Skip to main content
sharethis

ชาวเม็กซิกันร่วมแสนคนออกมารวมตัวประท้วงที่จัตุรัสกลางเมืองใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อต่อต้านกฎหมายปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฉบับใหม่ที่ตัดลดงบ กกต. กว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หวั่นทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีหน้าติดขัด ขาดความคล่องตัว และเอื้อประโยชน์ให้พรรครัฐบาล ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดให้พิจารณาว่าการออกกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

  • ชาวเม็กซิกันกว่า 100,000 คนออกมาประท้วงต่อต้านการออกกฎหมายปฏิรูป กกต. ของรัฐบาลที่ตัดลดงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ กกต. ต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปกว่า 85% จนอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งถัดไปที่จะมีขึ้นในปี 2567
  • อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเม็กซิโกถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ชุมนุมว่าออกกฎหมายทำลายหลักการประชาธิปไตยของประเทศ หลังพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดการ กกต. มาแล้วก่อนหน้านี้แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเสียงในสภาไม่พอ
  • ผลสำรวจ ชี้ ชาวเม็กซิกันกว่าร้อยละ 60 ยังคงชื่นชอบผลงาน กกต. และมองว่าเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาธิปไตยของประเทศก้าวหน้าอย่างมาก นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติในทศวรรษที่ 2000
  • สื่อต่างประเทศเปิดปมขัดแย้งระหว่างโลเปซ โอบราดอร์ กับ กกต. ในอดีต โดยเขากล่าวหาว่า กกต. ทำให้ตนเองแพ้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ.2549 จนนำมาสู่นโยบายปฏิรูปการเลือกตั้งในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งในอนาคต

ประชาชนชาวเม็กซิกันนับแสนคนออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสโซคาโลซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงต่อต้านการออกกฎหมายปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของรัฐบาลประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ซึ่งประชาชนมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นภัยต่อประชาธิปไตยและอาจนำพาประเทศกลับสู่ความเป็นเผด็จการในอดีตที่รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งทุกกระบวนการ

จตุรัสกลางเมืองเม็กซิโกซิตี้ซึ่งเป็นสถานที่จัดชุมนุมประท้วงอยู่ใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดี สามารถจุคนได้ประมาณ 100,000 คน แต่ภาพถ่ายมุมสูงเผยให้เห็นว่าจำนวนประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมมีมากจนล้นออกไปยังถนนโดยรอบ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งจึงประเมินว่าผู้เข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้มีจำนวนมากกว่า 100,000 คน ด้านผู้จัดการประท้วงซึ่งรวมถึง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านระบุว่าการประท้วงในวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมถึง 500,000 คน ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นกรุงเม็กซิโกซิตี้ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดีระบุว่ามีผู้ชุมนุมเพียง 90,000 คน

ย้อนกลับไปวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐสภาซึ่งนำโดย ส.ส.พรรครัฐบาลของประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ มีมติอนุมัติกฎหมายปฏิรูป กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระผู้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและตรวจสอบพรรคการเมือง หนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายปฏิรูปฉบับนี้คือการตัดลดงบของ กกต. ซึ่งประธานาธิบดีเม็กซิโกระบุว่าเขาจะตัดลดงบประมาณรายปีของ กกต. จำนวน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐและนำงบประมาณส่วนดังกล่าวไปใช้ในระบบสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน โดยกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับรองและอนุมัติทั้ง 2 สภา จึงถือว่ามีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวหาว่า กกต. เป็นองค์กรที่ทุจริต ล้าหลัง และไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ และประชาชน ตั้งข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายปฏิรูปของรัฐบาลที่ผ่านสภาก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้าในปี 2567

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิในเม็กซิโกเปิดเผยต่อสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ว่าการออกกฎหมายปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งของประธานาธิบดีคนปัจจุบันทำให้ความน่าเชื่อถือด้านประชาธิปไตยของเม็กซิโกอยู่ในความเสี่ยง แม้ว่าประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์จะมาจากพรรค MORENA ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนกลาง-ซ้ายก็ตาม ทั้งนี้ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิได้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดของเม็กซิโกเพื่อให้ศาลพิจารณาว่ากฎหมายปฏิรูป กกต. ของรัฐบาลผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผู้พิพากษาศาลสูงสุด 8 จาก 11 คนมีมติเห็นด้วยกับข้อโต้แย้ง จะถือว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้โดยทันที

