Skip to main content
sharethis

คุยกับอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หลังพรรคเศรษฐกิจใหม่แถลงข่าวว่า ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ยังไม่อิ่มท้อง แต่อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์กลับเห็นต่าง โดยมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือเงื่อนปมสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่บรรลุผล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การแถลงข่าวของพรรคเศรษฐกิจใหม่ในวันที่ 21 ส.ค. 2562 ดูจะเป็นการตอกย้ำข้อถกเถียงที่ว่า การแก้ไขปัญหาโครงสร้างการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาปากท้อง สองสิ่งนี้อะไรสำคัญกว่า คำพูดของภาสกร เงินเจริญกุล เลขาธิการพรรคเป็นคำพูดที่ทำให้เห็นชัดว่า พรรคเศรษฐกิจใหม่ให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ และมองว่าเรื่องเหล่านี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเขาระบุว่า

“ถึงเราจะอยู่ฝ่ายค้านแต่ก็เรียนให้ทราบว่า เรามีความอึดอัดของเราเหมือนกัน เพราะอย่างที่ท่านหัวหน้าพรรคได้เรียนไปแล้วว่า เรามีอุดมการณ์ของเรา เรามีเอกสิทธิที่จะออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญที่ได้เขียนกันมา จะพอใจไม่พอใจก็เป็นสิ่งที่ประชาชนเขาออกกันมาแล้ว เดี๋ยวจะแก้ มันก็ต้องแก้ แต่เรียนว่ามีปัญหาบางอย่างที่ทำให้การทำงานของเราไม่ราบรื่น มีหลายเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนเรื่องปากท้องต่างๆ ไม่ได้มีการพูดถึง แล้วก็พูดแต่เรื่องการเมือง ผมเชื่อว่าการเมืองวันนี้ไม่มีทางมีเสถียรภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ และถ้ามีเสถียรภาพแล้ว ก็ต้องถามว่าประชาชนอิ่มท้องไหม ผมไม่คิดว่าแก้แล้วจะอิ่มท้อง”

แตกต่างจากผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งให้สัมภาษณ์ถึงข้อถกเถียงนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะมาจัดลำดับความสำคัญว่าสิ่งใดควรทำก่อนหลัง เพราะเป็นสองสิ่งที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ หากโครงสร้างการเมืองมีปัญหาย่อมส่งผลให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่สัมฤทธิ์ผล

“ทั้งสองเรื่องนี้มันทำไปควบคู่กันได้ เหมือนกับการรักษาสุขภาพซึ่งต้องทำสองอย่างควบคู่กันไปคือ การรับประทานอาหารที่ดี และการออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเพียงพอ ถ้าคุณทานอาหารที่ดีอย่างเดียว แต่ไม่ได้ออกกำลัง และพักผ่อนไม่เพียงพอสุขภาพมันก็ไม่ดีอยู่ดี มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาเรียงลำดับว่าเราควรทำอะไรก่อนหลัง” อนุสรณ์ กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาอย่างน้อย 3 เรื่องหลักที่เป็นเงื่อนปมต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างแรกคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่ได้สะท้อนเจตนารมย์ที่แท้จริงของประชาชน เพราะมีการกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) 250 คน สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยที่ ส.ว. ทั้งหมดนี้มีที่มาจากการแต่งตั้ง และเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความคิดแบบข้าราชการ และเป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะไม่เคยสัมผัสความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนของประชาชนในระดับฐานราก ฉะนั้นการออกมาตรการต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

