Skip to main content
sharethis

อิระวดีระบุว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า 2 แห่งชานนครย่างกุ้ง โรงงานแห่งหนึ่งเจ้าของเป็นชาวจีน อีกแห่งเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน ขณะที่กองทัพพม่าปราบปรามผู้ประท้วงอย่างนองเลือด เมื่อวันอาทิตย์มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 59 ราย

ภาพบรรยากาศการประท้วงที่เขตอุตสาหกรรมหล่ายตายา นครย่างกุ้ง
ภาพบรรยากาศการประท้วงที่เขตอุตสาหกรรมหล่ายตายา นครย่างกุ้ง
 

15 มี.ค. 2564 สำนักข่าวท้องถิ่น อิระวดี รายงานวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า 2 แห่งในเขตอุตสาหกรรมหล่ายตายา ชานเมืองย่างกุ้ง โดยโรงงานแห่งหนึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน และอีกแห่งมีชาวไต้หวันเป็นเจ้าของ ขณะที่การปราบผู้ประท้วงชาวพม่ายังรุนแรงต่อเนื่อง โดยเมื่อวานมีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันทั้งสิ้น 59 ราย 

อ้างอิงแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ในเขตอุตสาหกรรมหล่ายตายา ระบุว่า โรงงานทอผ้าที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เป็นของบริษัท Global Fashion (โกลบอลแฟชั่น) ซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน และบริษัทชางหยี่ ซึ่งเป็นโรงงานทำรองเท้าจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินงานโดยนักธุรกิจไต้หวัน 

คณะกรรมการบริษัทแห่งการบริหารการลงทุนและบริษัท (Directorate of Investment and Company Administration - DICA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องการลงทุนในพม่า เปิดเผยข้อมูลของ Global Fashion ระบุว่าเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจจีน 4 คน กับนักธุรกิจพม่า โดยจดทะเบียนเมื่อปี 2561 

ขณะที่บริษัทชางหยี่ มีเจ้าของเป็นนักธุรกิจไต้หวัน 2 คน จดทะเบียนเมื่อปี 2557 และจากข้อมูลของบริษัทเมื่อปี 2563 ระบุว่ามีพนักงานทำงานในโรงงานทั้งสิ้น 9,000 คน    

ทั้งนี้ เหตุเพลิงไหม้ยังอยู่ในระหว่างสอบสวนหาสาเหตุ และยังไม่มีกลุ่มหรือองค์กรใดออกมารับผิดชอบ

ภาพกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากเขตหล่ายตายา ชานเมืองย่างกุ้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วง
ภาพกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากเขตหล่ายตายา ชานเมืองย่างกุ้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วง
 

ขณะที่รายการข่าวโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ‘ไชน่าโกลบอลเทเลวิชันเน็ตเวิร์ก’ (China Global Television Network - CGTN) ระบุว่า ผู้ร่วมก่อเหตุวางเพลิงโรงงานของชาวจีนมีมากกว่า 20 คน และขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ 

นอกจากนี้ CGTN ยังระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ก่อเหตุมีการพกกระบองเหล็ก ขวาน และน้ำมัน ฝ่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าไปในโรงงาน ก่อนที่จะวางเพลิงบริเวณทางเข้า และคลังเก็บสินค้า 

ด้านสำนักข่าว “Paukphaw” (พวกพ้อง) รายงานเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 อ้างรายงานโฆษกสถานทูตจีนในเมียนมา ระบุว่าเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 14 มี.ค. 2564 มีคนบุกเข้าไปขโมยของ และวางเพลิงโรงงานของชาวจีนในเขตหล่ายตายา 

นอกจากนี้ โฆษกของสถานทูตจีนระบุว่า ชาวจีนหลายคนได้รับบาดเจ็บ และพนักงานบางคนติดอยู่ข้างในขณะเกิดเหตุไฟไหม้ 

ขณะที่สถานทูตจีนหารือกับหอการค้าจีน-พม่า ร้องขอตำรวจท้องถิ่นเมียนมาดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริษัทที่เจ้าของเป็นชาวจีนและพลเมืองจีนปลอดภัย 

