Skip to main content
sharethis

แม้อาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ในจีน จะมีอิทธิพลคล้ายกับผู้นำลัทธิ แต่ลักษณะงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการทำงานซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่องเพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ เป็นงานที่ต้องใช้พลังงานสูง หนำซ้ำไม่มีสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นทางการ บ่อยครั้งต้องเผชิญกับปัญหาถูกเบี้ยวค่าแรง

แม้อาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' จะมีอิทธิพลคล้ายกับผู้นำลัทธิ แต่ลักษณะงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก | ที่มาภาพ: ดัดแปลงจาก baidu (อ้างใน china.org.cn)

ในประเทศจีนอาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' (Live Streamer) เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับแรงงานแพลตฟอร์มประเภทอื่นๆ คนทำงานไลฟ์สตรีมเมอร์เหล่านี้มักไม่มีสัญญาจ้างงาน เสี่ยงต่อการทำงานระยะเวลายาวนาน สภาพการทำงานที่เลวร้าย ค่าจ้างต่ำ หรือหนำซ้ำอาจจะไม่ได้รับค่าจ้างเลย

ผู้บริโภคจำนวนมากในจีนชอบดูไลฟ์สตรีมเมอร์ที่พวกเขาชื่นชอบสาธิตผลิตภัณฑ์แก่ผู้ชมแบบสดๆ แม้พวกเขาจะมีอิทธิพลคล้ายกับผู้นำลัทธิ แต่ลักษณะงานนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยทั่วไปแล้วไลฟ์สตรีมเมอร์เหล่านี้จะได้รับการว่าจ้างจากบริษัทตัวกลางให้โปรโมตผลิตภัณฑ์และแบรนด์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เช่น Taobao โดยเฉพาะช่วงเทศกาลช้อปปิ้งต่างๆ ในจีน ที่แต่ละบริษัทจะกระหน่ำเสนอส่วนลดเพื่อกระตุ้นยอดขาย

เทศกาลวันคนโสดครั้งล่าสุด (11 พ.ย. 2565) ย้ำถึงการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในจีน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การปลดพนักงานด้านเทคโนโลยี และการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การชะลอตัวเห็นได้จากการที่บริษัทอีคอมเมิร์ซพยายามปกปิดรายได้ที่ตกต่ำในฤดูกาลนี้ พยายามเพิ่มระยะเวลากระตุ้นการจับจ่ายที่ยาวนานกว่าที่เคย และการเปิดเผยปริมาณธุรกรรมที่น้อยลง

ยักษ์ใหญ่ในวงการทั้ง Alibaba และ JD ไม่เปิดเผยตัวเลขยอดขายวันคนโสดในปีนี้ แต่มีการคาดการณ์ว่ารายรับจะอยู่ที่ 965.12 พันล้านหยวน อัตราการเพิ่มขึ้นต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายปี เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

สภาพแวดล้อมเช่นนี้กลับเพิ่มการแข่งขันในการจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์เพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัท ประกอบกับในเวลาที่พนักงานประจำในจีนก็กำลังมองหางานพาร์ทไทม์มากขึ้นโดยเฉพาะงานแพลตฟอร์มเพื่อหารายได้ อย่างไรก็ตาม คนทำงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบในการยืนยันสิทธิแรงงานของพวกเขา และเรื่องราวของพวกเขาก็เผยให้เห็นถึงความเปราะบางจากการถูกแสวงประโยชน์ ในระบบเศรษฐกิจแบบ Gig Economy

สภาพการทำงานและค่าจ้างของไลฟ์สตรีมเมอร์


งานของ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ต้องไลฟ์สดต่อเนื่องครั้งละหลายชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก ทำกะยาวหลายครั้งต่อวัน หรือดึกในคืนหนึ่งและเช้าตรู่ของวันถัดไป | ที่มาภาพประกอบ: 遊戲大亂鬥

อาชีพไลฟ์สตรีมเมอร์สามารถสร้างรายได้มากกว่า 10,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในเขตเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพวกเขาต้องไลฟ์สดต่อเนื่องครั้งละหลายชั่วโมงโดยไม่มีการหยุดพัก ทำกะยาวหลายครั้งต่อวัน หรือดึกในคืนหนึ่งและเช้าตรู่ของวันถัดไป เป็นต้น

โฆษณารับสมัครไลฟ์สตรีมเมอร์ในบทความใน Jiemian ระบุว่า:

"เงินเดือนสูงสำหรับงานไลฟ์สดจายเสื้อผ้าสตรี, ไลฟ์สด 5-6 ชั่วโมง, ทำงานจากระยะไกล, เงินเดือนเต็มเวลา 15,000-40,000 หยวนต่อเดือน พาร์ทไทม์ 150-300 หยวนต่อชั่วโมง"

บทความนี้ยังอธิบายว่าในช่วงวันคนโสด ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 หยวนต่อชั่วโมง รวมทั้งเวลาที่ไลฟ์สดก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ไลฟ์สตรีมเมอร์รายหนึ่งสัมภาษณ์กับ Jiemian ยืนยันว่า:

