Skip to main content
sharethis

3 นักวิชาการร่วมพูดคุยเรื่องกระแสความนิยมในวัฒนธรรมเกาหลีในงานเสวนาออนไลน์ 'เกาหลียุคปัจจุบัน' พร้อมเปิดมุมมองการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ผ่านอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงทั้งภาพยนตร์และดนตรีของเกาหลีใต้

29 เม.ย. 2563 วันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ ‘เกาหลีปัจจุบัน’ โดยมีผู้เขียนหนังสือ ‘Korea Today’ เป็นผู้เสวนาในประเด็นต่างๆ โดยหัวข้อเสวนาในงานนี้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ (Hallyu), วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเกาหลี และเพลงป๊อบเกาหลีใต้กับโลกาภิวัตน์

 

รศ.จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดประเด็นแรกในการเสวนา เรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หรือ ‘ฮันรยู’ (อังกฤษ: Hallyu; เกาหลี: 한류) โดย จักรกริช กล่าวว่า 'ฮันรยู' มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และเชื่อมโยงเข้ากับมิติที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม การเมือง หรือว่ามิติต่าง ๆ ของประเทศเกาหลีใต้

คำว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Korean Wave (Korean Wave เป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้สื่อถึงความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมเกาหลีที่เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 1990) โดยส่วนตัว จักรกริช มองว่าสื่อประเภทนี้ของเกาหลีใต้เต็มไปด้วยเนื้อหาและประเด็นต่างๆ รวมถึงข้อถกเถียง ข้อคิด เพราะตนเชื่อว่าสื่อเหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองมามากพอสมควร

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น จักรกริช ให้คำนิยามของ ‘ฮันรยู’ ว่าเป็นคำที่สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อของจีนใช้พูดถึงอิทธิพลของสื่อเกาหลีใต้ที่ขยายความนิยมเข้าไปในประเทศจีนและญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ต่อมาในช่วงปี 2000 อิทธิพลเหล่านี้ได้แผ่ขยายไปในหลายประเทศในทวีปเอเชีย สหรัฐอเมริกาด้วย รวมถึงบางประเทศในยุโรป

หลังปี 2000 กระแส ‘ฮันรยู’ (Hallyu) แผ่ขยายไปในวงกว้างทั่วโลก

“ต่อมา สื่อเหล่านี้กลายเป็นซีรีส์และเป็นภาพยนตร์ที่สามารถรับชมได้ผ่านทางโทรทัศน์ ช่วงหลัง พอพูดถึง ‘ฮันรยู’ จะเริ่มมี K-pop และรวมไปถึงเรื่องของมิติการบริโภคของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เช่น แฟชั่น เครื่องสำอาง อินเทอร์เน็ต อาหาร ตอนนี้ ถ้าเราไปตามศูนย์การค้า ไปตามแหล่งที่มีวัยรุ่นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สยาม ก็จะพบว่าจำนวนของร้านอาหารเกาหลีเพิ่มมากขึ้นเป็นดอกเห็ด หารับประทานได้มากกว่าเมื่อเทียบกับอาหารหลายๆ ชาติด้วยซ้ำไป ส่วนการ์ตูน สติกเกอร์ รวมถึงเกมออนไลน์ก็เริ่มมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นด้วย” จักรกริช กล่าว

จักรกริช กล่าวเสริมอีกว่า ‘ฮันรยู’ เป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมภาพยนตร์และละคร อุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเสื้อผ้า รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ในขณะเดียวกัน หากมองแบบเจาะจง เช่น ในเรื่องของภาพยนตร์ จะพบการสอดแทรกมิติต่างๆ เข้ามา เช่น อาหาร เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และวัฒนธรรม แม้กระทั่งเกมออนไลน์ของเกาหลีใต้ก็สะท้อนให้เห็นถึงมิติทางสังคม หรือประวัติศาสตร์ ดังนั้น ตนจึงมองว่า ‘ฮันรยู’ ไม่ได้เป็นเพียงคลื่นที่ขยายตัวออกไปจากเกาหลีใต้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นคลื่นที่เชื่อมต่อมิติต่างๆ เข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

