Skip to main content
sharethis

ในเวทีนำเสนองานวิจัยเกี่ยวสิทธิมนุษยชนในไทย ประชาชนร่วมสะท้อนปัญหาการทำงานของ กสม.ประชาชนเข้าถึงยาก เมื่อร้องเรียนแล้วปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้ง กสม.ก็ไม่ทำงานเชิงรุกเมื่อเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ อีกทั้ง กสม.บางชุดก็มีที่มาจากคณะรัฐประหารอีกทั้งยังถูกรัฐบาลทหารลดอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ

เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า 2 ทศวรรษสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย: เราจะก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นหัวข้องานวิจัยเพื่อปรับปรุงโครงสร้างและนโยบาย

หนึ่งนยา ไหลงาม อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณธวิจัยเป็นผู้นำเสนองานวิจัยครั้งนี้ โดยเธอเริ่มว่าแม้จะมีการกำหนดเรื่องสิทธิมนุษยชนเอาไว้ครั้งแรกตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 แต่ที่มีกลไกเป็นรูปธรรมในประเทศไทยอย่าง กสม.ขึ้นมาก็เป็นเวลา 20 ปีแล้ว ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกลับไปดูการทำงานของ กสม.ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทยตลอด 20 ปี (2544-2564)ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรและมีข้อเสนอในเชิงนโยบาย

ในช่วง 20 ปีที่มี กสม.ขึ้นมาก็เกิดเหตุการณ์หลายอย่างทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและผ่านการรัฐประหารสองครั้ง และเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างคือ กสม.ถูกคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติลดระดับจาก A เป็น B แต่ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาไทยก็ได้ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนออกมาหลายประเด็น และมีข้อค้นพบจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่มีข้อเสนอให้ยุบ กสม.ด้วย

ทั้งนี้หนึ่งนยาได้เล่าถึงที่ตอนเกิดขึ้นของ กสม. ก็มีการคัดค้านอย่างมากในสภาตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และยังมีการเถียงกันในสภาว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนเองก็ไม่ใช่เรื่องของคนไทย แต่สุดท้ายก็ได้ถูกกำหนดให้มี กสม.ผ่านการต่อสู้จากภาคประชาสังคมและบริบทภายนอกประเทศ

จากการวิจัยโดยการสัมภาษณ์ทั้งคนทำงานใน กสม.และคนข้างนอกมองมาที่ กสม.ก็พบว่าที่ผ่านมา กสม.มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส การใช้เงิน ทั้งที่ตัวองค์กรถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐ นอกจากนั้นประชาชนก็ไม่รู้จักว่า กสม.คืออะไร ไม่มีการทำงานเชิงรุก เข้าถึงยาก ประชาชนไม่เชื่อมั่นและ กสม.ยังเป็นปากเสียงให้กับรัฐ นอกจากนั้นยังมีคำตอบว่าถ้าต้องเลือกว่าให้ไปร้องเรียนที่ไหนคนก็จะเลือกไปร้องเรียนกับสภามากกว่า กสม. แต่สำหรับคนในก็มีส่วนที่เลือกมาทำงานกับ กสม.ก็มาด้วยความตั้งใจที่ต้องการจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น แต่ก็มีประเด็นว่าคนทำงานเหล่านี้กำลังจะหมดไฟไปด้วยหรือเปล่า

นอกจากนั้นยังพบข้อจำกัดในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยก็พบว่าภายในองค์กรโครงสร้างของกฎหมายและบริบทการเมืองภายในประเทศที่มีผลต่อโครงสร้างองค์กร นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องระเบียบราชการที่ทำให้การทำงานขาดความคล่องตัว นอกจากนั้นมีช่องว่างระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับคณะกรรมการคือเมื่อคณะกรรมการหมดวาระแล้วเปลี่ยนชุดเข้ามาก็มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายมีการเปลี่ยนประเด็นสิทธิมนุษยชนที่องค์กรจะทำงานด้วยทำให้เกิดปัญหาสื่อสารในองค์กร และปัญหาที่ตัวองค์กรไม่มีการอัพเดตความรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยช

