Skip to main content
sharethis

ซีรีส์งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ จากการปฏิวัติ 2475 ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ประชาธิปไตยไทยยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร เริ่มจากอดีตโดย 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' 

  • สังคมไทยมีการพูดคุยเรื่องรัฐธรรมนูญมาก่อนการปฏิวัติ 2475 ถึง 67 ปี เป็นแรงกดดันที่ทำให้ชนชั้นนำไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องคิดถึงการร่างรัฐธรรมนูญ
  • ประเทศไทยมีการรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้งเฉลี่ยแล้วทุกๆ 6 ปีครึ่งรัฐธรรมนูญจะถูกฉีก และมีรัฐธรรมนูญเพียง 5 ฉบับจาก 20 ฉบับเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย
  • วงจรอุบาทว์ของรัฐประหารไทยคือการรัฐประหารและพยายามอยู่ในอำนาจต่อของคณะรัฐประหาร คือการต่อสู้ระหว่าง Selection กับ Election
  • เมื่อชนชั้นนำไทยระบอบเก่าไม่สามารถควบคุมประชาชนให้อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองของตนได้ ผลที่ตามมาคืออาชญากรรมโดยรัฐ เฉลี่ยแล้วชนชั้นนำไทยหรือว่ารัฐไทยฆ่าประชาชนกลางเมืองทุกๆ 10 ปี

งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ประกอบด้วยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายให้เห็นอดีตที่พ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะของประชาธิปไตย ปัจจุบันที่มีแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ความมืดหม่นเข้มกว่า และอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะต้องเสียเลือดเนื้ออีกหรือไม่หากชนชั้นนำไทยขาดสติปัญญาที่จะคิดให้ทันความเปลี่ยนแปลง

‘ประชาไท’ ขอนำเสนอคำบรรยายโดยละเอียดของวิทยากรทั้ง 4 พร้อมกับข้อคิดเห็นของเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นการใช้ความชอบธรรมสู้กับรัฐเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด



ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยขอเริ่มจากอดีตโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

พระที่นั่งอนันตสมาคม สถานที่ประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครอง

ผมจะคุยเรื่องอดีตของรัฐธรรมนูญ ในภาพที่ผมเลือกขึ้นมาผมเองก็จำไม่ได้ว่าถ่ายไว้เมื่อไหร่ที่ผมได้ไปสัมผัสกับหมุดอันนี้ ที่ผมยกภาพนี้ขึ้นมาเพราะว่าน้อยครั้งที่เราจะมีโอกาสได้ไปเดินที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คืออาคารที่อยู่ด้านหลังที่เรียกว่าอนันตสมาคม ซึ่งเป็นผลผลิตของการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปในครั้งที่ 2 ปี 2450 หรือเมื่อ 112 ปีที่ผ่านมา เมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังกรุงเทพฯ จึงเริ่มสร้างอาคารหลังนี้ หมายให้เป็นพาเลซนอกเมืองหลวง พาเลซในเมืองหลวงก็คือรอยัล พาเลซ และตรงนี้เองที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ทำไมถึงอยู่นอก เพราะว่ากรุงเทพฯ ในสมัยพระองค์อยู่แค่คลองผดุงกรุงเกษม ใครข้ามคลองนี้ไปก็นอกกรุงเทพฯ

พื้นที่ตรงนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพาเลซตามแบบของกษัตริย์ในโลกตะวันตก แต่เป้าหมายของการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพื่อให้เป็น House of Government เพราะรัฐบาลทั่วโลกจะมีที่ทำการของรัฐบาล ในขณะที่รัฐไทยแบบโบราณที่ทำการก็คือที่บ้านของตนเองหรือพาเลซของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องการสร้างอาคารที่เป็นแบบตะวันตกเพราะว่าพอพูดถึงการปกครองแบบสมัยใหม่ เรานึกไม่ออกเลยว่าถ้าเราไม่เลียนแบบโลกตะวันตกแล้วเราจะเป็นไปได้อย่างไร ดังนั้น แม้แต่อาคารสถานที่หรือแม้แต่ชุดสีกากีของข้าราชการเราก็เอามาจากโลกของอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย

