Skip to main content
sharethis

วงเสวนานักวิชาการปัญหาเมือง มองแนวโน้มการพัฒนาเมืองของไทย ระบุ ไทยกำลังเป็นเผด็จการด้านการพัฒนาเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ บีบคนออกจากพื้นที่ เสียงคนเมือง-ชุมชนเดิมถูกทำให้ไม่เป็นที่มองเห็นบนแผนพัฒนาสารพัดที่มีความเป็นทุนนิยมขึ้นเรื่อยๆ ดูอำนาจการจัดการพื้นที่ โฆษณาชวนเชื่อ และการมีลำดับต่ำ-สูงของเมืองผ่านประวัติศาสตร์การท่องเที่ยว

บรรยากาศเวทีเสวนา

11 พ.ย. 2562 เมื่อเสาร์ที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม Urban Jam (ภายใต้โครงการ MIDL for Inclusive City : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน) สำนักข่าวประชาไท สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) School of Architecture and Design (SoA+D) และพรรคโดมปฏิวัติ มธ. ร่วมจัดเวทีเสวนาสาธารณะ (Urban Forum) ในหัวข้อ ‘เมืองเถียงได้’ ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เวทีเสวนาในช่วงที่สองมีชื่อว่า  ‘กะเทาะแผน เปิดนโยบาย พัฒนาร่วม ร่วมพัฒนา’ มีการเชิญนักวิชาการหลายศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับชุมชนมาแลกเปลี่ยนในมุมมองแนวคิดการพัฒนาเมือง ที่มาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับความเป็นเมือง และช่องว่างทางจินตนาการกับความจริงของคนชนบทที่ชาวเมืองมองเข้าไป

เมือง 'เถียง' ได้ (1): เสียงจากชาวเมืองที่ไม่ถูกนับรวมในสมการ 'การพัฒนา'

ไทยกำลังเป็นเผด็จการด้านการพัฒนาเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวว่า การพัฒนาย่านเมืองเก่าแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะ 

  1. Urban Vernacular คือการออกแบบที่มาจากฐานรากของผู้อยู่อาศัยเป็นไปเองโดยธรรมชาติโดยขาดผู้เขี่ยวชาญ
  2. Community-based Urban คือการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมจากฐานรากขึ้นมาและได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ
  3. Dictatorship Urban Development คือ การออกแบบโดยมาจากเผด็จการที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ และการออกแบบภายนอกดูไม่ดึงดูด
  4. 4.State-led Gentrification คือการออกแบบเมืองโดยเผด็จการพร้อมกับที่มีความเชี่ยวชาญมาสนับสนุน

ชาตรีกล่าวว่า การออกแบบเมืองในแบบ Urban Vernacular และแบบ Community-based Urban สำหรับเมืองไทยดูเหมือนจะยังเป็นอุดมคติที่ต้องไปให้ถึงอยู่ ที่ผ่านมาไทยมีแนวโน้มการออกแบบและพัฒนาเมืองในทิศทาง Dictatorship Urban Development สูงขึ้นเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองในแบบ State-led Gentrification ซึ่งอันตรายมากต่อการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น กล่าวคือ การออกแบบเมืองที่ไม่มีส่วนร่วมจากฐานราก และการร่วมมือระหว่างรัฐกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้ดูเหมือนว่าภายนอกของโครงสร้างความเป็นชุมชนเมืองดูดี แต่ไม่ได้ตอบโจทย์และมีประโยชน์กับทุกคน

ความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า Gentrification คือการไล่รื้อที่ไม่ใช้อำนาจเชิงกายภาพที่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการไล่รื้อลักษณะหนึ่งอย่างการเก็บค่าเช่าสูงขึ้นเพื่อบีบให้คนไม่มีกำลังจ่ายออกไปจากพื้นที่ เป็นการทำลายพื้นที่ทำมาหากินของคนที่มีวิถีชีวิตที่ไม่สอดรับกับวิธีคิดของรัฐออกไปอย่างแนบเนียน

