Skip to main content
sharethis

Mu Sochua สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) และอดีต ส.ส. กัมพูชา นำเสนอบทวิเคราะห์ในเรื่องการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ค. ที่จะถึงนี้ เขามองว่าการกลับมาของตระกูลมาร์กอสที่เป็นอดีตเผด็จการของฟิลิปปินส์นั้นได้รับการหนุนหลังจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ผ่านการประสานงานกันสร้างข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ในโลกออนไลน์ และข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้ก็เป็นภัยต่อประชาธิปไตย

เฟอร์ดินาน "บองบอง" มาร์กอส จูเนียร์(กลางภาพ) ปราศรัยหาเสียงที่ มาริคิน่า ริเวอร์แบงก์ส เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2565 ถ่ายโดย patrickroque01

ประเทศฟิลิปปินส์ในอดีตนั้นเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองอย่างโหดเหี้ยมโดยเผด็จการ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ซีเนียร์ ในช่วงปี 2515-2529 ถึงแม้ว่าช่วงเวลาเผด็จการนี้จะผ่านพ้นไปแล้วและมาร์กอส ซีเนียร์ ได้เสียชีวิตลงแล้ว แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ค. นี้ ลูกชายของมาร์กอส ซีเนียร์ คือ เฟอร์ดินาน "บองบอง" มาร์กอส จูเนียร์ ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และพยายามใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารสร้างภาพให้ยุคสมัยเผด็จการมาร์กอส ดูเหมือนเป็น "ยุคทอง" อันรุ่งเรืองสำหรับฟิลิปปินส์

Mu Sochua สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) เขียนบทความวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวนี้ไว้ โดยยกตัวอย่างกรณีที่เคยมีข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับอดีตเผด็จการมาร์กอส โดยอ้างว่าสาเหตุที่มาร์กอสร่ำรวยขึ้นมาได้นั้นเป็นเพราะเขาได้รับทองคำจากราชวงศ์ทัลลาโนแห่งอาณาจักรมาฮาร์ลิกาจำนวน 192,000 ตัน จากการที่มาร์กอสทำงานด้านกฎหมายให้ราชวงศ์ที่ว่านี้

อย่างไรก็ตามข้ออ้างดังกล่าวนี้ไม่เป็นความจริงแม้แต่นิดเดียว อาณาจักรมาฮาร์ลิกาและราชวงศ์ทัลลาโนที่ว่านี้ก็ไม่เคยมีอยู่จริง สาเหตุที่มาร์กอสผู้พ่อร่ำรวยขึ้นมาได้นั้นเป็นเพราะการทุจริตคอร์รัปชันที่ลุกลามไปทั่วและการฉกฉวยเอามาจากงบประมาณแผ่นดินในช่วงที่เขามีอำนาจเผด็จการในประเทศ มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นหลายคดีแล้วทั้งในฟิลิปปินส์และนอกฟิลิปปินส์

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อพยายามลบล้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้กับเผด็จการมาร์กอสในอดีต นอกจากนี้ยังมีการพยายามสร้างภาพอื่นๆ ให้อดีตเผด็จการมาร์กอสดูดีเช่นอ้างว่าฟิลิปปินส์ในยุคสมัยนั้นเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก

การสร้างภาพเช่นนี้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งดูเหมือนจะได้ผล จากการที่ บองบอง มาร์กอส มีคะแนนนำผู้สมัครรายอื่นๆ ในผลโพลซึ่งจัดทำโดยพอลส์เอเชียเมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ประเมินได้ว่าตระกูลมาร์กอสอาจจะกลับเข้ามาครองอำนาจในรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้สำเร็จอีกครั้ง

Mu Sochua ประเมินว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการเมืองฟิลิปปินส์เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ของโลก มีประชากรร้อยละ 68 ในฟิลิปปินส์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย 92 ล้านราย ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้อาจจะไม่ได้หมายถึงว่ามีจำนวนบุคคลที่ใช้งานในจำนวนเท่ากันก็ตาม ทั้งนี้ยังมีสถิติระบุว่าชาวฟิลิปปินส์ใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุดเทียบกับที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาใช้งานโซเชียลมีเดียรวม 255 นาทีต่อวัน (ประมาณ 4 ชั่วโมง 15 นาที) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นแหล่งปฏิบัติการแพร่ข้อมูลบิดเบือนในโลกออนไลน์ได้ดีมาก

หนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กที่ชื่อ เมตา ได้ประกาศว่าพวกเขาสั่งลบบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจากฟิลิปปินส์ 400 บัญชี จากการที่บัญชีเหล่านี้มีส่วนร่วมใน "การกระทำในเชิงมุ่งร้าย" ช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. นี้ อีกทั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เฟซบุ๊กยังเคยประกาศว่าพวกเขาได้ลบเพจอย่างน้อย 200 เพจที่มี "พฤติกรรมปลอมแปลงแบบที่มีการประสานงานกัน" โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายจัดตั้งที่มาจากผู้จัดการโซเชียลมีเดียของหน่วยที่หาเสียงให้กับประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต และในตอนนี้ ซารา ดูเตอร์เต ได้เป็นกลายมาเป็นผู้ร่วมหาเสียงฝ่ายเดียวกับมาร์กอสที่มีคะแนนนิยมนำหน้าผู้ร่วมหาเสียงรายอื่นๆ ที่จะชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งนี้

Mu Sochua ระบุว่ามีสิ่งบ่งชี้ว่าโครงการบิดเบือนข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการในระยะยาวที่จะนำตระกูลมาร์กอสกลับสู่อำนาจ มีการใช้ "ฟาร์มโทรล" และบัญชีผู้ใช้งานปลอมเพื่อสร้างเพจสนับสนุนมาร์กอสจำนวนมาก ปฏิบัติการเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 แล้ว และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อิเมลดา มาร์กอส ภรรยาของอดีตเผด็จการมาร์กอสและแม่ของบองบอง มาร์กอส ก็ประกาศในงานวันเกิด 85 ปีของตัวเองว่าลูกชายของเธอ บองบอง จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ในช่วงไม่นานมานี้ทั้งบัญชีผู้ใช้งานจริงและบัญชีผู้ใช้งานปลอมต่างก็ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อแพร่กระจายข้อมูลที่ผิดหรือข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับผู้สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดี เกี่ยวกับประเด็นที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งครั้งนี้ และกระทั่งข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับกระบวนการการเลือกตั้งเอง อย่างเช่น การอ้างว่าผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้จะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยเครื่องมือ RT-PCR แล้วพบว่าผลเป็นลบเสียก่อนถึงจะสามารถลงคะแนนได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด มีเป้าหมายต้องการทำให้คนไม่อยากไปเลือกตั้ง อีกทั้งยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากงงว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงกันแน่ ทำให้ยากขึ้นในการที่ประชาชนจะลงคะแนนเสียงโดยอาศัยข้อมูลในการตัดสินใจ

นอกจากนี้ยังมีปฏิบัติการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนในแบบที่เป็นอันตราย เช่นมีการกล่าวหาบุคคลต่างๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธคอมมิวนิสต์ที่ชื่อ นิวส์พีเพิลอาร์มี ชาวฟิลิปปินส์เรียกวิธีการแบบนี้ว่าเป็น "การแปะป้ายสีแดง" ซึ่งทางรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำการรวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ พบว่ามีวิธีการป้ายสีเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นในฟิลิปปินส์

ผลกระทบที่เกิดตามมาจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเช่นนี้มักจะเลวร้าย จากข้อมูลของรายงานของสหประชาชาติปี 2563 ระบุว่าข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้ไม่เพียงแค่มันส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งเท่านั้น แต่มันยังส่งผลให้เกิดการข่มขู่คุกคาม, การทำร้ายร่างกาย, การอุ้มหาย หรือกระทั่งการฆาตกรรมบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อด้วย