อนุสรณ์ ชี้ถึงปัญหาที่สอง ในรัฐธรรมนูญที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคือ ปัญหาการถอยหลังในการกระจายอำนาจ ในด้านการตัดสินใจ ด้านการบริหารจัดการ และอำนาจทางด้านการคลัง  ซึ่งเรื่องนี้ไทยเคยก้าวหน้าที่สุดในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีแผนแม่บทที่ระบุชัดว่า จะต้องมีการกระจายอำนาจทางด้านการคลังด้วย ทั้งยังมีการกระจายอำนาจอีกหลายส่วนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยเวลานี้กลับถูกแช่แข็งไม่ให้มีการเลือกตั้งมาเป็นเวลา 5 ปี แล้ว คนที่บริหารงานตามจุดต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของระบบเศรษฐกิจ ก็ตอบสนองต่อประชาชนน้อยลง เพราะถ้ามาจากการเลือกตั้งอยู่เป็นวาระ ก็จะต้องกระตืนรือร้นในการทำงานมากกว่านี้ เพราะถ้ามาจากการเลือกตั้งอยู่เป็นวาระ ก็จะต้องกระตืนรือร้นในการทำงานมากกว่านี้ เนื่องจากต้องการความนิยมจากประชาชน เรื่องนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า กลไกทางการเมือง เรื่องการกระจายอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ มีผลต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ประเด็นสุดท้าย อนุสรณ์ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบมาให้เกิดรัฐบาลที่เป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ส่วนรัฐบาลที่จะสามารถมีความเข้มแข็งได้ตามรัฐบาลนูญนี้จะต้องเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตามแม้ว่า รัฐบาลนี้จะมีส่วนออกแบบรัฐธรรมนูญเอง สืบทอดอำนาจเองก็ยังคงเป็นรัฐบาลที่อ่อนแออยู่ เพราะในรัฐธรรมนูญมีการวางกับดักเอาไว้ รวมทั้งมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.การเงินการคลัง ซึ่งเนื้อหลายส่วนก็เป็นเรื่องที่ดีที่เพราะทำให้เกิดการระวังเรื่องการเงินการคลัง แต่ก็เป็นเงื่อนไข เป็นภาระที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทำด้วย เพราะเป็นคนวางไว้เอง ฉะนั้นจะแก้ปัญหาจะทำนโยบายเศรษฐกิจก็ต้องตอบคำถามให้ชัดวา จะเอาเงินมาจากไหน ขณะเดียวกันความเป็นเบี้ยหัวแตกของรัฐบาลจะนำมาซึ่งยุ่งยากในการบริหารประเทศ และการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ส่วนที่มากไปกว่านั้นก็จะพบว่ามีข่าวการต่อรองผลประโยชน์เรื่องตำแหน่งหน้าที่ส่วนตัว ในการร่วมรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ หากเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งออกมาแบบมาให้รัฐบาลเข้มแข็งจะทำให้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ง่ายกว่าง

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ชี้ด้วยว่า หากเราไม่ให้น้ำหนักกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยก็อาจจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง ที่จะมากระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้  

“ฉะนั้นเราจะบอกว่า จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง แล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ คือมันต้องทำสอดคล้องกันไป การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่คนระดับฐานรากได้รับความเดือดร้อนอยู่ก็ต้องทำ ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ที่โครงสร้างใหญ่ กติกา โครงสร้างอำนาจของประเทศ โดยทำให้เป็นโครงสร้างที่มีการกระจายตัวมากขึ้น เพราะการกระจายตัวของอำนาจมันนำมาสู่การกระจายของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และทำให้แก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากกว่า” อนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้อนุสรณ์เคยวิเคราะห์ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เพิ่งออกมาว่า เป็นมาตรการชั่วคราวเน้นไปที่ภาคการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว และเป็นมาตรการสูตรเดิมๆ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ อาจช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนได้บ้าง แต่ไม่น่าจะได้ผลมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างผูกขาดสูง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัว โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกสูง ต้องแก้ไขโดยลดอำนาจผูกขาดและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาตลาดภายในมากขึ้น

ในส่วนของมาตรการแจกเงิน 1,000 บาทโดยมีเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคนสำหรับการท่องเที่ยวเมืองรองนั้น อนุสรณ์ ระบุว่าหากมีคนมาลงทะเบียนตามเป้าหมายจริง รัฐบาลจะใช้งบประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทสำหรับมาตรการนี้ คงจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองได้บ้าง แต่เงิน 1,000 บาทจะหมดไปกับค่าเดินทางและค่าน้ำมัน และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อประชาชนรับเงินไปแล้วจะไปเที่ยวเมืองรองตามนโยบายหรือไม่ นอกจากนี้ หากมีกลไกไปกำกับก็จะเพิ่มต้นทุนและความยุ่งยากในการทำตามนโยบายอีก ประชาชนระดับฐานรากซึ่งควรเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องดูแลอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก จึงยังเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ตรงจุดไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย การแจกเงินแบบนี้ในที่สุดเงินจะลงไปที่โรงแรม ร้านอาหารหรือร้านของฝากใหญ่ๆ คนที่ได้ประโยชน์จากงบแจกเงินเที่ยวจะไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้

“นโยบายแจกเงินให้เที่ยวจึงเป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมและน่าจะเป็นนโยบายที่มีปัญหาในเรื่องกรอบความคิดในการกำหนดนโยบาย เป็นกรอบความคิดในการแก้ปัญหาแบบแยกส่วน คิดแบบจุลภาค เป็นกรอบคิดแบบการตลาดและแก้ปัญหาแบบนักธุรกิจ ไม่ใช่กรอบคิดการบริหารระบบเศรษฐกิจหรือใช้มุมมองแบบมหภาค ปัญหาท่องเที่ยวไทยทรุดตัวเป็นผลจากกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัวอย่างแรงมากกว่า การแจกเงินให้เที่ยวจึงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก” อนุสรณ์ วิเคราะห์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net