Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันวาเลนไทน์ ‘อับดุลบุ๊ค’ ชวนนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับความรักของครอบครัว ที่เพิ่งตกรอบรางวัลซีไรต์ 2564 มาหมาดๆ ว่าด้วยเรื่องราวงานวรรณกรรมเรื่องรักในยุคปัจจุบัน ความรักรูปแบบใหม่ๆ เช่น นิยายวาย ความรักที่สลับซับซ้อนของคนรุ่นใหม่ แล้วความรักแบบในขนบตามศีลธรรม รักครอบครัว รักคุณพ่อคุณแม่ มันจะล้าสมัยตกยุคไปแล้วหรือไม่

'ไอโกะ ฮามาซากิ' ผู้เขียนหนังสือ '‘ไอโกะ’ แปลว่าความรัก' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่ผ่านเข้ารอบลองลิสต์ (Longlist) 19 เล่ม นวนิยายซีไรต์ ประจำปี 2564 จากนักเขียนที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 60 เรื่อง

เนื่องในวันแห่งความรัก (14 ก.พ.) ที่จะมาถึง ทีมงาน อับดุลบุ๊ค ร้านหนังสือเล็กๆ ในจังหวัดขอนแก่ ชวน 'ไอโกะ ฮามาซากิ' ผู้เขียนหนังสือ '‘ไอโกะ’ แปลว่าความรัก' จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ พูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับวงการวรรณกรรม ทั้งนี้เธอคือ 1 ใน 19 ผู้เขียนที่ผ่านเข้ารอบลองลิสต์ (Longlist) นวนิยายซีไรต์ ประจำปี 2564 จากนักเขียนที่ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 60 เรื่อง แต่ตกรอบไม่ได้ผ่านเข้าสู่รอบ 10 เล่ม (Shortlist) 

ช่วยเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ (‘ไอโกะ’ แปลว่าความรัก)

จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของแม่ก่อนที่จะได้เจอกับพ่อ โดยมีความรู้สึกของเรา กับเหตุการณ์ชีวิตในช่วงนั้นๆ ของตัวเองที่ประสบพบเจอระหว่างที่เราเขียนบันทึกเรื่องราวของแม่ เราก็ทำการทาบและตีความ ทั้งสวม ทั้งผสมความรู้สึกของเราในปัจจุบันไปกับเรื่องราวในอดีตของแม่ โดยที่มีเรื่องของพ่อร้อยเรียงสองห้วงเวลาให้ต่อกัน

แรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้มาจากคนในครอบครัว พ่อกับแม่ คือแรกเริ่มเดิมทีตั้งใจเขียนหนังสือให้แม่ฝึกอ่าน เนื่องด้วยเพราะว่าแม่เรียนหนังสือมาน้อย แม่ไม่มีโอกาส ไม่มีต้นทุนทางสังคม ก็ส่งผลให้แม่อ่านภาษาไทยไม่ค่อยออก มีอยู่วันหนึ่ง---วันนั้นเป็นเวลาตอนประมาณ 8 โมงเช้า เรากำลังนั่งกินส้มตำ ไก่ย่างกับแม่ แม่ก็บอกว่า เราเขียนหนังสือดีนะ แม่อ่านที่เราเขียนแล้วแม่ชอบ

มันเริ่มที่วันนั้น... ก็เลยคิดว่าจะเขียนหนังสือให้แม่อ่าน ด้วยความเป็นแม่ ลูกเขียนอะไรแม่ก็อ่านแม่ก็ชมอยู่แล้ว อืม จากวันนี้แหละ เราจะเขียนหนังสืออย่างเป็นจริงเป็นจัง