ชาตรีกล่าวว่า ในโลกสมัยใหม่ รัฐพยายามที่จะเอาใจใส่ในวิถีชีวิตของชนชั้นกลาง และเบียดขับวิถีชีวิตที่อยู่ตรงข้ามกับทุนนิยมโลกเสรีผ่านโครงการประเภทการพื้นฟูเมือง Gentrification ส่วนใหญ่จะทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมในโลกเสรีนิยม กล่าวคือ นายทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาเช่าที่และปรับให้เป็นพื้นที่ที่สอดรับกับจริตของชนชั้นกลาง เช่น ร้านกาแฟ แกลเลอรี ฮิปโฮเทล เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่และตอบรับวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม ทว่ารัฐที่เป็นเผด็จการบางรัฐไม่สมารถที่จะรอนายทุนได้ จึงทำให้ต้องเข้ามาจัดการในกลไกบางอย่างเพื่อให้เกิดการกระตุ้นผ่านการเกิดของโครงการนโยบายต่างๆ และสิ่งนี้เองที่ให้เกิดความขัดแย้งทางชนชั้นในเชิงวัฒนธรรม

คนจนจึงเป็นกลุ่มชนชั้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เสียงของชนชั้นกลางกลายเป็นเสียงที่ดังที่สุด และกลายมาเป็นความชอบธรรมให้รัฐออกนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ในโลกทุนนิยม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

ชาตรีให้ข้อสังเกตว่า แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์แผนเดิมนั้นเข้าข่ายการพัฒนาในรูปแบบที่เป็น Dictatorship Urban Development แต่แผนแม่บทเพื่อการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์แผนใหม่ที่จะประกาศใช้จะเป็นในลักษณะ State-led Gentrification ที่ภาพออกมาเหมือนจะดูดีขึ้นแต่อยู่ลำบากเหมือนเดิม

รู้จักแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

ชาตรียังได้พูดถึงนักวิชาการหรือนักปฏิบัติบางกลุ่มที่มีฝีมือดีในการออกแบบพื้นที่ที่ทำงานให้กับรัฐและชนชั้นกลางว่าพวกเขากำลังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งทางชนชั้น เห็นได้ชัดว่าตอนนี้พื้นที่ริมน้ำบางส่วนถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อแก่วิถีชีวิตของชนชั้นกลางที่มีแต่เรื่องความสวยความงาม ความโก้เก๋และสไตล์ โดยไม่ได้ตระหนักถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะวิถีของชุมชนอื่นๆ

ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา: สำรวจข้อถกเถียง-การมีส่วนร่วม(ในกรอบที่วางไว้แล้ว)

ความเหลื่อมล้ำผ่านการทำให้ชุมชนไร้ความหมาย ไร้ตัวตน

ผศ. ศักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวถึงปัญหาของกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองว่าไม่มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตของเมืองและชุมชนโดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วม

ศักรินทร์กล่าวว่าชุมชนต้องมีความชัดเจนว่าจะปรับตัวแบบไหน เพราะเรามองชุมชนเป็นเรื่องโรแมนติกแบบเดิมไม่ได้เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงและคนไม่สามารถอยู่บนพื้นราบได้หมด อย่างไรก็ดี การหันมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นคือการตอบสนองสภาวะที่ทุนนิยมมาถึงทางตัน สิ่งที่ตามมาคือการเข้ามามีอิทธิพลต่อรัฐ แล้วรัฐก็ต้องมาบีบและเข้ามาจัดการกับกลุ่มคนจนเมือง ซึ่งชนชั้นกลางบางส่วนก็โดนไปด้วย

ศักรินทร์เล่าต่อไปว่า ประเภทของทุนมีอยู่ 4 แบบ ได้แก่ ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางการเมืองซึ่งพี่น้องชาวบ้านยังคงขาดในส่วนนี้ แต่สิ่งที่มีคือทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสิ่งแวดล้อม ทุนสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อชุมชนที่อยู่ในชนบท การพัฒนาที่เข้ามาโดยส่วนใหญ่จะทำให้ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านหายไป สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการทำงานของความเหลื่อมล้ำคือกลไกของการไม่นิยามผู้คนให้มีตัวตน ชาวบ้านไม่มีเสียงหรือแม้กระทั่งสิทธิที่จะพูดเพราะไม่ใช่ประชากรที่แท้จริง ดังนั้นเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการยอมรับการมีอยู่ของชุมชนแบบใหม่ภายใต้วิธีคิดเรื่องสิทธิของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ศักรินทร์มองว่าในเมืองเก่ายังไม่ได้จมลงไปในระดับเลวร้ายทุกเรื่อง มีความพยายามจะสร้างมูลค่าผ่านการสร้างเรื่องราวผ่านมุมมองของคนตัวเล็กตัวน้อย หรือดึงเอาอัตลักษณ์ของชุมชนที่ถูกมองข้ามมาตีความใหม่ให้เข้ากับกระแสตลาด สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ทำอย่างไรที่ไม่ทำให้คนที่คิดเหมือนกันมานั่งฟังเรื่องเดียวกันเพียงอย่างเดียว 

