Skip to main content
sharethis

ประชาชน 13,839 ราย ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองพร้อมขอให้ศาลพิจารณาอย่างเที่ยงตรงและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน "ทิชา" ชี้การต้องปล่อยให้ 'บุ้ง-ใบปอ' ต้องเรียกร้องความยุติธรรมด้วยชีวิตเป็นราคาที่แพงเกินไป

ภาพโดย กันต์ แสงทอง

1 ส.ค.2565 ที่ศาลฎีกา กลุ่มประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องขอให้ศาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองบนเว็บไซต์ change.org มาเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานศาลฎีกา โดยมีสุชาติ สวัสดิ์ศรี ทิชา ณ นคร วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมมาร่วมด้วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจำนวนรายชื่อที่สามารถรวบรวมมาได้มีทั้งหมด 13,839 คน โดยในการยื่นหนังสือครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ทางกลุ่มที่มาไปมอบหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนทางด้านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

ภาพโดย Chana La

ทิชา ณ นคร กล่าวว่า คนเหล่านี้รวมถึงพวกเราทุกคนที่มาไม่ได้ดื้อแพ่งต่อรัฐ แต่อยากให้ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูยที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเขียนไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาผู้ต้องหาก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และการที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเคารพกฎหมายก็คือการส่งสัญญาที่ชัดเจนว่าประชาชนจะเคารพกฎหมายได้ถ้าต่างฝ่ายต่างเคารพกฎหมาย ถ้าไม่มีความยุติธรรมก็จะไม่มีสันติภาพ

“เชื่อว่าเราไม่ต้องจ่ายแพงถึงขั้นให้บุ้งและใบปอต้องเสียชีวิตไปจากความเจ็บป่วยจากการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นราคาที่เราจ่ายแพงจนเกินไปและไม่ควรจะถึงวันนั้น ก็อยากให้ผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมรับรู้ว่านี่ไม่ใช่การดื้อแพ่งของประชาชนแต่คือการเดินตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่พวกคุณเป็นคนเขียนกัน ประเทศนี้ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองแต่เราไม่เคยใช้มันเพื่อปกป้องผู้คนในเประเทศนี้ เราหวังว่าบุ้งและใบจะไม่เป็นเหยื่อของรัฐธรรมนูญจอมปลอม”

ทิชากล่าวต่อว่ายังหวังว่าประธานศาลฎีกาที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะคิดถึงเรื่องนี้แล้วก็นำไปทบทวน

สุชาติกล่าวหลังจากได้มอบหนังสือให้ตัวแทนศาลแล้วว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เห็นความผิดปกติที่ศาลควรจะต้องพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชนและเป็นสากลที่จะต้องให้สิทธิประกันตัวที่เป็นสิทธิพื้นฐานจนกว่าจะกว่าจะมีการตัดสินจึงจะเอาตัวไปจำขัง แต่ตอนนี้เป็นการเอาตัวไปจำขังโดยไม่มีกำหนดเวลาทั้งที่ทนายความได้ขอประกันตัวหลายครั้งแต่ได้รับแต่เหตุผลเดิมๆ อย่างการระบุว่าไม่มีเหตุผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ภาพโดย Chana La

“มันผิดกฎหมาย เรามาวันนี้ก็เพื่อให้ผู้พิพากษาทำตามกฎหมาย และนิติรัฐ(Rule by Law) คือหมายความว่าจะต้องพิจารณาตามตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิจารณากฎหมายตามอำเภอใจ ที่เรามาเพราะรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติก็เกรงว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมเพราะความตายนั้นรอไม่ได้คนที่อดอาหารมา 60 วันกลไกในร่างกายนั้นเสียหายไปแล้ว ผมก็เป็นห่วง”

สุชาติกล่าวต่อว่า ทั้งประเด็นที่เนติพรและณัฐนิชออกมาเรียกร้องนั้นก็เพื่อให้ทำให้ยังคงอยู่ได้อย่างสง่างามและเปิดเผย พวกเธอไม่ได้ไปก่อการร้ายเพียงแค่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะใช้เสรีภาพการแสดงออกอย่างสุภาพแต่ก็ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายครอบจักรวาลมาใช้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้มาตลอด

“การปฏิรูปสำหรับผมคือการสร้างให้ดีขึ้น ทำให้ดีขึ้น ทำให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ไม่ได้หมายถึงการล้มล้างอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่าการปฏิรูปหรือคนที่มาเคลื่อนไหวมีเครือข่ายเพื่อที่จะล้มล้าง การปฏิรูปสถาบันคือการล้มล้างสถาบันมันเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นตัวอย่างการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทุกคนที่เคลื่อนไหวมาตอลดช่วงสามปีที่ผ่านมาทำอย่างเปิดเผยกระทำอย่างสุจริตใจ”

“ขอศาลยืนหยัดข้างประชาชน #ปล่อยบุ้งใบปอ และนักโทษการเมือง”

โดยคณะบรรณาธิการ, นักเขียน, นักวิชาการ, นักศึกษา, นักสิทธิมนุษยชน, ศิลปิน, และประชาชน

