Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสือ “ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย” ของแพทริค โจรี แปลโดย ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ เป็นงานศึกษา วิเคราะห์ วิพากษ์แนวคิดและการใช้ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์ในสยามไทย เริ่มตั้งแต่ตัวบทในคัมภีร์, การปรับใช้ในยุคก่อตั้งรัฐแรกเริ่มทวาราวดีและสุโขทัย, เรื่อยมาจนถึงยุคอาณานิคมที่รัชกาลที่ 5 เริ่มมีท่าทีปฏิเสธทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์ และพยายามนิยามตนเองเข้ากับแนวคิด “กษัตริย์ผู้รู้แจ้ง” ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงภูมิปัญญา (enlightened absolutism) แบบยุโรป ที่ถือว่ากษัตริย์ใช้อำนาจเด็ดขาดด้วยความเมตตา (benevolent despotism) หรือใช้อำนาจเด็ดขาดแบบทรงภูมิธรรมภูมิปัญญา (enlightened despotism) 


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/commerce/products/3191231827596173/

แนวคิด “กษัตริย์ผู้รู้แจ้ง” ในยุโรปได้รับอิทธิพลจากยุคสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) ที่กระแสปรัชญามนุษยนิยม, เสรีนิยม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เริ่มมาแรง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของมนุษย์เข้ามาแทนที่ความเชื่อในพระเจ้า ความเชื่อมั่นในเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเข้ามาแทนที่ความเชื่อฟังอำนาจของนักบวช ศาสนจักร และระบอบกษัตริย์ ขณะที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็สร้างความหวังหรือจินตนาการถึง “ความก้าวหน้า” อันเป็นความหวังใหม่แทนความหวังเก่าแก่จากคำสอนในคัมภีร์ศาสนาที่ไม่มีอะไรใหม่ กษัตริย์ผู้รู้แจ้งถูกนิยามว่าเป็นผู้ตระหนักรู้ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ถึงจะมีอำนาจเด็ดขาด แต่ก็ใช้อำนาจนั้นอย่างมีเมตตาและทรงภูมิปัญญา จึงใช้อำนาจเด็ดขาดอย่างเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้

แต่แล้วนักคิดแนวมนุษยนิยมและเสรีนิยมส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับทฤษฎีกษัตริย์ผู้รู้แจ้ง เพราะขึ้นชื่อว่าผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดและประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือก ย่อมไม่มีทางที่จะให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างแท้จริง ในที่สุดความคิดแบบยุคสว่างทางปัญญาได้ทำให้ผู้คนรู้แจ้งและสูญสิ้นศรัทธาในอำนาจของศาสนจักรและระบอบกษัตริย์ที่บังคับศรัทธาและความจงรักภักดีมายานาน บรรดาประชาชนผู้รู้แจ้งหันมาศรัทธาใน “ความเป็นมนุษย์” หรือ “มนุษยชาติ” ที่ถือว่าทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองเท่าเทียมกัน 

การเกิดปัญญารู้แจ้งจนสูญสิ้นศรัทธาในอำนาจศาสนจักรและระบบกษัตริย์ แล้วหันมาศรัทธาในความเป็นมนุษย์หรือมนุษยชาติ ทำให้เกิดความใฝ่ฝันและมีความหวังในอนาคตที่ดีกว่า คืออนาคตที่ทุกคนกำหนดเองได้และกำหนดร่วมกันได้ทั้งในวิถีชีวิตส่วนตัวและวิถีชีวิตทางสังคมการเมือง จึงทำให้เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยตามมา

แต่สยามไทย หลัง 2475 ชาดกเวสสันดรกลับยังมีอิทธิพลทั่วทุกภูมิภาค เพราะวัดต่างๆ ยังเทศนาเวสสันดรชาดกในรูปแบบต่างๆ ด้วยภาษาท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมาที่เผด็จการทหารปกครองประเทศและเชิดชูความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์เวสสันดรชาดกได้กลับมามีบทบาทในฐานะ “วรรณกรรมทางการเมือง” อีกครั้ง ด้วยการถูกใช้สร้างภาพลักษณ์ “กษัตริย์สมัยใหม่” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นกษัตริย์ผู้ให้ ผู้เสียสละ ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสุข ความอยู่ดีกินดีของประชาชน