พลิกฝันร้ายในอดีตผ่านผลงานภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์

จักรกริช กล่าวว่า การประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง Minari ของเกาหลีใต้ มีชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้รับรางวัลดังกล่าว แต่หนึ่งในนักแสดงสำคัญของเรื่อง คือ ยูนยอจอง (Youn Yuh Jung) ผู้รับบทเป็นคุณยายที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาหลีใต้ มาช่วยดูแลหลานในครอบครัวของตัวเอกที่มาตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา กลับได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งตนมองว่าเป็นความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ รวมถึงกระแส ‘ฮันรยู’

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีสัญชาติอเมริกัน แต่ ลี ไอแซก ช็อง (Lee Isaac Chung) ผู้กำกับภาพยนตร์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี และสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จากประสบการณ์ชีวิตจริงในฐานะของคนที่อาศัยอยู่กับครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลีในสหรัฐอเมริกา

“การที่ ‘ยูนยอจอง’ ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะเป็นนักแสดงชาวเอเชียคนที่สอง ที่ได้รับการชื่นชมจากเวทีออสการ์ ภาพยนตร์เรื่อง Parasite ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ปีที่แล้ว และก็อีกหลายรางวัลไปพร้อมๆ กัน มันชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ [ของเกาหลีใต้] มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในเกาหลีใต้ หรือว่าเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคเองเท่านั้น แต่ว่าในเวทีวิชาการหรือเวทีของคนที่ทำงานวิชาชีพ ด้านอุตสาหกรรมก็ให้การยอมรับด้วย จึงถือเป็นจุดสำคัญที่นำไปสู่การต่อยอดของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในอีกหลายมิติ” จักรกริช กล่าว

ภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ จักรกริช กล่าวถึงในการเสวนาครั้งนี้ คือ ภาพยนตร์เรื่อง ‘ซอบก มนุษย์อมตะ (SEOBOK)’ ภาพยนตร์ Sci-fi ที่มีนัยสำคัญทางการเมือง ‘ซอบก’ พูดถึงมนุษย์โคลนนิ่งที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกและมีชีวิตเป็นอมตะ ซึ่งได้ ‘กงยู’ และ ‘พัคโบกอม’ นักแสดงระดับแนวหน้ามาแสดงนำ

“เกาหลีใต้มีความก้าวหน้ามากในเรื่องการโคลนนิ่ง ก่อนหน้านี้ในปี 2005-2006 เกิดกรณีพิพาททางวิทยาศาตร์ในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นที่อื้อฉาวทั่วโลก ตอนนั้น ‘ฮวังอูซอก’ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) ที่ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งมนุษย์เป็นคนแรกของโลก โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลเกาหลีและต่างชาติ เกิดเป็นข่าวใหญ่ มีการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่ต่อมาก็พบว่าเป็นกรณีหลอกลวงและละเมิดจริยธรรมของการวิจัยวิทยาศาตร์ครั้งใหญ่ของโลก ทำให้เกาหลีใต้เสียหน้า และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ซอบก’ เองก็เป็นความพยายามที่จะขยับออกจากความทรงจำอันเลวร้ายนั้น จึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงอันเลวร้ายของการโคลนนิ่งในอดีต

“รวมไปถึงภาพยนตร์อย่าง Minari ที่เล่าเรื่องราวของผู้อพยพของชาวเกาหลีในสหรัฐอเมริกา ฉายภาพเพียงแค่ครอบครัวหนึ่ง แต่ชี้ให้เห็นถึคนต่างวัย ต่างสถานะ ที่ต้องเผชิญกับสภาวะการย้ายถิ่น ทำให้เรามีความรู้สึกมีส่วนร่วมได้แชร์ประสบการณ์กับตัวนักแสดงหรือตัวละคร แล้วเมื่อเรารู้สึกเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเข้าใจคนเหล่านี้ มันทำให้เรามองภาพใหญ่ต่อไปว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมครอบครัวนี้ถึงอพยพเข้าไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ต้องดิ้นรนต่อสู้ แสวงหาโอกาสเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องของครอบครัวเดียว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเหมือนกรณีศึกษาเล็กๆ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างใหญ่ในช่วงปี 1970-1980 ซึ่งชาวเกาหลีใต้อพยพเพื่อไปหาโอกาสที่ดีนอกประเทศ” จักรกริช กล่าว

