Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยอัยการลำปางสั่งฟ้อง 'ทิวากร' คดี ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ล่ารายชื่อทำประชามติคงไว้หรือเลิกระบอบกษัตริย์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 ที่ศาลจังหวัดลำปาง ทิวากร วิถีตน เกษตรกรวัย 45 ปี ผู้สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เดินทางมาจากจังหวัดขอนแก่นเพื่อรายงานตัวตามนัดของพนักงานอัยการจังหวัดลำปาง จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความล่ารายชื่อคนที่ต้องการให้ทำประชามติเลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ พร้อมกับเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org ให้ประชาชนเข้าไปลงชื่อ

คดีนี้สืบเนื่องจากนายทวี อินทะ เครือข่ายเฝ้าระวังปกป้องและพิทักษ์สถาบันฯ ในจังหวัดลำปาง เป็นผู้กล่าวหาต่อทิวากรไว้ที่ สภ.เมืองลำปาง ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ทิวากรขับรถจักรยานยนต์จากจังหวัดขอนแก่นมารับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้เงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 70,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดวันนัดอธิบายสิทธิ วันที่ 22 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. และนัดพร้อมวันที่ 4 เม.ย. 2565 เวลา 9.00 น. รวมเวลาที่จำเลยถูกควบคุมตัว 5 ชั่วโมงเศษ 

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ยกฟ้องคดี “อานันท์ ลุ่มจันทร์” ร่วมชุมนุม 21 ตุลา 63 ชี้เป็นการใช้สิทธิตาม รธน. ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องคดีของอานันท์ ลุ่มจันทร์ นักกิจกรรมวัย 27 ปี ซึ่งถูกฟ้องร้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นผู้ถูกฟ้องจากกรณีนี้รายที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว

สำหรับการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของประชาชนซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ของผู้ชุมนุม 

ต่อมามีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูกกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมฯ 

ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ไปแล้ว

อ่านข่าวนี้ฉบับเต็มในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net