวบรวมเอาทุกคนเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้ ในปีนี้มีการพบปะระหว่างผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนและกลุ่มเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth) สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Association หรือ AIPA) และตัวแทนจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ ไม่มีการพบปะกับภาคประชาสังคม เนื่องจากทางคณะทำงานของรัฐบาลชาติสมาชิกเห็นว่าไม่มีการจัดเวทีภาคประชาสังคม/ประชาชนอาเซียน (ACSC/APF) ได้ทันเวลา จึงมีความเห็นว่ายังไม่มีความพร้อมและตัวแทนประเทศเข้าพบ

ตามปกติ APF จะจัดคู่ขนานไปกับเวทีอาเซียนซัมมิท แล้วจะมีการทำแถลงการณ์และคัดเลือกตัวแทนไปยังงานพบปะระหว่างผู้นำ แต่ปีนี้คณะทำงานที่ประกอบด้วยภาคประชาสังคม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 9.8 ล้านบาท ร่วมมือกับภาควิชาการทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขาดความพร้อมในการจัดงานตามกำหนดเดิม โดยเลื่อนไปจัดในเดือน ก.ย. ปีนี้แทน ทำให้ยังมีโอกาสการได้พบปะผู้นำในซัมมิทรอบที่สองในเดือน พ.ย.

เมื่อยังไม่มีการพบปะผู้นำเกิดขึ้น เท่ากับว่าอาเซียนไม่ได้พบปะกับภาคประชาสังคมตามระเบียบที่ควรจะเป็นมาแล้วถึงสามปีติดต่อกัน โดยครั้งสุดท้ายที่มีการพบปะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ประเทศเดียวกันนี้เป็นประเทศที่จัดเวที APF เป็นครั้งแรกในปี 2548

ในการประชุมภาคประชาสังคมของคณะจัดงานระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นเมื่อ 1-3 พ.ค. 2562 พบว่ามีการพูดคุยเรื่องรายละเอียดงานจำนวนมากตั้งแต่หัวข้อการประชุม วันและสถานที่จัดงานไปจนถึงจำนวนโควตาผู้เข้าร่วมงานจากแต่ละประเทศ ที่ปีนี้เล็งจำนวนผู้เข้าร่วมงานเอาไว้ถึง 1,000 คน สะท้อนว่าภายในเวลาหนึ่งเดือนก่อนซัมมิทนั้นยังเหลืออะไรที่ต้องตกลงกันอีกมาก

ภาคประชาสังคมหลายองค์กรมีความคาดหวังกับการประชุม APF ในไทยว่าจะมีพื้นที่ มีเพดานการแสดงออกถึงปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้สูงกว่าปี 2561 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ในเวที APF ครั้งนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนในทางงบประมาณจากภาครัฐ แถมยังถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในสมาคมศิษย์เก่าของวิทยาลัยโปลีเทคนิคสิงคโปร์ มีประชาสังคมร่วมงานราว 200 คน ไม่มีแม้แต่ป้ายบอกทางจากสถานีรถไฟหน้าวิทยาลัย ด้วยหลายเหตุผลทำให้มีหลายองค์กรตัดสินใจคว่ำบาตร ไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

ตัวแทนจากหลายประเทศมีความเห็นว่าในเดือน มิ.ย. นั้นไม่สามารถจัดการประชุมได้ทัน หนึ่งในเหตุผลคือช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย. เป็นช่วงที่ชาวมุสลิมถือศีลอดและวันอีด ซึ่งตัวแทนประเทศที่มีคนนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากไม่พร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่

ความเชื่อทางศาสนาไม่ใช่ประเด็นหลักของความไม่พร้อม หากแต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการเตรียมงานและภูมิทัศน์ของภาครัฐและประชาสังคมในอาเซียน ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผอ.มูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในคณะเตรียมงานระดับภูมิภาคจากประเทศไทยกล่าวว่า ในฝั่งภาครัฐมีการเตรียมงานรับรองการเป็นประธานอาเซียนถึงสองปี มีการประชุมหลายระดับรวมกันถึง 120 ครั้ง ในขณะที่ภาคประชาสังคมมีงบประมาณพบปะกันได้ครั้งเดียว (1-3 พ.ค.) การพบปะ ตัดสินใจจึงทำได้บนเครือข่ายออนไลน์อย่างสไกป์ แต่เมื่อไม่ได้พบหน้า การหารือก็ลำบาก เมื่อเป็นเช่นนี้การหารือในประเด็นระดับภูมิภาคก็เป็นเรื่องยากมาก

