Skip to main content
sharethis

การทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นดินโดยใช้ข้อมูลจากท้องฟ้าอาจไม่ใช่ 'พรจากฟ้า' แต่เป็นเพราะกระบวนการประชาธิปไตยเสรีที่ทำให้เทคโนโลยีดาวเทียมสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จนนักข่าว และหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ สามารถนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้เพื่อตีแผ่เรื่องราวการทุจริต การสร้างสิ่งปลูกสร้างระดับเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ ไปจนถึงการสืบสวนเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หมู่บ้านโรฮิงญาที่ถูกทำลายในพม่า (ที่มา: Human Rights Watch / DigitalGlobe)
 

ในปี 2019 หนึ่งในสำนักข่าวนานาชาติชั้นแนวหน้านำเสนอเรื่องราวชื่อว่า “ต่อสู้กับระบบทาสจากอวกาศ” โดยรายงานที่เป็นเอกลักษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 101 East ดำเนินการโดยสำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

นี่ไม่ใช่เรื่องราวข่าวหรือสารคดีทั่วๆ ไป แต่เป็นการใช้แนวทางการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีอวกาศในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อพิเคราะห์ปัญหาระบบทาสที่มีมาอย่างยาวนาน และเน้นให้เห็นอีกด้วยว่าทีมสังเกตการณ์ภาคพื้นโลกจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมในสหราชอาณาจักรให้การสนับสนุนทางเทคนิคเพื่อค้นหาสถานที่ต่างๆ ของระบบทาสสมัยใหม่ ด้วยการใช้ข้อมูลดาวเทียมและการเรียนรู้ของจักรกล (Machine Learning) ได้อย่างไร

กรณีศึกษาที่โดดเด่นนี้นำเทคโนโลยีอวกาศและวิธีวิทยาแบบแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมมารวมกัน อัลจาซีรากล้าพอจะหยิบจับเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “การทำข่าวจากฟากฟ้า” ทั้งยังเป็นจุดเริ่มของการเดินทางที่แปลกใหม่ในการทำข่าวเชิงสืบสวนขนาดใหญ่

การใช้ข้อมูลสังเกตการณ์ภาคพื้นโลกเพื่อการสืบสวนมีรากฐานมาจากงานด้านกลาโหมและความมั่นคง  สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับการทำงานข่าว แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกของกระบวนการยุติธรรม ตัวอย่างแรกเริ่มสุดของเรื่องนี้คือเมื่อ [ข้อมูลดาวเทียม] ถูกใช้โดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย ในคดีที่เมืองสเรเบรนีตซา [เพื่อสืบสวนเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสงครามบอสเนีย] และเมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) ก็กำลังใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามกิจกรรมของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่เช่นเดียวกัน

ใน ค.ศ. 2018 ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ออกรายงานที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังและเสียดแทงต่อรัฐบาลพม่าเรื่องการกวาดล้างหมู่บ้านชาวโรฮิงญาจำนวนมาก รายงานนี้ไม่เพียงแต่ใช้ข้อมูลดาวเทียมเป็นหลักฐานเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นวิธีการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนขนาดใหญ่แบบใหม่จากอวกาศอีกด้วย

การทำข่าวจากบนฟ้ามีให้เห็นในอินเดียช่วงระหว่าง 2 เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งในนั้นคือการโจมตีที่บาลาก็อต [เหตุการณ์เครื่องบินเจ็ตต่อสู้ของกองทัพอากาศอินเดียบินออกนอกเขตการควบคุมเพื่อโจมตีค่ายพักของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในเขตแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของปากีสถาน] และอีกเรื่องหนึ่งคือกรณีความขัดแย้งบริเวณชายแดน [หลังการสร้างเขื่อนจีนในพื้นที่พิพาท โปรดดูภาพด้านล่าง] ทำให้สื่อหลายแห่งสร้างทฤษฎีและข้อสันนิษฐานโดยอาศัยการตีความภาพถ่ายจากดาวเทียมของ Planet (ก่อนหน้านี้ชื่อว่า Planet Labs) และ Maxar

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว [การรายงานข่าว] รูปแบบนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การทำให้เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นประชาธิปไตยและการที่บริษัทเอกชนเข้ามาในแวดวงของอวกาศหมายความว่าปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลพื้นที่และเวลาขั้นสูงโดยใช้ต้นทุนต่ำมากๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และนำไปสู่เรื่องราวสืบสวนสอบสวนที่น่าสนใจ

โครงสร้างสาธารณูปโภคของจีนถูกสร้างขึ้นโดยเห็นได้จากแผนที่ดาวเทียม (ที่มา: BBC/Maxar)