กฎหมายปฏิรูป กกต. ก่อนเลือกตั้งของเม็กซิโกมีสาระสำคัญอะไรบ้าง

สาระสำคัญของกฎหมายปฏิรูป กกต. ของเม็กซิโกที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการตัดลดงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ใช้สนับสนุน กกต.  ซึ่งจะทำให้งบประมาณการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ กกต. ระดับท้องถิ่นลดลง และทำให้ กกต. ต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ระดับชำนาญการไปกว่าร้อยละ 85 การสูญเสียจำนวนเจ้าหน้าที่ส่งผลต่อการความสามารถในการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงประชาชนเพื่อสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดอบรมให้แก่พลเมืองเม็กซิกันที่ทำหน้าที่ดำเนินการ ตรวจสอบ และสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ณ จุดลงคะแนน

กกต. มองว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิพลเมืองและเป็นอันตรายต่อหลักการจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ กฎหมายปฏิรูป กกต. ยังผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สามารถแสดงบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งเอื้อต่อการทุจริตในการเลือกตั้งได้ง่าย

“ความพยายามในการจำกัดความสามารถของ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งโดยให้เหตุผลเรื่องการประหยัดงบประมาณเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก ส่วนใหญ่แล้ว คุณจะตัดงบขององค์กรอิสระในจำนวนมากเกินจนถึงขั้นสร้างผลกระทบแบบนี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ กกต. เป็นองค์กรอิสระที่มีความน่าเชื่อถือสูงมากในเม็กซิโก กกต. สามารถรักษาความเป็นอิสระไว้ได้อย่างมีนัยสำคัญและนี่คือสิ่งที่ทำให้ประชาชนชาวเม็กซิกันเชื่อและศรัทธาในการเลือกตั้ง” แอนดรูว์ รูดแมน ผู้อำนวยการบันเม็กซิโกศึกษาแห่งวิลสันเซ็นเตอร์ ศูนย์วิจัยด้านนโยบายแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Vox

สำนักข่าว Vox อธิบายเพิ่มเติมว่าความพยายามแก้ไขกฎหมายปฏิรูป กกต. ของรัฐบาลเม็กซิโกชุดปัจจุบันเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ ครั้งนี้ถือเป็นความพยายามครั้งที่สองของรัฐบาลซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ ที่จะใช้ขั้นตอนทางกฎหมายเข้ามาแทรกแซงและเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระซึ่งได้รับความเคารพอย่างมากในประเทศ

ประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ ใช้การโจมตี กกต. เป็นธีมหลักของนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และเขายังนำมาปฏิบัติจริงเมื่อชนะเลือกตั้งและเข้ารับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยในปีที่แล้ว เขาให้คำมั่นว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไปจนถึงปฏิรูประบบเลือกตั้ง แต่ความพยายามดังกล่าวถูกขัดขวางโดย ส.ส. ในสภาเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

ความพยายามครั้งแรกที่จะปฏิรูประบบการเลือกตั้งของประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ คือการเสนอร่างกฎหมายใหม่ให้ยกเลิก กกต. รูปแบบปัจจุบันและแทนที่ด้วยคณะกรรมการรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่จัดการและตรวจสอบการเลือกตั้งในระดับประเทศและระดับมลรัฐ มีกรรมการทั้งหมด 7 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่สมาชิกคณะกรรมการ 3 จาก 7 คนที่ลงสมัครเลือกตั้งแต่ต้องได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดี รัฐสภา และศาลสูงสุดก่อน

สำหรับ กกต. รูปแบบปัจจุบันของเม็กซิโก ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 11 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมาธิการเป็นผู้เสนอและต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปีซึ่งนานกว่าวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา (ประธานาธิบดีเม็กซิโกมีวาระ 6 ปีและไม่สามารถลงเลือกตั้งอีกได้) และต้องเป็นกลางทางการเมือง โดย กกต. ชุดปัจจุบันจำนวน 4 จาก 11 คนได้รับการแต่งตั้งในสมัยของประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์

แม้ว่าพรรค MORENA ของโลเปซ โอบราดอร์และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรคจะครองเสียงทั้งในสภาล่างและสภาสูง แต่การเสนอร่างกฎหมายยกเลิก กกต. และตั้งองค์กรอิสระใหม่ขึ้นมาแทนนั้นมีโอกาสล้มเหลวตั้งแต่ก่อนที่จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา เพราะกฎหมายดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส. ในสภา แต่จำนวนเสียง ส.ส. ของพรรครัฐบาลมีไม่ถึง

จากเหตุดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ต้องเสนอ ‘แผนสำรอง’ นั่นคือการเก็บ กกต. รูปแบบปัจจุบันไว้ แต่ใช้มาตรการทางกฎหมายแทรกแซงกระบวนการภายใน ตัดลดงบ และทำให้การดำเนินการของ กกต. ต้องสะดุด ซึ่งวิธีการแก้กฎหมาย กกต. ตามแผนสำรองจัดเป็นการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายตามปกติที่ใช้เพียงเสียงข้างมากในสภาเท่านั้น

ประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์และพรรคร่วมรัฐบาลระบุว่าการตัดลดงบของ กกต. เป็นการพยายามประหยัดงบประมาณแผ่นดินจำนวนหลายล้านเหรียญ ปรับปรุงองค์กรที่ขยายตัวจนอุ้ยอ้าย กำจัดหนทางอาจที่นำไปสู่การทุจริต และทำให้การเลือกตั้งง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงพลเมืองเม็กซิกันที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ โดยการตัดลบงบประมาณของ กกต. เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินซึ่งประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์มักกล่าวเสมอเมื่อพูดถึงวาระด้านเศรษฐกิจ พร้อมกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่ากรรมการระดับสูงของ กกต. บางคนได้เงินเดือนสูงกว่าประธานาธิบดี

“พวกเขา (กกต.) คือระบบราชการขนาดใหญ่ที่มีเงินเดือนสูงมากๆ การปฏิรูปบางส่วนนี้จะทำให้ขนาดขององค์กรลดลงเพื่อที่เราจะทำการใหญ่ได้โดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลง” เขากล่าวเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 หลังวุฒิสภาอนุมัติการแก้ไขร่างกฎหมายปฏิรูป กกต. ครั้งแรก

ทั้งนี้ สำนักข่าว NPR ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเม็กซิโกถือเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการจัดการเลือกตั้งเมื่อเทียบกับมาตรฐานการจัดการเลือกตั้งของนานาชาติ เพราะกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในหาเสียงทั้งหมด อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งยังเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวผู้ลงคะแนนแบบปลอดภัย ซึ่งเป็นรูปแบบการยืนยันตัวตนที่ได้รับการยอมรับในเม็กซิโก รวมถึงการเลือกตั้งนอกประเทศ และในพื้นที่อันตรายของประเทศ

‘กฎหมายปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ กัดกร่อนวิถีประชาธิปไตยของเม็กซิโก

แม้ว่าเหตุผลเรื่องการประหยัดงบจะเป็นเหตุผลกลางๆ ที่รับฟังได้ในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ กกต. แต่การแก้ไขกฎหมายนี้จะส่งผลต่อการตรวจสอบการเลือกตั้ง 2 แห่งในระดับมลรัฐซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

เสียงสะท้อนจากผู้ร่วมชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาของสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งระบุในทำนองเดียวกันว่าพวกเขากังวลว่ากฎหมายนี้จะนำพาประเทศย้อนกลับไปสู่ช่วงทศวรรษที่ 1970-80 ที่รัฐบาลพรรคปฏิรูปสถาบันหรือพรรคพีอาร์ไอ (Institutional Revolutionary Party) บริหารประเทศด้วยนโยบายประชานิยมและมีการทุจริตจำนวนมาก พร้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบันที่ประกาศตนเป็นพรรคการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตย แต่กลับกระชับความสัมพันธ์กับคิวบาซึ่งเป็นประเทศเผด็จการ

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังกังวลว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจมีความผิดพลาดในการนับคะแนน การใช้งบหาเสียงมากเกินความจำเป็น หรือการใช้กลยุทธ์เพื่อกดดันผลการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในเม็กซิโกก่อนเกิด กกต. ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงทศวรรษที่ 1990

แม้จะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนบางส่วนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูป กกต. เช่น เปโดร มิเกล นักข่าวจาก La Jornada หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์ของสหรัฐฯ ว่าเขาเห็นต่างจากผู้ชุมนุม เพราะ กกต. ของเม็กซิโกเป็นองค์กรที่ “มีอำนาจมากเกินและใช้อำนาจในทางที่ผิด” พร้อมวิพากษ์วิจารณ์การจ่ายโบนัสเป็นเงินจำนวนมหาศาลให้กับกรรมการที่ลงจากตำแหน่งไปแล้ว

