Skip to main content
sharethis

มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า จะเข้าประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ในวันที่ 24 เม.ย. 2564 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำกองทัพพม่า หลังจากทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ด้านประยุทธ์ ผู้นำไทยจะไม่เข้าร่วม พร้อมมอบหมาย รมว.ต่างประเทศ เข้าร่วมแทน  

พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า และผู้นำคณะรัฐประหาร
 

19 เม.ย. 2564 สำนักข่าวจากตะวันออกกลาง อัลจาซีรา รายงานเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศไทย ประกาศว่า พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า จะเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ที่อินโดนีเซีย ซึ่งจะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า   

สถานการณ์การเมืองประเทศเมียนมาอยู่ในภาวะระส่ำระส่าย หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจพลเรือน เป็นผลให้เกิดการประท้วงต้านรัฐประหารโดยประชาชนทั่วประเทศพม่า ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (AAPP) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มอร์นิเตอร์สถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม และการควบคุมตัวนักโทษการเมือง ระบุนับตั้งแต่ทำรัฐประหารจนถึงวันที่ 18 เม.ย. 2564 มีพลเรือนเสียชีวิตจากการสลายผู้ประท้วงนองเลือดของกองทัพพม่าแล้ว จำนวนอย่างต่ำ 737 ราย 

เหตุการณ์ปราบผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงล่าสุด เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเมียนมาใช้อาวุธปืนยิงผู้ประท้วง 2 คนในเมืองโมโกก ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเหมืองขุดหาแร่ทับทิม ขณะที่ระเบิดลูกเล็ก ๆ ปะทุขึ้นในนครย่างกุ้ง หนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า และมีรายงานประชาชนและนักข่าวบาดเจ็บ  

เพื่อนบ้านของเมียนมา อย่างไทยพยายามเป็นตัวกลางให้เกิดการเจรจาระหว่างกองทัพพม่า และผู้ต่อต้านรัฐประหารมาแล้ว แต่กองทัพพม่ามีความตั้งใจอันน้อยนิดที่จะเจรจากับฝ่ายตรงข้าม

ขณะที่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวว่า ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนหลายคน พร้อมด้วย มินอ่องหล่าย ตอบตกลงเข้าร่วมการประชุมที่จะจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย. 2564 

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 รายงานจากจาการ์ตาโพสต์ อ้างแหล่งข่าวระบุการประชุมอาเซียนนัดพิเศษนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีรูปแบบการประชุมแบบใด ระหว่างประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทั้งหมด หรืออาจอนุญาตให้ชาติสมาชิกอาเซียนสามารถเดินทางมาประชุมด้วยตัวเองที่จาการ์ตา และบางประเทศใช้วิธีประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 

หลังมีข่าวออกมาว่า มินอ่องหล่าย จะเข้าร่วมประชุมอาเซียน สมัยพิเศษ สมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติคนแรกที่ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้ คือ นพ.ซาซา ซึ่งปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งกระทรวงความร่วมมือต่างประเทศ แห่งรัฐบางเอกภาพแห่งชาติอีกด้วย 

"ผู้บัญชาการมินอ่องหล่าย ไม่ควรถูกเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ การเข้าร่วมของเขาไม่ได้นำเพียงความอัปยศอย่างถึงที่สุดมาสู่ที่ประชุมเท่านั้น แต่ยังเป็นการดูถูกประชาชนเมียนมา และนำความเจ็บปวดมาสู่ญาติและครอบครัวของวีรชนกว่า 714 ชีวิต ที่ต้องสูญเสียโดยน้ำมือของมือปืนของผู้บัญชาการฆาตกรคนนี้" นพ.ซาซา ระบุในเพจเฟซบุ๊ก "Dr.Sasa" ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กทางการของเขา

สถานการณ์การเมืองพม่าช่วงที่ผ่านมา กองทัพพม่าปล่อยตัวนักโทษ 23,184 คนจากเรือนจำทั่วประเทศเมื่อวันเสาร์ที่ 10 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองช่วงสงกรานต์พม่า กรมราชทัณฑ์เมียนมาระบุ แต่มีน้อยคนคิดว่าจะมีนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกจับกุมตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการนิรโทษกรรม 