ต่อมาก็เลยเริ่มพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางของการศึกษาด้านงานเขียน เราก็ไปลงเรียนหลักสูตรวิชาชีพบรรณาธิการที่จุฬา มีคุณมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นผู้สอน ซึ่งการส่งการบ้านในคาบเรียนครั้งหนึ่งเราเขียนเล่าลงในกระดาษค่ะ วันนั้นเราได้เล่าลงในกระดาษว่า เราเดินทางกลับบ้านด้วยรถเมล์ ทีนี้เราเห็นคนชราเดินขึ้นมาบนรถเมล์ แล้วเราก็ลุกให้เขานั่ง แต่ที่เราลุกให้ ไม่ใช่เพราะความสำนึกดี หรือเกี่ยวกับความเป็นคนดีอะไรของเรา แต่มันเป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของเราด้วยซ้ำ คือเราคิดว่า การที่เราลุกให้คนชรานั่ง เราทำไปเพื่อหวังว่าวันหนึ่งวันที่พ่อเราได้โดยสารด้วยรถเมล์บ้าง โดยที่ไม่มีเราไปด้วย  วันหนึ่งวันนั้นจะมีคนแปลกหน้าสักคนลุกให้พ่อเรานั่งบ้าง วันนั้นในห้วงของความคิดเรา เราไม่ได้เห็นคนชราแปลกหน้าเดินขึ้นมาบนรถเมล์ แต่เห็นเป็นพ่อตัวเองที่ขึ้นรถเมล์มา ก็เลยเลือกทำแบบนั้น ลุกให้คนแปลกหน้านั่ง

การส่งการบ้านครั้งนั้นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้งานเขียนของเราได้พัฒนาเป็นหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ผีเสื้อในท้ายที่สุดค่ะ

ความรักพ่อแม่ ครอบครัว ไม่ดูเชยไปไหมในยุคนี้ ยุคที่อะไรต้องดูซับซ้อนๆ หน่อยถึงจะมีสไตล์

เวลาที่แม่เล่าถึงพ่อ เล่าถึงความรักของตัวเอง มีอย่างนึงที่แม่จะชอบพูดถึงหรือเปรียบเทียบกับตัวเองมาก คือเรื่องเจ้าหญิงซินเดอเรลล่าของดิสนีย์ คือแม่ไม่ได้ลืมรองเท้าแก้วไว้ที่บันไดหรือว่าอะไรนะคะ แต่แม่ก็เจอกับพ่อครั้งแรกที่บันได แม้แม่จะไม่ได้มาจากชาติตระกูลที่ดีแต่กำเนิดเหมือนกับเจ้าหญิงซินเดอเรลล่า แต่แม่ก็รู้สึกว่าตัวเองตกทุกข์ได้ยากเหมือนกับเจ้าหญิงเหมือนกัน คือใช้ชีวิตอย่างหมกตัวอยู่แต่ในบ้านหลังใดหลังหนึ่ง แล้วก็ทำงานทำความสะอาด ต้องปัดกวาดเช็ดถูทั้งวัน เนื้อตัวมอมแมม ไม่ค่อยมีโอกาสออกไปข้างนอก ท่องเที่ยว หรือเจอผู้คนเปิดโลกอะไรมากนัก ปูมหลังของแม่คือมาจากครอบครัวที่ยากจนมากๆ แม่ไม่ได้เรียนจบชั้นประถมที่ 6 ด้วยซ้ำ คือจบแค่ ป.4 ซึ่งไม่มีความรู้ตามตำราอะไรติดตัวเลย มีแค่ทักษะความสามารถที่ได้มาจากการใช้ชีวิต-การทำงานมาเรื่อยๆ เรียงๆ แล้ววันนึงแม่ก็มาเจอกับพ่อ

