Skip to main content
sharethis

ปาโบล ฮาเซล แร็ปเปอร์ชาวสเปนถูกตำรวจล้อมจับกุมที่มหาวิทยาลัยในเมืองแยย์ดา แคว้นกาตาลุญญา ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการโพสต์เนื้อเพลงที่เขาแต่งเองในทวิตเตอร์

16 ก.พ. 2564 สำนักข่าวดอยช์เวเลย์ของเยอรมนีรายงานว่าตำรวจชาวสเปนจำนวนหนึ่งบุกล้อมพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยแห่งเมืองแยย์ดา มหาวิทยาลัยเก่าแก่ในรัฐกาตาลุญญา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปน เพื่อปฏิบัติการจับกุม ปาโบล ฮาเซล หรือชื่อจริง คือ ปาโบล ริวาดุลลา นักร้องเพลงแร็ปชาวสเปนซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยฮาเซลและประชาชนผู้สนับสนุนผลงานของเขาอีกประมาณ 50 คนกักขังตัวเองอยู่ด้านในมหาวิทยาลัย เพื่อหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่

ปาโบล ฮาเซล (ภาพจาก Wikipedia)

ปาโบล ฮาเซล (ภาพจาก Wikipedia)

เมื่อวานนี้ (15 ก.พ. 2564) ฮาเซล ประกาศผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ผมติดอยู่ในมหาวิทยาลัยแยย์ดากับคนที่สนับสนุนผมอีกจำนวนหนึ่ง ถ้าอยากจะจับผมเข้าคุกก็ต้องบุกเข้ามาในนี้ล่ะนะ” นอกจากนี้ ฮาเซลยังทวีตข้อความอีกหลายทวีตเพื่อยืนยันว่าการกระทำของเขานั้นถูกต้องและไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย

“นี่คือทวีตที่ผมเคยเขียนและทำให้ผมกำลังจะเข้าคุกในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่นาทีข้างหน้า ผมแค่พูดความจริงแบบตรงๆ วันพรุ่งนี้อาจเป็นคุณก็ได้นะ”

 

 

ฮาเซล แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าไม่นิยมราชวงศ์และเขียนเนื้อเพลงวิจารณ์กษัตริย์สเปนอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เขาถูกจับกุมในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์หลายครั้ง โดยใน พ.ศ.2559 ฮาเซล ปล่อยเพลงแร็ปที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอสที่ 1 อดีตกษัตริย์สเปนกับราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย พร้อมเรียกสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอสที่ 1 ว่าเป็น ‘ขโมย’ หลังจากที่พระองค์ถูกอัยการสั่งสอบสวนคดีทุจริตทางการเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ฮาเซล ยังเขียนเนื้อเพลงวิจารณ์การทำงานของนักการเมืองฝ่ายขวาในสเปนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ทั้งยังกล่าวหาว่าตำรวจสเปนทรมานและเข่นฆ่าผู้ชุมนุม รวมถึงผู้อพยพ เป็นเหตุให้ใน พ.ศ.2561 ฮาเซลถูกจับใน 2 ข้อหา ได้แก่ ประพฤติตนเป็นกบฎต่อรัฐ และหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหมายถึงราชวงศ์และตำรวจ โดยศาลชั้นต้นของสเปนตัดสินให้ฮาเซลต้องโทษจำคุก 9 เดือน แต่ฮาเซลยื่นอุทธรณ์คดี เพราะเชื่อว่าการแสดงออกของตนนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ต่อมา ในวันที่ 8 มิ.ย. 2564 ศาลสูงของสเปนตัดสินโทษจำคุกแก่ฮาเซล โดยยืนยันตามศาลชั้นต้น

ฮาเซล ถูกจับขึ้นศาลครั้งแรกใน พ.ศ.2554 เพราะแต่งเพลงที่มีเนื้อหาวิจารณ์การเมือง โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวดอยช์เวเลย์เมื่อ 4 ปีก่อนว่า “ในประเทศนี้ เกือบทุกอย่างเป็นเรื่องต้องห้าม ผมเลยต้องระแวงว่าเพลงที่เขียนจะพาตัวเองเข้าคุกหรือเปล่า เพราะผมมันคนมีประวัติ แต่ก็นะ ผมไม่อยากจะหุบปากเงียบ”

“ผมมันคนซ้ายจัด แต่ถ้าแกล้งๆ ทำเป็นชื่นชอบฝ่ายขวาสักหน่อย ชีวิตก็คงไม่มีปัญหาอะไรมั้ง ไม่เชื่อก็ลองหาทวีตที่แก้ต่างให้เจ้าหน้าที่เรื่องการฆ่าผู้อพยพหรือนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายดูสิ ข้อความพวกนั้นก็ยังอยู่ ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นกับคนเขียนเลย” เขากล่าว

สังคมสเปนประท้วงกฎหมาย ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’

คำตัดสินของศาลในคดีของฮาเซลเป็นที่ถกเถียงในสังคมสเปนเป็นอย่างมาก และทำให้ประชาชนหลายคนในเมืองมาดริดและบาร์เซโลนามารวมตัวประท้วงคำตัดสินของศาล นอกจากนี้ ศิลปินชาวสเปนกว่าร้อยคนยังร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวฮาเซล โดยหนึ่งในศิลปินผู้ร่วมลงชื่อ ได้แก่ ฆาบิเอร์ บาร์เดม นักแสดงชื่อดังและสามีของเพเนโลเป ครูซ รวมถึงเปโดร อัลโมโดวาร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายให้คำมั่นว่าจะเสนอต่อรัฐสภาให้ลดบทลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยจะแก้ไขให้สามารถวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ในบริบทของงานศิลปะ วัฒนธรรม และผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่รัฐบาลสเปนไม่ได้เจาะจงว่าการเร่งผลักดันกฎหมายนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีของฮาเซลหรือไม่ และยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่จะนำเข้าสภาอย่างชัดเจน

กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของสเปน

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 401 และ 491 ของสเปน ระบุว่า ‘บุคคลใดที่พูดจาให้ร้ายหรือทำให้กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และสมาชิกราชวงศ์ จะต้องโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี’ โดยกลุ่มอาร์ติเคิล 19 ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงหากำไรแถลงว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมถึงกฎหมายหมิ่นเจ้าพนักงานของสเปนนั้นมีโทษหนักเกินเหตุ ทั้งยังขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลสาธารณะไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิเหนือบุคคลอื่น ดังนั้นจึงควรถือสิทธิในการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทเช่นเดียวกับบุคคลอื่น

ฮาเซล ไม่ใช่นักร้องคนแรกที่ต้องโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ใน พ.ศ.2562 Valtonyc นักร้องเพลงแร็ปชาวสเปนต้องลี้ภัยไปประเทศเบลเยี่ยม เพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิดลักษณะเดียวกัน ซึ่งทางการสเปนพยายามประสานให้ทางการเบลเยี่ยมส่งตัว Valtonyc กลับมายังสเปนเพื่อดำเนินคดี แต่ทางการเบลเยี่ยมปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าการกระทำของ Valtonyc ไม่มีลักษณะเป็นการก่อการร้ายและไม่ขัดต่อกฎหมายของเบลเยี่ยม

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net