Skip to main content
sharethis

ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้เสนอ กำหนดให้สื่อจะใช้เสรีภาพนำเสนอข่าวได้แต่ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่และศีลธรรมอันดีของประชาชนและให้ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนขึ้นมากำกับดูแล

11 ม.ค.2565 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่ามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… ของกรมประชาสัมพันธ์ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนนำเสนอรัฐสภาต่อไป

ทั้งนี้เนื้อหาสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดประเด็นส่วนที่เกี่ยวกับการนำเสนอข่าวที่สามารถมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวโดยไม่ขัดต่อหน้าที่หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งในส่วนของสำนักงานและคณะกรรมการสภาวิชาชีพขึ้นมาเพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนและการรับจดแจ้งเพิกถอนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน สาระสำคัญที่เผยแพร่ทั้งหมดในรายงานข่าวที่ประชุม ครม.มีดังนี้

1. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

2. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งใดที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย

3. กำหนดให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพ และให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล

4. กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่และอำนาจจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ติดตามดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ให้เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน และให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น

5. กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีรายได้จากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เช่น เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีการจัดสรรเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้แก่สภาฯ เป็นรายปี ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท

6. กำหนดให้มี “คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ประกอบด้วย กรรมการผู้แทนองค์กรเวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

7. กำหนดให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่และอำนาจบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนของสภาซึ่งเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และพิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น

8. กำหนดให้มี “สำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน” มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และคณะกรรมการจริยธรรม รวมทั้งจัดทำงบดุล การเงิน และบัญชีทำการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนส่งผู้สอบบัญชีภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ตลอดจนจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน

9. กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน โดยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับจริยธรรมอย่างน้อยเกี่ยวกับการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมาตรการที่จะดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นโดยฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net