Skip to main content
sharethis

กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนปี 2560 ใช้ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดกับคดียาเสพติด หากคุณกระทำหรือครอบครองยาเสพติดตามเกณฑ์ คุณผิดโดยไม่มีสิทธิโต้เถียง เพราะกฎหมายปิดปากไม่ให้คุณพูด ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

หนังสือรวมกฎหมายยาเสพติด พร้อมด้วยกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เล่มขนาดกระดาษ A4 หนา 620 หน้า ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตีพิมพ์ปี 2562 มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งคำสั่งคณะรัฐประหาร 19 ฉบับ ไม่นับระเบียบ คำสั่ง และหนังสือราชการอื่น

ในจำนวนที่ว่ามายังมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ คำสั่งยิบย่อยที่แทรกอยู่ในกฎหมายต่างๆ รวมกันกว่า 92 ฉบับ

ประเด็นที่จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เล่าให้ผมฟังคือ ไม่มีการสอนวิชากฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดในระดับอุดมศึกษา เขาตอบไม่ได้ว่าทำไม แต่น่าจะเป็นเพราะความคิดที่ว่ากฎหมายยาเสพติดซึ่งมีโทษอาญาถือเป็นกฎหมายอาญาประเภทหนึ่ง การสอนแค่กฎหมายอาญาน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับไปประยุกต์ใช้กับกฎหมายอาญาอื่นๆ

“กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งไม่ได้ถูกสอนในหลักสูตรมหาวิทยาลัย ในระดับเนติบัณฑิตและการสอบเข้าอัยการก็ไม่ถูกนำมาออกข้อสอบ เพราะผู้ที่รับผิดชอบทั้งหลายเห็นว่าไม่สำคัญ สามารถเข้าใจได้เองซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลของการไม่มีการสอนทำให้มีการแปรเจตนารมณ์เรื่องยาเสพติดผิดมาตลอดเวลา พอจะเริ่มเข้าใจกันได้ก็มีการปรับปรุงกฎหมายที่หนึ่ง ก็ต้องมาเริ่มทำความเข้าใจใหม่”

กฎหมายไทยและอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติด

"รวมกฎหมายยาเสพติด พร้อมด้วยกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง" หนา 620 หน้า ในภาพเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 15 มิถุนายน 2562 โดยกองกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม

กฎหมายหลักๆ ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังมีอยู่ 6 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559

เนื้อหาในกฎหมายทั้ง 6 ฉบับยังไขว้และเชื่อมโยงกัน การทำความเข้าใจกฎหมายยาเสพติดอย่างถ่องแท้ไม่ใช่เรื่องง่าย และมันก็ไม่จำเป็นในที่นี้

สิ่งที่ควรรู้คือกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดของไทยอนุวัตรตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971 และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ายาเสพติดและสารเสพติดที่มีผลต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย ค.ศ.1988

ทั้งนี้อนุสัญญาฉบับแรกแบ่งยาเสพติดออกเป็น 4 บัญชีหรือประเภท โดยบัญชี I และ II เป็นสารที่มีแนวโน้มการใช้ไปในทางที่ผิดและก่อให้เกิดผลอันตรายคล้ายกับสารในบัญชี I และ II หรือเป็นสารที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นสารในบัญชี I และ II ส่วนบัญชี III คือสารประกอบเบื้องต้นซึ่งได้รับการยกเว้น แต่มีสารตามบัญชี I และ II ผสมอยู่ และบัญชี IV คือสารที่มีแนวโน้มเป็นพิเศษที่มีจะมีการใช้ในทางที่ผิดและก่อให้เกิดอันตรายและไม่มีการชดเชยด้วยประโยชน์ในทางบําบัดรักษา

สารเสพติดในบัญชี I เช่น เฮโรอีน โคคาอีน ฝิ่น กัญชา เป็นต้น
สารเสพติดในบัญชี II เช่น อาเซติลไดไฮโดรโคเดอีน โคเดอีน เอทิลมอร์ฟีน เป็นต้น
สารเสพติดในบัญชี III เช่น สารปรุงผสมของโคคาอีน สารปรุงผสมของเอทิลมอร์ฟีน เป็นต้น
สารเสพติดในบัญชี IV เช่น เฮโรอีน ยางกัญชา เป็นต้น