แต่อาคารหลังนี้กว่าจะสร้างเสร็จก็อีก 10 กว่าปีต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่อาคารหลังนี้ก็ไม่ถูกใช้เลยจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติปี 2475 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามายืนอยู่ตรงจุดนี้และประกาศการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบทางการเมือง จากอาคารหลังนั้นที่เราเรียกว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมมาถึงจุดตรงนี้ห่างกันเป็นระยะเวลา 25 ปี

25 ปีของสังคมไทยบางทีเราจะรู้สึกว่าโลกของการปกครองในอดีตนั้นยาวนานมาก แต่ที่จริงแล้วมันสั้นนิดเดียว อาคารยังสร้างไม่เสร็จหรือยังไม่ถูกใช่เลยก็ถูกนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สร้างระบอบประชาธิปไตย และอาคารที่เราเรียกว่าอนันตสมาคมก็กลายเป็นสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมองอดีตของพื้นที่นี้อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเห็นพระที่นั่งอนันตสมาคม เราก็นึกถึงสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นปี 2475 ซึ่งเขาทำงานกันตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ต่อให้เราลบอดีต อาคารหลังนี้ก็ยังเป็นสภาผู้แทนราษฎรตลอดมาในความทรงจำทางการเมือง

สังคมไทยคุยเรื่องรัฐธรรมนูญมา 67 ปีก่อนปฏิวัติ 2475

หลังจาก 2475 เป็นต้นมาอะไรคือความใฝ่ฝันของประชาธิปไตยไทย การปฏิวัติ 2475 มันเต็มไปด้วยความงดงาม ความสวยสด และพลังอำนาจของประชาชน เสมือนการปลูกต้นไม้เป็นแถวเป็นแนวที่ใหญ่ หยั่งราก และแผ่กิ่งก้านใบ นี่คือความใฝ่ฝันของประชาธิปไตยของเรา อย่างที่จอร์จ วอชิงตัน กล่าวว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เสรีภาพหยั่งรากลงไปในแผ่นดินแล้ว มันยากที่จะถอนคืนได้ ซึ่งผมคิดว่าจอร์จ วอชิงตันพูดถูกมาก แต่พอมันหยั่งรากในแผ่นดินไทยแล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้นเรามักจะคิดว่าประชาธิปไตยเป็นเสมือนหนึ่งสะเก็ดดาวหางที่หล่นมาจากฟากฟ้าที่อยู่ดีๆ ก็หล่นลงมา ไม่เข้ารูปเข้ารอยกับสังคมไทย

หนังสือ ‘จาก 14 ถึง 6 ตุลาประวัติศาสตร์การเมืองพิสดารของสยามสมัยใหม่’ ของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในหนังสือพูดถึงการเมืองอีกชุดหนึ่งที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าเวลาเราคิดถึงการปฏิวัติ 2475 เรามักจะคิดถึงการปรากฏอย่างฉับพลันของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย แต่หนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์เมื่อปี 2408 หมอบรัดเลย์ได้แปลรัฐธรรมนูญอเมริกาเป็นภาษาไทย แล้วก็ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ในเมืองไทย

ปี 2408 นั้นก่อนการปฏิวัติ 2475 67 ปี รัฐธรรมนูญอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญอาจจะฉบับแรกของโลกใบนี้ที่ปรากฏตัวในสังคมไทย อาจจะก่อนเรื่องราวของรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรของอังกฤษอีก ดังนั้น เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงพูดถึงประชาธิปไตย 2 แบบคือประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีของอเมริกา เป็นสาธารณรัฐ กับประชาธิปไตยแบบอังกฤษที่เป็นระบบรัฐสภา ดังนั้น ในการรับรู้ของสังคมไทย 67 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เขาคุยเรื่องประชาธิปไตย เขาคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญกันอย่างตลอดมา ไม่ใช่เรื่องของคณะราษฎรเพ้อฝัน เพราะถ้ามองกลับไปจะเห็นว่าทำไมผู้ปกครองหรือชนชั้นนำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงต้องคุยเรื่องเราจะสร้างระบอบทางการเมืองแบบไหน เราควรมีรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง รัชกาลที่ 7 ยังต้องทรงคิดถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งสำคัญในยุคสมัยนั้น ชนชั้นนำของไทยในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่จำเป็นต้องคิดถึง แต่เนื่องจากมันคุยกันเป็นระยะเวลาถึงหกสิบเจ็ดสิบปีมาแล้ว ชนชั้นนำไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประชาธิปไตยที่ถูกตัดโค่น