จักรกริช กล่าวเสริมว่า ภาพยนตร์ในกระแส ‘ฮันรยู’ ใช้วิธีการสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมของคน โดยดึงประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านประสบการณ์จากกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วย นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังพยายามใช้กระแส ‘ฮันรยู’ เพื่อสื่อสารในประเด็นที่มีลักษณะจำเพาะของเกาหลีใต้ ให้ออกมาเป็นภาษาสากล ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า กระแส ‘ฮันรยู’ ไม่ได้เป็นแค่สื่อบันเทิง แต่เป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเชิงวิพากษ์สังคมได้อีกด้วย

‘อาหารเกาหลี’ ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของคนในชาติ

วีรญา กังวานเจิดสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาโทเกาหลีศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เสวนาในหัวข้อ ‘วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเกาหลี’ กล่าวว่า ชาวเกาหลีเชื่อว่าข้าวเป็นยา และรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก เวลาพบปะหรือพูดคุยกัน ชาวเกาหลีมักถามว่า ‘กินข้าวหรือยัง’ หรือ ‘ไปกินข้าวกันไหม’ เพราะเหตุนี้ทำให้อาหารเกาหลีมีผลผลิตที่ทำจากข้าวมากมาย เช่น โจ๊ก, ต็อกนึ่ง, ต็อกทอด, ต็อกนวด และต็อกต้ม เป็นต้น

วีรญา เล่าว่า ชนชั้นสูงในยุคโชซ็อนของเกาหลี (ค.ศ.1392-ค.ศ.1910) รับประทานอาหาร 5 มื้อต่อวัน และมีเครื่องเคียง 3-9 อย่าง ซึ่งเหตุผลที่ชนชั้นสูงสามารถรับประทานอาหารได้หลายมื้อ เพราะมีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ รวมถึงมีทรัพยากรและแรงงานมาก จึงสามารถรับประทานอาหารที่มีความพิถีพิถันได้ ต่างจากชนชั้นล่างที่ค่อนข้างอดอยาก จึงรับประทานอาหารเพื่อดำรงชีพเท่านั้น นอกจากนี้ ลำดับในการรับประทานอาหารของชาวเกาหลีค่อนข้างซับซ้อน เริ่มจากการจับช้อนรับประทานซุปก่อน ใช้ช้อนและมือข้างเดียวกันตักข้าว จากนั้นวางช้อนลงและใช้มือข้างเดียวกันจับตะเกียบ คีบกิมจิเพื่อรับประทาน ส่วนลำดับของอาหารที่รับประทาน จะเริ่มจากซุป ตามด้วยข้าว และเครื่องเคียง

อย่างไรก็ตาม บริบทเรื่องอาหารการกินของชาวเกาหลีในยุคปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิมตามบริบททางสังคมซึ่งเกิดปัจจัยภายในและภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ บริบททางสังคม การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับสังคมอื่น ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงนโยบายรัฐ

ในยุคการเปลี่ยนผ่านช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 วัฒนธรรมการกินของเกาหลีเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากนโยบายของประธานาธิบดี ‘พักจองฮี’ ที่ชื่อว่า ‘ฮนบุนชิกจังนยอ’ ซึ่งส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ทำจากแป้งสาลี และบริโภคข้าวบาร์เล่ย์เป็นอาหารหลักแทนข้าวขาว เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนข้าวในช่วงหลังสงคราม โดยภูมิหลังและแนวคิดเรื่องการบริโภคแป้งสาลีมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ การขาดแคลนข้าวสารในยุคหลังสงคราม และความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เพราะแป้งสาลีคือผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินของสหรัฐฯ

พักจองฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ช่วง ค.ศ.1961-1979
บิดาของ พักกึนฮเย อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้
(ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินการเชิงนโยบายด้วยการปลูกฝังทัศนคติเกี่ยวกับแป้งสาลีและข้าวผสมข้าวบาร์เล่ย์ มีการโฆษณาทางโทรทัศน์หรือแผ่นพับใบปลิว และตรวจปิ่นโตของนักเรียน โดยต้องมีข้าว 30% ส่วนอีก 70% เป็นธัญพืชหรือแป้งสาลี อีกทั้งยังได้กำหนดให้วันพุธและวันเสาร์เป็นวันไร้รสชาติ นอกจากนี้ ในปี 1963 รัฐบาลประกาศห้ามใช้ข้าวทำมักกอลลี (เครื่องดื่มน้ำข้าวมีแอลกอฮอล์) โดยให้ใช้ธัญพืชแทน และในปี 1968 รัฐบาลประกาศห้ามใช้ข้าวทำน้ำตาล ต็อก และเหล้า

ผลจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีพักจองฮี ทำให้ประชาชนหันมารับประทานแป้งสาลีมากขึ้น อีกทั้งชาวเกาหลียังหันมาบริโภคขนมปังและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารทางเลือก อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะพยายามปลูกฝังทัศนติให้รับประทานแป้งแทนข้าว แต่ในความคิดของชาวเกาหลียังคงให้ความสำคัญกับข้าวมากกว่า

สังคมเกาหลีเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม จากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง การขยายตัวของชนชั้นกลางทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจและที่กำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจนทำให้การรับประทานอาหารของชาวเกาหลีในปัจจุบันมีรูปแบบผสมผสานและมีความหลากหลาย บวกกับสังคมอันรีบเร่ง ทำให้มีอาหารที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น คิมบับ (ข้าวห่อสาหร่าย) หรืออาหารที่สามารถรับประทานได้ด้วยมือเดียว เป็นต้น รวมถึงวิถีชีวิตและวิถีการกินก็เปลี่ยนจากกินร่วมกับครอบครัว มาเป็นกินข้าวคนเดียว หรือเลือกวิธีสั่งอาหารและกินข้าวข้างนอกแทน

K-POP: อุตสาหกรรมดนตรีเกาหลีสู่เวทีโลก

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาสังคมวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บรรยายในหัวข้อ ‘เพลงป๊อบเกาหลีใต้กับโลกาภิวัตน์’ กล่าวว่าเพลงป๊อปเกาหลี หรือ K-pop ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทำให้กลายเป็นอเมริกัน (Americanization) แต่เป็นการปรับตัวของวงการเพลงเกาหลีในยุคโลกาภิวัตน์ให้ทัดเทียมกับความเป็นสากล

ติณณภพจ์ กล่าวว่า หากพูดถึงประเทศเกาหลีใต้ สิ่งแรกๆ ที่คนมักจะนึกถึง คือ เพลงป๊อปเกาหลี หรือ K-pop music ซึ่งเขาให้คำนิยามของเพลงป๊อปเกาหลีไว้ว่าเป็น ‘เพลงของศิลปินไอดอลซึ่งมุ่งเน้นความตื่นตาตื่นใจในหมู่วัยรุ่น โดยอาจจะเป็นศิลปินกลุ่มที่มีสมาชิกทั้งเต้นและร้อง หรือเป็นศิลปินเดี่ยวก็ได้’ เช่น ไอยู (IU) ที่ถึงแม้จะเป็นศิลปินเดี่ยวแต่จัดอยู่ในนักร้องกลุ่ม K-pop เพราะมักมีนักเต้นร่วมแสดงด้วยบนเวที ซึ่ง ติณณภพจ์ ตั้งข้อสังเกตว่าการเต้นประกอบเพลงถือเป็นส่วนจุดเต้นของการแสดงในกลุ่มศิลปิน K-pop

