Skip to main content
sharethis

ทางการอังกฤษสั่งปรับ TikTok เป็นเงิน 12.7 ล้านปอนด์ (ราว 540 ล้านบาท) อ้างว่าฝ่าฝืนกฎเรื่องการคุ้มครองการนำข้อมูลเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีไปใช้ โดยระบุว่า TikTok ใช้ข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปในทางที่ผิด ในวันเดียวกันออสเตรเลียยังประกาศแบน TikTok ไม่ให้ลงในอุปกรณ์ของรัฐบาลด้วย

สำนักงานกรรมาธิการข้อมูลข่าวสารของอังกฤษ (ICO) ซึ่งเป็นหน่วยงานจับตามองด้านความเป็นส่วนตัว ประกาศเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า โซเชียลมีเดีย TikTok นั้น "ทำไม่มากพอ" ในการตรวจเช็กว่าใครเป็นผู้ที่ใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียของพวกเขาบ้าง และปล่อยให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ากำหนดใช้งาน ทั้งๆ ที่เงื่อนไขข้อตกลงการใช้บริการของ TikTok ระบุว่าห้ามไม่ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 13 เข้าใช้งาน

มีการประเมินจาก ICO ว่าในช่วงเวลาระหว่างเดือน พ.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2563 มีผู้ใช้งานในอังกฤษที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 1.4 ล้านราย เรื่องนี้ยังกลายเป็นการละเมิดกฎหมายของอังกฤษที่ระบุว่าเยาวชนจะสามารถยินยอมให้มีการประมวลข้อมูลส่วนตัวพวกเขาได้ต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไปเท่านั้น หมายความว่า TikTok จะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเสียก่อนถึงจะสามารถประมวลข้อมูลของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ TikTok ไม่ได้ทำ

โฆษกของ ICO แถลงว่าพวกเขาได้ฟ้องร้อง TikTok ในเรื่องดังกล่าว รวมถึงในเรื่องที่ TikTok ทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กด้วย นอกจากนี้ ICO ยังประกาศว่าจะดำเนินการตรวจสอบโซเชียลมีเดียแห่งนี้ตามความเหมาะสมเพื่อนำเนื้อหาของเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ออกจาก TikTok

อีกเรื่องหนึ่งที่ ICO พูดถึงคือเรื่องที่ TikTok ได้ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องความโปร่งใสและเป็นธรรมตามระเบียบการคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) ของอังกฤษ จากการที่พวกเขาไม่ได้ให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายต่อผู้ใช้งานว่ามีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานและแพร่กระจายต่ออย่างไรบ้าง ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถ "แสดงความยินยอมโดยที่ได้รับการบอกกล่าว" (informed consent) ได้ ทั้งนี้ ICO ยังระบุถึงโทษของการนำข้อมูลของเด็กไปใช้ในทางที่ผิดด้วย


ทางด้าน TikTok ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาระบุว่าพวกเขากำลังพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้ โฆษกของ TikTok ระบุว่าโซเชียลมีเดียของพวกเขาเป็นพื้นที่สำหรับบุคคลอายุ 13 ปีขึ้นไป และพวกเขาก็จะพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผู้ใช้งานที่อายุน้อยกว่า 13 ปีบนโซเชียลของพวกเขาและทำให้แน่ใจว่าพื้นที่ของพวกเขาปลอดภัย โฆษกของ TikTok ระบุอีกว่าถึงแม้พวกเขาจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของ ICO แต่ในเรื่องที่ระบุว่ามีผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 13 ปีจำนวนมากในช่วงปี 2561-2563 นั้นพวกเขาก็ทำการลดจำนวยผู้ใช้งานกลุ่มนี้ลงเหลือครึ่งหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา

ระบบการสร้างบัญชีผู้ใช้งานของ TikTok นั้นมีการถามวันเกิดของผู้ใช้งานเพื่อสกัดกั้นผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 13 ปี แต่เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 13 ปี ก็ยังสามารถโกหกวันเกิดของตัวเองเพื่อเข้าใช้งานได้

ทาง TikTok ระบุว่าพวกเขามีจะจัดให้มีระบบที่เข้มงวดมากกว่านี้และมีการฝึกอบรมทีมผู้ดูแลเนื้อหาให้คอยเฝ้าตรวจตราบัญชีผู้ใช้งานที่อาจจะเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปี เพื่อที่จะมีการพิจารณานำเนื้อหาของพวกเขาออก และถ้าหากว่ามีกรณีที่ผู้ปกครองขอร้องให้มีการนำเนื้อหาที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ออกพวกเขาก็จะตอบสนองโดยทันที อีกทั้งระบบรายงานผู้ใช้กับการตรวจสอบคำสำคัญก็จะช่วยให้พวกเขาตรวจตราหาเนื้อหาบัญชีผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ได้ด้วย

