Skip to main content
sharethis

คุยกับปูนเทพ ศิรินุพงศ์ พริษฐ์ วัชรสินธุ์ และ ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ มองไปข้างหน้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รัฐสภาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ชวนจับตาดูลักษณะของประชามติ เสรีภาพในการถกเถียงแบบไม่ล็อกสเป็ค ความพยายามในการเตะถ่วง และต้องไม่ลืมบทบาทศาลรัฐธรรมนูญที่ก้าวก่าย กีดกั้นการใช้อำนาจของประชาชนและผู้แทนของพวกเขา

ผู้ชุมนุมปีนขึ้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อติดตั้งผ้าคลุมเมื่อ 13 ก.พ. 2564 (แฟ้มภาพ)

“ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง” 

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อ 12 มี.ค. ปิดประตูของการโต้เถียงในรัฐสภาว่าฝ่ายนิติบัญญัติสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับได้หรือไม่ หรือต้องแก้รายมาตรา แต่ก็เปิดหน้าต่างของการตีความว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาที่ผ่านไปแล้ว 2 วาระ และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ในวันที่ 16-17 มี.ค. นี้ว่าจะต้องเริ่มใหม่จากศูนย์หรือไม่ 

ประชาไทชวนผู้รู้เรื่องรัฐธรรมนูญคุยแบบไวๆ ถึงสิ่งที่ประชาชนต้องจับตามอง และทิศทางที่ควรจะไปต่อ

จับตาดูรูปลักษณ์ประชามติ เสรีภาพการถกเถียงใน-นอกสภา

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นสั้นมาก จึงยังตอบไม่ได้ว่ามีเงื่อนไขอะไรที่เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม่ รวมไปถึงคำถามเช่น การทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยการประชามตินั้นหมายความแค่ไหน อย่างไร สิ่งที่เรียกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่ออกมานั้นมีกรอบหรือข้อจำกัดอะไรแค่ไหนอย่างไร จึงต้องรอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อน 

ก่อนจะมีคำวินิจฉัย ปูนเทพเคยให้สัมภาษณ์ประชาไทและเสนอให้มีการทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ่านได้ที่นี่

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยจากเรื่องที่ส่งไปนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภากว้างๆ คือวัตถุในการวินิจฉัยไม่ใช่สิ่งที่สภากำลังพิจารณาอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ตัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันตอนนี้ สภาที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวาระที่ 3 ก็ยังคงมีอำนาจยืนยันได้ว่าสิ่งที่เขาทำก็ยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเขาแค่เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยเรียบเรียงมาตราใหม่ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในความหมายที่พ้นไปจากรัฐธรรมนูญเดิม ฉะนั้น สภายังสามารถยืนยันได้ในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองก็อาจจะมีการโต้แย้งจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น 

สำหรับประชามติที่จะต้องทำเมื่อผ่านวาระ 3 นั้นเป็นประชามติของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นประชามติในฐานะที่เป็นกลไกของการแก้ไข มันโดนจำกัดโดยทฤษฎีว่ามันต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ประชามติที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงนั้นเป็นประชามติอีกอันหนึ่งที่เป็นประชามติเพื่อถอดกระบวนการตามรัฐธรรมนูญเดิมออกแล้วสร้างกระบวนการรัฐธรรมนูญใหม่ คือมันเป็นประชามติเหมือนกัน แต่โดยทางหลักการ การพยายามอธิบายการเกิดขึ้นหรือการสร้างประชามติขึ้นมาในแต่ละบริบทมันอาจจะมีผลไม่เหมือนกัน ถ้าบอกว่าหลักคืออำนาจเป็นของประชาชนจริงอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญบอก ก็คือทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดประชามติว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน แต่กระบวนการระหว่างทางจะทำอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องในทางการเมืองที่จะต้องคุยกัน

สำหรับสิ่งที่ประชาชนควรจับตามองเป็นพิเศษ ปูนเทพมองว่าคือขอบเขตและเสรีภาพในการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุด เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ได้โยนหินถามทางเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนมาแล้ว การถกเถียงและพูดคุยจะต้องไม่ถูกจำกัดด้วยข้อบังคับของสภาหรือการใช้กฎหมายและกลไกต่างๆ มาปิดปากให้นักการเมืองหรือประชาชนไม่สามารถพูดถึงเรื่องที่เป็นปัญหาในทางรัฐธรรมนูญจริงๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ รวมถึงการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การจัดควาสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ การพูดเกี่ยวกับเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเอง ไปจนถึงการมีหรือไม่มี ส.ว.