“นี่คือการประท้วงเพื่อปกป้องเงินโบนัสและเงินเดือนแห่งความทุกข์ยากเหล่านั้น” มิเกลกล่าว

รายงานของ Vox ระบุว่าความนิยมของ กกต. เม็กซิโกเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2000 โดยผลสำรวจความนิยมล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วพบว่าประชาชนชาวเม็กซิกันกว่าร้อยละ 60 ยังคงพึงพอใจในการทำงานของ กกต. และมองว่า กกต. คือองค์กรที่สะท้อนภาพลักษณ์ประชาธิปไตยสมัยใหม่ของเม็กซิโก ก่อนหน้านี้ เม็กซิโกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการและคณะรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม จนกระทั่งใน พ.ศ.2543 พรรค PAN ซึ่งเป็นฝ่ายค้านและมีอุดมการณ์กลาง-ขวา ชนะเลือกตั้งทั่วไป ส่งผลให้วินเซนเต ฟอกซ์ ได้เป็นประธานาธิบดี และถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียวของพรรคพีอาร์ไอที่ยาวนานกว่า 70 ปี ประชาชนชาวเม็กซิกันมองว่าการเลือกตั้งในปี 2543 เป็นจุดเปลี่ยนของประชาธิปไตยในเม็กซิโก และมองว่าการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติเกิดขึ้นได้เพราะการดำเนินงานที่อิสระและเป็นกลางของ กกต.

 

โลเปซ โอบราดอร์ เงาแค้น กกต. หลังแพ้เลือกตั้งปี 2549

ก่อนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2561 โลเปซ โอบราดอร์พ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีถึง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2555 โดยรายงานของ Vox ระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2549 ถือเป็นปีที่ขมขื่นสำหรับโลเปซ โอบราดอร์ เพราะเขาแพ้เลือกตั้งแบบฉิวเฉียดด้วยคะแนนที่น้อยกว่าคู่แข่งไม่ถึง 1% ซึ่งเขากล่าวว่าตนเองถูก ‘ปล้นชัยชนะ’

โลเปซ โอบราดอร์ ดำรงดำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงเม็กซิโกซิตี้มาก่อนที่จะสมัครท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2549 และได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากจนหลายคนเชื่อว่าเขาจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่ในช่วงที่การหาเสียงเริ่มเข้มข้น โลเปซ โอบราดอร์เริ่มสร้างทฤษฎีสมคบคิดในการหาเสียง สร้างความหวาดระแวงเรื่องการโกงผลเลือกตั้ง และการใส่ ‘บัตรเขย่ง’ ลงในหีบบัตรเลือกตั้ง

ต่อมาในวันรุ่งขึ้นหลังวันเลือกตั้งที่มีการนับคะแนนอย่างเข้มข้น กกต. ประกาศให้เฟลิเป กัลเดรอน อิโนโฮซา จากพรรค PAN ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ฉิวเฉียด แม้ว่าโลเปซ โอบราดอร์ จะบอกว่าเขาเคารพผลการเลือกตั้งของ กกต. แต่เขากลับเรียกร้องให้ประชาชนผู้สนับสนุนเขาออกมาประท้วงและยึดพื้นที่สำคัญใจกลางกรุงเม็กซิโกซิตี้ และในท้ายที่สุด เขาประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พร้อมเรียกกระบวนการทำงานของ กกต. ว่าเป็น ‘การโกงแบบเดิมๆ’

หลังจากนั้น โลเปซ โอบราดอร์ยังพยายามต่ออีกหลายเดือนเพื่อขัดขวางการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของกัลเดรอน ทั้งจัดตั้งรัฐบาลเงาของตัวเอง จัดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแบบคู่ขนานที่จัตุรัสกลางกรุง รวมถึงให้ ส.ส. พรรคที่เป็นพันธมิตรกับตนพยายามขัดขวางพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งของกัลเดรอน

