Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฟังคลิปบรรยายเรื่อง “พหุวัฒนธรรมในสังคมไทย (ศาสนา ปรัชญา และภาษา)” ของ ศ.ดร.สมภาร พรมทา บรรยายแก่คณาจารย์ นิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย

พหุวัฒนธรรมในสังคมไทย (ศาสนา ปรัชญา และภาษา) สมภาร พรมทา

ผมสนใจข้อเสนอว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ควร “สอนประชาธิปไตย” แก่ฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ผ่านการเรียนปรัชญา เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้องว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร

โดยเริ่มจากสมภารอ้างถึงบทความของคนที่อ้างว่าสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งที่จริงคือบทความของผมเอง

ดู
เมื่อนักปรัชญามองว่า “การเลือกตั้ง = ทำให้ไม่มีสิทธิ์ต่อรอง” https://prachatai.com/journal/2014/01/51284

สมภารกล่าวในคลิปที่อ้างถึงข้างต้น (นาทีที่ 46 เป็นต้นไป) ว่า คนที่เขียนบทความวิจารณ์เขาไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร โดยอธิบายว่า ประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพ ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกบัญญัติกฎหมายให้การเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” การบัญญัติเช่นนี้เท่ากับบังคับให้เขา(สมภาร)ต้องไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 แต่เขาเห็นว่าไปถึงสนามเลือกตั้งแล้วไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดเลยที่ดีพอให้เขาตัดสินใจเลือกได้ลง แบบนี้มันไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องจัดเตรียมสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่นเมื่อไปเลือกตั้งต้องมีแต่พรรคการเมือง นักการเมืองดีๆ ให้เลือก 

ประเด็นการเลือกตั้งควรเป็น “สิทธิ” หรือเป็น “หน้าที่” ประเด็นนี้เราเถียงกันได้ ถ้าถือว่าการเลือกตั้งเป็น “สิทธิ” เราก็ต้องเลือกได้ว่าจะไปลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่ 

แต่ข้อเท็จจริง กฎหมายไทยกำหนดให้การเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” โดยมีช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ให้สำหรับคนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใดๆ คำถามคือ การกำหนดไว้เช่นนี้จะถึงกับสรุปว่า “ไม่มีเสรีภาพ” และ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ในความหมายที่ทำให้สมภารรู้สึกว่าตนเองไม่มีสิทธิ์ต่อรองใดๆ เป็นเสมือน “ซอมบี้” ที่ถูกปลุกขึ้นมาจากหลุมให้ต้องไปเลือกตั้งกระนั้นหรือ

โอเคว่านี่เป็น “สำนวน” หรือ “ลีลา” แบบนักเขียน แต่ประเด็นคือใน “บริบท” ที่ กปปส.ชุมนุมต้านการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 สมภารบอกว่าการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้เขาไม่มีเสรีภาพ ไม่มีตัวเลือก ตนไม่มีสิทธิ์ต่อรอง จึงไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่กำลังปกป้องการเลือกตั้งจากการรัฐประหารที่คาดเดาว่าจะเกิดขึ้น พวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งคือพื้นที่เดียวที่พวกเขาจะมีสิทธิ์ต่อรอง แล้วเราจะถือความเห็นของใครเป็นบรรทัดฐาน?

ย้ำอีกครั้ง หลักการเรื่องการเลือกตั้งเป็นสิทธิหรือหน้าที่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เถียงกันได้ และหาข้อสรุปได้ว่าอะไรเป็นเสรีประชาธิปไตยจริง แต่ตรรกะที่สมภารอ้างว่า “ไม่มีนักการเมือง พรรคการเมืองที่ดีพอให้เลือกแล้วตัดสินว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ใช่ประชาธิปไตย” นี่เป็นการอ้างเหตุผลที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะคนอื่นๆ อาจเห็นว่ามีพรรคการเมือง นักการเมืองที่เขาอยากเลือก 

พูดสั้นๆ คือประเด็นการเลือกตั้งเป็นสิทธิ ไม่ควรบัญญัติกฎหมายให้การเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” มีเหตุผลที่ฟังขึ้น แต่ที่บอกว่าประชาธิปไตยการเลือกตั้งต้องมีแต่นักการเมือง พรรคการเมืองดีๆ ให้เลือก เป็นตรรกะที่ฟังไม่ขึ้น เพราะคุณอาจบอกว่าไม่มีให้เลือกเลย แต่คนอื่นๆ อาจเห็นว่ามี