บางคนอาจมองว่า แพทริคเน้น “อุดมคติกษัตริย์โพธิสัตว์” อย่างดียว ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์รัฐพุทธไทย มีทั้งคติจักรพรรดิราช, ราชาธิราช, เทวราช, สมมติเทพ, ธรรมราชา, พระพุทธเจ้าอยู่หัว จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่เมื่อดูจากคัมภีร์เถรวาททั้งไตรปิฎก อรรถกถา หรือที่ชนชั้นนำแต่งขึ้นเช่นไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น “แก่นแกน” ของความคิดทางการเมืองก็คืออันเดียวกัน หรือเชื่อมโยงกัน ไม่ได้แตกต่างหรือขัดแย้งกันชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น คติจักรพรรดิราชมีที่มาจาก “จักกวัตติสูตร” ถือว่าธรรมราชาผู้จักรพรรดิต้องปกครองโดยธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ ถือธรรมเป็นธงชัย เคารพธรรม นอบน้อมธรรม และต้อง “ให้ทาน” เพื่อบรรเทาปัญหาความอดอยากของราษฎร หากตระหนี่ ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การประพฤติผิดศีลธรรม และโจรผู้ร้ายต่างๆ จะแพร่หลาย ก่อความเดือดร้อนไปทั่ว นอกจากนี้ยังต้องใช้คุณธรรมอื่นๆ ในการปกครองให้เกิดประโยชน์สุขแก่ผู้ใต้ปกครอง

ในพระไตรปิฎก มีธรรมราชา 2 ประเภทคู่กันคือ “พุทธธรรมราชา” ที่สอนธรรมในการรักษากาย วาจา ใจของผู้คนให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรมหรือความดี กับ “จักรพรรดิธรรมราชา” ผู้ปกครองอาณาจักรโดยธรรม แต่ในยุคหลังพุทธกาลเมื่อเกิด “รัฐพุทธศาสนา” (Buddhist state) กษัตริย์ได้ “สวม” ภาพลักษณ์และบทบาททั้งการเป็นจักรพรรดิธรรมราชาหรือ “จักรพรรดิราช” กับพุทธธรรมราชา โดยสวมภาพลักษณ์กษัตริย์โพธิสัตว์ผู้ซึ่งบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต กระทั่งกษัตริย์กลายเป็น “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” เลยทีเดียว เพราะกษัตริย์ทั้งมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองอาณาจักรและพุทธจักร โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพระสงฆ์ราชาคณะ

ดังนั้น แก่นแกนของทฤษฎีกษัตริย์ในรัฐพุทธศาสนา ก็คือการที่กษัตริย์ “สวม” ภาพลักษณ์ของพระพุทธเจ้า โดยเป็นผู้ปกครองโดยธรรมและอุปถัมภ์พุทธศาสนา เป็นผู้บำเพ็ญทานตามคติโพธิสัตว์ และเป็นพระพุทธเจ้าอยู่หัว การเป็นจักรพรรดิราช ธรรมราชาก็ผูกโยงอยู่กับการปกครองโดยธรรมและการอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง 

ส่วนกษัตริย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 นั้น เน้นการเสียสละเพื่อประชาชนผ่านโครงการพระราชดำริมากมาย และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่แพทริคได้ชี้ให้เห็น “ความย้อนแย้ง” ในย่อหน้าสรุปบทสุดท้ายของหนังสือว่า

หลังจากทักษิณใช้นโยบาย “ประชานิยม” มา 5 ปี มอบความมั่งคั่งให้แก่คนในชนบท โครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลฝ่ายสนับสนุนสถาบันหันกลับใช้ เป็นการผลักดันให้ชนชั้นล่างในต่างจังหวัดซึ่งสนับสนุนทักษิณหลายล้านคนให้ต้องหันกลับมาพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นการเบนออกจากมรรคาพระโพธิสัตว์ที่ต้องบำเพ็ญทานบารมีให้สมบูรณ์ ตรงกันข้าม อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทำตามบทบาทช่วยเหลือประชาชนนี้ได้ดีกว่ากลับถูกขับไล่ออกจากประเทศเพราะ “ขายชาติ” เหตุการณ์กลับตาลปัตรเช่นนี้คล้ายคลึงไปกับพระเวสสันดรที่ถูกเนรเทศ เพราะยกช้างเผือกประจำเมืองสีพีให้เป็นทานไป 