ติณณภพจ์ กล่าวว่า ลักษณะเด่นของเพลงป๊อปเกาหลีมี 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก จำนวนศิลปินมักจะมากกว่า 1 คน แต่จำนวนศิลปินไม่เด่นชัดเท่ากับ Dancing formation หรือการแปรขบวนการเต้นแบบสลับตำแหน่งศูนย์กลางที่ใน 1 เพลงจะมีสมาชิกที่เป็นศูนย์กลางหลายคน ซึ่งแตกต่างจากศิลปินไอดอลของญี่ปุ่นที่มักกำหนดตำแหน่งศูนย์กลางให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งตลอดทั้งการแสดง หรือมีการสลับตำแหน่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ประการที่สอง คือ การคัดเลือกหน้าตาและส่วนสูงของศิลปิน ซึ่งนำไปสู่การสร้างมาตรฐานความงามของเกาหลีใต้ โดย ติณณภพจ์ กล่าวว่า ศิลปินฝึกหัดที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของวงไอดอลมักเป็นคนที่มีหน้าตาตรงกับความงามแบบพิมพ์นิยมของชาวเกาหลี แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจกล่าวได้ว่า ‘พิมพ์นิยมเกาหลี’ เกิดจากระบบการคัดเลือกสมาชิกในวงไอดอลที่มีลักษณะทางกายภาพทั้งหน้าตาและส่วนสูงคล้ายคลึงกัน จนทำให้เกิดค่านิยมความงามลักษณะนี้ขึ้นมาในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อกระแส K-pop ไปไกลในต่างประเทศ ก็ส่งผลต่อค่านิยมความงามของคนในประเทศอื่นที่ชื่นชอบและซึมซับวัฒนธรรมเพลงป๊อปเกาหลีไปโดยปริยาย ประการที่สาม คือ การขับร้องแนวประสานเสียง, การเต้นที่เป็นระบบ และบทบาทที่เด่นชัดของสมาชิกในวง เช่น หัวหน้าวง แร็ปเปอร์หลัก นักร้องนำ หรือน้องเล็กของวง (มังเน่)

ติณณภพจ์ กล่าวว่า เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 และอาจกล่าวได้ว่าวิกฤติทางการเงินระดับโลกครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของกระแส K-pop เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้วางนโยบาย Hallyu หรือ Korean Wave ตามที่ จักรกริช ได้บรรยายไปในหัวข้อแรก โดยมีการนำระบบไอดอลแบบญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นของหัวข้อนี้

หากย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1990 หรือยุคมิลเลนเนียล จะพบว่ากระแสไต้หวัน (Taiwanese Wave) นั้นมาแรงทั่วเอเชียตะวันออกรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านละครและวงดนตรี เช่น ละครโทรทัศน์เรื่อง ‘รักใสใส หัวใจสี่ดวง’ (Meteor Garden) และวงบอยแบนด์ F4 ซึ่งเป็นนักแสดงนำจากละครเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีวงดนตรีอื่นๆ จากไต้วันที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภูมิภาค เช่น วง S.H.E และวง Fahrenheit เป็นต้น

กระแสไต้หวันทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ตระหนักได้ว่าต้องใช้วัฒนธรรมเป็นสินค้าส่งออกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเริ่มส่งออกละคร เช่น ‘เพลงรักในสายลมหนาว (Winter of Sonata)’ และได้มีการโปรโมตสถานที่ถ่ายทำละครให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเพลงเกาหลียังเข้ามาแทนที่เพลงไต้วันในยุคที่ใกล้เคียงกันด้วยวง TVXQ!, Super Junior และ BIGBANG เป็นต้น

รูปปั้นคู่พระนางจากละครเรื่อง 'เพลงรักในสายลมหนาว (Winter of Sonata)' บนเกาะนามิของเกาหลีใต้
(ภาพโดย Aiena Zahira Daim)
 

ติณณภพจ์ เล่าว่า ชาวเกาหลีรู้จักและคุ้นเคยกับเพลงป๊อปตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงที่ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ ซึ่งวัฒนธรรมดนตรีในช่วงเวลานี้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อเพลงเกาหลีในยุคถัดมา คือ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 วงการเพลงเกาหลีมีความเป็นสากลมากขึ้น และแนวเพลงที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้นคือแนวเพลงป๊อปบัลลาดแบบฟังง่าย (easy-listening) ซึ่งมีลักษณะชวนฝันและเกี่ยวข้องกับความรัก แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่หล่อหลอมอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีให้เป็นดั่งที่เห้นในยุคปัจจุบัน คือ ช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งโทรทัศน์ดาวเทียมได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ชาวเกาหลีจึงมีโอกาสได้เสพสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตกมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับแนวเพลงป๊อปบัลลาดที่มีอยู่แล้วในตลาดเพลงเดิม

