Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ละคร “ทองเนื้อเก้า” จะถูกนำมาฉายซ้ำรอบที่สามในช่วงหัวค่ำของทุกวัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เยาวชนกลุ่มเปราะบาง “ทะลุแก๊ส” ออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมรายวัน และพวกเขาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญูต่อแผ่นดินไทย แตกต่างจากตัวละครเอกในเรื่องที่เป็นเด็กชื่อ “วันเฉลิม” ซึ่งหายใจเข้าออกมีแต่แม่ลำยองเป็นสรณะ

วันเฉลิมคือแบบอย่างของเด็กที่มีความกตัญญูต่อมารดาเป็นที่สุด ทั้งเป็นเด็กที่ว่านอนสอนง่ายและมีมารยาทดีงามเพราะได้รับการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนจากพระผู้ใหญ่ตั้งแต่ยังเยาว์มาก เหตุผลที่ต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านกับวัดก็เพราะแม่ลำยองขยันหาสามีใหม่และเพลิดเพลินกับอบายมุขสารพัดรูปแบบ เริ่มจากการดื่มสุราจนเมามาย เล่นไพ่ในบ่อน จนกระทั่งเปิดบ้านเป็นบ่อนการพนันเสียเอง นางลำยองจึงลืมหาอาหารและตระเตรียมที่อยู่ให้แก่วันเฉลิม เด็กชายจึงต้องไปอาศัยวัดเป็นที่พักพิงและกินข้าวเหลือในบาตรของพระเป็นประจำ

ผลพวงจากการเปลี่ยนสามีบ่อยเพราะคิดว่าจะได้ผู้ชายที่รวยกว่าเดิมมาเลี้ยงดูตน ทำให้นางลำยองตั้งท้องลูกห้าคนจากผู้ชายห้าคน วันเฉลิมคือลูกชายคนโตที่ไม่เพียงทำหน้าที่ดูแลบ้านของแม่ที่กลายเป็นบ่อน หากยังทำหน้าที่ดูแลน้องต่างบิดาอีกสองคนที่คลอดตามกันมาแต่แม่ไม่ยอมเลี้ยง ละครเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้สูงวัยและผู้ใหญ่จำนวนมากที่เคยผ่านการเป็นพ่อแม่คน เพราะพวกเขาเห็นว่าวันเฉลิมเป็นเด็กดีเหลือหลายและหายากแท้ ถ้าเด็กติดเกมในยุคปัจจุบันจะเป็นเยี่ยงวันเฉลิมได้บ้างแม้เพียงกระพี้เปลือก สังคมไทยคงไม่เต็มไปด้วยเยาวชนสามนิ้ว หยาบคาย และกระด้างกระเดื่องอย่างที่เห็นอยู่  

เมื่อมองเพียงผิวเผิน วันเฉลิมอาจเป็นเด็กดีที่หายากและน่ายกย่องสรรเสริญ แม้ผู้ใหญ่ในเรื่องตั้งแต่บิดาจริงๆ จนถึงคนอื่นที่รับรู้เรื่องราวต่างก็เห็นใจเด็กชายคนนี้และพร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ยิ่งผู้คนสงสารวันเฉลิมและอยากพาเขาออกไปมีชีวิตใหม่มากเท่าใด นางลำยองก็ยิ่งยึดเหนี่ยวชีวิตของวันเฉลิมไว้อย่างเหนียวแน่นเพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้ตัวเองได้รับมากขึ้นเท่านั้น วันเฉลิมจึงตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์ทางครอบครัว (และสังคม) ที่ถูกนางลำยองนำมาใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาอำนาจให้แก่ตนเองอยู่ตลอดเวลา 

ถ้าชมเพื่อเอาบันเทิง หลายคนก็อาจน้ำตาซึมเพราะสงสารวันเฉลิมและอดไม่ได้ที่จะต้องตำหนินางลำยองไปด้วย ไม่มีใครปฏิเสธว่าตัวละครที่ชื่อลำยองในท้องเรื่องเป็นผู้หญิงมีปัญหา แต่ที่น่าสนใจคือการอยู่กับแม่ที่เห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจไม่ได้ทำให้วันเฉลิมรู้สึกถึงปัญหาเลวร้ายอันส่งผลกระทบในระดับสังคม แม้แม่ลำยองจะเฆี่ยนตีวันเฉลิมอย่างไร้เหตุผลมากมายเพียงใด เขาก็ยินยอมเจ็บตัวขอเพียงแม่ไม่มองว่าเขาอกตัญญูก็พอ

