Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สํานักนายกรัฐมนตรี นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ร่วมกับกลุ่มธรรมาภิบาลไทย นำโดย ดร.อัครกฤษ นุ่นจันทร์ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักงานนายกรัฐมนตรี เรียกร้องขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล และร่างสัญญาที่จะลงนามในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยในหนังสือเรียกร้องขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลฯ ระบุว่าตามที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และได้ตรากฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 พร้อมกันนั้นก็ได้กำหนดนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา” เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าโครงการสูงถึง 224,544 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP -Net cost : เป็นสัญญาในรูปแบบที่ บริษัทเอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง) ซึ่งโครงการดังกล่าวรัฐร่วมลงทุนประมาณ 149,650 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวมีปัญหาให้สังคมตั้งคำถาม ข้อสังเกตมาเป็นระยะนับตั้งแต่ออกข้อกำหนดของการว่าจ้าง (TOR) และการขายซองประมูลซึ่งมีผู้มายื่นซองถึง 31 ราย แต่พอถึงวันยื่นประมูลจริงกลับมีผู้มายื่นซองเพียง 2 รายคือ 1.กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 2. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) จะเห็นได้ว่าบริษัทพันธมิตรต่างก่อนหน้านี้ล้วนเป็นผู้มีความประสงค์จะประมูลโครงการ จึงเป็นประเด็นที่สังคม สื่อมวลชน ประชาชน ตั้งคำถามว่า “ฮั้ว” กันหรือไม่

'สร.รฟท.-สรส.' เรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

และภายหลังปรากฏว่ากิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จากนั้นกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (CP) จำกัด ได้พยายามเจรจาต่อรองกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลโครงการ สำหรับเงื่อนไขที่ทางกลุ่ม CP ได้ยื่นข้อเสนอนอก TOR ประกอบไปด้วย 

1.ขอขยายสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี 
2.ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีที่ 1 ของการดำเนินโครงการก่อสร้าง จากเดิมที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 6 (เริ่มเดินรถ) 
3.ขอให้รัฐบาลการันตีผลตอบแทนจากการลงทุนโครงการ IRR ที่ระดับ 6.75 % ต่อปี 
4.ขอสิทธิ์ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ โครงการจาก 70% ลงมาเหลือ 5% ได้ในอนาคต เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
5.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเพดานการกู้เงินของเครือ CP เนื่องจากปัจจุบัน CP ติดเรื่องเพดานเงินกู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย 
6.ขอให้รัฐบาลค้ำประกันการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้เอกชนมีความมั่นใจในการทำสัญญา หากเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง 
7.ขอผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เป็นระยะเวลา 11 ปี (จำนวนเงิน 10,671 ล้านบาท) ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมที่จะต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้ 
8.รัฐบาลต้องสนับสนุน จัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการด้วย 
9.ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน จากที่ TOR กำหนดให้จ่ายวันที่ส่งมอบพื้นที่ 
10.หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า ขอให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่มีผลกระทบต่อการเดินรถด้วย 11.ห้ามการรถไฟฯ ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน 
12.ไม่สามารถเปิดเผยได้

ในหนังสือเรียกร้องขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลฯ ระบุ ซึ่งหากพิจารณาจากทั้ง 11 ข้อที่บริษัทกิจการกิจการร่วมค้า CP ได้เจรจานอกกรอบ TOR อาจส่งผลกระทบต่อรัฐ และการรถไฟแห่งประเทศไทยที่คาดหวังว่าจะได้รับเงินจากโครงการเพื่อนำไปพัฒนากิจการรถไฟทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีข่าวว่าบริษัทกิจการกิจการร่วมค้า CP จะถอนทั้ง 11 ข้อออกไปแล้วแต่ยังมีข้อที่ 12 ที่บอกว่ายังเปิดเผยไม่ได้ หมายถึงอะไร สาระคืออะไร ซึ่งในท่ามกลางความสงสัยของสังคมเรื่องดังกล่าวคณะรัฐมนตรีกลับให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 

ดังที่กล่าวมาข้างต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการขนาดใหญ่ รัฐร่วมสนับสนุนลงทุนกับโครงมากกว่า 50% ซึ่งแน่นอนว่าเงินเหล่านี้มาจากภาษีประชาชนเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องร่วมรับผิดชอบ ประกอบกับโครงการดังกล่าวยังจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ แต่ประชาชนกลับไม่ทราบรายละเอียดของโครงการในเชิงลึกของข้อมูลแม้แต่น้อย ซึ่งก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

ดังนั้นอาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 58 มาตรา 59 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 จึงขอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยข้อมูลในร่างสัญญาที่จะลงนามและรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แก่ สร.รฟท.และสาธารณชน สังคมได้รับทราบ ประกอบกับได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจึงเห็นว่าไม่ควรรีบเร่งดำเนินการ ควรที่จะพิจารณาอย่างรอบด้านและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net