เหตุการณ์บังเอิญเหมาะเจาะเหล่านี้ ดูราวกับว่าต้องการจะสร้างทักษิณให้เป็นพระเวสสันดรคนใหม่ขึ้นมา 

คำถามคือ ในวัฒนธรรมไทยที่กษัตริย์ผูกขาดสถานะโพธิสัตว์มายาวนานหลายศตวรรษ ถ้าหากสามัญชนบางคนกระทำถูกหรือตีความได้ว่าถูกตาม “มรรคาโพธิสัตว์” ตามคำสอนในคัมภีร์ เขาจะถูกยกย่องเป็น “โพธิสัตว์” ได้อย่างไร คงไม่ง่าย ยกเว้นจะพูดกันแบบทีเล่นทีจริง 

อีกประเด็นคือ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมสมัยทักษิณ พวกเขามองว่านั่นเป็น “การบำเพ็ญทาน” แบบการให้ถุงยังชีพ หรือเป็นการให้หลักประกัน “สิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ” กันแน่ ดูเหมือนคนจะมองในประการหลังมากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุให้พวกเขาหวงแหนสิทธิเลือกตั้ง และกลายเป็นมวลชนต่อต้านเผด็จการที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

จากนั้นมาจนถึงวันนี้ วันที่มีคนใส่เสื้อ “หมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์” และเกิดการเครื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ที่ยืนยันอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชน นี่ย่อมเป็นปรากฎการณ์ของ “สภาวะรู้แจ้ง” (enlightenment) ซึ่งสภาวะรู้แจ้งแม้จะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุโรป แต่ยุโรปหรือประเทศไหนในโลกก็ผูกขาดความเป็นเจ้าของไม่ได้ เพราะการรู้แจ้งว่าตนเองคือมนุษย์ผู้มีอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอกัน ย่อมจะเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน ทุกสถานที่ในโลก ในเวลาที่ตรงกันหรือต่างกันก็ได้  

เมื่อความรู้แจ้งเกิดขึ้นในบุคคล, มวลชน และประชาชนทั่วไป ความหมดศรัทธาในระบบอำนาจบังคับศรัทธาและความจงรักภักดีของศาสนจักรและระบบกษัตริย์แบบยุคกลางในยุโรป และระบบเผด็จการรูปแบบใดๆ ในโลกย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความหวังที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคนของประชาชนย่อมจะเกิดตามมา 

ประวัติศาสตร์ยุโรปและทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่า “กษัตริย์ผู้รู้แจ้ง” ไม่มีจริง หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงภูมิธรรมไม่มีจริง หากจะมีได้ก็เพียงกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรือกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนเท่านั้น

คำถามอยู่ที่ว่า ชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมจะทำอย่างไรกับ “ประชาชนผู้รู้แจ้ง” จะใช้อำนาจบังคับให้เขากลายเป็น “คนบ้า” ถูกกักตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชเช่นนั้นหรือ จะทำเช่นนั้นกับประชาชนผู้รู้แจ้งจำนวนมหาศาลได้อย่างไร และการใช้อำนาจบาตรใหญ่เช่นนั้รจะได้ผลตลอดไปได้อย่างไร

แท้จริงแล้ว คำพังเพยโบราณว่า “ผู้ปกครองคือเรือ ประชาชนคือน้ำ น้ำอาจทำให้เรือลอยได้และจมเรือได้” ยังคงเป็นจริงตลอดมา 

สำหรับทุกประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นผู้รู้แจ้ง พวกเขาย่อมหมดศรัทธาใน “เรื่องเล่า” แบบชาดกต่างๆ อาจจะฟังเพื่อความบันเทิง และแน่นอนว่า พวกเขาย่อมต้องการสร้างเรื่องเล่าใหม่คือสร้าง “ประวัติศาสตร์สามัญชน” ผ่าน “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้ทุกที่ในโลกไม่ช้าก็เร็ว! 
   


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net