Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาอนุญาตประกันตัว 'หมอลำแบงค์' ตั้งเงื่อนไขห้ามร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ส่วน 'ไผ่' และสมยศถูกขังต่อ เหตุถอนทนายจึงไม่เชื่อว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขไม่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้ ทนายแจงเหตุถอนทนาย เพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบติด ปรึกษาคดีไม่ได้ ศาลออกข่าวแจกโต้ อนุญาตให้ญาติ มวลชน ผู้แทนสถานทูตต่างๆ และสื่อมวลชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้ตลอดมา แต่ก็ระบุด้วยว่า วันที่ 7-8 เม.ย. อนุญาตเฉพาะคู่ความและผู้แทนสถานทูตเข้าห้องพิจารณา

9 เม.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว 'หมอลำแบงค์' ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม แต่ไม่ให้ประกันตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ 'ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยมาตรา 112 ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 

ทนายยื่นขอปล่อยตัวชั่วทั้ง 3 คน เมื่อ 5 เม.ย. 2564 โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 100,000 บาท และให้เหตุผลประกอบคำร้องขอประกันของสมยศโดยสรุปว่า จำเลยมีอายุมาก สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หากไม่ได้รับการประกันจำเลยและครอบครัวจะได้รับความเดือดร้อน และการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากยังไม่ได้มีการพิสูจน์ความผิดในชั้นศาล

ด้านจตุภัทร์ให้เหตุผลประกอบการขอประกันตัวโดยสรุปว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และปัจจุบันยังเป็นนักศึกษาอยู่ การคุมขังส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษา และการที่จำเลยถูกคุมขังไว้ตามหมายขังของศาลมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้แตกต่างจากก่อนหน้าที่จำเลยถูกคุมขังไว้ รวมถึงจำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด

ศาลไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 โดยจำเลยทั้งสามแถลงต่อศาลมีเนื้อหา ดังนี้

ปติวัฒน์ (จำเลยที่ 3) แถลงว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองและพูดพาดพิงสถาบันฯ อีกอย่างเด็ดขาด โดยจะไปประกอบอาชีพร้องหมอลําเพื่อหาเลี้ยงชีพต่อไป ทั้งยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) การวางเงื่อนไขห้ามออกนอกเขตที่กําหนด หรือการวางเงื่อนไขห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม และจะมาศาลทุกนัด หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่มาศาลนัดหนึ่งนัดใด ก็ยินดีที่จะให้ศาลถอนประกัน

ด้าน สมยศ (จำเลยที่ 4) แถลงว่า เนื่องจากจําเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทําให้ไม่อาจหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถตรวจดูพยานหลักฐานโจทก์ได้โดยละเอียด เกรงว่าหากไม่ได้รับโอกาสในต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จะเป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับความยุติธรรม 

ส่วน จตุภัทร์ (จำเลยที่ 7) แถลงว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสามแถลงรับเงื่อนไขของศาล โดยมีเนื้อหาตรงกันว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราว จะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ โดยมีนายประกันของทั้งสามรับรองว่าจะกำกับดูแลจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติตามสัญญาที่แถลงไว้ต่อศาล

9 เม.ย. 2564 เวลา 15.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเฉพาะปติวัฒน์ โดยระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์จากคำแถลงและการไต่สวนตามคำร้องของปติวัฒน์ ประกอบกับคำรับรองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับจำเลย น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้อีก จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้จำเลยที่ 3 กระทำการในสักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้จำเลยมาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด ก่อนปล่อยตัวจำเลยและแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบ

ในส่วนสมยศและจตุภัทร์ คำสั่งระบุว่า แม้จำเลยทั้งสองจะให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนขอปล่อยชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 ศาลนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน จำเลยและทนายของทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่มีเหตุอันสมควร มีเพียงจำเลยที่ 3 และทนายความจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา 

อีกทั้ง ทนายจำเลยที่ 4 และที่ 7 นำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนข้อความเพิ่มเติมโดยไม่ใด้รับอนุญาตจากศาล ระบุว่า “ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 22 ไม่ขอลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา เนื่องจากไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา” กับมีพฤติการณ์จะไม่ยอมไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความ และยื่นคำร้องขอถอนทนายความ ทำให้การกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล ข้อความและคำแถลงของจำเลยทั้งสองว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แถลงไว้ต่อศาล จึงไม่น่าเชื่อถือว่าสามารถปฏิบัติตามที่แถลงไว้ต่อศาลได้ ในชั้นนี้ จึงยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสอง 

จากคำสั่งดังกล่าวทำให้ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัว หลังถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นเวลา 60 วัน  ส่วนสมยศถูกคุมขังร่วม 2 เดือน และจตุภัทร์ ถูกคุมขังมา 1 เดือนกว่าแล้ว 

