Skip to main content
sharethis

สปสช. จัดกิจกรรม “19 พ.ย. 65 วันสถาปนาฯ ครบรอบ 20 ปี ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3” “หมอจเด็จ” ประกาศเดินหน้าหลักประกันสุขภาพไม่ใช่ระบบประกัน แต่คือการสร้างความมั่นคงสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน ขณะที่ “หมอวินัย-หมอศักดิ์ชัย” อดีต เลขาธิการ สปสช.ย้ำภูมิใจร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

21 พ.ย. 2565 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงาน “วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี ปีนี้ครบรอบปีที่ 20 ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานและวางพวงมาลัยรูป นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.คนแรกและเป็นผู้ผลักดันการก่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา อดีตเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยอดีตผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

ในปีนี้ พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ร่วมแสดงธรรมเทศนา เรื่อง “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู คุณธรรม สู่ความเบิกบานงาน และสำราญในชีวิต”  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า วันนี้ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เดินทางมาถึงปีที่ 20 แล้ว และกำลังก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 3 ในการทำหน้าที่ดูแลสิทธิสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับคนไทยทุกคน ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความหมายสอดคล้องกับ “Universal health coverage” ซึ่งในการร่วมประชุมเวทีต่างประเทศมีคำถามว่า ทำไมไทยจึงใช้คำว่า Security (ความมั่นคง) ไม่ใช้ Insurance (ประกัน) เหมือนที่ต่างประเทศใช้กัน เหตุผลในเรื่องนี้ก็เนื่องจาก นพ.สงวนมีวิสัยทัศน์ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่อยากให้เป็นแค่เรื่องของระบบประกัน แต่เป็นการมุ่งสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความยั่งยืน โดย สปสช.จะยังคงยึดการขับเคลื่อนตามทิศทางนี้ต่อไป  

ด้าน นพ.วินัย กล่าวว่า เมื่อมองกลับมาที่ สปสช. และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่และทุกครั้งต้องนึกถึง นพ.สงวน ในฐานะผู้ที่ผลักดันทุกทาง เพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งบทบาท สปสช. คือเป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพและเรื่องสุขภาพก็ไม่มีวันจบสิ้น ทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้หมายความว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ดังนั้นเมื่อ สปสช. ทำหน้าที่ลดอุปสรรคทางการเงินแล้ว หากเราต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการก็ต้องทำในมิติอื่นเพิ่มเติม ทั้งปัญหาอุปกรณ์และเครืองมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในอนาคตจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นบทบาท สปสช. จะไม่มีวันลดลงและจะมีกลไกที่ช่วยให้เข้าถึงบริการเพิ่มเติม และในอีก 20 ปี สปสช. จะยังคงทำหน้าที่นี้ต่อไป โดยจะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น   

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า มี 3 สิ่ง ที่เป็นความภาคภูมิใจและต้องบอกคน สปสช. คือ 1. การได้มาทำงานที่นี่ทำให้ได้อยู่ท่ามกลางผู้ที่เป็นพหูสูตรซึ่งได้สร้างนวัตกรรมทางสังคม หลักประกันสุภาพแห่งชาติต้องบอกว่าเป็นระบบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ทำให้คนไทยมีหลักประกันสุขภาพ 2.วิสัยทัศน์ขับเคลื่อน สปสช. ตั้งแต่เริ่มต้นเรายึดหลักการเพื่อให้ “ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับการคุ้มครองสุขภาพ” จนถึงวันนี้ 20 ปี ถึงสมัยของ นพ.จเด็จ  สปสช.เองไม่เคยเปลี่ยนแปลงยังคงเดินหน้าหลักการเดิม สะท้อนถึงความตั้งใจ และ 3.การขับเคลื่อนจากนี้ ด้วยระบบบริการวันนี้เรามาถึงจุดที่เพิ่มเติมได้น้อยมาก เพราะ สปสช.ได้ทำให้เกิดความคุ้มครองและทั่วถึง มีเพียงในพื้นที่ กทม. ที่ยังต้องทำเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามเพื่อทำประชาชนให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น สปสช. ต้องดึงผู้เล่นใหม่ โดยเฉพาะท้องถิ่นเข้ามาร่วมดูแลสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยทั้งหมดต้องเดินไปด้วยกัน    

ทั้งนี้ในช่วงบ่าย นพ.จเด็จ ได้นำผู้บริหารและบุคลากร สปสช. ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตและประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรคุณธรรมต้นแบบประจำปี 2566 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระทรวงวัฒนธรรม ตามหลัก "คุณธรรมนำการพัฒนา" ภายใต้คุณธรรมเป้าหมาย "พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู" จาก "ปัญหาที่อยากแก้" และ "ความดีที่อยากทำ" ดังนี้ 

ปัญหาที่อยากแก้ 1. การใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอในการบริหารและจัดการกับปัญหาอุปสรรค 2. การสร้างภูมิคุ้มกันในการบริหารองค์กรในด้านงบประมาณให้มีความยั่งยืน 3. การส่งเสริมบุคลากรให้มีสำนึกดีมีคุณธรรม ปฏิบัติตามวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร 

ความดีที่อยากทำ 1. การปฏิบัติตามระเบียบวินัยของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด 2. การปฏิบัติจิตอาสา เสียสละเพื่อผู้อื่น และสังคม 3. การกตัญญู สำนึกความดี ส่งเสริมคนดีมีความสามารถ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net