Skip to main content
sharethis

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั่วประเทศร่วมเปิดตัวผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ" #ArtForResistance" Protection International เผยสถิติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหารพุ่งถึง  440 คดี และเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเพียง 25 คน โดยเรียกร้องรัฐบาลยุติการคุกคามและยกเลิกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 63 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) องค์กร Protection International โดยการสนับสนุนจากสถานทูตแคนาดา แถลงข่าวเปิดตัวผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance" เป็นการนำเสนอผลงานผ้าปัก 54 ชิ้นโดยผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั่วประเทศไทย พร้อมเวทีพูดคุย "สถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ"

Sarah Taylor เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย

Sarah Taylor เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงานและแสดงความยินดีกับผู้สร้างสรรค์ผลงานผ้าปักควิลท์ โดยกล่าวด้วยว่ายินดีที่ได้มาร่วมงานเพราะเป็นเรื่องที่สนใจมานานแล้ว และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม

สำหรับตัวศิลปะผ้าปักควิลท์นั้น เป็นการเปิดให้เห็นถึงการต่อสู้ปกป้องของนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งสำคัญ คือการเล่าเรื่อง เพราะเป็นเรื่องที่ใช้กันทั่วโลก ในการอยากให้คนอื่นเข้าใจ และให้คนอื่นมามีส่วนร่วมในการต่อสู้

“เราสนับสนุนโครงการนี้ด้วยความสมานฉันท์และเป็นมิตรกับประเทศไทย  สำหรับแคนาดาเรื่องสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมาก และแคนาดายังมีปัญหาเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศเองด้วย ดังนั้นสิ่งนี้คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันได้ ในแคนาดาเองก้กำลังแก้ปัญหาเรื่องผู้หญิงชนพื้นเมืองที่หายตัวไป ดังนั้นเราเองต้องเดินทางอีกยาวไกลเรื่องสิทธิมนุษยชน และจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกับนักสิทธิมนุษยชนอื่น ทั้งนี้ความหลากหลายในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ในสังคมมีความหลากหลายต่างกัน มีมุมมองต่างกัน แคนาดาส่งเสริมสังคมที่ไม่กีดกันและให้พื้นที่สำหรับทุกคน จะทำให้สังคมดีขึ้น”เอกอัครทูตแคนาดาประจำประเทศไทยกล่าว

ด้านสุไฮนี สาเมาะ เจ้าของผลงานผ้าปักควิลท์ "ผิดที่ใคร" เล่าว่าผลงานนี้สะท้อนเรื่องราวของพ่อที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในผ้าปักมีรูปคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคุณพ่อจากไป มีรูปทหาร มีรูปพ่อที่ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งเสียชีวิตใกล้ป้อมที่่ทหารอยู่ และผลทางคดีก็ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือใคร มันอยู่ใกล้ป้อมค่ายทหาร เลยเป็นที่มาของผลงาน "ผิดที่ใครไม่รู้" และเรื่องนี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจของเธอตลอด

ปรานม สมวงศ์ ผู้แทนองค์กร Protection International

ปรานม สมวงศ์ ผู้แทนองค์กร Protection International ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นที่น่าตกใจว่าสถิติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกหลังรัฐประหาร 2557-2560 มีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม 179 คน แต่ในปัจจุบันหกปีผ่านไปเพิ่มขึ้นเป็น 440 คน แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี 2560 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี หรือ CEDAW มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ ซึ่งแทนที่ตัวเลขจะลดลง ปรากฏว่าสถิติกลับพุ่งสูงขึ้น  และพบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯเพียง 25 คนจากทั่วประเทศเท่านั้นที่เข้าถึงกองทุนยุติธรรม

"ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เป็นผู้สร้างคุณูปการในการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ขึ้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน แต่กลายเป็นว่าลุกขึ้นมาสู้เมื่อไหร่ก็โดนคุกคาม ฟ้องร้องทางคดี ทำร้าย ให้ร้าย ตีตรา ข่มขู่ โจมตีเมื่อนั้น

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากแต่การรับรู้ของสังคมยังมีอยู่น้อยและไร้ซึ่งความตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเธอ พวกเราจึงริเริ่มกิจกรรมที่จะทำให้พวกเธอได้แสดงออก บอกเล่าเรื่องราวและช่วยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างภูมิภาค ระหว่างประเด็นการต่อสู้   เพื่อที่สังคมจะได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอมากขึ้นโดยการจัดทำโครงการผ้าปักควิลท์ “จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะแห่งการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistanceขึ้น ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาสองปี โดยเริ่มจากปีที่แล้วซึ่งเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปี ปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องราวของแต่ละคน เป็นเรื่องราวของผู้หญิงหลายล้านคนในโลกใบนี้ ที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกันในการต่อสู้” ปรานมระบุ

ผู้หญิงปักผ้าควิลท์ สะท้อนการต่อสู้ภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ, 4 ก.พ. 63

สำหรับทางออกในเรื่องนี้ ปรานมมีข้อเสนอว่า หนึ่ง จะต้องมีพื้นที่ให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้บอกว่าถึงความต้องการ และเมื่อพวกเธอบอกแล้ว ต้องฟังและหาทางออกร่วมกัน และสอง รัฐต้องไม่ลงโทษพวกเธอที่ลุกขึ้นมาใช้สิทธิเพื่อเราทุกคน เช่น ต้องยุติการใช้คดีความกลั่นแกล้ง และยุติการคุกคามในทุกรูปแบบเมื่อนักปกป้องสิทธิลุกขึ้นมาใช้สิทธิ    ด้วยการยกเลิกคดีทุกคดีที่มีการฟ้องร้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทุกคน  การลงพื้นที่ไปรับฟังผู้หญิงถึงสิ่งที่ต้องการและมีการนำไปปฏิบัติ รวมถึงในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องยุติการบังคับตรวจดีเอ็นเอและการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายความมั่นคง  ซึ่งทำให้ผู้หญิงในสามจังหวัดไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสันติภาพและปราศจากความกลัวในพื้นที่

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 54 คน สะท้อนการต่อสู้ผ่านผ้าปักควิลท์

สำหรับ“กิจกรรมเย็บผ้าปักควิลท์” เป็นโครงการของ Protection International โดยการสนับสนุนของสถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย เพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังเป็นชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตอุปสรรคและผลกระทบที่พวกเธอต้องพบเจอในการลุกขึ้นมาต่อสู้ พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตามข้อเสนอของพวกเธอซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบของสหประชาติ (CEDAW) โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 7 กุมภาพันธ์นี้ ที่โถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net