หากพูดตรงไปตรงมา ตรรกะที่ว่า ไม่มีพรรคการเมือง นักการเมืองที่ดีพอให้เลือกดังที่สมภารอ้าง มันคือตรรกะเดียวกับที่ กปป.อ้างเพื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั่นเอง และสมภารเองก็พูดว่า ที่ฝ่ายเหลืองบอกว่านักการเมืองมีแต่พวกนายทุนก็เป็นความจริง ปัญหานี้ไม่ใช่ฝ่ายยืนยันประชาธิปไตยมองไม่เห็น แต่ถ้าไม่รักษาการเลือกตั้งไว้ แล้วใช้วิธีรัฐประหารแบบที่อีกฝ่ายสนับสนุนมาแล้ว มันก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ เพราะเครือข่ายฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ถืออำนาจปืนก็คือกลุ่มทุนใหญ่ ทุนกินรวบและตรวจสอบไม่ได้อีกต่างหาก

สมภารบอกอีกว่า ฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัวสอดคล้องกับประชาธิปไตย ก็ควรเข้าใจฝ่ายที่เขารักสถาบันกษัตริย์ด้วย ควรใช้ “วิธีนุ่มนวล” ค่อยพูดค่อยจาใช้เหตุผลโน้มน้าว เพราะการที่สถาบันกษัตริย์จะปรับตัวได้อาจต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี นี่ช่างเป็นการพูดที่ย้อนแย้งกับการที่คุณบอกว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีเสรีภาพเสียเหลือเกิน คุณอยากให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยแบบก้าวกระโดด? แต่ยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องใช้เวลานานในการปรับตัวเป็นร้อยปี?

ตามข้อเท็จจริง พรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกถูกทำรัฐประหารและถูกยุบครั้งแล้วครั้งเล่า ในทางประวัติศาสตร์ นักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกฆ่าครั้งแล้วครั้งเล่า คุณเรียกร้องให้ฝ่ายประชาธิปไตยใช้วิธีนุ่มนวล ให้เหตุผล ผมก็เห็นด้วยครับ แต่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยเคยปราบปราม เคยดำเนินคดี จับคนเห็นต่างติดคุก ไล่ออกนอกประเทศ เหมือนที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำมาตลอดหรือเปล่า คุณเรียกร้อง “วิธีนุ่มนวล” และเหตุผลถูกคน ถูกฝ่ายไหม

หลังรัฐประหารมาจะ 6 ปีแล้ว สมภารเพิ่งเสนอว่ามหาจุฬาฯ ควรสอน “ประชาธิปไตย” แก่ฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง แปลว่าสมภารในฐานะศาสตราจารย์ปรัชญาตัวหลักของมหาจุฬาฯ มีคุณสมบัติ “เป็นกลาง” ที่จะสอนประชาธิปไตยให้สองฝ่าย ทำให้สองฝ่ายคุยกันด้วยเหตุผลได้? 

จริงๆ แล้วสมภารเป็นกลางจริงๆ หรือ เพราะหลังรัฐประหาร 2557 สมภารรับตำแหน่งคณะกรรมการสองคณะ ที่ประยุทธ์ลงนามแต่งตั้งและรองหัวหน้า คสช.เป็นประธานคณะกรรมการไม่ใช่หรือ ขณะที่คุณยืนยันว่า “เลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะไม่มีเสรีภาพ” ทำให้คุณกลายเป็นเสมือนซอมบี้ แต่กลับรับเป็นคณะกรรมการที่เผด็จการตั้ง เพราะมันมีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยมากกว่าอย่างไร

เมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งที่จริงแล้วก็ยังอยู่ในโครงสร้างของระบบที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ พุทธศาสนายังเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและไม่ประชาธิปไตย โครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมของคณะสงฆ์หรือพูดรวมๆ คือพุทธศาสนาไทย ก็เป็นโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมที่สนับสนุนอุดมการณ์ไม่ประชาธิปไตย แล้วจะมาสอนประชาธิปไตยแก่ทั้งเหลืองและแดง จะต่างอย่างไรกับกองทัพสอนประชาธิปไตยแก่ประชาชนในหมู่บ้านชนบท

ข้อสังเกตของผมคือ ในสยามไทยนี้มีกลุ่มคนสองประเภทที่อ้างว่าตนเองเป็น “คนกลาง” ที่มีความชอบธรรมในการเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง คือ “กองทัพ” ที่ทำรัฐประหารในฐานะคนกลางอย่าศึกความขัดแย้งทางการเมือง กับกลุ่มบุคคลทางศาสนาที่คิดแบบแบบสมภารที่อ้างว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ควรเป็นกลางสอนประชาธิปไตยแก่ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งทางการเมือง

คนกลางกลุ่มแรกมีอำนาจปืนในมือ คนกลางกลุ่มหลังมีอำนาจพุทธศาสนา ศีลธรรม ความรู้ทางปรัชญาในมือ แต่เอาเข้าจริงทั้งสองกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมและค้ำยันโครงสร้างอำนาจอนุรักษ์นิยมที่ไม่ประชาธิปไตย 

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบ ภาพวาดฝีมือสมภาร พรมทา ที่มา https://www.thairath.co.th/news/society/1109457

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net