Skip to main content
sharethis

ดูขั้นตอนต่อไปหลังมติสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ ให้ถอดถอนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาใช้อำนาจในทางที่ผิดและขัดขวางกระบวนการรัฐสภา กระนั้นก็ตามทรัมป์ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพราะยังต้องผ่านการโหวตจากวุฒิสภาอีกขั้นตอนหนึ่ง อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ แจงขั้นตอนไต่สวน ประเมิน โอกาสโดนถอดถอนน้อยมาก เพราะต้องให้ ส.ว. โหวตหนุน 2 ใน 3 ต้องอาศัยการโหวตหนุนจากพรรครีพับลิกันซึ่งทรัมป์สังกัด

โดนัลด์ ทรัมป์ (ที่มา: slavicsac.com)

โดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีรายที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่ถูกโหวตถอดถอนจากสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมาตามเวลาของสหรัฐฯ โดยที่สภาล่างโหวตผ่านมติว่าด้วยการถอดถอนทรัมป์ด้วยสาเหตุเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดและการขัดขวางกระบวนการรัฐสภา

สื่อ CNN นำเสนอเรื่องน่ารู้และข้อสังเกตเกี่ยวกับการโหวตถอดถอนไว้ดังนี้ ข้อสังเกตประการแรกคือการโหวตในสภาล่างครั้งนี้เป็นการโหวตที่ ส.ส. ส่วนใหญ่โหวตตามมติของพรรคตัวเอง พรรคเดโมแครตมีอยู่ไม่กี่คนที่โหวตคัดค้านการถอดถอนทรัมป์ซึ่งเป็นประธานาธิบดีจากรีพับลิกัน

ในการโหวตครั้งนี้มีผู้ลงมติเห็นชอบว่าทรัมป์ใช้อำนาจในทางที่ผิดอยู่ที่ 230-197 เสียง มีผู้ลงมติเห็นชอบว่าทรัมป์ขัดขวางกระบวนการของรัฐสภาอยู่ที่ 299-198 เสียง ในการโหวตนี้มี ส.ส. จากเดโมแครต 2 รายเท่านั้นที่โหวตคัดค้านทั้งสองมติ คือ คอลลิน ปีเตอร์สัน จากมินนิโซตา และเจฟฟ์ แวน ดริว จากนิวเจอร์ซี คนที่มีโอกาสจะย้ายพรรคในอีกไม่นานนี้ มี ส.ส. รายหนึ่งคือ แจเรด โกลเดน จากรัฐเมนโหวตสนับสนุนเพียงมติเดียว ทั้งนี้ยังมีอดีต ส.ส. รีพับลิกันที่กลายมาเป็นผู้แทนอิสระคือ จัสติน อะมาร์ช จากมิชิแกนที่โหวตให้มีการถอดถอนทรัมป์ในทั้งสองมติ ขณะที่ ทุลซี กับบาร์ด จากฮาวายผู้ที่ลงชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งหน้า โหวตไม่ลงความเห็นในทั้งสองมติ

เรื่องน่ารู้ต่อมาคือก่อนการลงมติในครั้งนี้มีการอภิปรายกันเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ซึ่ง CNN ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการอภิปรายที่มีการแบ่งขั้วอย่างเข้มข้นมากโดยมีการโต้เถียงสลับกันคนละประมาณ 1-2 นาทีระหว่างผู้แทนฯ เดโมแครตกับรีพับลิกันซึ่งเป็นไปออย่างรวดเร็วและดุเดือด ฝ่ายเดโมแครตย้ำถึงหน้าที่ของรัฐสภาที่จะตรวจสอบและทำการถอดถอนผู้นำขณะที่ฝ่ายรีพับลิกันประกาศว่าการถอดถอนจะเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวง

ข้อสังเกตต่อมาคือหทรัมป์รับรู้เรื่องการโหวตถอดถอนเขาในขณะที่กำลังปราศรัยอยู่บนเวทีหาเสียงที่มิชิแกน ซึ่งหลังจากที่เขารับรู้เรื่องผลการลงมติจากผู้ช่วยของเขาทรัมป์ก็อาศัยโอกาสในช่วงปราศรัยนี้เรียกเสียงสนับสนุนโดยพูดถึงความสมานฉันท์ของพรรครีพับลิกัน เขาปราศรัยเป็นเวลายาวนาน 2 ชั่วโมงซึ่งถือว่านานที่สุดตั้งแต่ที่เขาได้เป็นประธานาธิบดี

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการลงมติถอดถอนจากสภาผู้แทนฯ คือผลโหวตนี้จะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภาซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการโหวตของ ส.ว. ในเดือน ม.ค. 2563 และการโหวตของ ส.ว. จะตัดสินว่าทรัมป์จะถูกขับออกจากตำแหน่งหรือไม่

รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสท์ในเฟสบุ๊ค กรณีการโหวตถอดถอนทรัมป์เอาไว้ว่า วุฒิสมาชิกจะทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนตัดสินข้อกล่าวหาทั้งสอง ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะแต่งตั้งทีมอัยการจาก ส.ส. และฝ่ายประธานาธิบดีก็จะตั้งทีมทนายความมาต่อสู้ ซึ่งทั้งอัยการและทนายความมีสิทธิเรียกดูหลักฐานและซักค้านพยาน