แต่สิ่งหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยในยุคโบราณพยายามปฏิเสธการมีรัฐธรรมนูญก็คือ หนึ่ง ประชาชนยังไม่พร้อม สอง ประชาชนยังไร้การศึกษา จนกระทั่งถึงวันนี้วาทกรรมเหล่านี้ก็ยังอยู่กับเรา แม้ท่านจะจบปริญญาตรี ปริญญาโท ท่านก็ยังไร้การศึกษาจนถึงทุกวันนี้ เป็นวาทกรรมที่ทำให้ความฝันประชาธิปไตยของไทยไปไม่ถึงไหน ความฝันของการปลูกรัฐธรรมนูญ ปลูกประชาธิปไตยในแผ่นดินนี้ถูกตัดโค่นตลอดเวลาโดยการรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้งและรัฐประหารไม่สำเร็จอีก 11 ครั้ง

การรัฐประหารสำเร็จทั้ง 13 ครั้งเฉลี่ยแล้วเขาสามารถตัดโค่นประชาธิปไตยได้ทุกๆ 6 ปีครึ่ง ท่านคิดว่าท่านอยู่ภายใต้ระบอบอะไร ระหว่างระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญหรือระบอบเผด็จการอันมีรัฐธรรมนูญ นี่คือความเป็นจริงของประชาธิปไตยไทยที่เดินทางมา 87 ปีด้วยกัน

วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันอะไรหลังการปฏิวัติ 2475 วันที่ 10 ธันวาคมถูกยกย่องและ 10 ธันวาคมในปี 2482 หลักหมายที่สำคัญคือการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักหมายของการที่คณะราษฎรทำให้หลักเอกราชของประเทศบรรลุความสำเร็จ เรามักจะถูกสอนว่าประเทศไทยไม่เคยเสียเอกราชให้กับใคร แต่ในยุค 80 ปีที่แล้วคณะราษฎร์บอกว่าเรามีเอกราชไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชและความสำเร็จของมันก็คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้ว่าวันนี้เราจะไม่สามารถเดินข้ามถนนเข้าสู่อนุสาวรีย์นั้นได้

10 ธันวาคมเป็นวันอะไรกันแน่ จากปี 2482 เป็นต้นมา 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ แต่ในปฏิทินจำนวนมากโดยเฉพาะปฏิทินของชนชั้นนำที่ออกจากธนาคารและรัฐวิสาหกิจต่างๆ 10 ธันวาคมจะถูกระบุว่าเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่ก็ตามที่ชื่อของคนหรือชื่อของวันนั้นมี 2 ชื่อหรือหลายชื่อ แสดงว่าวันนั้นมีปัญหา รัฐธรรมนูญไทยจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาจนถึง ณ เวลานี้

มีรัฐธรรมนูญเพียง 5 ฉบับจาก 20 ฉบับที่เป็นประชาธิปไตย

หากเราจะเข้าใจรัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับจะเข้าใจอย่างไร หลังจากสอนหนังสือมา 25 ปี ผมก็จะสอนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 20 แล้วก็ปิดคอร์ส แต่ในช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ว่า เราจะมองเฉพาะรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่ได้ เราต้องมองมันเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด 87 ปี 20 ฉบับซึ่งเยอะมาก เราจะจัดกลุ่มมันอย่างไร จัดง่ายๆ คือ 5 ต่อ 15 หมายถึงว่าฝ่ายประชาธิปไตยยิงเข้าประตู 5 ครั้ง ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการยิงเข้าประตู 15 ครั้ง ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 15 ฉบับจึงเป็นรัฐธรรมนูญของฝ่ายเผด็จการที่มาจากการรัฐประหาร 5 ฉบับเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตยที่พยายามจะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่สร้างประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