เรื่องแบบนี้นอกจากจะเกิดในฟิลิปปินส์แล้วยังเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ของโลก เช่นในสหรัฐฯ มีกลุ่มทฤษฎีสมคบคิดที่เรียกว่า QAnon ที่คอยป้ายสีและก่อกวนประเด็นถกเถียงอภิปรายต่างๆ ในสหรัฐฯ ในพม่าก็มีกลุ่มชาตินิยมจัดที่ใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อสร้างวาทกรรมต่อต้านชาวมุสลิม ส่งอิทธิพลให้มีการใช้ความรุนแรงอย่างหนักต่อกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา นอกจากนี้ในประเทศยุโรปหลายประเทศปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบิดเบือนเช่นนี้ก็ช่วยทำให้ฝ่ายขวาจัดรุกคืบทางการเมืองได้สำเร็จ และเมื่อไม่นานนี้ก็มีกรณีที่รัฐบาลรัสเซียใช้ข้อมูลบิดเบือนในการสร้างความชอบธรรมให้กับการรุกรานยูเครน

Mu Sochua ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเหล่านี้มีต้นเหตุมาจากโมเดลทางธุรกิจของบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่มีระบบการกรองเนื้อหาด้วยอัลกอริทึมที่ออกแบบมาเพื่อให้มีเน้นยอดคลิกและเรียกร้องความสนใจ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งานแล้วทำกำไรด้วยการขายต่อข้อมูลผู้ใช้งานเหล่านี้ให้กับบริษัทโฆษณา และสิ่งที่เรียกร้องความสนใจผู้คนได้ก็มักจะเป็นพวกสิ่งเน้นกระตุ้นเร้าอารมณ์และความรู้สึกรุนแรงแทนที่จะเป็นเนื้อหาเชิงข้อมูลที่อิงกับหลักข้อเท็จจริง ดังนั้นมันจึงทำให้ข้อมูลบิดเบือน, แนวคิดหัวรุนแรง และการแบ่งแยกของผู้คนรุนแรงมากขึ้น

จากการที่ข้อมูลบิดเบือนในโลกโซเชียลเหล่านี้สร้างปัญหาต่อประชาธิปไตย ทำให้ Mu Sochua มองว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องใช้กฎและมาตรฐานใหม่ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก, TikTok, ทวิตเตอร์ หาผลกำไรจากความเสียหายของประชาชนและหันมาให้การคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ควรมีการให้การคุ้มครองใหม่ๆ ต่อข้อมูลของผู้ใช้งาน กำกับให้มีความโปร่งใสในเรื่องการโฆษณาทางการเมืองบนพื้นที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ และหามาตรการต่อต้านวาจาปลุกปั่นความเกลียดชังที่เรียกว่า "เฮทสปีช"

Mu Sochua เสนอว่ามาตรการใหม่ๆ นี้ควรทำไปพร้อมกับโครงการให้ความรู้แก่ผู้คนเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตรวจสอบข้อเท็จจริง แยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นข้อมูลที่ผิด และยับยั้งไม่เผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นต่อ ทั้งนี้ยังควรส่งเสริมสื่อสาธารณะที่ทำให้ทุกคนสามารถดำเนินกิจกรรมและอภิปรายเรื่องต่างๆ ได้โดยตั้งอยู่บนชุดความคิดข้อเท็จจริงที่แม่นยำ

"ปรากฏการณ์ที่มีปฏิบัติการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เป็นปัญหาที่ควรจะต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อทำให้ประชาธิปไตยอยู่รอดได้ ทั้งในฟิลิปปินส์และในที่อื่นๆ" Mu Sochua กล่าว

มาเรีย เรสซา ซีอีโอของสื่ออิสระฟิลิปปินส์ Rappler ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2564 เคยกล่าวไว้ว่า "คุณไม่สามารถมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้ถ้าหากปราศจากข้อเท็จจริงที่ซื่อตรง"

 

เรียบเรียงจาก

Disinformation Poses a Grave Threat to Democracy in the Philippines, Mu Sochua, The Diplomat, 04-05-2022

Poll : 2002 Elections : Presidential Preference By Location, Pulse Asia, 02-05-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net