ทั้งนี้ ทนายความยังยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ยังถูกคุมขังที่เหลือ ได้แก่ อานนท์ นำภา, 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์, 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก และ 'แอมมี่' ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ แต่ศาลยกคำร้อง ทำให้อานนท์และพริษฐ์ถูกขังมา 60 วัน ขณะที่ปนัสยาและภาณุพงศ์ถูกขังมา 33 วันแล้ว จากคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยพริษฐ์ยังคงอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวมากว่า 25 วัน และปนัสยาอดอาหารมาแล้ว 1 สัปดาห์

ด้านไทยโพสต์ รายงานว่า เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่จำเลยคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ไม่ลงลายมือชื่อในกระบวนพิจารณาและถอนทนายความว่า สาเหตุมาจากบรรยากาศกระบวนการในห้องพิจารณาคดี ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดความผิดปกติ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวนมากเข้ามาในห้องพิจารณาคดี คอยประกบตัวจำเลยห้ามมิให้จำเลยพูดคุยกับทนายความและญาติ เมื่อทนายความจดข้อความลงในกระดาษ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ดึงกระดาษไปดู โดยไม่ขออนุญาตก่อน

ส่งผลให้ทางทนายมีการหารือกันว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายการละเมิด และทำให้บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีไม่เป็นมิตร หลังจากการพูดคุยกัน ทางทนายความจึงตัดสินใจถอนทีมทนายออกจากคดีนี้ทั้งหมด ส่วนทนายความของปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ เป็นทนายความจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงไม่มีการถอนตัวออกจากคดี

อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวของศาลในวันนี้ที่มีเหตุผลข้อหนึ่ง ระบุว่า การถอนทนายความเป็นการไม่ให้ความร่วมมือในกระบวนการพิจารณา ทางทนายก็ยังคงยืนยันว่า จะถอนทนายออกจากคดีเช่นเดิม เพียงแต่ศาลจะให้ทำหนังสือชี้แจงถึงอธิบดีศาลอาญา เกี่ยวกับเหตุผลสภาพบรรยากาศเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การถอนทนายความออกจากการพิจารณาคดี ซึ่งหนังสือชี้แจงนี้ คาดว่าจะสามารถยื่นได้ในวันที่ 19 เม.ย. นี้

ต่อมา ศาลอาญาออกเอกสารข่าวแจกสื่อมวลชน โดยสยามรัฐรายงานเนื้อหา ระบุว่า ตามที่ศูนย์ทนายความแห่งหนึ่งได้นำเสนอข่าวกระบวนพิจารณาคดีที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงศาลอาญาขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 287/2564 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ และนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 22 คน ศาลได้อนุญาตให้ญาติของจำเลย มวลชน ประชาชน ผู้แทนสถานทูตและองค์กรต่าง ๆ และสื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาคดีดังกล่าวอย่างเต็มที่ แต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เกิดเหตุการณ์ที่จำเลยและมวลชนบางคนถือโอกาสทำให้เกิดความวุ่นวาย เช่น ยืนแถลงการณ์ และขว้างปาสิ่งของในห้องพิจารณาโดยไม่สนใจกฎระเบียบ อันเป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาและประพฤติตนไม่เรียบร้อย ทั้งมีบุคคลแอบถ่ายภาพในห้องพิจารณาและนำไปเผยแพร่ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้การพิจารณาคดีวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จำเป็นต้องคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก รวมถึงเคร่งครัดในเรื่องเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดโดยให้ปิดการใช้งานและฝากไว้ตามจุดที่กำหนด แต่ได้อนุญาตให้ญาติของจำเลยที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีได้

ต่อมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างรุนแรงอีกครั้ง วันที่ 7-8 เมษายน 2564 จึงจำเป็นต้องกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาคดี โดยให้เฉพาะบุคคลที่จำเป็นเกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น ได้แก่ จำเลยทั้งหมด 22 คน พนักงานอัยการ ทีมทนายความจำเลย และตัวแทนสถานทูตต่างๆ มีจำนวนเกือบ 50 คน นอกจากนั้นให้อยู่ในดุลพินิจของศาล เพื่อให้สามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ (Social Distancing) และลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ศาลได้จัดสถานที่ให้ญาติและผู้ที่จะเข้าฟังการพิจารณาเข้าไปรับฟังการถ่ายทอดภาพและเสียงด้วยระบบประชุมทางไกลทางจอภาพที่ห้องพิจารณาอีกห้องหนึ่ง เพื่อให้ได้รับฟังการพิจารณาเช่นเดียวกับห้องพิจารณา

ศาลได้อนุญาตให้ญาติ มวลชน ผู้แทนสถานทูตต่างๆ และสื่อมวลชนเข้ารับฟังการพิจารณาได้ตลอดมา ให้สิทธิจำเลยที่จะพบทนายความและพูดคุยกับทนายความอย่างเต็มที่ และอนุญาตให้จำเลยพูดคุยกับบิดามารดา และญาติได้ หากขัดข้องอย่างไรแจ้งผู้พิพากษาได้ ซึ่งศาลอาญาถือว่าเป็นสิทธิที่สำคัญของฝ่ายจำเลยเสมอมาในทุกกรณี ไม่เคยเพิกเฉยตามที่มีการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net