รัฐธรรมนูญ 5 ฉบับมีฉบับไหนบ้าง หนึ่งคือรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดที่คณะราษฎรสร้างคือฉบับ 27 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาราษฎรทุกคน มันคือการเปลี่ยนทฤษฎีอำนาจทางการเมือง เพราะว่าชนชั้นนำแม้จะพยายามร่างรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่ร่างในยุครัชกาลที่ 7 คืออำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่คณะราษฎรบอกว่ามาตรา 1 อำนาจสูงสุดเป็นของประชาราษฎรทั้งหลาย นี่คือคนละขั้วทางอุดมการณ์ทางการเมือง

หลังจากนั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 และพัฒนามาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2489 นี่คือฉบับแรกที่มุ่งไปสู่การให้อำนาจของประชาชนสมบูรณ์มากที่สุด หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2489 รัฐธรรมนูญก็เดี้ยงยาวนานและมาโผล่อีกครั้งหนึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ใช้เพียง 2 ปีแล้วก็หายไปอีกยาวนาน แล้วก็โผล่อีกครั้งหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่เพอร์เฟคที่สุด เป็นความใฝ่ฝันที่สุดของคณะราษฎรคือรัฐธรรมนูญปี 2540

รัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับมีทิศทางเดียวกันของความเป็นประชาธิปไตย หนึ่ง นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สอง สภาผู้แทนราษฎรคือผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนในการควบคุมองค์กรทุกสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นศาล ทหาร ข้าราชการ ทุกอย่าง สาม มีการเลือกตั้งทุกระดับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกจนถึงรัฐธรรมนูญ 2540 สิ่งที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกต้องการให้ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจ มุ่งหวังที่จะสร้างเทศบาลทั้งประเทศโดยใช้เขต อบต. (เขตองค์การบริหารส่วนตำบล) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน

แต่เทศบาลนั้นจะถูกฝ่ายรัฐประหารปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเทศบาลหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่ให้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้แต่งตั้งนายกเทศมนตรี ประธานหัวหน้าสุขาภิบาล หรือนายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เป็นท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลส่วนกลางผ่านกลไกของมหาดไทย ซึ่งการรัฐประหารในรอบ 5 ปีมานี้มีความใฝ่ฝันที่จะกลับไปเช่นนั้นอีก และนี่คือการแช่แข็ง ทำให้แน่นิ่ง ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกจนถึงวันนี้ เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองที่จะไปกระตุกต่อมอารมณ์เสรีภาพของประชาชนมากที่สุด

แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกทำให้ลืมเลือนและถูกทำให้เห็นว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเป็นความชั่วร้ายเป็นสำคัญ ดังนั้น เราจึงเห็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งครองบัลลังก์อำนาจอย่างยาวนาน

แฟ้มภาพ ประชาไท

วงจรอุบาทว์ของรัฐประหารไทย

ใน 87 ปีเราจะเข้าใจมันได้อย่างไร นี่คือวงจรอุบาทว์ของรัฐประหารไทย เมื่อก่อนผมถูกสอนว่านี่คือวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย แต่พอผ่านไปก็มีคนบอกว่าไม่ใช่ มันเป็นวงจรอุบาทว์ของการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือวงจรอุบาทว์ของรัฐประหารไทย มันเริ่มต้นจากการรัฐประหาร หลังจากรัฐประหารแล้วคณะรัฐประหารพยายามครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากการใช้ประกาศ คำสั่ง หรือคำกระซิบเพื่อรักษาอำนาจไว้อย่างยาวนาน ใครเป็นคณะรัฐประหารที่สามารถอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนานที่สุดในสังคมไทย จอมพลถนอม กิตติขจร หลังการรัฐประหารปี  2514 อยู่ในอำนาจได้ถึง 13 เดือน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 อยากอยู่แบบนั้น แต่ในที่สุดก็ไม่อาจอยู่ได้ต้องทำการสร้างรัฐธรรมนูญที่อาจไม่ชั่วคราว คำหนึ่งที่จะล่อหลอกเวลาสร้างรัฐธรรมนูญ เขาเรียกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ในความเป็นจริงมันอยู่ยืดยาวมากๆ ดังนั้น รัฐธรรมนูญของ คสช. จึงอยู่ถึง 5 ปี อยู่ยาวกว่ารัฐธรรมนูญถาวรอีก เพื่อความเข้าใจอย่างชัดเจนเราจึงต้องเรียกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ชั่วคราว รัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจแก่คณะรัฐประหาร เรานึกถึงรัฐธรรมนูญปี 2502 จากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปี 2501 นั่นคือจุดเริ่มต้นของมาตรา 17 คำสั่งหรือการกระทำของนายกฯ ถือเป็นกฎหมายและยาวมาจนกระทั่งถึงปี 2557 จนถึงวันนี้มาตรา 44 คือลูกของลูกของลูกมาตรา 17

