Skip to main content
sharethis

เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่แม่บ้านชาวเอธิโอเปียร้องเรียนว่าถูกละเมิดจากการค้ามนุษย์และเป็นแรงงานทาส โดยนายจ้างชาวเอธิโอเปียและเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ล่าสุดได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและเดินทางไปประเทศที่สามแล้ว

"แอนเน็ท" (นามสมมติ) ชาวเอธิโอเปีย ผู้เสียหายต้องทำงานให้ โยนัส เทกเก้น โวลเดอแมเรียน และภริยา ซึ่งเป็นนายจ้างตั้งแต่เวลาตี 5 ถึงเที่ยงคืนหรือตี 1 ทุกวัน เป็นเวลาทำงานวันละ 19-20 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด โดยไม่ได้ค่าจ้างตามสัญญา  อีกทั้งถูกทุบตีทำร้ายร่างกายหากทำงานไม่เป็นที่พอใจ ถูกบังคับให้กินแต่ข้าวเปล่า ถูกข่มขู่และยึดหนังสือเดินทาง และหน่วงเหนี่ยวกักขังให้อยู่แต่ในบ้าน ผู้เสียหายทำงานได้ 1 ปี 8 เดือน ก็ทนไม่ได้ จนวันที่ 8 มีนาคม 2558 จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านนายจ้างเพื่อฆ่าตัวตาย แต่มีพลเมืองดีพบเห็น  จึงได้รับการช่วยเหลือ จนนำมาสู่การร้องเรียนมูลนิธิผู้หญิงและสภาทนายความ

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความเปิดเผยว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มูลนิธิผู้หญิงและสภาทนายความได้ช่วยให้คุณแอนเน็ทออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษนายโยนัสและภริยาต่อตำรวจ ในข้อหาค้ามนุษย์ เอาคนลงเป็นทาส หน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกาย  แต่ตำรวจและอัยการมีความเห็นว่าไม่สั่งฟ้อง  อ้างว่านายโยนัสมีความคุ้มกันทางการทูต จนต้องให้ทนายความฟ้องร้องเองในคดีแรงงาน และคดีอาญา ซึ่งในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ศาลอาญานัดไต่สวนที่ศาลจังหวัดนนทบุรี นายโยนัสยอมชดใช้ไกล่เกลี่ย

แม่บ้านเอธิโอเปียร้องสภาทนายฯ ถูกนายจ้างทำร้าย-จนท.อนามัยโลกรู้เห็น, 1 เม.ย. 2558

เครือข่ายแรงงานนอกระบบจี้ WHO สอบกรณีแม่บ้านเอธิโอเปีย, 3 เม.ย. 2558

สุรพงษ์กล่าวต่อว่า คุณแอนเน็ท เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยในเอธิโอเปีย ที่มีการฆ่ากันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์  ที่ผ่านมาเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารกระทำอย่างรุนแรง  ประกอบกับนายจ้างเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่  ทำให้ไม่สามารถกลับเอธิโอเปียอย่างปลอดภัยได้  จนต้องขอสถานะผู้ลี้ภัยและในที่สุดได้เดินทางลี้ภัยไปประเทศที่สาม

สำหรับนายโยนัส หลังเป็นข่าวถูกองค์การอนามัยโลกสั่งพักงานและถูกสอบสวน  ต่อมามีคำสั่งย้ายไปปฏิบัติงานที่อื่นโดยไม่ถูกลงโทษ

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม ทนายความในคดีนี้ กล่าวว่า กรณีนี้สะท้อนความไม่ยุติธรรมหลายอย่างในสังคม คุณแอนเน็ท มีฐานะยากลำบาก เป็นทั้งผู้ลี้ภัย เหยื่อค้ามนุษย์ และเป็นผู้หญิง ส่วนอีกฝ่ายเป็นผู้ชายมีฐานะ มีหน้าที่การงานดี เป็นเจ้าหน้าที่ WHO ระดับสูง ในคดีนี้นอกจากคุณแอนเน็ทจะต้องต่อสู้กับการกดขี่ข่มเหงของนายจ้างแล้ว ยังต้องต่อสู้กับอคติของสังคมและกระบวนการยุติธรรมทำให้การเข้าถึงความยุติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก บุคคลในกระบวนการยุติธรรมจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงความเปราะบางในสถานะต่างๆ ของเหยื่อ รวมถึงเพศสภาพ เพราะไม่เช่นนั้นระบบยุติธรรมของไทยก็จะล้มเหลว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net