เมื่อ 10 ปีก่อนข้อมูลดาวเทียมยังคงเป็นของรัฐบาล โดยรัฐบาล และเพื่อรัฐบาล แต่การเข้ามาของบริษัทอย่าง DigitalGlobe, Maxar, Planet และบริษัทอื่นๆ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเสมอภาคมากขึ้น

องค์กรอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์, อินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุป (International Crisis Group) รวมถึงองค์กรนอกภาครัฐที่ไม่แสวงหากำไร และอื่นๆ อีกมากมายสามารถครอบครองบันทึกข้อเท็จจริงที่ไม่เคยถูกรายงานและบันทึกไว้ ทั้งยังสามารถตีความและสืบสวนเพิ่มเติมต่อจากข้อมูลเหล่านั้นได้ด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาล

ไม่ใช่แค่ข้อมูลและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การปล่อยข้อมูลนี้ให้กับนักข่าวก็มีส่วนสำคัญในการทำให้วิธีวิทยาที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสังเกตการณ์ภาคพื้นโลกคุ้นเคยถูกนำมาใช้ด้วย

ข้อมูลดาวเทียมในชั้นศาล

ภาพดาวเทียมเคยถูกใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมในบางคดีมาบ้างแล้ว เช่น การสังหารหมู่ที่เมืองสเรเบรนีตซา การฆ่าล้างชาวดาร์เฟอร์ในซูดาน และวิกฤติการณ์โรฮิงญาในพม่าเมื่อไม่นานมานี้ กรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2015 กรมชลประทานของชิลีได้เริ่มการสอบสวนเกี่ยวกับการนำน้ำมาใช้ในไร่อะโวคาโดอย่างผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

เนื่องจากพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมีขนาดใหญ่มาก กรมชลประทานชิลีจึงใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเป็นแหล่งข้อมูลหลักเพื่อสืบสวนสอบสวนและเขียนร่างรายงานจากแหล่งข้อมูลดังกล่าว การสืบสวนสอบสวนนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งและเป็นการนำเจ้าหน้าที่รัฐ กฎหมาย การสังเกตการณ์ภาคพื้นโลก และการทำงานข่าวมาผนวกกัน

รายงานดังกล่าวถือเป็นและยังคงเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในการนำความยุติธรรมด้านชลประทานมาสู่ประชาชนท้องถิ่น ปัจจุบันมีงานที่คล้ายกันกำลังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสืบสวนสอบสวนการตัดไม้ทำลายป่าในทางตะวันตกของบราซิล การวัดระดับมลพิษในจีนและอินเดีย การทำแผนที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขตดาร์เฟอร์ การสร้างค่ายผู้ลี้ภัยสำหรับชาวโรฮิงญาที่อยู่นอกชายฝั่งของบังกลาเทศ (โปรดดูภาพด้านล่าง) และที่อาจจะมีชื่อเสียงที่สุดคือการสร้างหมู่เกาะใหม่ของจีน (โปรดดูด้านล่าง)

(ซ้าย) ค่ายบนเกาะกำลังถูกสร้างให้กับชาวโรฮิงญา (ขวา) เกาะกำลังถูกสร้างโดยจีน
(ที่มา: Google Earth)
 

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยถูกบันทึกหรือนำเสนอจะปรากฎออกมาให้เห็นเพิ่มมากขึ้น เพราะการทำให้เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นประชาธิปไตยรวดเร็วขึ้นนั่นเอง เมื่อแนวโน้มนี้เพิ่มมากขึ้น โลกอาจจะได้เห็นการยอมรับข้อมูลดาวเทียมเป็นหลักฐานข้อมูลบนชั้นศาลโดยมีกฎหมายรองรับก็เป็นได้

เปลี่ยนแปลงการทำข่าวในอนาคต

การทำข่าวจากบนฟ้าจะก่อให้เกิดการนำเสนอเรื่องราวที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาก่อน ปีต่อๆ ไปในอนาคต จะมีการผสมผสานกันระหว่างการทำงานข่าว ข้อมูลดาวเทียม และการเล่าเรื่อง

การทำข่าวแนวใหม่จะเข้าไปสู่พรมแดนที่ยังไม่มีใครบุกเบิก ทั้งในแง่ของขอบเขตทางกายภาพและขอบเขตทางปรัชญา การทำข่าวจากบนฟ้าจะนำบางสิ่งที่แปลกใหม่มาสู่การเล่าเรื่องเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงสถิติที่มีอยู่และเป็นที่รู้จักในแวดวงของการสังเกตการณ์ภาคพื้นโลกอย่างแน่นอน

บทความนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกที่ Geospatial World อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่ บทความดังกล่าวถูกมาตีพิมพ์อีกครั้งที่นี่โดยได้รับการอนุญาตแล้ว

ที่มา:

ชีวาปรากาช ยารากาล เป็นนักวิจัยระบบข้อมูลภูมิศาสตร์ จบปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย NIIT ในรัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การบริหารจัดการภัยพิบัติ และความยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net