หลังจากรัฐธรรมนูญไม่ชั่วคราวอยู่ยาว จอมพลสฤษดิ์ตายคารัฐธรรมนูญไม่ชั่วคราวของตนเอง หลังจากนั้นก็ต้องมีรัฐบาลชั่วคราวหรือไม่ชั่วคราว จอมพลสฤษดิ์เป็นรัฐบาลไม่ชั่วคราวจนกระทั่งตนเองเสียชีวิตตามด้วยจอมพลถนอม กิตติขจรรวม ทั้งหมดไม่ชั่วคราว 10 ปีด้วยกัน ส่วนรัฐบาลที่ต้องการอยู่ยาวอย่างรัฐบาลคุณทักษิณอย่างเก่งอยู่แค่ 6 ปี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2 ปีครึ่ง อภิสิทธิ์ 2 ปีครึ่ง สมัคร 8 เดือน 9 เดือน สมชาย 3 เดือนไม่เคยเข้าสภา ไม่เคยเข้าทำเนียบรัฐบาล พวกนี้เป็นรัฐบาลที่ดูเหมือนถาวร แต่ชั่วคราวหมดเลย ส่วนฝ่ายที่เป็นคณะรัฐประหารต้องการเป็นรัฐบาลชั่วคราว แต่อยู่อย่างยั่งยืนนาน

การต่อสู้ระหว่าง Selection และ Election

หลังจากนั้นคณะรัฐประหารก็จะสร้างรัฐธรรมนูญที่อยากถาวร ตอนนี้เราอยู่กับรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่อยากถาวร ท่านคิดว่ารัฐธรรมนูญนี้จะไปหรือไม่ไป หลังจากนั้นก็ต้องออกแบบเสื้อคลุมให้มีการเลือกตั้งไม่เสรี ไม่เป็นธรรม เพื่อจะได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารได้อย่างยาวนาน และถ้าหากเขาไม่สามารถเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจได้ มีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองอื่น เขาก็จะข้ามไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งทันที เราเห็นได้ว่าถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นการรัฐประหารที่เร็วขึ้น แต่ถ้ายังเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ อย่าหวังว่าจะมีการรัฐประหารในเร็ววัน

ตอนนี้รัฐทหารของไทยเป็นแบบไหนการศึกษาของ Paul Brooker บอกว่าวิธีการที่ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมืองคือแบบเปิดเผยแบบ 5 ปีของพลเอกประยุทธ์และแบบแอบซ่อนแปลงร่างซึ่งมี 2 แบบตอนนี้พลเอกประยุทธ์แปลงเป็นประชาชน เมื่อก่อนนี้เราจะเห็นพลเอกประยุทธ์แต่งชุดอยู่ 2 แบบคือชุดทหารกับชุดข้าราชการ ตอนนี้เราเริ่มเห็นพลเอกประยุทธ์ใส่สูทไปยืนอยู่ที่เยาวราช และหลังจากนั้นหากแปลงเป็นประชาชนไม่ได้ มีพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง เขาจะไปซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง

87 ปีของการเมืองการปกครองไทยคืออะไร มันคือการต่อสู้ของ 2 ระบอบ จากการปฏิวัติ 2475 ที่ต้องการให้เกิด Election ทุกระดับ แต่ชีวิตของ Election และรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับนั้นมีชีวิตอยู่เพียง 26 ปีจาก 87 ปี 2 ใน 3 อยู่ที่ฝ่าย Selection เมื่อก่อนจะเรียกว่าแต่งตั้ง หลังจากที่ประชาชนจับได้ว่าแต่งตั้งหมายความว่ามีคนที่มีอำนาจแต่งตั้ง เขาบอกว่าไม่ใช่ มันคือการคัดสรร มันมีคนหลายคนสมัครเข้ามา แล้วเราคัดสรร หลังจากนั้นมีคนเชื่อว่าคัดสรรก็เหมือนแต่งตั้ง เขาก็เลยสร้างคำใหม่ว่าสรรหา ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้คำว่าเลือกสรรกันเอง ดังนั้น การเมืองไทยไม่ได้เข้าใจอะไรยากเลย คือคุณอยู่ระหว่าง Selection หรือ Election คุณอยู่ฝ่ายไหนเป็นการบอกได้ทันทีว่าคุณอยู่ฝ่ายไหนทางการเมือง

รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐประหารเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่อยากชั่วคราวจะมีการสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ต้นแบบของ สนช. มาจากการรัฐประหารปี 2501 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเราจึงเห็น สนช. พาเราย้อนกลับไปเมื่อ 61 ปีที่แล้ว มันใช้ Selection เป้าหมายของการตั้ง สนช. คือแต่งตั้งข้าราชการทหารทุกเหล่าทัพ ตำรวจ ศาล พลเรือนเข้าไปอยู่ใน สนช. และวิธีการของ สนช. คือการทำตัวให้เงียบที่สุด แต่อีกกลุ่มหนึ่งคือวุฒิสภาพาเราย้อนกลับไป 72 ปีคือรัฐประหารปี 2490 นี่คือจุดเริ่มต้นของ สว.คัดสรรกันเอง เราจะเห็นพวกนี้ออกมาโวยวาย แสดงอำนาจเพื่อข่มขู่ ส.ส. อยู่ตลอดเวลา นี่คือบทบาทของ สว.

การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมามีพรรคการเมืองถูกยุบไปทั้งหมดแล้ว 375 พรรค หมายความว่าตั้งแต่พรรคแรกคือพรรคสมาคมคณะราษฎรถูกยุบจนกระทั่งพรรคสุดท้ายที่เพิ่งถูกยุบไปเป็นพรรคที่ 375 คือพรรคไทยรักษาชาติ ท่านคิดว่าพรรคที่ 376 จะมาหรือไม่

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ

เผด็จการในคราบประชาธิปไตย

เวลาเราคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ เรามีกรอบว่าด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดี มีดุลยภาพ และมีการร่วมกันของคนหลากหลายฝ่าย แต่รัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ปรารถนาดุลยภาพใดๆ ทั้งสิ้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการชนะฝ่ายเดียว เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารบอกว่าพวกแกแพ้ ดังนั้น จึงไม่ต้องมีดุล ที่เราเรียนมาผิดหมด เราเรียนการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ระบอบทางการเมืองในสังคมไทยตอนนี้บอกว่า เราไม่ได้ต้องการรัฐธรรมนูญที่ดี แต่เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจของเราอย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้น เราจะทำอย่างไร พอกลับมารัฐธรรมนูญที่ดี ถ้าอย่างนั้นเรามานั่งคุยกันไหม ไม่คุย แก้ไหม ไม่แก้ มันจึงออกมาอิหลักอิเหลื่อหมดเลย เหมือนกับประเทศไทยตอนนี้ถูกจัดอยู่ในประเทศที่เป็นระบอบผสม คือระบอบที่อิหลักอิเหลื่อทางการเมือง เพราะเป้าหมายของระบอบนี้คือการเป็นเผด็จการอำนาจนิยม แต่ไม่อาจจะดำรงอยู่แบบเผด็จการอำนาจนิยมได้ จึงต้องไปหาเสื้อคลุมว่าด้วยการเลือกตั้งและรัฐสภาเข้ามา ดังนั้น มันจึงต้องออกแบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ทั้งสองตัวนี้จึงเป็นปัญหาทางการเมืองไทย