เรียน พี่น้องสื่อมวลชน

ตามที่ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังทำโพลสำรวจความคิดเห็น ตั้งคำถาม “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ?" จนเป็นเหตุให้ทั้งสองถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ต่อมาทั้งสองได้แสดงจุดยืนต่อศาลที่มีคำสั่งไม่ให้สิทธิประกันตัวโดยการอดอาหาร และในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นี้ทั้งใบปอ และบุ้ง อดอาหารรวมแล้ว 61 วัน และถูกคุมขัง 91 วัน

ร่างกายของทั้งสองเผชิญอาการวิกฤต กล่าวคือ ขณะนี้บุ้งมีภาวะโพแทสเซียมต่ำจนอาจเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอาจตายเฉียบพลันและหัวใจวายได้ บุ้งถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลางดึกถึงสองครั้งด้วยอาการหมดสติ หายใจเองปกติไม่สะดวกต้องหายใจทางปากร่วมด้วย

ส่วนใบปอที่อายุเพียง 20 ปี และกำลังศึกษาอยู่ปีการศึกษาที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่สามารถประคองตัวเองเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกแล้ว ต้องมีผู้ช่วยพยุง ปวดแสบท้องและอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งการถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมกว่าสามเดือนยังส่งผลให้ใบปอต้องขาดสอบและกำลังจะพ้นสถานะนักศึกษา

คณะทนายความได้ยื่นประกันตัวทั้งสองมาแล้ว 7 ครั้ง ทว่าศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยมีใจความสำคัญ เช่น

ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสุขภาพทรุดโทรมจนอาจถึงอันตรายแก่ชีวิต, โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์ที่สามารถดูแลและรักษาผู้ต้องขังที่ป่วยได้อย่างดีอยู่แล้ว, สุขภาพโดยรวมของจำเลยทั้งสองยังเป็นปกติตามบันทึกข้อความของแพทย์ผู้ตรวจรักษา, กรณียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง ทั้งๆ ที่พยาบาลผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เบิกความต่อศาลยืนยันว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจรักษายังโรงพยาบาลข้างนอก

นอกจากบุ้งและใบปอ ยังมีศึกษาและประชาชนไม่ต่ำกว่า 31 คนที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมในขณะนี้ เราเห็นว่าศาลพึงยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ได้บัญญัติรับรองสิทธิว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

การใช้ดุลพินิจของศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีใดควรเที่ยงตรงด้วยเกียรติของข้าราชการตุลาการและดำรงสถานะกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ศาลพึงยึดมั่นหลักการที่เชื่อว่าผู้ต้องหาต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกตัดสินว่ามีความผิด และให้สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเป็นธรรม ไม่สองมาตรฐานกับคดีการเมือง ไม่ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ศาลยืนหยัดนำพาเหล่าผู้พิพากษาคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เห็นเป็นประจักษ์อย่างก

ล้าหาญและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวบุ้ง, ใบปอ, และนักโทษการเมืองทุกคนที่คดียังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ทุกการตัดสินใจและคำวินิจฉัยของท่านจะได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ของประเทศชาติและประวัติศาสตร์ของสถาบันตุลาการต่อไป

และเราอยากขอเชิญพี่น้องสื่อมวลชนเป็นพยานการเรียกร้องหลักการปล่อยตัวชั่วคราวนี้ต่อศาลใน วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00-10.30 น. ซึ่งคณะบรรณาธิการ, นักวิชาการ, นักศึกษา, นักสิทธิมนุษยชน, ศิลปิน, และประชาชนจะนำ 15,000+ รายชื่อประชาชนจากแคมเปญ “ขอศาลยืนหยัดข้างประชาชน #ปล่อยบุ้งใบปอ และนักโทษการเมือง” บน Change.org/FreeOurFriends2022 และจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อนางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา (หรือตัวแทน) ณ สำนักงานประธานศาลฎีกา (สนามหลวง) จากนั้นคณะบรรณาธิการ, นักวิชาการ, นักเขียน, นักศึกษา, นักสิทธิมนุษยชน, ศิลปิน, และประชาชนที่ไปร่วมยื่นรายชื่อจะแถลงข่าวร่วมกัน

ทั้งนี้ในวันและเวลาดังกล่าวจะมีผู้ไปร่วมยื่นรายชื่อดังนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วชิระ บัวสนธ์, อธิคม คุณาวุฒิ, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, อ.อันธิฌา แสงชัย, สันติสุข กาญจนประกร, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ทิชา ณ นคร, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, สนานจิตต์ บางสะพาน, กลุ่มกวีราษฎร, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, และประชาชน เราจึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวในวันเวลาดังกล่าว

ด้วยความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เกียรติของสถาบันตุลาการ

และพลังในการเป็นประจักษ์พยานของสื่อมวลชน

คณะบรรณาธิการ, นักเขียน, นักวิชาการ

นักศึกษา, นักสิทธิมนุษยชน, ศิลปิน, และประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net