ซึ่งพ่อมาจากครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างดี ได้เรียนมหาวิทยาลัย เป็นนายแบบมือสมัครเล่น ชอบเดินทางออกท่องเที่ยว ในตอนที่พ่อตัดสินใจจะมาแต่งงานกับแม่ มาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยอย่างถาวร ย่า (ซึ่งเป็นแม่ของพ่อ) ก็คัดค้านหนักมาก ถึงขั้นตัดลูกตัดแม่ เพราะย่าเขาไม่ไว้ใจคนไทย ซึ่งแม่เราเข้าใจนะคะ ว่าทำไมแม่ของแฟนมีความคิดเช่นนั้น ไม่ได้โกรธย่าเลย ในตอนนั้นพ่อก็ยอมตัดแม่ตัดลูกค่ะ แล้วก็ไม่เอาเงินหรือทรัพย์สมบัติอะไรสักอย่างจากแม่มาเลย มาตัวเปล่า มาตั้งตัวใหม่ที่เมืองไทย ตอนนั้นพ่อมุดใต้ถุนบ้านคนอื่นอยู่กับแม่ เช่าใต้ถุนบ้านคนอื่นอยู่ แล้วพ่อก็ทำงานมาเรื่อยๆ ก็ขยับฐานะขึ้นมา พอเวลาผ่านมา กาลเวลามันก็พิสูจน์ในอะไรหลายๆ อย่างค่ะ ทั้งแม่และพ่อ ย่าก็ให้การยอมรับแม่ของเราค่ะ ว่าผู้หญิงคนนี้ดีจริง ไม่ได้มาหลอกลูกเรา ส่วนพ่อก็เช่นกันค่ะ พ่อก็ได้พิสูจน์ว่ารักแม่มากเช่นกัน แม้สถานการณ์ที่ต้องเผชิญที่ต้องอยู่ร่วมกันจะยากลำบากมาก แต่พ่อก็รักเดียวใจเดียวและซื่อตรงต่อแม่มาก แม้ผู้หญิงคนนี้จะไม่มีอะไรตามกรอบของสังคมเลยที่สังคมในสมัยนั้นจะให้การยอมรับนับหน้าถือตา แถมยังมีลูกติดอีก และที่มีลูกติด ก็เพราะความเป็นคนอีสานของแม่ ที่ทางครอบครัวทางบ้านฝั่งผู้ชายเขาไม่ให้การยอมรับ ก็เลยต้องเลิกรากัน แม่ก็เลยกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก่อนมาเจอกับพ่อของเราค่ะ

ทั้งคู่ (พ่อกับแม่) ผ่านเรื่องราวทุกข์ๆ ด้วยกันมามากค่ะ แต่มันมั่นคง ไม่มีสั่นคลอนเลย ในสายตาของแม่ พ่อเลยเหมือนกับเจ้าชาย คือคนในฝันที่แม่ได้เจอในชีวิตจริง แม่รู้สึกว่าแม่โชคดีมาก พ่อก็รู้สึกว่าพ่อได้เจอคนที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก คือเป็นเรื่องราวความรักที่มีความสุขอย่างบริบูรณ์ค่ะ มันเรียบง่ายเหมือนในนิทานแบบนั้นค่ะ แต่มันยากใช่ไหมคะที่จะเจอเรื่องราวอะไรแบบนี้ในบรรดาผู้คนทั่วทั้งโลก แต่พ่อกับแม่เจอค่ะ เขาเจอความรักระหว่างกัน

เราคิดว่าแม้สังคมในยุคนี้ เขาจะปฏิเสธเรื่องราวความรักแบบเจ้าหญิงเจ้าชายแล้ว เพราะมันทำให้คนหลงใหลหรือยึดติดกับเรื่องราวอะไรแบบนั้นจนมากเกินไป มองอะไรง่ายๆ เกินไป จนไม่มองความเป็นจริง มีค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับโลกยุคปัจจุบัน แต่ตัวเราก็คงไม่ปฏิเสธมันเสียทีเดียวค่ะ บางทีอะไรแบบนี้มันก็มีดีของมันบ้างเหมือนกัน แล้วเราเห็นว่าพ่อกับแม่เขาก็มีความสุขในการครองคู่กันดีค่ะ เป็นเวลาร่วมสามสิบเกือบสี่สิบปีค่ะ จนกระทั่งพ่อเสียชีวิต สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกๆ วัน ไม่เคยมีวันไหนที่พ่อเลิกรักแม่เลยค่ะ แม่เองก็เช่นกัน แม้พ่อจะเสียชีวิตไปแล้ว