ตรงนี้เองที่ตรรกะของเรื่องนี้เริ่มเป็นปัญหา เนื่องจากวันเฉลิมเป็นเด็กที่ได้ชื่อว่ามีความกตัญญูเป็นเลิศต่อมารดา เขาจึงนำเงินที่ได้รับจากพ่อเป็นระยะๆ ไปให้แม่ทุกครั้งโดยไม่สนใจว่าแม่จะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งถ้าเขานำเงินที่ได้รับจากพ่อไปซื้อนมให้น้องๆ ทาน หรือเก็บไว้เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในบ้านที่แม่ไม่เหลียวแล คนทั้งหมดในบ้านก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เด็กได้ดื่มนมแทนที่จะเป็นน้ำข้าวต้ม แถมนางลำยองก็จะไม่มีเงินไปซื้อเหล้าทานอย่างต่อเนื่องจนทำให้สุขภาพตัวเองทรุดโทรมและเด็กในครรภ์ได้รับผลกระทบทางลบไปด้วย

หากเราตั้งคำถามว่าการที่น้องบางคนของวันเฉลิมเกิดมาสมองไม่ปกติ ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไป กลายเป็นภาระของญาติและสังคมที่จะต้องดูแลไปตลอดชีวิต เหล่านี้เป็นบาปกรรมของเด็กเหล่านั้นโดยที่วันเฉลิมไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือ เหตุใดวันเฉลิมจึงรักเพียงมารดาของตน แต่ไม่สนใจความเป็นอยู่ของน้องๆ และเครือญาติคนอื่นที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะพฤติกรรมของนางลำยอง ความกตัญญูของวันเฉลิมเข้มข้นมากจนดูเหมือนเป็นความสุดโต่งและมืดบอดในทางศีลธรรม นี่เป็นคุณธรรมในแบบที่สติปัญญาพุทธรับรองจริงหรือ

ในที่สุดเมื่อแม่ลำยองตายลง วันเฉลิมก็หมดเยื่อใยในทางโลกและตัดสินใจบวชตลอดชีวิต การที่เด็กคนหนึ่งเลือกที่จะกตัญญูต่อแม่เพียงคนเดียวแต่ละเลยคนรอบข้างอื่นทั้งหมด ความกตัญญูของเขาย่อมมีปัญหา เมื่อชมละครอย่างพินิจพิเคราะห์และใช้เหตุผล เราก็ยิ่งแยกไม่ออกว่าสิ่งที่วันเฉลิมอดทนปกป้องไว้แท้จริงคือความรักของเขาที่มีต่อบุพการี หรือคือเกียรติยศของความกตัญญูที่ผู้ใหญ่ป้อนให้เขาตั้งแต่เยาว์วัย หากวันเฉลิมคือสิ่งต่อรองทางอำนาจเพียงอย่างเดียวที่นางลำยองยึดถือไว้ ความกตัญญูก็อาจเป็นคุณธรรมชุดเดียวที่วันเฉลิมยึดมั่นไว้เพื่อทำให้ชีวิตปฐมวัยของเขามีความหมายเหลืออยู่ แต่การยึดมั่นในความกตัญญูแบบนี้ย่อมไม่ใช่อะไรเลยนอกจาก “ความเห็นแก่ตัว” ของวันเฉลิมที่ได้รับถ่ายทอดมาจากแม่ลำยองนั่นเอง

เหตุเพราะเด็กชายไม่เคยมีส่วนช่วยสร้างสมดุลในครอบครัว กลับยอมตนเป็นเครื่องมือของมารดาในการต่อรองผลประโยชน์ทางอำนาจที่นำไปสู่การเบียดเบียนกันในทางสังคม วันเฉลิมพร้อมที่จะทำให้คนอื่นทุกข์ใจหากเพียงแต่ทำให้มารดาของเขาพึงพอใจ บุคคลเช่นวันเฉลิม (แห่งทองเนื้อเก้า) จึงสนับสนุนความไม่เป็นธรรมตามแรงเหวี่ยงของอำนาจและเป็นอีกหนึ่งกำลังที่ทำให้โลกนี้ไม่น่าอยู่ ในตอนจบของเรื่องเขาจึงต้องละทิ้งโลกอันไม่น่าอยู่เพื่อหลบไปแสวงหานิพพานและความรู้แจ้ง แต่นั่นก็ยังเป็นนิพพานของวันเฉลิมคนเดียว ในขณะที่น้องๆ ของเขายังต้องใช้ชีวิตแบบคนปัญญาน้อย (และคนปัญญาอ่อน) ในโลกนี้ต่อไป