ปัจจัยภายนอกองค์กรประชาชนมีความคาดหวังสูงและไม่เข้าใจการทำงานขององค์กร นอกจากนั้นในบางช่วงที่ กสม.มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีทั้งกับภาคประชาสังคมและรัฐ กสม.ก็ไม่สามารถผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ และปัญหาเรื่องบริบทการเมืองภายในประเทศและ กสม.ยังถูกปรับลดระดับจากต่างประเทศ

หนึ่งนยากล่าวต่อว่าในตอนนี้ คณะกรรมการ กสม.ชุดปัจจุบันที่เป็นชุดที่สี่แล้วก็ถูกคาดหวังและมีภารกิจที่จะต้องทำในตอนนี้ก็คือการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การประสานได้กับทุกภาคส่วน สร้างการยอมรับ และสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ส่วนของสำนักงาน กสม.ก็ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลมากขึ้นใช้เทคโนโลยีในการทำงานให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจากการสัมภาษณ์จะมีข้อเสนอให้ยุบ กสม.ไปแต่ก็มีคนที่ยังต้องการให้มี กสม.อยู่ แต่จะทำอย่างไรให้คนกลับมาเชื่อมั่นและทำงานร่วมกับ กสม.ได้ นอกจากนั้นคนก็อยากเห็น กสม.มีบทบาทในการเชื่อมกันระหว่างรัฐกับประชาชน นอกจากนั้น กสม.ยังถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นที่พึ่งพาได้มีความกล้าหาญที่จะยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐ และเป็นส่วนในการขับเคลื่อนนโยบายและวัฒนธรรมด้านสิทธิมนุษยชน

ส่วนของข้อเสนอจากงานวิจัยเพื่อให้ กสม.ยังเติบโตต่อไปได้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กรให้ทำงานตามประเด็นสิทธิแทนการแบ่งตามสำนักก็จะเห็นภาพรวมและการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น กลไกความร่วมมือทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และใช้งานศูนย์ภูมิภาคให้มากขึ้นในการทำงานประสานกับพื้นที่

ภายหลังจากการนำเสนอผลงานวิจัยเสร็จสิ้นเวทีได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมตั้งคำถามและแสดงความเห็นต่องานวิจัยฉบับนี้

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน แสดงความเห็นว่าที่คนไม่ค่อยมีความไว้ใจต่อ กสม.ก็เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาการทำงาน กสม.เป็นอย่างไร และเรื่องที่มาของ กสม.เองที่ก็มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารมันก็เลยทำให้ประชาชนไม่เกิดความเชื่อมั่นเข้ามาใช้กลไก กสม.

ธนพรยกตัวอย่างกรณีของเครือข่ายแรงงานก็รู้สึกว่าเมื่อมาร้องเรียนกับทาง กสม.ก็ไม่ได้อะไรจะเสียค่ารถมาทำไมสุดท้ายก็เป็นว่ามีดาบแต่ฟันไม่ได้ ในงานวิจัยก็ควรจะต้องพูดถึงด้วยว่าผู้ที่มาร้องเรียนเขาก็คาดหวังให้ปัญหาของเขาได้รับการคลี่คลายไม่ใช่เพียงแค่มาเพื่อให้เป็นกระแสแล้วไม่มีผลลัพธ์อะไรออกมาเลยนอกจากนั้นก็ต้องมองเห็นด้วยว่าประชาชนก็ถูกคุกคามจากหน่วยงานรัฐ อย่างตัวเธอเองก็ถูกดำเนินคดีโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฟ้องเพราะพากลุ่มแรงงานข้ามชาติไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้เห็นปัญหา แล้วแรงงานที่ตกงานกลับบ้านไปต่างจังหวัดก็ยังต้องเจอรัฐมาละเมิดสิทธิที่ดินทำกินอีก คือการดูแต่ภาพรวมมันก็เห็นแต่ปัญหารัฐธรรมนูญ เรื่องกฎหมาย แต่ก็ต้องดูปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนจริงๆ ด้วย

ศิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมที่ถูกอุ้มหายระหว่างลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา กล่าวถึงปัญหาของ กสม.ที่ไม่ได้พยายามติดตามปัญหาของคนที่ถูกอุ้มหายไปแล้วหลายรายตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหาร จนกระทั่งน้องชายมาถูกอุ้มหายไปอีกคนเมื่อปี 2563 แต่เมื่อไปร้องเรียนกับ กสม.แล้วก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรจนตอนนี้มีคนเชิญไปพบ กสม.ก็ไม่อยากไปแล้วเพราะรู้สึกเสียเวลา แล้วเมื่อตัวเธอเองไปเรียกร้องเรื่องน้องชายของตัวเองก็ยังโดนดำเนินคดีอีกแต่ กสม.ก็ไม่ได้มาติดตามดูแล นอกจากนั้นประชาชนก็เข้าถึง กสม.ได้ยาก แล้วเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา กสม.ได้เข้าติดตามกับครอบครัวของคนที่อุ้มหายบ้างหรือไม่ เธอตั้งคำถามว่าปัญหาเหล่านี้เป็นหน้าที่ของ กสม.หรือไม่ที่จะต้องเข้ามาดูแลแก้ปัญหา

น้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาการสอบสวนฯ และดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด มองว่าจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปร่วมร่างกฎหมายก็พบว่าทัศนคติของคนทำงานในกระบวนการยุติธรรมอย่างตำรวจ อัยการ หรือศาลมีปัญหาอยู่ เช่นตำรวจก็มักจะอ้างเรื่องความจำเป็นที่คดีจะต้องมีอายุความเพื่อเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบดำเนินคดีแต่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรจนหมดอายุความไปเลยกลายเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อที่จะไม่ต้องดำเนินการอะไร หรือการมีกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานก็มีข้ออ้างว่ามีแล้วจะทำให้เค้นข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาได้ยากเป็นต้น ซึ่งฝ่ายที่จะร่างกฎหมายก็มักจะไม่ทันเล่ห์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่แบบนี้ เขาจึงมองว่าก็เป็นเรื่องที่ กสม.จะต้องไปให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนกับคนในกระบวนการยุติธรรมมากกว่า แล้วก็เข้าไปติดตามเร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย รวมถึงการเข้าไปติดตามผลักดันกฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชนต่างๆ อย่างพ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ก็ได้ แต่เขาเห็นว่า กสม.ไม่จำเป็นต้องมีกระบองหรือไปขยายองค์กรก็ได้ แต่ทำงานประสานกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

น้ำแท้ยังกล่าวอีกว่ายังมีปัจจัยเรื่องการเมืองเข้ามาด้วย เพราะเวลานักการเมืองท้องถิ่นถึงระดับชาติต้องการปิดปากประชาชนก็อาศัยเจ้าหน้าที่รัฐมาดำเนินการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วก็ไม่สามารถดำเนินคดีกับเขาได้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูการรัฐประหารที่จะต้องพอเสียที กสม.ก็ต้องสร้างทัศนคติกับประชาชนว่าจะต้องมีรัฐบาลที่โปร่งใสมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง วิจารณ์ตัวงานวิจัยของ กสม.ว่าไม่มีการกล่าวถึงปัญหาสืบเนื่องที่มาจากสถาบันกษัติรย์และรัฐเผด็จการและทหารเลยซึ่งก็จะไม่สามารถสะท้อนปัญหาได้จริง นอกจากนั้นที่ กสม.ถูกลดระดับเพราะไม่สามารถคุ้มครองประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจากการใช้มาตรา112 ได้ เธอตั้งคำถามกับ กสม.ว่าเมื่อเกิดกรณีที่มีคนถูกดำเนินคดี กสม.ก็ไม่ได้เข้าติดตามล่าสุดก็มีคนโดนดำเนินอีก 9 คนด้วยมาตรา 112 หรือไม่

ปัญหาที่ยังไม่ถูกบันทึก

หลังช่วงถามตอบจากผู้เข้าร่วม ในงานได้มีการเสวนาเพื่อแสดงความเห็นต่อตัวรายงานวิจัยต่อโดยมีวิทยากรที่เข้าร่วมทั้งในฐานะที่เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก่อนและได้ใช้กลไกของ กสม. นักวิชาการด้านกฎหมาย นักการเมืองจากพรรคก้าวไกล และคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนงานการศึกษาทั้งอุดมศึกษาและในโรงเรียน รวมถึงสื่อมวลชน

ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน อดีตพยาบาลอาสาที่ผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามถึง 6 คน เล่าว่าตัวเองไป กสม.หลายปีหลายครั้งแล้ว และเห็นว่า กสม.จะต้องทำหน้าที่ปกป้องประชาชนเสมือนกับที่ กสม.ปกป้ององค์กรตัวเอง

ณัฎฐธิดาเล่าว่าเธอเคยถูก คสช.อุ้มหายไปโดยใช้ทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ทหารมีอาวุธสงคราม ทั้งที่แค่ถูกสงสัยโดยไม่มีหมายจับ จับไปแล้วก็ยังถูกทำอนาจารจับอวัยวะเพศ ข่มขู่ต่างๆ ตอนสอบสวนก็ถูกซักถามชี้นำให้รับตามที่เจ้าหน้าที่อยากได้ แล้วถึงจะตอบที่เป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่เธอก็ยังถูกฝากขังในคดีอยู่เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน แล้วก็ยังโดนคดี ม.112 ด้วยแม้ว่าศาลจะยกฟ้องไปแล้วแต่ศาลยกโดยเห็นว่าพยานหลักฐนไม่มีน้ำหนักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้

ณัฎฐธิดาบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับเธอเหล่านี้ซึ่งยังมีคนอื่นๆ อีกที่ถูกจับกุมดำเนินคดีแบบนี้ แต่ กสม.ก็ไม่ได้มาติดตามไม่มีข้อมูล เธอตั้งคำถามถึง กสม.ว่า กสม.เองพร้อมจะมาอยู่เคียงข้างประชาชนหรือไม่ เพราะประชาชนเองก็พร้อมจะอยู่ข้าง กสม.เหมือนกัน

วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติกล่าวถึงข้อเสนอต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่าจากเสี่ยงสะท้อนของผู้เข้าร่วมก็คิดว่าควรจะต้องเชื่อมประเด็นการใช้อำนาจที่ผิด ประชาธิปไตยและชุมชนเข้าด้วยกัน และในตัวงานศึกษาก็ไปเกี่ยวกับภาพพจน์มากกว่าการบอกว่างานวิจัยชิ้นนี้จะทำอะไรหรือ กสม.ควรจะต้องทำอะไรมากขึ้น และควรจะต้องมีตัวชี้วัดอะไรบ้าง การรัฐประหารสองครั้งส่งผลต่อการทำงานของ กสม.อย่างไรบ้างการแทรกแซงผ่านการเปลี่ยนเนื้อหาส่วนของ กสม.ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

วิทิตกล่าวต่อว่าส่วนในเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยเรื่องที่ทำได้ดีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แต่เรื่องที่ทำได้ไม่ค่อยดีและไม่บรรลุคือเรื่องการเมืองอย่างเรื่องอุ้มหาย การรัฐประหาร ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพการแสดงออก กระบวนการยุติธรรม กสม.ก็ควรจะต้องทำในเรื่องที่ยากขึ้น เพราะ กสม.เป็นคานของดุลอำนาจเพื่อต่อรองกับอำนาจที่มิชอบหรือไม่ค่อยชอบ นอกจากนั้นในงานวิจัยอาจจะต้องเล่าถึงว่าตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา กสม.ทำอะไรได้บ้างหรือไม่ได้บ้าง แล้วที่ไม่ได้เพราะอะไรบางเรื่องก็อาจจะต้องไปพึ่งกลไกระหว่างประเทศเป็นต้น และการทำงานของ กสม.ก็น่าจะต้องเคลื่อนออกจากกรุงเทพฯ เข้าไปตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย เช่น ไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้อย่างเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่ามีปัญหาอย่างไร

วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเด็นการศึกษาสิทธิมนุษยชนในไทยว่าด้วยสภาพที่สังคมไทยเป็นสังคมเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตยซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็สะท้อนภาพแบบนั้น ถึงจะอยากเห็นสถาบันการศึกษานำสังคมแต่กลับเป็นการตอบโจทย์ของผู้มีอำนาจและยังสะท้อนภาพความเป็นอนุรักษ์นิยมในสังคม เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก เพราะหลายคนก็คาดหวังว่าสถาบันการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลง และหากจะต้องการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนและสร้างขึ้นมาให้เข้มแข้งมันก็เป็นเรื่องที่ต้องมาพร้อมกับประชาธิปไตยด้วย