สำหรับมติการให้มีหรือไม่ให้มีการพบปะนั้น ชลิดากล่าวว่าตัวแทนประเทศตัดสินใจบนระบบฉันทามติ และพบว่ามีไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียที่สนับสนุนให้มีการพบปะ แต่มีสองประเทศที่ชลิดาไม่อนุญาตให้เอ่ยนาม ไม่เห็นด้วยกับการให้มีการพบปะ และอีกห้าประเทศที่เหลือไม่ได้พูดอะไร ในส่วนเหตุผลเรื่องการขาดตัวแทนนั้น ชลิดาตอบว่าคณะทำงานได้ส่งรายชื่อตัวแทนการเข้าพบปะให้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) แล้ว แต่ว่าไม่ได้มาจากการเลือกในเวที APF เนื่องจากจัดไม่ทัน 

ทางแก้อยู่ที่ปาก แต่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ชลิดาให้ความเห็นว่า ภาคประชาสังคมควรต้องปรับยุทธศาสตร์การร่วมงานกับตัวรัฐบาลของชาติสมาชิกเสียใหม่ เพราะภายใต้การเป็นประธานของไทยนั้นพบว่า ไทยมีทัศนคติในการร่วมงานกับประชาสังคมได้ ดังนั้นการเมืองระหว่างประชาสังคมกับรัฐ หากต้องการยกระดับเป็นการต่อรองบนโต๊ะเจรจา จะต้องมีการปรับท่าที

“เราเองอาจต้องเปลี่ยนท่าทีการพบและการเข้าไปคุยกับรัฐ ซึ่งมันไม่ใช่ไปด่าๆๆ ตลอด แต่เรื่องที่เขาไม่สนใจเรา ไม่ให้พบอะไรพวกนี้ก็ต้องพูดพองามโดยหลักการ โดยเหตุผล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง”

“ต้องมาคุยกันในเชิงยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนว่า ถ้าได้แปดคน แล้วอีกสองคนมันไม่ใช่เรา เป็นของรัฐแต่งตั้งมา เราจะเจอไหม หรือจะล้ม interface ไม่เอากลไกตัวนี้ ถ้าเราล้มเราก็ถูกกันไว้อยู่ข้างนอก ก็อยู่ข้างถนนตลอดไป ไม่ได้นั่งบนโต๊ะเดียวกัน อันนี้ภาคประชาสังคมก็ต้องมาคุยกัน เป็น diplomat ของพวกเราเองว่าจะเลือกอันไหน จะเอาอะไร” ชลิดากล่าว

การแก้ปัญหาของประชาสังคมกลายเป็นสมการหลายตัวแปรเพราะแต่ละประเทศสมาชิกก็มีภาวะการเผชิญหน้าและความไว้วางใจระหว่างรัฐกับภาคประชาสังคมไม่เท่ากัน แทบทุกประเทศมีมาตรการที่รุนแรงและคุกคามต่อนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมเป็นระยะๆ ทั้งในทางร่างกายและกฎหมาย นอกจากนั้น แต่ละรัฐยังมีวิธีการจัดการกับประชาสังคมในเชิงสถาบันไม่เหมือนกัน บางประเทศก็เปิดกว้าง ในขณะที่บางประเทศนั้น ประชาสังคมต้องจดทะเบียนกับรัฐ บางประเทศไปไกลจนถึงสร้างประชาสังคมหรือเอ็นจีโอของรัฐหรือที่เรียกกันในชื่อ ‘กองโก’ (Government-Organized Non-Governmental Organization)