หากทองเนื้อเก้าถูกวางให้เป็นเรื่องราวของคนดีที่หายาก เราคงต้องถามตัวเองว่าสังคมไทยพึงพอใจที่จะสร้างเยาวชนให้เป็นแบบวันเฉลิมจริงหรือ เราต้องการให้คนรุ่นใหม่กตัญญูต่อพ่อแม่อย่างมืดบอดและบ้าคลั่งโดยไม่ต้องสนใจสังคมรอบข้างหรือ ทำให้โลกเหลื่อมล้ำถึงที่สุดจนเด็กเบื่อและปลีกตัวออกไปแสวงหาทางสงบในโลกอื่น หากเด็กทุกคนคิดและประพฤติตัวเหมือนเด็กชายวันเฉลิมแห่งทองเนื้อเก้า ในอนาคตเราจะยังเหลือแรงงานรุ่นใหม่ทำงานอยู่ในสังคมไทยอีกไหม หรือจะต้องให้ผู้สูงวัยทั้งหลายไปทำงานแทนเยาวชนจำนวนมากที่หนีไปบวช (หรือฆ่าตัวตายจากอาการซึมเศร้า) เพราะทนสภาพไม่เป็นธรรมของสังคมนี้ไม่ไหวอีกต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง “เพนกวินแห่งราษฎร” คือตัวอย่างของเด็กหยาบคายและไม่รู้จักที่สูงที่ต่ำ แต่เขาก็เป็นคนซื่อตรงและกล้าหาญมากพอที่จะพูดในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นปัญหาและต้องการให้สังคมหาทางออกร่วมกัน หากเราตีความเจตนาของเพนกวินไปในเชิงบวก การที่เขาเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็คือการแสดงความรักที่เพนกวินมีต่อครอบครัวใหญ่ของเขาอย่างตรงไปตรงมา เพราะการปฏิรูปสิ่งๆ หนึ่งก็คือการทำให้สิ่งๆ นั้นพัฒนาไปไกลขึ้น มีความสมดุล และอยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคที่เทคโนโลยีรู้เท่าทันมนุษย์ (และสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยิ่งกว่า)

เพนกวินไม่เอาใจและไม่ยอมตนเป็นเครื่องมือของแม่เหมือนวันเฉลิม เขาทำเพื่อครอบครัวโดยภาพรวม ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่สังคมไทยก็ตอบแทนความรักของเด็กคนนี้ด้วยการขังลืมเขาไว้ในสถานที่เสี่ยงภัยโรคระบาดเป็นเวลาร่วมสองเดือนมาแล้ว ระหว่างวันเฉลิมที่กตัญญูต่อแม่อย่างมืดบอดโดยไม่สนใจความทุกข์ของเครือญาติและสมดุลในครอบครัว กับเพนกวินที่พรวดพราดตักเตือนครอบครัวให้ปรับตัวรับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างเถรตรงและน่าตกใจ คนไทยอาจชื่นชมท่าทีที่อ่อนน้อมของวันเฉลิมมากกว่า แต่อะไรทำให้สรุปได้ว่าวันเฉลิมแห่งทองเนื้อเก้ามีจิตใจบริสุทธิ์ เสียสละ และทำเพื่อครอบครัวของเขายิ่งกว่าเพนกวินแห่งราษฎร หรือเพนกวินกระทำการต่างๆ ด้วยความเห็นแก่ตัวมากกว่าวันเฉลิมอย่างไร

เมื่อละครกับชีวิตจริงมีเพียงเส้นบางๆ ที่ขวางกั้น และเมื่อการเมืองแทรกซึมเข้าไปในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ การทำความเข้าใจบริบทชีวิตให้รอบด้านและครอบคลุมจึงมีความสำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน หากทองเนื้อเก้าหมายถึงทองคำเนื้อบริสุทธิ์ที่สุดอันเปรียบได้กับจิตใจที่ใสสะอาดเพราะกุศลเจตนา วันเฉลิมก็จะเป็นทองเนื้อเก้าของนางลำยองได้แค่คนเดียว แต่เพนกวินกลับเป็นทองเนื้อเก้าของประชาชนและครอบครัวไทยอีกจำนวนมากที่ยังรักและปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง


    


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net