(แฟ้มภาพ)

"เราควรจะใช้คำวินิจฉัยนี้มาเพื่อเป็นเครื่องยืนยันเสรีภาพในการพูดคุยในการแสดงออกถึงอำนาจของประชาชนจริงๆ และก็ในการทำให้รัฐธรรมนูญมันเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงและแก้ไขได้ทุกเรื่องจริงๆ อย่างความหมายที่มันควรจะเป็น

"ในเมื่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เสรีภาพในการพูดคุยเรื่องต่างๆ ทั้งหมดมันต้องทำได้" ปูนเทพ กล่าว

ร่างฯ ในสภาต้องเดินหน้าต่อไป จับตาการเตะถ่วง

พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) ขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรจะกระทบกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเป็นอยู่ เพราะตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันจะต้องมีการทำประชามติหลังผ่านวาระที่ 3 อยู่แล้ว 

หนึ่งทางออกที่พริษฐ์ดักทางคนที่จะแย้งว่าต้องกลับไปถามประชาชนในทางหลักการก่อนว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ คือข้อเสนอว่าให้เพิ่มคำถามในประชามติครั้งที่จะต้องถามหลังผ่านวาระที่ 3 ไปเลย โดยให้มี 2 คำถาม ได้แก่ 

  1. คำถามที่ต้องถามตามร่างที่ผ่านวาระที่ 3 มา ได้แก่ มติตั้ง สสร. 200 คนจากการเลือกตั้ง และสัดส่วนการโหวตผ่านรัฐธรรมนูญในแต่ละภาคส่วนในรัฐสภา
  2. เห็นด้วยในเชิงหลักการหรือไม่ว่าควรมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ผู้ก่อตั้ง ConLab ให้ภาพความเป็นไปได้จากคำถามทั้ง 2 ว่า ถ้าหากผ่านทั้งหมดก็ไปต่อได้เลย แต่ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งไม่ผ่าน อีกข้อที่ผ่านก็ยังไปต่อได้ และถ้าหากข้อแรกไม่ผ่าน ก็หมายความว่าข้อเสนอเรื่องแนวทางการตั้ง สสร. ก็สามารถถูกนำกลับมาคิดออกแบบใหม่ได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องจับตามองคือความพยายามในการเตะถ่วงการร่างรัฐธรรมนูญ

“อย่างแรกจับตามองว่าจะมีนักวิชาการ หรือ ส.ว. ท่านไหนที่เห็นแย้งกับผม และมีการพยายามจะบิดการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลาออกไป หรือว่าต้องล้มเลิกไม่พิจารณาในวาระที่ 3 แล้วเริ่มกันใหม่ เพราะส่วนตัวผมอ่านคำวินิจฉัยแล้วรู้สึกว่ามันไม่จำเป็น และมันเลือกได้ 2 ทางออกที่ผมเสนอได้”

“สอง ถึงแม้ว่ามันไปต่อวาระที่ 3 ได้ ก็อยากชวนให้ทุกคนจับตามองว่าจะถูกคว่ำโดยสมาชิกวุฒิสภาในวาระที่ 3 หรือเปล่า เพราะตามกติกาปัจจุบัน แม้ สส 500 คนจะเห็นชอบ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้า ส.ว. 1/3 ไม่เห็นชอบก็สามารถคว่ำกระบวนการได้ คุณอาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ตัวแทนประชาชนทุกคน ทั้ง 500 คน เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเป็น ส.ว. ที่เป็นผู้ขัดขวางกระบวนการนี้ มันก็แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขตของ ส.ว. ที่มาล้มกระบวนการที่ถูกขับเคลื่อนและมีการสนับสนุนจากประชาชน" พริษฐ์กล่าว