คิดยังไงกับงานเขียนเรื่องรักที่หลากหลายในยุคนี้ นอกเหนือจากวงการวรรณกรรมในขนบโบราณที่ดูเชยไป ปัจจุบันดูเหมือนว่าต้องมีเรื่องเซ็กส์หรือความซับซ้อนๆ เช่นนิยายวาย ถึงจะถูกใจคนรุ่นใหม่

แม้เราจะดูเหมือนเป็นนักเขียนวรรณกรรมในขนบโบราณที่ดูเชยไปแล้ว เพราะเขียนเรื่องความรักของพ่อกับแม่ในแบบที่มันไม่ได้หวือหวามาก ความเป็นเราในอีกด้านหนึ่ง คือเราชอบงานวรรณกรรมเยาวชน ชอบศาสนา ลัทธิ สนใจความเชื่อของคน ชอบการสวดมนต์ การภาวนา การอธิษฐาน ชอบความรู้สึกที่อบอุ่น เราก็เลยยินดีที่ได้เป็นคนช่วยถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ผ่านงานเขียน แต่โดยส่วนตัวอีกด้านหนึ่งในความเป็นผู้อ่านเราก็เป็นคนที่ชอบอ่านนิยายวายมากค่ะ รู้สึกว่ามันสร้างสรรค์มากๆ แล้วก็เปิดโลกเราได้มากๆ เพราะมันมีจินตนาการของคนอื่นอยู่เยอะ เราได้ไปท่องเที่ยวในความคิดของเขาที่มันหฤหรรษ์มาก ซึ่งตัวเราเองคิดอย่างเขาไม่ได้แน่นอน แต่ละเรื่องมันก็จะเป็นความสร้างสรรค์ของคนนั้นๆ แล้วเขาพาเราไป เขายินยอมให้เราไปท่องเที่ยวในโลกของเขาผ่านตัวอักษร

ส่วนตัวคิดว่ามันคงต้องมีงานทั้งสองแบบนี้หรือมากกว่านั้นก็ได้ งานเชยๆ กับงานล้ำสมัย หรือแม้กระทั่งงานที่ถ่ายทอดตามติดอยู่กับยุคปัจจุบัน งานเขียนแบบวันต่อวัน มีไว้ให้คนเลือกอ่านเยอะๆ มันย่อมดีกว่ามีแค่ประเภทเดียวค่ะ

ภาษาและงานงานเขียนมันย่อมสะท้อนยุคสมัยนั้นๆ ค่ะ อย่างเราทุกวันนี้เป็นคนนึงที่ติดโทรศัพท์มือถือมากๆ เลย คือติดโซเชียลมีเดีย ไม่สามารถบริหารจัดการได้เลย ถอนตัวไม่ขึ้น สยบยอมต่อคุณมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เหมือนเขาพรากเจตจำนงเสรีไปจากมือเราแล้ว เรารู้สึกว่า ในหนึ่งวัน เวลาส่วนหนึ่งของเราคืออยู่ในโลกโซเชียลฯ อะค่ะ คือไปใช้ชีวิตเสมือนอยู่ในนั้น แต่ในพื้นที่นั้นๆ ก็ทำให้เราได้เห็นภาษาที่ใช้ของคนแต่ละคน แต่ละกลุ่มด้วย อย่างคำว่า ‘พี่’ ถ้าใช้เป็น ‘พริ๊’ ‘พรี่’ หรือ ‘พี่บอย’ เราก็จะรู้เลยว่าแต่ละคำที่ใช้มาจากกลุ่มไหน ต้องคุยกันด้วยภาษาไหนถึงจะนั่งด้วยกันได้ ‘พส’ ‘นส’ แต่ละโต๊ะก็มีคีย์เวิร์ดของตัวเอง มีขนบ มีวัฒนธรรม มีภาษาของตัวเองในแต่ละพื้นที่ด้วย

