Skip to main content
sharethis

 

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกมาเปิดกำหนดการทำงานเตรียมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทำให้เห็นหมุดหมายสำคัญทางการเมืองในเชิงสถาบัน โดยเฉพาะจากนี้อีก 10 เดือนข้างหน้าก่อนได้รัฐบาลชุดใหม่

เตรียมแผนเลือกตั้งของ กกต. กรณีสภาที่ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.66 ดังนี้

  • 31 มี.ค. 2566 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัคร
  • 3-7 เม.ย.2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
  • 11 เม.ย.2566 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • 14 เม.ย.2566 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.
  • 16 เม.ย.2566 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
  • 26 เม.ย.2566 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ
  • 30 เม.ย.2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
  • 1-6 พ.ค. 2566 เป็นระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยวันที่ 1 พ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • 3 พ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร
  • 6 พ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
  • 7 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งส.ส.เป็น การเลือกตั้งทั่วไป
  • 8-14 พ.ค. 2566 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

จากแผนเลือกตั้งของ กกต.ดังกล่าวเท่ากับ 6 ก.ค. 66 จะถือเป็นว่าที่ช้าสุดที่กกต. ต้องประกาศผลเลือกตั้ง เนื่องจากต้องประกาศภายใน 60 วัน หลังวันเลือกตั้ง ตาม ม.127 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จากนั้น 21 ก.ค.66 เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ ม.121 ระบุไว้ว่า ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก 

นอกจากนี้ยังมีหมุดหมายสำคัญอีก กรณีสภาฯอยู่ครบอายุ (23 มี.ค. 66)  คือ 24 ก.ย. นี้ เริ่มช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้งหากมีค่าใช้จ่ายต้องยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายในการเลือกตั้งด้วย

ขณะที่ 30 ก.ย. 65 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี นายก 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ซึ่งหากประยุทธ์หลุด ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) โหวตจากแคนดิเดตนายกฯ ที่เหลืออยู่คือ ชัยเกษม นิติสิริ อนุทิน ชาญวีรกูลและอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ให้สมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีได้ โดยต้องใช้มติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือ 484 คน อย่างไรก็ตามนายกฯ ใหม่นี้มีวาระถึง 23 มี.ค. 66 เช่นกัน

18-19 พ.ย. 65 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022)  ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ  และรักษาการนายกฯ เคยระบุว่าหลังประชุมเอเปคถือว่าเหมาะสมในการยุบสภา หากมีการยุบสภา ส.ส.ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง และการเลือกตั้งตั้งจัดภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

หมายเหตุ : วันที่ 24 ก.ย.2565 เวลา 19.50 น. ประชาไทดำเนินการปรับแก้ข้อมูลในกราฟิก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net