ในวันเสาร์นี้ (13 มี.ค.) ConLab จัดงานร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยช่วงเช้าจะเป็นกิจกรรมเสวนา และช่วงบ่ายจะให้ผู้เข้าร่วมจำลองบทบาท สสร. จำลอง ลองร่างรัธฐรรมนูญในฝันของตัวเอง ซึ่งจะเปิดให้ร่างทุกหมวด รวมทั้งหมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

ต้องไม่ลืมบทบาทศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าคุมฝ่ายนิติบัญญัติ

ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า การขยายขอบเขตของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาวินิจฉัยกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัตินั้นถือว่าน่ากังวล เพราะเป็นการซ้อนทับกันระหว่างอำนาจ ทำให้กระบวนการนิติบัญญัติมีความยุ่งยากมากขึ้น กลายเป็นมีช่องทางทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นยุทธวิธีในการประวิงเวลาจนกระทั่งสกัดกั้นการใช้อำนาจของประชาชนและตัวแทนของประชาชน สิ่งที่เห็นระยะสั้นตอนนี้กลายเป็นว่า ในทางปฏิบัติ สภาที่เป็นตัวแทนประชาชนซึ่งทรงไว้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ในการใช้อำนาจอธิปไตยในฝ่ายนิติบัญญัติถูกกำกับโดยศาลรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ และในระยะยาว หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

“เจตนารมณ์ดั้งเดิมของศาลรัฐธรรมนูญคือการถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา ผ่าทางตันของระบอบรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องใช้วิธีการพิเศษ แต่ศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คำตัดสินหลังๆ มันชวนให้เราคิดว่ามันบีบให้เราเดินไปสู่หนทางพิเศษในการผ่าทางตันทางการเมืองหรือคลี่คลายปัญหาทางการเมือง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าน่าห่วงใย"

บัณฑิตกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในฐานะการเป็นวาล์วนิรภัย (safety valve) ในระบบการเมือง ก็ควรต้องหาทางออกให้กับสังคม ไม่ใช่เพิ่มโอกาสของความขัดแย้ง หากตัววาล์วนิรภัยกลับทำให้เกิดความเสี่ยงของระบบ ก็ชวนคิดว่าในระยะยาวมีจะทำให้ประชาชนขาดความศรัทธาหรือเชื่อมั่นต่อการมีองค์กรนี้อยู่หรือไม่ จึงชวนให้ประชนจับตามองความไม่ปกติของศาลรัฐธรรมนูญ

"คุณเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ขึ้นมา แม้กระทั่งตัวรัฐบาลก็อยากแก้ แต่รัฐบาลเองก็ไม่อยากจะแก้ไปในทางที่สังคมต้องการ ก็เลยต้องดึงกันไปดึงกันมาแบบนี้ เราก็เห็นได้ว่ามันเป็นแทกติกทางกฎหมาย คือเรียกร้องชั้นแรก ตั้ง กมธ. วิสามัญสภาผู้แทนราษฎรซึ่งผมเคยนั่งอยู่ มันก็ควรจะจบตรงนั้นหรือเปล่า พอกระบวนการยื่นของพรรคฝ่ายค้าน รัฐบาล และร่างไอลอว์เสนอเข้าไป คุณตบแล้วรวบกลับเป็นอันหนึ่ง แล้วคุณก็ตั้ง กมธ. วิสามัญขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง"

"แล้วในการพิจารณาวาระสอง คุณไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้ทำให้มันผิดขั้นตอน ซึ่งถึงแม้คุณไพบูลย์ (นิติตะวัน) จะอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด มันก็เท่ากับว่าคุณไพบูลย์ไปยื่นให้ดาบมาจิ้ม แล้วศาลเองก็จิ้มด้วย อันนี้มันเป็นอันตรายของระบบการเมืองเพราะ safety valve มันถูกทำลาย แล้วโดยหลักการ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องระมัดระวังมากๆ ในการตัดสินอะไรที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการสถาปนาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ" บัณฑิตกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net