โฆษกสถานทูตจีน ระบุเพิ่มว่า จีนต้องการให้กองทัพพม่าดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อหยุดการกระทำที่ใช้ความรุนแรง รวมถึงสืบสวนและจัดการผู้ก่อการตามหลักกฎหมาย และรับประกันความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทและพลเมืองของจีนที่อาศัยภายในประเทศ

‘เราขอเรียกร้องให้ประชาชนในพม่าแสดงออกด้านข้อเรียกร้องตามหลักกฎหมาย และหยุดการยั่วยุหรือการกระทำที่กัดกร่อนมิตรภาพระหว่างจีนและพม่า’ โฆษกสถานทูตจีนระบุ

ขณะที่สำนักข่าว ไทยพีบีเอส รายงานวันนี้ 15 มี.ค. 2564 อ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวท้องถิ่น Myanmar Now ระบุว่า ข้อมูลจากโรงพยาบาล 3 แห่งในนครย่างกุ้ง เปิดเผยตัวเลขผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากวันอาทิตย์ที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสิ้น 59 ราย จากกรณีสลายการชุมนุมด้วยอาวุธในเขตอุตสาหกรรมหล่ายตายา ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมสูงที่สุดนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร ซึ่งคิดเป็นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์จากผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมในพม่าทั้งหมด 126 ราย ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผู้ป่วยอาการฉุกเฉินกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล

รายงานสรุปของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่า นับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร 1 ก.พ. 64 จนถึงวันที่ 14 มี.ค. 64 มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 126 ราย มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 2,156 ราย และมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวประมาณ 1,837 ราย 

คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพสัญญาจะทำปฏิวัติ ล้มรัฐประหาร 

มานวินข่ายตาน หัวหน้ารักษาการสภาคู่ขนาน หรือคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw หรือ CRPH) ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว (2563) แถลงให้คำมั่นจะทำการปฏิวัติและล้มรัฐประหาร

มานวินข่ายตาน หัวหน้ารักษาการ CRPH
มานวินข่ายตาน หัวหน้ารักษาการ CRPH
 

มานวินข่ายตาน ที่ตอนนี้กำลังหลบหนีการจับกุม พร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สังกัดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD คนอื่นๆ ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2564 ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียยอดฮิตของคนเมียนมา ‘เฟซบุ๊ก’ 

“นี่เป็นช่วงเวลาที่มืดมนของชาติ และช่วงเวลาแห่งรุ่นอรุณที่ใกล้เข้ามา” มานวินข่ายตาน กล่าว 

CRPH ประกาศจุดยืนสร้างรัฐสหพันธรัฐประชาธิปไตย และไม่นานมานี้มีการพบปะกับตัวแทนจากองค์กรติดอาวุธชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา ซึ่งคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ทั่วประเทศตั้งแต่ฝั่งตะวันออกจนถึงฝั่งใต้ มีบางคนในกลุ่มออกมาสนับสนุนแนวทางกลุ่ม CRPH   

“เพื่อจุดมุ่งหมายในการสถาปนาระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งมวลผู้บอบช้ำจากการถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆ นานาจากเผด็จการทหารมาหลายทศวรรษ ต้องการอย่างแท้จริง การปฏิวัติครั้งนี้คือโอกาสสำหรับพวกเราที่จะพยายามด้วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง” มานวินข่ายตาน กล่าว

แถลงการณ์ของเขาได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นต่อผู้ที่เข้ามาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก “สู้เขานะ ท่านประธานาธิบดี คุณคือความหวังของพวกเรา เราจะยืนข้างคุณ” ผู้ใช้แอ็กเคานต์รายหนึ่งในเฟซบุ๊กกล่าว

ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่าประกาศให้ CRPH เป็นกลุ่มผิดกฎหมาย และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้จะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฎ ซึ่งมีโทษคือประหารชีวิต

ขณะที่กลุ่ม CRPH ออกมาตอบโต้กองทัพ โดยประกาศว่า ‘กองทัพพม่าคือกลุ่มก่อการร้าย’ 

มานวินข่ายตาน กล่าวว่า CRPH จะพยายามออกกฎหมายที่จำเป็น ซึ่งประชาชนมีสิทธิปกป้องตนเอง และบริหารรัฐกิจจะได้รับการจัดการโดย ‘ทีมบริหารชั่วคราวของประชาชน’ (interim people’s administration team)  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net