อัลจาซีรา อ้างรายงานจาก AAPP ระบุว่า อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เป็นหนึ่งใน 3,141 คนที่ถูกกองทัพจับกุม และโดนกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร นอกจากนี้ เธอยังถูกกองทัพดำเนินคดีหลายข้อกล่าวหาด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการละเมิดกฎหมายความลับราชการ ซึ่งอาจทำให้เธอต้องถูกจำคุกนานถึง 14 ปี ซึ่งทนายความของเธอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา 

“นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกจับกุมก่อนวันที่ 1 ก.พ. 2564 แต่บางคนก็ถูกจำคุกต่อเหมือนกัน” จ่อทุนอู โฆษกกรมราชทัณฑ์พม่า กล่าว พร้อมระบุว่า เขาไม่ทราบรายละเอียดว่า นักโทษถูกจำคุกด้วยคดีอะไรบ้าง  

สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล กล่าวเพิ่มว่า ในจำนวนนักโทษที่ได้รับการนิรโทษกรรม มี 137 คนเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดจะถูกส่งกลับประเทศ  

AAPP ระบุเพิ่มว่า ขณะนี้กองทัพมีการออกหมายจับประชาชนที่มีความเชื่อมโยงกับการประท้วง จำนวน 832 คน ใน 200 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพนักแสดง นักร้อง เน็ตไอดอล ซึ่งออกมาปราศรัยและพูดต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งคนเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 505[a] ซึ่งระบุว่า ใครก็ตามที่ให้ความคิดเห็น อันจะก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือเผยแพร่ ‘ข่าวลวง’ หรือ ‘ปลุกปั่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กระทำอาชญากรรมต่อต้านเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล’ ถือว่ามีความผิด อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2564 สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลประกาศเพิ่มรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับอีก 40 ราย โดย 20 รายเป็นบุคลากรทางการแพทย์

CRPH ขอร่วมประชุมอาเซียนนัดพิเศษ พร้อมเรียกร้องไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานวันนี้ (19 เม.ย.64) ระบุว่า CRPH ออกแถลงการณ์ทันควัน ขอเข้าร่วมประชุมพร้อมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ และเรียกร้องให้อาเซียนไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หลังมีรายงานว่า มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ตอบตกลงเข้าร่วมประชุมอาเซียน สมัยพิเศษ 

มานวินข่ายตาน นายกรัฐมนตรี รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และสมาชิก CRPH
 

โมซออู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคณะกรรมการสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ระบุว่า ‘อาเซียนยังไม่ได้ติดต่อพวกเขา’ 

“ถ้าอาเซียนต้องการช่วยแก้ไขวิกฤตในพม่า พวกเขาจะไม่สามารถบรรลุผลอะไรได้เลยโดยที่ไม่มีการปรึกษาและเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและมีความชอบธรรมอย่างเต็มเปี่ยม” โมซออู ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Voice of America (VOA) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2564

“มันสำคัญตรงที่ สภาบริหารแห่งรัฐ (ซึ่งมีมินอ่องหล่ายเป็นผู้นำ) ไม่ได้รับการรับรอง เรื่องนี้ต้องถูกจัดการอย่างรัดกุม” โมซออู กล่าวเพิ่ม  

คณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ หรือ CRPH เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นหลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร โดยสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วย ส.ส.จากพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. 2563 และ ส.ส.ชาติพันธุ์ 

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 กลุ่ม CRPH ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา พร้อมเปิดโผ ครม. ของรัฐบาล เพื่อต่อกรกับกองทัพพม่า โดยมี ดูหว่าละชิละ ควบตำแหน่ง รองประธานาธิบดี และรักษาการประธานาธิบดีพม่า ระหว่างที่วินมยิ้ด และอองซานซูจี ถูกกองทัพพม่าควบคุมตัว      

ประยุทธ์ไม่ไป ส่ง 'ดอน' ไปประชุมอาเซียน 24 เม.ย. แทน

19 เม.ย. 2564 สำนักข่าวมติชน รายงานจากทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (19 เม.ย.64) ถึงการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เม.ย. 2564 ครั้งนี้เป็นที่จับตาดูจากนานาชาติ เนื่องจากพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพเมียนมา ยืนยันว่าไปร่วมประชุมด้วย 

ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
 

ล่าสุด รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม  จะไม่เข้าร่วมประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษครั้งนี้ และมีการมอบหมายให้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม  

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรายงานเพิ่มว่าเพราะเหตุใดประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net