วัชรฤทัย กล่าวต่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องมีการเปลี่ยนที่หลักสูตรการเรียนการสอนและระเบียบต่างๆ ที่ครูนักเรียนต้องทำ และการศึกษาตอนนี้ก็มุ่งแต่จะผลิตแรงงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีแต่กมีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาไม่เพียงแต่หลักสูตรการเรียนการสอนแต่จะเข้าไปอยู่ในระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไร

ผอ.สถาบันสิทธิฯ เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การให้ปัจเจคบุคคลเปลี่ยนแปลงเท่านั้นแต่ต้องเปลี่ยนระบบให้ได้แต่ กสม.สามารถเข้าไปผลักดันความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระดับกระทรวงได้ ทั้งการเสนอเปลี่ยนระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง และทำให้ระดับอุดมศึกษาเป็นที่บ่มเพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยได้

เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงในมุมการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนว่า เวลาต้องทำงานร่วมกับ กสม.ก็จะบอกว่าจะให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ก็อยากได้กรอบแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจนและสามารถทำให้นักเรียนเข้าใจและนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาทั้งรื่องซ้อมทรมาน การลอยนวลพ้นผิด การลดทอนความเป็นมนุษย์ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร และหากมีกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นทั้งกรณีที่มีข้อสรุปแล้วเพื่อนำไปใช้สอนได้หรือกรณีที่ยังไม่สิ้นสุดแต่สร้างประเด็นถกเถียงกันได้ก็ควรจะนำเข้ามาในบทเรียน

เฉลิมชัยบอกว่ายังพบปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างกรณีที่กรมคุ้มครองสิทธิของกระทรวงยุติธรรมก็เข้ามาประสานงานเพื่อทำอบรมแต่เมื่อจัดไปแล้วก็ปรากฏว่าทาง กสม.ก็จะจัดอบรมกับครูอีก ซึ่งตนคิดว่าหากจะทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานมากกว่านี้ได้ก็จะดีเพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อนและบรรดาครูเองก็มีภารกิจอื่นๆ เยอะอยู่แล้ว นอกจากนั้นเขาก็ยังคาดหวังให้ทาง กสม.ช่วยมีการประเมินผลกลับมาด้วยเนื่องจากบางทีมีการขอข้อมูลไปแล้วแต่ก็ไม่ได้มีความเห็นอะไรกลับมาเขาคิดว่าถ้ามีการสื่อสารกลับมาด้วยก็จะสามารถนำความเห็นมาปรับปรุงการทำงานได้

เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงตัวรายงานวิจัยว่า ถ้ามองว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยขณะนี้กำลังวิกฤต รัฐบาลปัจจุบันมีการจำกัดสิทธิทางการเมืองอย่างมาก เช่น การจับกุมนักกิจกรรมการคุกคามและสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่ คสช.แล้วหรือแม้กระทั่งการยุบพรรค ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างว่าเพ่อใช้ควบคุมการระบาดของโรคมาจะสองปีแล้วแต่กลับไม่ปรากฏว่ามีงานศึกษาวิจัยเลยว่าการใช้กฎหมายลักษณะนี้ได้ผลในการควบคุมโรคระบาดจริงหรือไม่ แต่ในสถานการณ์จริงคือเยาวชนออกมาเรียกร้องทางการเมืองถูกจับกุมคุกคาม แต่ไม่เห็นในงานวิจัยว่าจะพูดถึงเรื่องพวกนี้อย่างไร รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นกรณีอุ้มหาย หรือประเด็นเรื่องการลอยนวลพ้นผิดที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนมีคนบาดเจ็บล้มตายแต่ยังไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ทำประชาชนตาย ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ กสม.จะต้องลงลึก อีกทั้งยังไม่เห็นเรื่องการคุ้มครองคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกซึ่งในตอนนี้รัฐบาลก็กำลังผลักดันพ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ หรือเรื่องค้ามนุษย์โรฮิงญาที่รังสิมันต์ โรมเปิดเผยในสภาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ แสดงความเห็นต่อการติดตามเรื่องร้องเรียนของ กสม.เองว่ามีการทำระบบติดตามเรื่องร้องเรียนและการทำสถิติไว้อย่างไรบ้าง จากที่เขาเคยยื่นเรื่องร้องเรียนกับ กสม.มาก่อนตั้งแต่ตอนที่ตนยังเป็นนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็พบว่ากว่าทาง กสม.จะมีแจ้งผลการพิจารณาเรื่องที่เขาร้องเรียนกลับมาก็ใช้เวลาถึง 2 ปี

