Skip to main content
sharethis

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิหลายประเทศในอาเซียน แนะรัฐบาลแต่ละประเทศควรเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจกดขี่ประชาชนของประเทศตนเอง หลังพบว่าจนถึงวันนี้ประชาชนในอาเซียนยังคงถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง และต่อเนื่องโดยรัฐบาลและกลุ่มผู้มีอำนาจในประเทศนั้นๆ 

โปสเตอร์งานเวทีเสวนา 'ย้อนดูอาเซียน'

24 ก.ย. 64 เครือข่ายภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ร่วมจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ย้อนดูอาเซียน’ ” โดยมี นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย ดร.วอลเดน เบลโล ผู้ร่วมก่อตั้ง Focus on the Global South และอดีตสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.) ฟิลิปปินส์ กง โสมะนีเจียด องค์กร Social Action for Community and Development จากกัมพูชา และปีเตอร์ คาลัง องค์กร Save River จากมาเลเซีย เป็นผู้ร่วมอภิปราย 

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตสมาชิก กสม. กล่าวถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติว่า ดิฉันอยากเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศอาเซียนเคารพหลักสิทธิมนุษยชน 4 ประเด็นคือ หนึ่ง รัฐบาลต้องคอยดูแลและกำกับภาคธุรกิจ ภาคการลงทุน ที่เข้าไปสร้างผลกระทบต่อประชาชนในประเทศต่างๆ สอง รัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการทรมาน กดดัน หรือออกกฎหมายต่อนักเคลื่อนไหวด้านต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม สาม ควรให้สิทธิความเสมอภาพเท่าเทียมต่อสตรี เพราะบางประเทศ เสียงของผู้หญิงยังถูกมองข้ามละเลย 

“และสี่ รัฐบาลในประเทศอาเซียนต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างเท่าเทียม เพราะเราจะเห็นได้ว่าในช่วงที่เกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ยังเกิดภาพการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความเหลื่อมล้ำ และเกิดช่องว่างระหว่างคนจน และคนรวยอย่างชัดเจน”

นอกจากนี้ นางอังคณา ยังกล่าวถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาในลาว ที่ประชาชนในพื้นที่เดิมต้องสูญเสียที่ดินทำกิน หลังรัฐบาลมีการอนุมัติให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น พร้อมทั้งยังกล่าวถึงประเด็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ในประเทศอาเซียนที่ถูกบังคับให้สูญหาย อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง อาทิ กรณี นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ วัย 37 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย ที่หายตัวไปในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 

นายอ็อด ไชยวงศ์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวลาวที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ในระหว่างรอการลี้ภัยไปประเทศที่ 3 และกรณี นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ นักเคลื่อนไหวด้านการเมืองของไทย ที่ถูกฆาตกรรม และพบศพในแม่น้ำโขง หลังลี้ภัยข้ามไปกบดานในลาว

ดร.วอลเดน เบลโล ผู้ร่วมก่อตั้ง Focus on the Global South จากฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นต่อปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของประชาชนอาเซียนในงานเสวนาเดียวกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ดร.วอลเดน เบลโล ผู้ร่วมก่อตั้ง Focus on the Global South และอดีต ส.ส.จากฟิลิปปินส์
 

“ผมคิดว่า ปัญหาของอาเซียน มันเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่สนใจจะออกมาตรการมาคอยช่วยเหลือ และช่วยกำกับดูแลปัญหาสิทธิด้านต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการผมคิดว่าก็เหมือนกันทุกประเทศ คืออยากดำรงสถานภาพเดิมของตนเองไว้ เพื่อให้ตัวเองอยู่ในผลประโยชน์ ขณะที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานกดดันและผลักดันให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเรื่องการละเมิดสิทธิ์ด้านต่างๆ บางประเทศก็อ่อนแอ บางประเทศก็เข้มแข็ง และเราแทบจะไม่ได้ประสานงานร่วมกันเท่าที่ควรเลย ภาคประชาสังคมในแต่ละประเทศควรร่วมมือกันล็อบบี และผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง” ดร.วอลเดน เบลโล กล่าว

ดร.วอลเดน เบลโล ยังกล่าวอีกว่า การร่วมมือของประเทศอาเซียนที่จะช่วยเหลือกันค่อนข้างล้มเหลว และขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยกตัวอย่าง ปัญหาทะเลจีนใต้ที่จีนพยามเข้ามาอ้างสิทธิเป็นเจ้าของจากประเทศเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่จับมือรวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน ต่างก็นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ ไม่ให้การช่วยเหลือเจรจา  

นอกจากนี้ ดร.วอลเดน ยังแสดงความกังวลในภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่กำลังได้รับผลกระทบจากถูกกลุ่มนักลงทุน และภาคธุรกิจขนาดใหญ่ หรือนักลงทุนข้ามชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ขณะที่รัฐบาลก็ออกกฎหมายเอื้ออำนวยกลุ่มทุนใหญ่ไม่คอยกำกับดูแลภาคธุรกิจรายย่อย

ด้าน กง โสมะนีเจียด จากองค์กร Social Action for Community and Development ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ตนอยากเรียกร้องในงานเสวนาเกี่ยวกับประเด็นเยาวชนในอาเซียน ที่ปัจจุบันแทบจะไม่มีสิทธิออกแบบอนาคตในชีวิตของตนเอง

กง โสมะนีเจียด จากองค์กร Social Action for Community and Development ประเทศกัมพูชา (ที่มา ไลฟ์สดเฟซบุ๊กเพจ MAEW - Mekong-ASEAN Environmental Week)
 

“นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและการเมืองถูกคุกคามและถูกจับอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยามที่จะติดตามจัดการนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ และปัญหานี้ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศกัมพูชา แต่รวมถึงในประเทศไทย และประเทศเมียนมาด้วย เป็นต้น โดยเฉพาะในประเทศเมียนมาตอนนี้เรียกได้ว่า เยาวชนทุกคนไร้สิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง และในนามเยาวชน เราไม่ต้องการสิ่งนี้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเยาวชนเท่าไหร่เลย ในการประท้วงที่เมียนมาบางคนถูกฆ่าตาย พวกเขาถูกดับความฝัน และอนาคตอย่างสิ้นเชิง ที่จริงอยากให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นเยาวชนให้มาก เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างมาก เพราะไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการออกแบบอนาคตของตัวเองเลย”  กง โสมะนีเจียด ทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ กิจกรรมเวทีเสวนาออนไลน์ ‘ย้อนดูอาเซียน’ เป็นส่วนหนึ่งของสัปดาห์สิ่งแวดล้อมแม่โขง-อาเซียน 2564 หัวข้อ “ออกแบบอาเซียนใหม่ เสียงประชาชนในโลกวิกฤต” ซีรีส์เสวนาและงานฉายภาพยนตร์ประเด็นสังคม-สิ่งแวดล้อมร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ย.นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net