ศิลปินเกาหลีในทศวรรษที่ 1980 มักเป็นศิลปินเดี่ยว แต่ในปี 1987 ศิลปินวง Sobangcha (โซบังชา) เปิดตัวเข้าสู่วงการและประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีแนวเพลงที่แตกต่างจากนักร้องในยุคเดียวกัน แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมเพลงเกาหลี คือ วง Seo Taiji and Boys ซึ่งมีสมาชิก 3 คน เปิดตัวด้วยเพลง I Know ในปี 1992 ศิลปินกลุ่มนี้สร้างความฮือฮาให้วงการเพลงเกาหลีเป็นอย่างมากเพราะเปิดตัวด้วยเพลงเร็วและมีท่อนแร็ปภาษาเกาหลีอยู่ในเพลง จนได้รับยกย่องจากนิตยสารจุงอังรายเดือน (Jung Ang Monthly) ว่าให้เป็น 1 ในบุคคลประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าสังคมเกาหลีตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา

Seo Taiji and Boys วงดนตรีแนวแร็ป-ฮิปฮอป เปิดตัวในปี 1992 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

ติณณภพจ์ กล่าวว่า บุคคลในวงการอุตสาหกรรมเพลงป๊อปเกาหลี มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคม โดยนอกจากการนำเสนอแนวเพลงหลากหลายรูปแบบแล้ว เนื้อหาของเพลงยังมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมจนนำไปสู่การปฏิรูปกฎการเซ็นเซอร์ของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังท้าทายรูปแบบการออกอากาศแบบเดิมๆ ที่ต้องอาศัยเพียงสถานีโทรทัศน์ช่องหลัก (KBS, MBC, SBS) เปลี่ยนมาออกอากาศทางช่องเคเบิลทีวีสำหรับวงการ K-pop โดยเฉพาะ เช่น Mnet หรือ MBC Every1 และพัฒนามาสู่ยุคอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มอย่าง YouTube ซึ่งทำให้กระแส K-pop เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ช่วงท้ายของการบรรยาย ติณณภพจ์ กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าเพลงป๊อปเกาหลีไม่ใช่กระบวนการทำให้เป็นอเมริกัน แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ข้ามชาติ โดยปัจจัยแรก คือ ภาษาอังกฤษที่ปรากฏในเนื้อเพลงและชื่อศิลปิน ซึ่งเกิดจากความพยายามที่จะพาอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีออกสู่ตลาดโลก และการยกเลิกระบบเซ็นเซอร์เนื้อเพลงในปี 1996 ซึ่งเกิดขึ้นไปพร้อมกับกระบวนการประชาธิปไตยและค่านิยมในสังคมที่ส่งเสริมความเป็นสากลมากขึ้น

ปัจจัยที่สอง คือ วัฒธรรมแฟนคลับของศิลปินเคป๊อป ที่เรียกว่า ‘แฟนด้อม’ (fandom) ได้สร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และมีการแย่งพื้นที่ตลาดเพลงป๊อปอเมริกันบนแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง YouTube จนทำให้เพลงและศิลปินเกาหลีมีส่วนแบ่งในตลาดเพลงโลกมากขึ้น และมีเพลงฮิตในตลาดเพลงของสหรัฐฯ ได้ ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลงสากลในโลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจร่วมงานกับศิลปินเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น BTS & Nicki Minaj – Idol (2018), BLACKPINK & Dua Lipa – Kiss and Make Up (2018), Wendy (Red Velvet) & John Legend – Written in the Stars (2018) และ BLACKPINK & Selena Gomez – Ice Cream (2020) เป็นต้น จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า วัฒนธรรมป๊อปเกาหลีไม่ใช่กระแสวัฒนธรรมรองหากเทียบกับกระแสวัฒนธรรมป๊อปอเมริกัน แต่วัฒนธรรมป๊อปเกาหลีมีพื้นที่อยู่บนเวทีโลกด้วยเช่นกัน ทั้งยังมีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด คือ ความผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างลงตัวและมีความเด่นชัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net