ชวรงค์กล่าวถึงการละเมิดสิทธิจากสื่อมวลชนว่าเรื่องนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่อย่างเช่นเรื่องการละเมิดสิทธิดาราหรือผู้ต้องหาในคดี ซึ่งก็มีข้อบังคับจริยธรรมทั้งในองค์กรสื่อต่างๆ และสภาสื่อมวลชนฯ เองก็เขียนไว้ชัดเจนว่าสื่อมวลชนต้องเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย แต่อย่างไรก็ตามสื่อก็มีบทบาทในการรักษาสิทธิด้วยเช่นกันในการเข้าไปช่วยรักษาสิทธิของผู้ต้องหาหรือผูที่ถูกละเมิดด้วย

ทั้งนี้ประธานสภาสื่อฯ ก็เห็นว่า แม้ กสม.จะไม่สามารถให้คุณให้โทษได้แต่ก็สามารถเรียกผู้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเพื่อทำการสืบสวนได้ แล้วการจะทำให้งานให้เกิดผลก็คงไม่สามารถอาศัยแต่อำนาจทางกฎหมายได้อย่างเดียวแต่ต้องทำงานโดยอาศัยความร่วมจากประชาชน กสม.ต้องเข้าถึงประชาชนและทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น

สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าการทำงานวิจัยชิ้นนี้ก็เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานของ กสม.ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมาไม่แค่เพื่อให้กับคนทำงานใน กสม.เท่านั้นแต่ก็เพื่อคนภายนอกด้วย และเขาคิดว่าการทำวิจัยนี้ก็เพื่อที่จะเกิดเวทีที่มีการแลกเปลี่ยนและสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดการบันทึกเข้าไปในงานวิจัยชิ้นนี้

ณัชปกร นามเมือง แสดงความเห็นในช่วงแลกเปลี่ยนว่าในรายงานวิจัยชิ้นนี้ควรจะต้องมีการกล่าวถึงว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กสม.มีเรื่องไหนที่ทำสำเร็จบ้างเรื่องไหนที่ทำแล้วล้มเหลวและต้องด้วยหาสาเหตุว่าเหตุที่ทำให้การทำงานล้มเหลวเกิดจากอะไร ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดองไหนบ้างที่ที่สำเร็จหรือล้มเหลว เมื่อพบแล้วว่าอะไรแล้วก็ต้องมาดูว่าอะไรทำให้ล้มเหลว ทั้งจากสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันระหว่างก่อนหลังการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และ 2557 และความล้มเหลวในที่เกิดจากระดับโครงสร้างขององค์กรที่ถูกแทรกแซงและลดบทบาทจากรัฐบาลอำนาจนิยม การไม่ได้แสดงบทบาทอะไรแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนมาปี 2560 กสม.เองก็ถูกยึดกระบองไปทั้งที่เดิม กสม.สามารถฟ้องเพิกถอนได้ในกรณีมีกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และเหลือแต่เพียงหน้าที่ไปแก้ต่างกับนานาชาติ

ณัชปกรยังกล่าวต่ออีกในประเด็นที่องค์กรอย่าง กสม.ไม่ได้รับความเชื่อถือเพราะยังมีปัญหาระดับปัจเจคบุคคลของกรรมการเองด้วย เขาเห็นว่าแม้ต่อให้ กสม.เองจะไม่ได้มีอำนาจให้คุณให้โทษได้แต่กรรมการเองก็ไม่ได้แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net