สิริพรรณเชื่อว่าโอกาสที่ทรัมป์จะถูกถอดถอนนั้นมีน้อย เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จากวุฒิสภา หมายความว่าจะต้องมี ส.ว. รีพับลิกันถึง 20 คน หันมาโหวตสนับสนุนพรรคเดโมแครต การถอดถอนซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลก็ต้องดำเนินไปตามวิถีประชาธิปไตยที่ผู้บริหารถูกตรวจสอบได้ พรรคเดโมแครตคงหวังใช้โอกาสนี้เปิดแผลต่อทรัมป์เพื่อให้มีผลกระทบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นการ “ไต่สวนถอดถอน” (Impeachment Trial) ประหนึ่งกระบวนการทางศาล โดยวุฒิสมาชิก 100 คน ทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนตัดสิน 2 ข้อกล่าวหา คือ 1. ใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง (ให้ได้รับเลือกตั้ง) 2. ขัดขวางการสืบสวนคดี

ประธานสภาผู้แทนราษฎร Nancy Pelosi จะแต่งตั้ง ส.ส. ทำหน้าที่ทีมอัยการ (prosecutors) ผู้ฟ้อง มีจำนวนเท่าใด ไม่มีกฎหมายกำหนด ในสมัยที่ Clinton เข้าสู่กระบวนถอดถอน ทีมอัยการมี 13 คน

ส่วนประธานาธิบดี Trump ก็จะตั้งทีมทนายสู้คดี ซี่งน่าจะเป็นทีมที่ปรึกษาจากทำเนียบขาว ทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายทนายของผู้ถูกกล่าวหา มีสิทธิเรียกดูหลักฐาน และซักค้านพยานจากทั้ง 2 ฝั่ง

ประธานศาลสูงสุด (Supreme Court Chief Justice) John Roberts นั่งบัลลังค์เป็นประธานการไต่สวน

เห็นได้ว่า กระบวนการไต่สวนถอดถอนประธานาธิบดี ออกแบบมาโดยให้ฝ่ายบริหารต้องถูกตรวจสอบทั้งโดย รัฐสภา และ ศาล และยังให้ สภาทั้ง 2 คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา คานอำนาจกันเองอีกด้วย กล่าวคือ สภาผู้แทนทำหน้าที่เป็นอัยการสั่งฟ้อง ขณะที่วุฒิสภาทำหน้าที่ลูกขุน ตัดสิน

ณ ปัจจุบัน วุฒิสภาประกอบด้วย Republican 53 คน Democrats 45 คน และ วุฒิสมาชิกอิสระ 2 คน วุฒิสภา 4 คน ที่สังกัด Democrats (Elizabeth Warren จาก Massachusetts, Amy Klobuchar จาก Minnesota, Cory Booker จาก New Jersey และ Michael Bennet จาก Colorado) รวมถึง Bernie Sanders วุฒิสมาชิกอิสระจาก Vermont ประกาศตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

หากวุฒิสภามีมติถอดถอนประธานาธิบดี ขั้นตอนต่อไปจะเป็นไปตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Amendment) ที่ 25th รองประธานาธิบดี Mike Pence ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน โดยจะแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดี หลังจากได้รับการรับรองจากทั้ง 2 สภา

นอกจากถอดถอนแล้ว วุฒิสภายังอาจมีมติต่อจากนั้น ไม่ให้สิทธิ Trump ลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกด้วย

แต่....ดิฉันประเมินว่า โอกาสที่ Trump จะถูกถอดถอนนั้นต่ำเตี้ยมาก

Trump จะพ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 67 เสียง ที่เรียกว่า supermajority นั่นหมายความว่า จะต้องมีวุฒิสมาชิก Republican ถึง 20 คน เปลี่ยนข้างมาสนับสนุน Democrats

3 เสียงที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ วุฒิสมาชิกที่ออกมาวิจารณ์ Trump แรง ๆ ได้แก่ Mitt Romney, Susan Collins และ Lisa Murkowski

จะเห็นว่า ในการลงคะแนนให้เริ่มกระบวนการไต่สวนถอดถอน ส.ส. ฝั่ง Republican ไม่มีใครแตกแถวเลย เสียงสนับสนุนของ Trump นอกสภาก็ยังคงหนาแน่น ดังนั้น เชื่อว่า วุฒิสมาชิก Republican จะเป็นลูกขุนที่โหวตให้ Trump อยู่ในตำแหน่งต่อไป

Democrats หวังว่าหมากกระดานนี้ จะช่วยกรีดบาดแผล Trump ให้ลึกและกว้างที่สุด และให้เสียงของประชาชน ตัดสินอีกครั้งในการเลือกตั้ง ปี 2020

นี่คือระบอบที่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุล ถึงการให้พ้นจากตำแหน่ง มีโอกาสริบหรี่ แต่เมื่อมีหน้าที่ ก็ต้องตรวจสอบ เป็นผู้บริหารประเทศ ก็ต้องถูกตรวจสอบ ตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

เรียบเรียงจาก

The House impeached President Trump tonight. Here's what you need to know, CNN, Dec. 19, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net