สื่อ Tech Crunch ตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้จะมีการพบว่า TikTok ทำการฝ่าฝืนกฎ GDPR ของอังกฤษมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แต่ก็มีการลงโทษ TikTok ในวงเงินที่น้อยกว่าปกติมาก ซึ่งปกติแล้วต้องมีการลงโทษโซเชียลมีเดียที่กระทำผิดในเรื่องนี้โดยการปรับร้อยละ 4 ของรายได้รวมจากทั่วโลกในหนึ่งปี อีกทั้งจำนวนเงินดังกล่าวนี้ยังน้อยกว่าจำนวนที่ ICO เสนอมาก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้วด้วย

นอกจากนี้ ICO ยังได้เลิกทำการสืบสวนสอบสวน TikTok ต่อในเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลประเภทพิเศษตามนิยามของ GDPR ที่หมายถึงข้อมูลที่อ่อนไหวอย่าง เพศวิถี, ความเชื่อทางศาสนา, ฝ่ายทางการเมือง, เชื้อชาติและชนชาติดั้งเดิม, ข้อมูลสุขภาพ และข้อมูลชีวมิติที่ใช้ระบุตัวตนของบุุคคลนั้นๆ ที่มีการคุ้มครองข้อมูลเข้มงวดกว่าและมีมาตรฐานสูงกว่าในการให้ผู้คนยินยอมให้ประมวลข้อมูล ซึ่ง ICO ให้เหตุผลในการเลิกสืบสวนว่าเป็นเพราะทรัพยากรไม่เพียงพอ

เดิมทีแล้ว ICO ของอังกฤษมักจะถูกมองว่าเป็นองค์กรที่เพิกเฉยต่อการละเมิดกฎเกณฑ์ของอุตสาหกรรมโฆษณาไอที จนกระทั่งต่อมาถูกกดดันจากกลุ่มรณรงค์และ ส.ส. ของอังกฤษ การที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรปแล้วทำให้พวกเขาอาศัยแนวทาง GDPR ในแบบของอังกฤษเองแทน GDPR ของอียู โดยที่ทางคณะกรรมาธิการคุ้มครองข้อมูลของไอร์แลนด์ (DPC) ก็กำลังทำการสืบสวนสอบสวน TikTok ทั้งเรื่องการใช้ข้อมูลเด็กและการที่ TikTok ส่งข้อมูลให้จีนเช่นกัน ซึ่งเป็นการสืบสวนที่ครอบคลุมทั่วอียู

มีอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดการเปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ นั่นคือเมื่อปี 2565 มีการใช้กฎ GDPR ของอียูในการเอาผิดกับโซเชียลมีเดียคู่แข่งคือ อินสตาแกรมในเรื่องการใช้ข้อมูลของเด็กในทางที่ผิดจนทำให้มีการลงโทษปรับอินสตาแกรมเป็นเงิน 405 ล้านยูโร (ราว 15,101 ล้านบาท) แต่ในกรณีของอินสตาแกรมเป็นการเอาผิดจากข้อมูลทั่วทุกประเทศกลุ่มสมาชิกอียู เทียบกับกรณี ICO ลงโทษ TikTok ล่าสุดที่พิจารณาจากกรณีข้อมูลในอังกฤษเท่านั้น

นอกจากเรื่องการสั่งปรับจาก ICO แล้ว ในวันเดียวกัน (4 เม.ย.) ทางการออสเตรเลียก็ประกาศจะแบน TikTok ออกจากอุปกรณ์ไอทีของรัฐบาลเพราะกลัวว่าจะเกิดปัญหาด้านความมั่นคง และกลัวว่าจีนอาจจะฉวยใช้โซเชียลมีเดียนี้เป็นเครื่องมือแทรกแซงประเทศได้ ทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศสุดท้ายในกลุ่มพันธมิตรด้านช่าวกรอง "ไฟว์อายส์" ที่แบน TikTok จากอุปกรณ์ของทางการหลังจากที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่าง สหรัฐฯ, แคนาดา, อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ทำการแบนมาก่อนหน้านี้แล้ว

มาร์ก เดรย์ฟัส อัยการสูงสุดของออสเตรเลียประกาศว่าจะมีการบังคับใช้การแบนดังกล่าวนี้ "ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" และจะมีการพิจารณายกเว้นแบบเป็นรายกรณีไป เดรย์ฟัสกล่าวอีกว่ามีการออกคำสั่งเช่นนี้หลังจากที่ได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงของประเทศแล้ว


เรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net