อย่างเช่นปัญหารัฐสภาถ้าเป็นปี 2490 จากตอนนั้นรัฐประหารไทยยังหน้าบาง คือยังให้มีวุฒิสภาที่มาจากการ Selection หรือแต่งตั้งไว้คอยโหวตสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น แต่พอผ่านไป 70 ปีรัฐประหารไทยไม่หน้าบางอีกต่อไปคือพร้อมที่จะหน้าด้านเพื่ออยู่ในอำนาจ เขาจึงออกแบบให้วุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เราจะเห็นการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 แค่ดูประธานผู้ร่างคือคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งปรากฏตัวในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 เท่ากับว่าแค่ดูคุณมีชัยคนเดียวประเทศไทยไม่ได้ไปไหนเลย เพราะคุณมีชัยเป็นตัวแทนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2535 ดังนั้น คุณมีชัยจึงหยิบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับนี้มาผสมปนเปและเพิ่มอำนาจของ สว. เข้าไป

ชนชั้นนำไทยและการฆ่าโดยรัฐ

ผมมี 2 เรื่อง เรื่องแรกผมคิดว่าในเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาเป็นความไม่ชาญฉลาดของชนชั้นนำไทยในการกำจัดธนาธรออกจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะการที่ให้ธนาธรเข้าสู่สภาคือการจำกัดบทบาทของธนาธร และความพยายามที่จะกำจัดพรรคอนาคตใหม่ยิ่งเป็นตัวสะท้อนภูมิปัญญาที่ขาดแคลนของชนชั้นนำและไม่มีความฝันกับการสร้างประเทศเพราะมันเป็นการโอบกอดอำนาจไว้ก่อนที่จะจม

เรื่องที่ 2 ที่ผมคิดว่าเป็นภาพรวมยาวในรอบ 47 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2516 ภาพรวมหนึ่งที่ชนชั้นนำไทยระบอบเก่าคิดถึงเสมอหากไม่สามารถเอาอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองคืออาชญากรรมโดยรัฐ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เรามองเห็นเป็นชัยชนะที่จริงแล้วก็คือการฆ่า แต่ฆ่าไม่สำเร็จ 6 ตุลาคม ฆ่า พฤษภาคม 35 ฆ่า พฤษภาคม 53 ฆ่า เฉลี่ยแล้วชนชั้นนำไทยหรือว่ารัฐไทยฆ่าประชาชนกลางเมืองทุกๆ 10 ปี ผมคิดว่าวิธีคิดของชนชั้นนำคือเมื่อเอาคุณไม่อยู่ก็ฆ่าและผมคิดว่าเขากำลังคิดอย่างนี้

อนาคตที่เขาทำให้เราลืม

ถ้าถามว่าบนเส้นทางนี้อนาคตมีหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าอนาคตมีหรือไม่ แต่ประเทศไทยได้สร้างอนาคตของตัวเองไว้แล้วตั้งแต่ปี 2475 รัฐธรรมนูญปี 2489 รัฐธรรมนูญปี 2540 เป้าหมายของเขาคือให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ นายกรัฐมนตรีเป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วมาตราหนึ่งที่เราไม่เคยพูดถึงคือในรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีมาตราที่ 9 ระบุว่าสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการปลดหรือขับไล่ข้าราชการทุกหน่วยงานออกจากตำแหน่ง เป็นมาตราที่คนที่สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เคยพูดให้เราฟัง แต่หมายความว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรมองเห็นว่าปัญหาที่สำคัญของการเมืองไทยอยู่ที่พลังราชการ ดังนั้น ใครจะควบคุมพลังราชการได้ เขาจึงวางไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรที่สามารถปลดข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือศาล และมาถึงวันนี้หลังจากที่เขาตัดประโยคนี้ออกได้ พลังข้าราชการกลายเป็นพลังที่ครอบงำการเมืองไทยที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้เลย

ถ้าถามว่าเรามีอนาคตหรือไม่ อนาคตอยู่กับเรามาแล้วตั้งแต่ปี 2475 ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น เราไม่ต้องมองหาอนาคตเลย เขาสร้างให้เราแล้ว เพียงแต่เขาทำให้เราลืมเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net