ส่วนในกฎหมายไทยเราแบ่งยาเสพติดออกเป็น 5 ประเภท ซึ่งอนุสัญญาอนุญาตให้เพิ่มได้ แต่ลดไม่ได้ ประเภท 1 คือยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน ประเภท 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน โคเดอีน ฝิ่นยา ประเภท 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ด้วย ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติลคลอไรด์ และประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม เป็นต้น

สังเกตดูจะเห็นว่า อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 จัดให้กัญชาเป็นสารเสพติดในบัญชี I ขณะที่ไทย กัญชาอยู่ในประเภทที่ 5 ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่ายาเสพติดประเภทที่ 5 เป็นยาเสพติดที่ให้โทษไม่รุนแรง ซึ่งดูจะขัดกับอนุสัญญาฯ อย่างไรก็ตาม เวลานี้ประเทศไทยอนุญาตให้มีการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่เนื้อที่นี้ไม่ใช่สำหรับถกเถียงเรื่องกัญชา

ที่ควรรู้ไว้เบื้องต้นคือการแก้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาส่งผลมากต่อการปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด ซึ่งผมจะค่อยๆ เล่าต่อไป

แอมเฟตามีน ‘ยา’ ที่มีโทษหนักกว่าเฮโรอีน

หยุดเรื่องน่าเบื่อ แต่ควรรู้อย่างกฎหมายไว้ก่อน กลับมาพิจารณาแอมเฟตามีนและเมธแอมเฟตามีนที่เป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเรา

“ในโลกนี้ไม่มีใครใช้ยาบ้ากันเท่าไหร่ บางประเทศก็ไม่มีกฎหมายคุมหรือบางประเทศก็คุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เพราะเขาถือว่าไม่ได้นำยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีนไปใช้เป็นยาเสพติด การควบคุมของเขาก็เป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับปัญหาภายในของแต่ละประเทศ แต่กลไกการควบคุมทั้งหมดอยู่ในมาตรฐานของอนุสัญญา เมธแอมเฟตามีนจึงเป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่นอกจากปราบไม่สำเร็จแล้ว โทษก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งยาบ้ามีโทษสูงกว่าเฮโรอีน” จิตรนรา อธิบาย เขาเรียกกรณีนี้ว่าการแก้กฎหมายจนพันขาตัวเอง

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยใน (2) ของมาตรานี้ระบุว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป

แต่ (3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป

คุณจะเห็นว่า ถ้าคุณมีแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมี 15 เม็ดขึ้นไป หรือมีตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป คุณจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ถ้าเป็นเฮโรอีน คุณต้องมี 3 กรัมขึ้นไปจึงจะถูกสันนิษฐานเช่นที่ว่า

1 กรัมเท่ากับ 1,000 มิลลิกรัม 3 กรัมเท่ากับ 3,000 มิลลิกรัม สำหรับเฮโรอีน แต่ยาบ้าแค่ 375 มิลลิกรัมก็เพียงพอที่คุณจะถูกสันนิษฐานว่าเป็นพ่อค้ายาแล้ว จิตรนราเรียกสิ่งนี้ว่า

“การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน”

มีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบการเสพติดและอันตรายต่อร่างกายและสังคมของสารเสพติดต่างๆ เมื่อแบ่งเป็น 3 หัวข้อคือทางร่างกาย การเสพติด และทางสังคม เฮโรอีนได้คะแนน 2.78, 3.0 และ 2.54 ตามลำดับ ขณะที่แอมเฟตามีนหรือยาบ้าได้คะแนน 1.81, 1.67 และ 1.50 เห็นได้ชัดว่าโทษของยาบ้าน้อยกว่าเฮโรอีนอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับมีโทษหนักกว่า

