Skip to main content
sharethis

ศิษย์เก่าจุฬาฯ 220 คนร่วมลงนามยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย, รมว.อว. ที่ปล่อยปละละเลยให้องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เชิญ 3 นักกิจกรรม "เพนกวิน-รุ้ง-ปวิน" พูดในงานปฐมนิเทศ 2564 และขอให้ตรวจสอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เหตุไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาดแก่ผู้ต้องหาคดี ม.112 พร้อมกันนี้ ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงชื่ออนไลน์เพิ่มเติมผ่าน Google Document

12 ส.ค. 2564 วิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) และนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 30 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วิรังรอง ทัพพะรังสี เชิญประชาชนทั่วไป ศิษย์เก่าและนิสิตปัจจุบัน อาจารย์ และบุคลากรณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ร่วมลงชื่อร้องเรียนผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีปล่อยปละละเลยให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ต้องคดีอาญามาตรา 112 มากล่าวปาฐกถาในการปฐมนิเทศนิสิตใหม่ของมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าบุคคลที่มากล่าวปาฐกถาในวันนั้น ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, ปนัสยา จสิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และปวิน ชัชวาลพงศ์พัน์ มีการกระทำและคำพูดที่หยาบคายส่อไปในทางเกลียดชัง ปลุกปั่น และมีนัยกระทบถึงสถาบันเบื้องสูง

 

วิรังรองระบุว่าคณะผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเดือดร้อนใจและเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมายาวนานนี้ เป็นเรื่องภายในรั้วจุฬาฯ ก็จริง แต่กระทบถึงสถาบันอุดมศึกษาหลักของประเทศ และสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ คณะผู้ร้องเรียนจึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 มีเลขที่รับเอกสาร 1773/2564 เบื้องต้นได้มีผู้ร่วมลงนามแล้วจำนวนหนึ่ง และหลังจากนั้นได้มีผู้แสดงเเจตนารมณ์ที่จะขอร่วมลงชื่อร้องเรียนเพิ่มอีก คณะผู้ร้องเรียนจึงได้เปิดให้มีการร่วมลงชื่อออนไลน์นี้อีกรอบ พร้อมแนบลิงก์ Google Document ที่เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนในช่องทางออนไลน์

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบรายชื่อของผู้ร่วมลงชื่อในหนังสือที่วิรังรองยื่นต่อประธานสภาพผู้ตรวจการแผ่นดิน พบว่ามีทั้งหมด 220 รายชื่อ เป็นศิษย์เก่าจากหลากหลายคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เข้าศึกษาในช่วง พ.ศ.2500-2520 อาทิ รศ.ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ลุงของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, กําธร สิทธิโชติ อดีตเอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอํานาจเต็มประจําสาธารณรัฐเปรู, วรัตตา ภัทโรดม ผู้เขียนหนังสือไขสมการความสุข ตอน อกหัก...ฟังทางนี้, พรศิริ ดีระพัฒน์ อดีตประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ (ศศธวท.) และวิเชียร สุขภุมรินทร์ กรรมการผู้จัดการสยามดนตรียามาฮ่า เป็นต้น

นอกจากนี้ หนังสือคำร้องดังกล่าวยังระบุว่าอธิการบดีและคณะผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์ปล่อยปละละเลยให้องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมและละเมิดต่อกฎระเบียบของทางมหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยของนิสตหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2560 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายก อบจ. คนปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ ได้เดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่ หรือการนัดหมายให้โชชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงมากล่าวฐกถาที่คณะรัฐศาสตร์ ในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา 2519 หรือกรณีที่นิสิตจุฬาคนหนึ่งพยายามชัดธงดำขึ้นเสาแทนธงชาติ เป็นต้น

วิรังรองระบุในหนังสือว่าอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อการกระทำหลายเหล่านี้ เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 โดยผู้มีส่วนร่วมในการคัดเลือดสรรหาอธิการบดี ได้แก่ สภาคณะจารย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการสรรหา และสภามหาวิทยาลัย และต้องนำรายชื่อ "ขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ" ให้ดำรงตำแหน่ง จึงมีความสำคัญมาก ดังนั้น จะต้องมีความเอาใจใส่ดูแลให้การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้อยู่ในกรอบจริยธรรมตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย คณะผู้เรียกร้องจึงขอให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการสอบสวนเรื่องดังกล่าว และพิจารณาดำเนินการกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยแล้ว วิรังรองยังได้ร้องเรียนให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตธรรม (อว.) ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแล รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ไม่ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net