ส่วนนิยายแนว 18+ ไปเลย แนวนางนวลสมัยก่อนอะไรเช่นนี้ เราก็อ่านค่ะ เพราะมันจะได้ภาษาที่นอกเหนือไปจากวรรณกรรมในกระแสมากๆ ความคิดหรือความไม่คิดก็ได้ค่ะ ความบันเทิงก็ได้ค่ะ

ส่วนวรรณกรรมเรื่องเซ็กส์ที่หลุดโลกไปเลยของนักเขียนยุคนี้โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ คิดว่าการมีโลกออนไลน์มันเอื้อให้เขาได้เขียนได้เผยแพร่งานแบบนั้น มันคือการพัฒนาจากหนังสือปกขาว (หนังสือโป๊ยุคแรก) ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน เรื่องเพศในงานวรรณกรรมมันส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย อาจจะเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาหรือพื้นที่ของมันไปเรื่อยๆ การให้คุณค่าทางวรรณกรรมก็คงเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วยเช่นกันค่ะ เช่นเมื่อก่อนมันถูกมองเป็นสิ่งต่ำช้าผิดศีลธรรม มายุคนี้มันอาจถูกตีความว่าเป็นการปลดปล่อยจากการกดทับของอะไรต่อมิอะไรก็ได้ค่ะ

(แต่ใครที่อายุต่ำกว่า 18 ขอความกรุณาอย่างสูงอย่าทำตามนะคะ และขอความขอโทษขออภัยที่ต้องมีเรื่องราวอะไรเช่นนี้ในบทสัมภาษณ์อะค่ะ)

ในฐานะนักเขียน คิดยังไงกับรางวัลซีไรต์ การเข้ารอบ-ตกรอบ และการถกเถียงกันเรื่องรางวัลนี้

ตอนที่ทราบข่าวจากทางสำนักพิมพ์ว่าจะส่งหนังสือที่เราเขียนเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ เราก็ตื่นเต้นดีใจค่ะ แต่อารมณ์ที่ถาโถมตามถัดมาทันที คือความวิตกกังวลค่ะ เกิดคำถามขึ้นในหัวเยอะมาก อย่างความกลัว เรากลัวว่ามันจะเหมาะสมไหม พูดง่ายๆ ว่ากลัวโดนด่ามากค่ะ คือ งานเรามีคุณค่ามากพอที่จะส่งเข้าประกวดรางวัลระดับนี้ไหม แต่สมมติถ้าเกิดเราตอบว่าไม่เหมาะสม มันก็คือเราไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เราไม่มั่นใจในตัวเราเอง แล้วมันจะสะท้อนไปว่าเราไม่มั่นใจในสำนักพิมพ์ด้วย เราดูถูกคนที่อ่านแล้วชื่นชอบงานเขียนของเราอีก ที่เห็นคุณค่าในงานของเรามากกว่าตัวเรา มันคือการที่เราไม่ยอมรับในตัวเองน่ะค่ะ จนมันส่งผลไปเป็นการไม่ยอมรับคนอื่นด้วย

แต่ถ้าเกิดเราตอบกับตัวเองไปเลยว่า เหมาะสมแล้ว สุดยอด คู่ควร มันก็จะส่งเสริมความมั่นใจในตัวเองให้มันมากเกินไป ก็จะกลายไปเป็นเนื้อร้ายในอนาคต ที่กัดกินตัวเองไปทุกวันๆ ทำให้ตัวเราไม่ได้พัฒนาอะไร