กฎหมายปิดปาก

“กฎหมายยาเสพติดของไทยได้รับอิทธิพลจากกฎหมายของอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นต้นแบบของการประกาศสงครามกับยาเสพติด กฎหมายเขาจึงเคร่งครัดและเน้นปราบปรามอย่างรุนแรง และเรายังดำเนินตามอเมริกาในยุคแรกๆ ของการปราบปรามยาเสพติดของไทย” ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ด้วยมุมมองของสังคมไทยที่มีต่อยาเสพติดว่าเป็น ‘สิ่งชั่วร้าย’ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘ความไม่สามารถอดทนได้ต่อปัญหายาเสพติด’ (zero tolerance) ส่งทอดความคิดต่อเนื่องมาสู่กฎหมายที่มุ่งลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างหนัก จนเกิดสภาพที่การลงโทษไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด

ที่หนักไปกว่านั้น กฎหมายยาเสพติดให้โทษก่อนการแก้ไขปี 2560 ยังมีลักษณะที่เรียกว่า กฎหมายปิดปาก พูดง่ายๆ คือเมื่อคุณกระทำเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายระบุถือว่าคุณเป็นผู้กระทำความผิดทันที วีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน บอกกับผมว่า

“วิธีพิจารณาคดียาเสพติดไม่ให้ใช้ดุลยพินิจ เขียนแบบปิดปาก ตำรวจส่งอะไรให้ศาล ศาลก็พิจารณาแค่นั้น ไม่ไต่สวน ไม่สอบสวน มีใบรับสารภาพมาก็ไม่สนใจ ทั้งที่กฎหมายเขียนว่าศาลจะไม่เอาคำสารภาพในชั้นสอบสวนมาพิจารณาก็ได้ ทนายอาสาพออ่านสำนวนเสร็จก็มีหน้าที่แค่กล่อมให้รับสารภาพ เพื่อลดโทษเหลือครึ่งหนึ่ง”

หมายความว่าอย่างไร?

หมายความว่ากฎหมายที่เขียนลักษณะนี้จะถือว่าคุณเป็นผู้กระทำผิด โดยไม่ต้องตรวจสอบเจตนาของคุณ
ปกป้อง กล่าวว่า แม้หลักกฎหมายอาญาต้องสันนิษฐานก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กฎหมายสามารถกำหนดบทสันนิษฐานในข้อเท็จจริงได้เมื่อจำเป็นและได้สัดส่วน เพราะหากไม่มีบทสันนิษฐานเลย รัฐจะไม่สามารถปราบปรามอาชญากรรมนั้นได้ แต่...

“ต้องมีข้อยกเว้น ข้อที่ 1 บทสันนิษฐานต้องได้สัดส่วน หมายความว่าไม่ใช่ไปสันนิษฐานว่าคนนี้เป็นแน่นอน มันไม่ได้สัดส่วน มันต้องได้สัดส่วนที่จะพอถือได้ว่าเขาเป็นผู้ค้ายา ข้อที่ 2 ต้องเปิดโอกาสให้จำเลยได้พิสูจน์เป็นอย่างอื่น ทั้งสองข้อนี้ยังพอสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ฉะนั้น บทสันนิษฐานในกฎหมายยาเสพติดให้โทษของประเทศไทยก่อนปี 2560 จึงถือว่าขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายอาญา เพราะไม่เปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์เป็นอย่างอื่นเลย”

ก่อนปี 2560 เกิดอะไรขึ้น และหลังปี 2560 เกิดอะไรตามมา ที่ทำให้กฎหมายยาเสพติดเกิดการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญบางประการ

ประเด็นนี้มีที่มาที่ไป จากเรื่องเล่าคลาสสิกที่บางคนอาจเคยได้ยินมาแล้ว เมื่อหญิงไทยคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่ง ‘นำเข้า’ ยาบ้า ยาเสพติดประเภทที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักร มีความผิดตามมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท แต่เพราะเธอสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปีและปรับ 500,000 บาท

คุณคิดว่า ‘ไอ้พวกค้ายา’ รายนี้นำยาบ้าเข้ามาในราชอาณาจักรกี่หมื่น กี่แสน หรือกี่ล้านเม็ด

คำตอบคือ 1 เม็ดครึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net