"โดยทั่วไปแล้วการไลฟ์สดจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ มี 2-3 กะต่อวัน และมีห้องไลฟ์สดที่แตกต่างกันในช่วงเช้าและบ่าย ซึ่งการทำงานลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

เอเจนซีประสบปัญหาในการว่าจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการของแพลตฟอร์มในฤดูกาลชอปปิ้งนี้ บริษัทแห่งหนึ่งจ้างไลฟ์สตรีมเมอร์พาร์ทไทม์ 50 คน โดยติดต่อสมาคมอุตสาหกรรม โรงเรียน และที่อื่นๆ

ผู้จัดการการไลฟ์สดอธิบายการตั้งทีมสำหรับการไลฟ์ขายสินค้าในช่วงวันคนโสดว่าสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางต้องใช้ไลฟ์สตรีมเมอร์หนึ่งหรือสองคนพร้อมผู้ช่วยด้านเทคนิค ซึ่งหมายถึงค่าแรงประมาณ 10,000 หยวน และค่าใช้จ่ายในการไลฟ์สดทั้งหมดอาจสูงถึง 100,000 หยวน

สำหรับทีมไลฟ์สดรูปแบบนี้ การทำงานของไลฟ์สตรีมเมอร์เปรียบเสมือน “การทำซ้ำ” เพื่อโปรโมตผลิตภัณฑ์ การทำงานซ้ำๆ กันอย่างต่อเนื่อง เป็นงานที่ต้องใช้พลังงานสูงนี้ เป็นการยากสำหรับคนทำงานเหล่านี้ที่จะทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังนั้นการหมุนเวียนเข้าออกของไลฟ์สตรีมเมอร์ในอุตสาหกรรมจึงมีสูง

ความท้าทายด้านสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีม

มีความท้าทายด้านสิทธิแรงงานพบได้ทั่วไปในหมู่คนทำงานในอุตสาหกรรมแพลตฟอร์ม เช่น ไม่มีสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นทางการ ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนระหว่างคนทำงาน เอเจนซี่ แบรนด์ และแพลตฟอร์ม ดังนั้น คนทำงานจึงเผชิญกับปัญหาการค้างชำระค่าจ้าง ซึ่งบ่อยครั้งยากที่ระบุว่าใครต้องมีหน้าที่รับผิดชอบจ่ายเงินค่าจ้างให้พวกเขา

และหากไม่มีการคุ้มครองแรงงานตามปกติ ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจะนำไปสู่ความเหน็ดเหนื่อยและอาจถึงแก่ชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น ไลฟ์สตรีมเมอร์วัย 22 ปีในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เสียชีวิตกะทันหันในเดือน ส.ค. 2565 หลังจากทำงานล่วงเวลาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในอีกกรณีหนึ่ง ไลฟ์สตรีมเมอร์ในเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน บอกกับสื่อเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอที่ถูกผู้ว่าจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง เธอบอกว่าแม้จะไม่ได้รับเงินเดือน แต่เธอก็ยังต้องติดตามหัวหน้างานเพื่อไปพบลูกค้าใหม่ เนื่องจากไม่มีการเซ็นสัญญาจ้างงาน เธอจึงไม่ทราบชื่อบริษัทต้นสังกัดที่แท้จริงที่เธอทำงานให้

ในเดือน ก.ย. 2565 มีการรายงานบริษัทสื่อแห่งหนึ่งไปยังกระดานข้อความของเลขาธิการพรรคประจำมณฑลส่านซี โพสต์ออนไลน์ระบุถึงเรื่องการค้างค่าจ้างและคำเตือนแก่คนอื่นๆ :

"บริษัทนี้รับผู้หญิงสาวทุกประเภท แม้แต่ผู้เยาว์ที่มีประสบการณ์ทางโลกเพียงเล็กน้อย และล่อลวงให้พวกเธอทำงาน แต่บริษัทกลับไม่จ่ายค่าจ้าง หัก ณ ที่จ่ายโดยไม่มีเหตุผล"

เนื่องจากบริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนยังคงเติบโตและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากขึ้น ภาคส่วนใหม่ของเศรษฐกิจจึงถูกสร้างขึ้น นอกเหนือจากพนักงานส่งของที่มักให้ความสำคัญกับวันคนโสดแล้ว ไลฟ์สตรีมเมอร์ นายแบบ นางแบบ ผู้ดูแลระบบ และทีมขายยังได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ด้านสิทธิแรงงานในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอีกด้วย

ชะตากรรมของคนทำงานดังกล่าวที่มา ขาดการคุ้มครองแรงงานตามสมควร และได้รับความสนใจมากขึ้นจากหน่วยงานแรงงานในท้องถิ่นและสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการของจีน รวมถึงจากประชาชนทั่วไปที่บริโภคเนื้อหาสตรีมสดและซื้อของจากแพลตฟอร์มและแบรนด์ต่างๆ


ที่มา
China’s livestream hosts are vulnerable to labour rights violations as workers in the gig economy (China Labour Bulletin, 18 November 2022)


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net