ที่มา สังกัด ภาวะเผชิญหน้าที่ไม่เท่ากันสร้างเฉดของประชาสังคมที่หลากหลาย ความหลากหลายเช่นว่าจึงเป็นทั้งปัญหาและเป็นข้อท้าทายที่ทำให้การเดินหน้าของประชาสังคมในทางยุทธศาสตร์มีความอิหลักอิเหลื่อในหลายประเด็น หนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนชัดถึงความหลากหลายเกิดขึ้นที่การประชุม APF ปี 2561 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในกระบวนการร่างแถลงการณ์ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกกันทุกปีเพื่อส่งให้ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน มีตัวแทนจากลาวและเวียดนามบางส่วน ไม่ต้องการให้ใส่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาสังคมลงไปในแถลงการณ์ ในส่วนของลาวนั้นชัดเจนกว่า คือไม่ต้องการให้แถลงการณ์มีการกล่าวถึงสมบัด สมพอน นักกิจกรรมด้านการพัฒนาชาวลาวที่ถูกลักพาตัวไปจากกลางกรุงเวียงจันทน์เมื่อปี 2555 โดยทางการลาวปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปตลอดมา

เมื่อ 18 มิ.ย. 2562 ที่งานเสวนาเรื่องความเห็นและมุมมองประชาสังคมต่อความร่วมมือกับอาเซียน เดบบี้ สโตฮาร์ด จากเครือข่ายอาเซียนทางเลือกสำหรับพม่า เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องประชาธิปไตยในพม่า วิพากษ์วิจารณ์การกีดกันประชาชนของอาเซียน โดยยกตัวอย่างประชาชนเวียดนาม กัมพูชา และที่อื่นๆ ที่ถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกายเมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนในประเทศของเขา ไปจนถึงการเล่นงานคนที่แสดงความเห็นบนอินเทอร์เน็ต

“เราถามรัฐบาลของอาเซียนและเหล่าผู้นำว่า ขอให้ไปดูพจนานุกรมในความหมายของคำว่า ‘การเป็นหุ้นส่วน (partnership)’ เพราะพวกเขา (ชาติสมาชิกอาเซียน) ไม่ได้ทำตัวเป็นหุ้นส่วนกับประชาชนในภูมิภาคเลย” เดบบี้กล่าว

ในเรื่องการสร้างความไว้วางใจ รัฐอาเซียนอาจเริ่มจากการเปิดเพดานให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในทางนโยบายให้มากกว่านี้ได้โดยไม่ต้องเจอการทุบตีหรือการเล่นงานทางกฎหมาย

“อาเซียนพยายามที่จะให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างที่อยู่ในพิมพ์เขียนอาเซียนปี 2568 แต่ว่าในความเป็นจริง ประชาสังคมหลายองค์กรกำลังเจอการปิดกั้นพื้นที่ในแต่ละประเทศ ทำให้เสียงที่ไม่พอใจเงียบงันลง อย่างไรก็ดี FORUM-ASIA คิดว่าเรื่องจำเป็นคือเราต้องสังเกตการณ์รัฐว่ารับรู้และการันตีสิทธิมนุษยชนของประชาชนในอาเซียนหรือไม่” เรเชล อารินี จูธิสตารี ผู้จัดการโปรแกรมภูมิภาคอาเซียนของ FORUM-ASIA หนึ่งในทีมอำนวยการของผู้จัดงาน APF ปีนี้ กล่าว

“เราต้องทำให้รัฐบาลรับผิดชอบ และประกันว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคของเรา”

อาเซียนมีกลไกสิทธิมนุษยชนที่เป็นของอาเซียน มีตัวแทนแต่ละประเทศนั่งเป็นตัวแทนอยู่ คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลอาเซียน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนใช้เวทีดังกล่าวเป็นพื้นที่แก้ตัวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ และในระเบียบเรื่องอำนาจ-หน้าที่ของ AICHR ยังไม่มีอำนาจในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเซียน มีเพียงหน้าที่การส่งเสริม สนับสนุนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น เรเชลเองก็คาดหวังให้ AICHR ทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ไม่ผิดเลยที่จะฝันถึงอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างมีคณะทำงานภายใต้ฝันใหญ่ๆ ก้อนนี้ทั้งนั้น แม้ไม่ไกลเกินฝันแต่ก็คงยากที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง หนึ่งคำถามบนเส้นทางฝันนี้คือ อาเซียนจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการ

เราจะอยู่กับอาเซียนที่ไม่รู้ว่าเป็นของใครอีกนานแค่ไหน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net