อีกเรื่องคือ เราทราบข้อถกเถียงทางสังคมน่ะค่ะ ที่ว่าด้วยระบบการแข่งขัน การมีผู้แพ้-ผู้ชนะ การมีผู้ที่ร่วงหล่น คนแพ้ถูกคัดออก ผู้ที่ไต่ระดับจากความรู้สึกที่เจ็บปวดของผู้อื่นขึ้นไป การถูกตีตรามอบคุณค่าให้รางวัลจากมือของคนอื่น ทั้งๆ ที่มันมีคุณค่าตั้งแต่เมื่อเราเริ่มทำด้วยมือของตนเอง และเราพึงพอใจกับมันแล้ว มันจะล้อเล่นกับความรู้สึกภายในจิตใจของเราให้สับสนถึงคุณค่าของตนเอง แต่ถ้าไม่มีมาตราวัดเลย ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีรางวัล มันก็จะส่งผลเสียอีกแบบหนึ่งในอีกทางหนึ่งอีกอยู่ดี ซึ่งเราเองก็เป็นคนที่ชอบแข่งขันนะคะ ชอบมากๆ ด้วยค่ะ ชอบโยนตัวเองเข้าไปในสนามตลอดตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เคยเกิดความรู้สึกยินดีปรีดาอะไรเลยถ้าเห็นคนอื่นเสียใจ แล้วยังมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่องอะไรพวกนี้อีก จนไม่อาจเกิดความรื่นรมย์ต่อชัยชนะได้ เป็นเรื่องที่จัดการต่อคำตอบและความรู้สึกยากมากๆ ค่ะ

ความรู้สึกส่วนตัวของเราต่อรางวัล ถ้าเกิดเราเกิดความรู้สึกบางอย่างในเชิงบวกเมื่อไม่ได้รางวัล มันก็ไม่ดีอีก มันเหมือนเราไม่ให้เกียรติคนที่ได้รางวัลเลย เหมือนเราไม่ได้เป็นคู่แข่งที่เต็มที่กับการแข่งขัน คนที่ชนะเขาก็จะไม่รู้สึกภาคภูมิกับรางวัลใช่ไหมคะ แล้วมันเหมือนเราไม่ให้เกียรติสำนักพิมพ์ด้วย สำนักพิมพ์ที่เห็นคุณค่าเราขนาดนี้ ตีพิมพ์หนังสือให้เรา เขาภาคภูมิใจกับหนังสือเล่มนี้จนส่งเข้าประกวด แต่กลับกันถ้าเราเสียใจมากไป เราจะก็สับสนในคุณค่าของตัวเองอีก อาจเขียนอะไรไม่ได้อีกต่อไปเลย เพราะการเขียนหนังสือมันก็เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของตัวเราเหมือนกัน มันคือเรา มันคือชีวิตเรา

ตอนที่รู้ว่าเข้ารอบแล้วและตกรอบแล้ว ก็จึงเกิดความรู้สึกเสียใจ ขณะเดียวกันก็ดีใจ โล่งใจค่ะ แต่มันไม่ดีเลยนะคะ เพราะอย่างถ้าเกิดหนังสือได้รางวัล หนังสือเราก็อาจจะขายได้มากขึ้น ซึ่งมันส่งผลให้สำนักพิมพ์มีรายได้ ไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายจากการพิมพ์หนังสือของเรามากจนเกินไป คนที่ทำงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหนังสือของเรา ก็จะมีรายได้ มีงานทำต่อไป แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเราคิดอีกที หนังสือของเราไม่ได้ มันก็แปลว่า หนังสือคนอื่นได้ สำนักพิมพ์อื่นได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่เกิดขึ้นนะคะ เพราะอย่างไรคำตอบของเราคืออยากให้วงการนี้มันไปต่อได้ ไม่ว่าใครได้ ก็ดีทั้งนั้น

 

สรุปผลรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ.2564 (รางวัลซีไรต์ 2564)

