Skip to main content
sharethis

รัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าจับกุมฝ่ายต่อต้านที่แสดงออกทางโซเชียลมีเดีย 'เฟซบุ๊ก-ยูทูบ' ฐานยุยงปลุกปั่นและก่อการร้าย เดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าอย่างน้อย 200 รายถูกจับด้วยความผิดดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าพยายามแบนเฟซบุ๊ก-ยูทูบ และริเริ่มสร้างโซเชียลมีเดียใช้เอง ชื่อแอปพลิเคชัน OKPar และ MTube หวังแทนที่เฟซบุ๊ก-ยูทูบ

 

8 เมษายน 2566 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา รายงานจาก Global Voice ระบุถึงการที่เผด็จการทหารพม่าพยายามปราบปรามพลเรือนและนักข่าวด้วยเหตุแห่งการโพสต์ในเฟซบุ๊ก โดยมีการยกตัวอย่างกรณีของ Zaw Zaw ช่างภาพข่าวในพม่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมที่มัณฑะเลย์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 และถูกส่งตัวไปที่เรือนจำโอโบของมัณฑะเลย์ในเดือนถัดมา

สองเดือนหลังจากนั้น Zaw Zaw ก็ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า และมีการโพสต์รูปเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงรูปที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติ เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2565 Zaw Zaw ถูกสั่งลงโทษจำคุก 3 ปี จากข้อหายุยงปลุกปั่น โดย Zaw Zaw เคยเป็นนักข่าวของสำนักข่าวอิระวดี แต่เขาลาออกหลังจากเกิดการรัฐประหารได้ 2 เดือน

กรณีของ Zaw Zaw เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีที่รัฐบาลทหารพม่าจับกุมประชาชนและนักข่าวที่ต่อต้านตนเอง โดยมีประชาชนและนักข่าวจำนวนมากถูกคุมขังจากการโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่านับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 มีข้อสังเกตว่า การจับกุมในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นสูงมากขึ้นในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2565

รายงานข่าวของเดือนพฤษภาคม 2565 ระบุว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าอย่างน้อย 200 รายที่ถูกจับกุมโดยรัฐบาลทหารพม่าในข้อหายุยงปลุกปั่นและก่อการร้าย จากการโพสต์เฟซบุ๊กหรือแชร์เนื้อหาที่สนับสนุนรัฐบาลเงาของ NUG และกองกำลังต่อต้านรัฐบาล เช่น คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH), รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ถึงแม้ว่าจะมีการจับกุมเกิดขึ้น แต่ประชาชนในพม่าก็ยังคงโพสต์และเผยแพร่เนื้อหาต่อต้านรัฐบาลในเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ

 

เฟซบุ๊กเท่ากับอินเทอร์เน็ตในพม่า

ในพม่ามีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 26.3 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมด 53 ล้านคน เฟซบุ๊กนับเป็นโซเชียลมีเดียที่นิยมมากในพม่า เทียบได้กับว่าเป็นอินเทอร์เน็ตในพม่า ถึงแม้ว่าเฟซบุ๊กจะเคยถูกกล่าวหาว่าตอบสนองช้าต่อเรื่องการสร้างความเกลียดชังต่อคนชายขอบในพม่า อาทิ โรฮิงญา ฯลฯ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเฟซบุ๊กมีอิทธิพลอย่างมากต่อประชาชนและมีส่วนในการกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศ

ในช่วงที่เกิดกรณีการโจมตีชาวโรฮิงญาจนทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาพลัดถิ่น มีการวิพากษ์วิจารณ์เฟซบุ๊กว่าปล่อยให้มีการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือน, ข่าวลือ และสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

อีกกรณีหนึ่งที่เฟซบุ๊กถูกวิจารณ์คือในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปปี 2563 ในพม่า มีการปล่อยให้มีข้อมูลบิดเบือนเพื่อจ้องใส่ร้ายอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า และมีการใส่ร้ายพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ในตอนนั้นมีนักล็อบบี้ที่สนับสนุนกองทัพพม่าและกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธพากันแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือนไปทั่วเฟซบุ๊กเพื่อพยายามทำลายความชอบธรรมของผลการเลือกตั้ง และแพร่กระจายความเกลียดชังต่อผู้สมัครที่เป็นชาวมุสลิม