ประวัติศาสตร์การท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์โฆษณาชวนเชื่อ อำนาจจัดการพื้นที่ การมองเมืองตามลำดับศักดิ์โดยส่วนกลาง

รศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นำเสนอประวัติศาสตร์ของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งการท่องเที่ยวของรัฐไทยได้สะท้อนให้เห็นถึงลำดับศักดิ์ของพื้นที่และสถานที่ที่มีนัยของชนชั้นทางสังคม

ภิญญพันธุ์กล่าวว่า วัด วังถูกทำให้กลายเป็นสิ่งสุดยอดของความเป็นเมืองที่ไม่มีอะไรสูงไปกว่านั้นแล้ว การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเข้าไปจัดการพื้นที่ การท่องเที่ยวจึงเป็นทั้งการท่องเที่ยวโดยตัวมันเองและเป็นทั้งข้ออ้างในการเข้าไปเปลี่ยนความเป็นเมืองและความหมายของพื้นที่ต่างๆ

การท่องเที่ยวมีนัยของการเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวถูกทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยภายนอกอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นผู้กำหนดวิธีการมองเรื่องการท่องเที่ยวของรัฐไทย ในปี 2502 มีการตั้งองค์กรอย่าง อ.ส.ท. ที่ต่อมากลายเป็น ททท. ในอดีต อนุสาร อ.ส.ท. เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำงานร่วมกับหน่วยป้องกันคอมมิวนิสต์ ซึ่งนอกจากการตีพิมพ์แล้วยังมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น เช่น การเอาหนังไปฉายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดจิตสำนึกของการรักชาติ 

เมืองได้กลายมาเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ในยุคสงครามเย็น เมืองถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและความปลอดภัยจากคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในเขตชนบท ผ่านประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติที่ไม่สามารถแยกขาดได้จากตัวแทนทางศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์  วิถีชีวิตของชาวบ้านจึงถูกลดทอนและทำให้หายไป 

ในทางตรงกันข้ามเมืองที่อันตรายที่สุดในสายตารัฐไทยก็คือ พื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในปี 2523 หลังจากการเกิดขึ้นของ ททท. ก็มีการสร้างปีแห่งการท่องเที่ยวไทยซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการเปิดพื้นที่และอธิบายพื้นที่ใหม่หลังจากการพ่ายแพ้ของ พคท. รวมไปถึงทศวรรษที่ 2530 เกิดสิ่งที่เรียกว่าการสร้างคำขวัญประจำจังหวัดขึ้นมาจากคำสั่งของส่วนกลาง 

สิ่งน่าสนใจที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของการท่องเที่ยวหลังสงครามเย็น คือการขยายตัวของถนนคนเดินที่เกิดขึ้นทุกภูมิภาคในประเทศไทย ทำให้เกิดความหลากหลายของการใช้พื้นที่มากขึ้น และเป็นการเปลี่ยนฤดูกาลของการท่องเที่ยวที่ได้ได้มีการผูกขาดของฤดูกาลอีกต่อไป

ภิญญพันธุ์กล่าวว่า เวลามองเมืองคนต่างจังหวัดมักจะคิดไปเองว่าผู้ว่าเป็นเหมือนพ่อเมืองหรือนายกฯ ประจำเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วตรงข้ามกับวิธีคิดเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะ อ.ส.ท. หรือ ททท. ทำหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นการพัฒนาจากข้างบนลงมาข้างล่างโดยมองข้ามการพัฒนาที่มาจากการปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวจึงเป็นไปในลักษณะของการรวมศูนย์ที่มองว่าการท่องเที่ยวให้คุณค่ากับเมืองแบบมีลำดับศักดิ์ แม้อำนาจท้องถิ่นจะเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดการท่องเที่ยวก็ตาม แต่ก็ถูกตัดตอนไปในการรัฐประหารปี 2557 ทั้งที่เคยเบิกบานมาก่อนภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งทำให้เห็นปัญหาความไม่เข้าใจเรื่องการทำงานร่วมกับชุมชนของผู้ตัดสินใจจากส่วนกลาง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net