Vox ระบุว่าเหตุการณ์โกงเลือกตั้งในปี 2549 ยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของชาวเม็กซิกันจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สนับสนุนหัวรุนแรงของโลเปซ โอบราดอร์ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว โลเปซ โอบราดอร์ ได้เปลี่ยนความคับข้องใจต่อการเลือกตั้งครั้งนั้นมาเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายหาเสียงในปี 2561 นั่นคือ ‘การปฏิรูปครั้งที่ 4 แห่งเม็กซิโก’ โดยเขาระบุว่านโยบายนี้คือความพยายามก่อร่างสร้างการเมืองใหม่ให้ประเทศ รวมถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายพัฒนาความปลอดภัยสาธารณะ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ และตัดวงจรการทุจริตทางการเมือง รวมถึงกลุ่มก้อนชนชั้นนำและคนที่เขามองว่าเป็นพวก ‘อนุรักษ์นิยม’ หรืออีกนัยหนึ่งคือกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม

Vox วิเคราะห์เพิ่มเติมว่านโยบายประชานิยมและกรอบการปฏิรูปของของโลเปซ โอบราดอร์ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสถาบันการเมือต่างๆ ของเม็กซิโก สื่อมวลชน พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงพันธะด้านการต่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาการค้าเสรีที่เม็กซิโกทำไว้กับสหรัฐฯ และแคนาดา การปฏิรูปครั้งที่ 4 ของโลเปซ โอบราดอร์ทำให้วิถีแห่งประชาธิปไตยของเม็กซิโกเริ่มเดินหน้าต่อไปอย่างยากลำบาก อีกทั้ง Vox ยังรายงานว่าโลเปซ โอบราดอร์ใช้เวลาตลอดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโจมตีนักข่าว คอลัมนิสต์ผู้วิจารณ์การเมือง องค์กรเอ็นจีโอ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ รวมถึงองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันความโปร่งใสและเสรีภาพด้านข้อมูล และ กกต. ซึ่งเขากล่าวว่าองค์กรอิสระเหล่านี้คือโฉมหน้าของการปกครองแบบเก่าที่เขาพยายามกำจัดทิ้ง

โลเปซ โอบราดอร์ กล่าวย้ำในการปราศรัยเมื่อปี 2562 ว่าเขาถูกพรากชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2549 เขากล่าวโทษอดีตประธานาธิบดีกัลเดรอนที่ประกาศนโยบายสงครามยาเสพติดโดยที่ไม่เข้าใจรากของปัญหาจนส่งผลตามมาตลอดทศวรรษคือปัญหาอาชญากรรม และยาเสพติด คำปราศรัยดังกล่าวของโลเปซ โอบราดอร์ กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากเกนาโร การ์เซีย ลูนา เลขาธิการด้านความมั่นคงสาธารณะในสมัยรัฐบาลของกัลเดรอน สารภาพในศาลนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่าเขารับสินบนจำนวนหลายล้านดอลลาร์จากกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด

Vox ระบุว่าได้มีการติดต่อไปยังทำเนียบขาวเพื่อสอบถามความเห็นต่อกรณีของอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเม็กซิโกที่ถูกจับในข้อหารับสินบนกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด รวมถึงประเด็นการประท้วงในเม็กซิโกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ แต่ทางทำเนียบขาวยังไม่ตอบรับคำขอของผู้สื่อข่าวในประเด็นดังกล่าว

Vox เชื่อว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือกับโลเปซ โอบราดอร์ เพื่อจัดการปัญหายาเสพติดครั้งใหญ่ที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ในขณะเดียวกัน NPR รายงานว่าไบรอัน เอ. นิโคลส์ ผู้ช่วยเลขาธิการกองกิจการซีกโลกตะวัน (Western hemisphere affairs) ประจำทำเนียบขาวโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “วันนี้ ที่เม็กซิโก เราเห็นการโต้เถียงเรื่องการปฏิรูปการเลือกตั้งซึ่งเป็นบททดสอบความเป็นอิสระของสถาบันการเลือกตั้งและสถาบันศาล สหรัฐฯ สนับสนุนสถาบันการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพที่ทำให้กระบวนการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐเข้มแข็ง”

 

ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสทางความคิดที่ไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลและประชาชนเม็กซิโก NPR ระบุว่าผลสำรวจคะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโลเปซ โอบราดอร์ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนกว่าร้อยละ 60 และถึงแม้ตัวเขาจะลงเลือกตั้งในประธานาธิบดีอีกสมัยไม่ได้ แต่พรรค MORENA ของเขาได้เตรียมส่งผู้สมัครคนใหม่ลงท้าชิงตำแหน่งผู้นำประเทศและมีแนวโน้มว่าพรรค MORENA อาจชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

 

แปลและเรียบเรียงจาก:


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net