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิดิจิทัลอ้างว่า ระบบการจัดลำดับการนำเสนอเนื้อหาของเฟซบุ๊กที่เรียกว่า "อัลกอริทึม" นั้น มีส่วนในการทำให้กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาทวีความนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้สถานการณ์พม่าหลังการรัฐประหารเลวร้ายลงด้วย จากการที่อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กช่วยขยายการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหารพม่าและลดทอนความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งที่พรรค NLD ได้รับชัยชนะ

ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กเคยระงับบัญชีผู้ใช้งานของนายพลมินอ่องหล่าย เพจของกองทัพพม่า และช่องโทรทัศน์กองทัพพม่า เพื่อตอบสนองต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีชาวโรฮิงญา เนื่องจากมีการสืบสวนจากสหประชาชาติพบว่าบุคคลหรือองค์กรเหล่านี้ ทำให้เกิดการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในพม่า

หลังการรัฐบาลประหาร 2 ปี กองทัพพม่าและผู้สนับสนุนก็อาศัยเพจหรือบัญชีอื่นๆ ในการกระจายข่าวลือกับข้อมูลบิดเบือนเพื่อสนับสนุนกองทัพพม่า และปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยกับขบวนการต่อต้านรัฐประหารในพม่า ผลที่ตามมาคือเฟซบุ๊กได้พยายามลบเนื้อหาและบัญชีที่เป็นอันตรายเหล่านั้นออก รวมถึงกลุ่มบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่ากับกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธในพม่าด้วย จากการที่กลุ่มเหล่านี้ละเมิดมาตรฐานชุมชน เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือน, วาจาสร้างความเกลียดชัง และข่าวที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ จากกลุ่มเผด็จการ

 

กองทัพพม่าโต้ตอบเฟซบุ๊กอย่างไร

นับตั้งแต่การรัฐประหารกองทัพพม่าได้คุมขังประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล ประหารนักกิจกรรม, นักศึกษา, ผู้ประท้วง รวมแล้วหลายหมื่นราย นอกจากนี้ยังมีการใช้กำลังปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้ประท้วงและกองกำลังที่ต่อต้าน มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนัก รวมถึงการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมด้วย

รัฐบาลทหารพม่าพยายามปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลบนพื้นที่ไซเบอร์ด้วยการจับกุมคนที่แสดงออกทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา มีกลุ่มที่คอยเฝ้าสอดส่องการใช้งานโซเชียลมีเดียของประชาชน และในเดือนพฤษภาคม 2565 รัฐบาลทหารพม่าได้แถลงว่ามีประชาชน 229 ราย ถูกจับกุมและตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและกฎหมายการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้ามเผยแพร่เนื้อหาต่อต้านกองทัพลงในอินเทอร์เน็ต

หลังจากที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เริ่มใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่หลักในการแสดงออกเพื่อต่อต้าน กองทัพรัฐบาลทหารพม่าก็เพิ่มความพยายามมากขึ้นในการแบนเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าเป็นแหล่งของข้อมูลบิดเบือนที่ส่งผลทำลายเสถียรภาพและก่อความรุนแรง อีกทั้งยังอ้างว่าเฟซบุ๊กได้ทำการระงับเนื้อหาของฝ่ายสนับสนุบรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม

ในช่วงที่เกิดการรัฐประหารไม่นาน กองทัพพม่าได้สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อกเฟซบุ๊ก แต่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กก็ยังคงอาศัยวีพีเอ็นในการหลบเลี่ยงการบล็อกได้ ด้านรัฐบาลทหารพม่าเมื่อรู้ว่าพวกเขาใช้เฟซบุ๊กเองไม่ได้ก็เริ่มพยายามแสวงหาพื้นที่โซเชียลมีเดียใหม่มาแทนที่เฟซบุ๊ก เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โฆษกของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และหัวหน้าทีมข้อมูลข่าวสารของกองทัพ พล.ต. Zaw Min Tun เคยเปิดเผยว่ารัฐบาลทหารพม่า จะแบนเฟซบุ๊กแล้วแทนที่ด้วยโซเชียลมีเดียที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง

นอกจากนี้ Zaw Min Tun ยังเคยแถลงอีกว่ารัฐบาลทหารพม่าจะดำเนินการลงโทษบริษัทในพม่าที่ใช้เฟซบุ๊กในการโฆษณาสินค้าของตัวเอง เพราะไม่อยากให้เฟซบุ๊กได้ค่าโฆษณา ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังทำการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ให้มีบทลงโทษจำคุกอย่างน้อย 3 ปีต่อชาวเน็ตพม่าที่ใช้วีพีเอ็นด้วย  

บทวิเคราะห์ของมูลนิธิคูเรียมมีเดียระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารพม่าจะหันมาใช้โซเชียลมีเดียใหม่ที่สร้างขึ้นเองอย่าง OKPar ที่มีบริการหลายอย่าง เช่น การส่งข้อความด่วน แต่ทางคูเรียมมีเดียเตือนว่าโซเชียลใหม่ของรัฐบาลทหารพม่านี้ไม่ปลอดภัยและข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว สามารถรั่วไหลออกไปได้ ถึงแม้จะอ้างว่ามีการเข้ารหัสข้อมูลแบบ end-to-end (ข้อมูลแบบที่ผู้ส่งกับผู้รับเท่านั้นจะเห็นข้อความแบบที่ไม่เข้ารหัสได้) นักกิจกรรมฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารเรียกร้องให้ประชาชนช่วยรายงานแอปพลิเคชัน OKPar และเรียกร้องให้มีการถอด OKPar ออกจาก Apple Store และกูเกิลด้วย

นอกจากเฟซบุ๊กแล้ว รัฐบาลทหารพม่ายังไม่พอใจเว็บวิดีโอบนยูทูบด้วย โดยที่ในการประชุมร่วมกับบริษัทยูไนเต็ดอินโฟ-เซค เมื่อเดือนกันยายน 2565 รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศของรัฐบาลทหารพม่าได้กล่าวว่ายูทูบทำการจำกัดเนื้อหาอย่างไม่เป็นธรรม โดยลบเนื้อหาที่สนับสนุนกองทัพพม่าออก ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหาเว็บวิดีโอใหม่เพื่อมาใช้แทนที่ยูทูบ ทำให้กองทัพพม่าพัฒนาแอปพลิเคชันวิดีโอไลฟ์สตรีมที่ชื่อ MTube หวังจะมาแทนยูทูบ

 

เฟซบุ๊กจะต้องให้การสนับสนุนและคุ้มครองประชาชนชาวพม่ามากกว่านี้

โครงการแอสเซสนาวของสื่อโกลบอลวอยซ์ระบุว่า สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ล้วนมีอิทธิพลต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ดังนั้นแล้วสื่อโซเชียลมีเดียจึงมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อประชาธิปไตยไว้ด้วย โดยการป้องกันเนื้อหาในเชิงที่จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานของประชาธิปไตย ในบริบทของพม่านั้นกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยเชื่อว่าเฟซบุ๊กมีอำนาจในการแทรกแซงและส่งอิทธิพลต่อขบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยพม่า และทำให้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่าจบสิ้นลงได้

ทางแอสเซสนาวจึงเรียกร้องให้บริษัทเมตาเจ้าของเฟซบุ๊กและบริษัทกูเกิลลงทุนในการหาทางออกด้านเทคโนโลยี เพื่อที่จะทำให้ชาวพม่าสามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กและยูทูบได้อย่างปลอดภัย ขอให้ Apple Store และของกูเกิลถอดแอปพลิเคชัน OKPar ออก และไม่ให้พื้นที่สำหรับ MTube เมื่อรัฐบาลทหารพม่ามีแอปพลิเคชันนี้ออกมาแล้ว

แอสเซสนาวระบุว่า "เฟซบุ๊กและกูเกิลมีความรับผิดชอบในการรักษาสิทธิมนุษยชน และจะต้องไม่อนุญาตให้กองทัพพม่าใช้แอปพลิเคชันและบริการของพวกเขาในการส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อ" และเรียกร้องให้บรรษัทไอทียักษ์ใหญ่อื่นๆ ทำทุกทางในการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยของประชาชนชาวพม่าหลายล้านคนที่ใช้โซเชียลมีเดียของพวกเขา

 

 

เรียบเรียงจาก

The Myanmar junta’s war against Facebook, Global Voices, 05-04-2023

https://globalvoices.org/2023/04/05/the-myanmar-juntas-war-against-facebook/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net