รอบ Longlist 19 เล่ม

1. 24-7/1 ผู้แต่ง ภู กระดาษ สำนักพิมพ์มติชน
2. เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง ผู้แต่ง นทธี ศศิวิมล แพรวสำนักพิมพ์
3. จวบจนสิ้นแสงแดงดาว ผู้แต่ง กิตติศักดิ์ คงคา สำนักพิมพ์ 13357
4. ดำดิ่งสู่เบื้องบน ผู้แต่ง วัฒน์ ยวงแก้ว ผจญภัยสำนักพิมพ์
5. เดฟั่น ผู้แต่ง ศิริวร แก้วกาญจน์ ผจญภัยสำนักพิมพ์
6. ไต้ก๋ง ผู้แต่ง ประชาคม ลุนาชัย สำนักพิมพ์ Din-Dan BooK
7. ทะเลสาบน้ำตา ผู้แต่ง วีรพร นิติประภา สำนักพิมพ์อาร์ตี้เฮาส์
8. แปดปีหลังจากนั้น ผู้แต่ง ฆนาธร  ขาวสนิท สำนักพิมพ์แซลมอน
9. ภูเขาน้ำตา  ผู้แต่ง อนุสรณ์ มาราสา สำนักพิมพ์บลูเบิร์ด
10. มันทากินีซิตี้ ผู้แต่ง ธาร ยุทธชัยบดินทร์ สำนักพิมพ์ศิราภรณ์บุ๊คส์
11. เมืองในหมอก ผู้แต่ง อนุสรณ์ ติปยานนท์ สำนักพิมพ์ บริษัท วอลแตร์ จำกัด
12. รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ผู้แต่ง สุมาตร ภูลายยาว  สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ
13. รอยสนธยา ผู้แต่ง ทรงศีล ทิวสมบุญ สำนักพิมพ์  SongsinThings
14. วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ผู้แต่ง ร เรือในมหาสมุท สำนักพิมพ์ บริษัท พะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด
15. วายัง อมฤต ผู้แต่ง อนุสรณ์ ติปยานนท์ สำนักพิมพ์ Din-Dan BooK
16. สุสานสยาม ผู้แต่ง ปราปต์ แพรวสำนักพิมพ์
17. เสียงพายุเหมันตฤดู และการเริงรำครั้งสุดท้าย ผู้แต่ง สุขพงศ์ คหวงศ์อนันต์ สำนักพิมพ์สมมติ
18. อาณาเขต ผู้แต่ง นิธิ นิธิวีรกุล สำนักพิมพ์สมมติ
19. ‘ไอโกะ’ แปลว่าความรัก ผู้แต่ง ‘ไอโกะ’ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

รอบ Shortlist 10 เล่ม

1. 24-7/1 ผู้แต่ง ภู กระดาษ สำนักพิมพ์มติชน
2. เกิดในฤดูหนาวที่แดดส่องถึง ผู้แต่ง นทธี ศศิวิมล แพรวสำนักพิมพ์
3. ดำดิ่งสู่เบื้องบน ผู้แต่ง วัฒน์ ยวงแก้ว ผจญภัยสำนักพิมพ์
4. เดฟั่น ผู้แต่ง ศิริวร แก้วกาญจน์ ผจญภัยสำนักพิมพ์
5. ภูเขาน้ำตา  ผู้แต่ง อนุสรณ์ มาราสา สำนักพิมพ์บลูเบิร์ด
6. รอยสนธยา ผู้แต่ง ทรงศีล ทิวสมบุญ สำนักพิมพ์  SongsinThings
7. วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ ผู้แต่ง ร เรือในมหาสมุท สำนักพิมพ์ บริษัท พะโล้ พับลิชชิ่ง จำกัด
8. วายัง อมฤต ผู้แต่ง อนุสรณ์ ติปยานนท์ สำนักพิมพ์ Din-Dan BooK
9. สุสานสยาม ผู้แต่ง ปราปต์ แพรวสำนักพิมพ์
10. อาณาเขต ผู้แต่ง นิธิ นิธิวีรกุล สำนักพิมพ์สมมติ

รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ.2564

เดฟั่น ผู้แต่ง ศิริวร แก้วกาญจน์ ผจญภัยสำนักพิมพ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net