Skip to main content
sharethis

กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยถูกปลุกขึ้นมาพร้อมกับประเด็นอื่นๆ เพศ (gender) และความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นหนึ่งในเรื่องร้อนที่รบกวนความเคยชินจนสร้างความไม่พอใจ นักกิจกรรมเฟมินิสต์ในไทยต้องเผชิญการคุมคามทางดิจิทัล ทั้งการล้อเลียน ก่อกวน คุกคาม หรือขู่ว่าจะข่มขืน ขณะที่กฎหมายไทยยังขาดความเข้าใจการ online abuse จึงไม่มีช่องทางให้นักกิจกรรมเฟมินิสต์ปกป้องตนเอง

  • กระแสการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นพร้อมกับเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา บทบาท ความคิดของนักกิจกรรมเฟมินิสต์ที่สวนทางกับความเคยชินเดิมๆ จึงปรากฏถี่ขึ้น สร้างความไม่พอใจจนเกิดการข่มขู่คุกคาม
  • การคุกคามนักกิจกรรมเฟมินิสต์ทางดิจิทัลมีหลากหลายรูป เช่น การก่อกวนด้วย comment flood การล้อเลียน การคุกคามทางเพศ การขู่ว่าจะข่มขืน เป็นต้น
  • มีการปั่นกระแสความเกลียดชังเฟมินิสต์ซึ่งล่อแหลมจะนำไปสู่ความรุนแรงเชิงกายภาย
  • กฎหมายไทยต้องยอมรับว่า online abuse หรือ online harassment มีอยู่จริงและหาแนวทางป้องปราม

การคุกคามนักกิจกรรมเฟมินิสต์ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือโลกกายภาพเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีการออกมาเดินขบวนต่อต้านไปจนถึงการสังหาร ในเมืองไทย กระแสความไม่พอใจเฟมินิสต์หรือกลั่นแกล้งล้อเลียนนักกิจกรรมด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเริ่มหนักหน่วงขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดาราณี ทองศิริ นักกิจกรรมเฟมินิสต์และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Feminista ผู้ศึกษารายงานวิจัยเรื่อง ‘การข่มขู่คุกคามทางดิจิทัลต่อนักกิจกรรมเฟมินิสต์ในประเทศไทยระหว่างปี 2021-2022’ วิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์นี้เชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ

ดาราณี ทองศิริ นักกิจกรรมเฟมินิสต์และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Feminista (ที่มาภาพ : เพจ P.S. Publishing)

การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาที่สืบทอดอำนาจต่อจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเรียกร้องประชาธิปไตยส่งผลให้เกิดการเรียกร้องในด้านต่างๆ ไปพร้อมกัน เช่น มาตรา 112 สิ่งแวดล้อม แรงงาน ซึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ

“น้องๆ เฟมทวิตที่ถูกด่าทอบนออนไลน์ ทุกคนลงถนนปีหกหนึ่ง หกสองกันมากมาย ถ้าพูดเรื่องต้านเผด็จการ ต่อต้าน 112 เรียกร้องประชาธิปไตย ทุกคนดีใจนะ เพราะมันเป็นเรื่องที่คุณยึดถือ ต่อสู้ร่วมกัน แต่พอเป็นเรื่องเพศ มันกลับตาลปัต เพราะทุกคนถูกสอนให้เหยียดเพศ อยู่ในระบอบชายเป็นใหญ่มากๆ นักประชาธิปไตยหลายคนก็เป็นผู้กระทำ กลับบ้านไปตีเมียบ้าง ล้อเลียนตุ๊ด กระเทยบ้าง”

“เสียงที่ดังขึ้นมาในช่วงม็อปประชาธิปไตยเรื่องเพศมันถูกผลักออก เพราะมันไปสั่นคลอนบรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่เรื่องชาย-หญิง เช่น คนที่เป็น non-binary ที่ออกมาพูด สำหรับคนที่เชื่อในเพศธรรมชาติหญิง-ชาย เขาก็ไม่เอาเลย ความเชื่อนี้มันไปเปลี่ยนแปลงความเชื่อเขาว่ามีแค่ชายหญิง กลุ่ม non-binary เลยเป็นกลุ่มที่ถูกต่อต้านหนักมาก ถูกล้อเลียนหนักมาก”

ความเคยชินเดิมๆ ในระบอบชายเป็นใหญ่ที่ถูกรบกวนโดย ‘เสียงอื่น’ แปรเป็นกระแสต่อต้าน ในกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยก็ยังเพิกเฉยต่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มอนุรักษนิยมหรือขวาจัด ยิ่งเมื่อเฟมินิสต์ความผิดปกติที่ดำรงอยู่เป็นปกติอย่างการเหยียดเพศ การหาประโยชน์ทางเพศ การเกลียดกลัวคนข้ามเพศในหมู่คนมีชื่อเสียง ก็ยิ่งบ่มเพาะความไม่พอใจจนกลายเป็นความรุนแรงที่มีต่อนักกิจกรรมเฟมินิสต์ในที่สุด

“มันสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเฟมินิสต์พูดเรื่อง 112 แรงงาน ทุนนิยม ก็จะได้รับการสนับสนุน แต่พอเป็นเรื่องเพศปุ๊บเราสามารถเห็นคนที่ต่อต้านเรื่องเพศได้ในทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการ มันไม่แปลกเลยว่าทำไมประเด็นเฟมินิสต์ในไทยพึ่งมา pop-up ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะมันมาพร้อมกับขบวนการประชาธิปไตยที่มีคนรุ่นใหม่เป็นแกนนำ ม็อบมันเต็มไปด้วยเด็กรุ่นใหม่ที่ต่อต้านบรรทัดฐานเดิม มีความหลากหลายทางเพศมาก เรากำลังเผชิญหน้ากับวิธีคิดของคนรุ่นใหม่/เก่า แล้วเรื่องเพศมันเป็นเพดานสูงสุดของคนในสังคมไทยด้วย คุณทะลุเรื่อง 112 แล้ว ตาสว่างเรื่องเจ้าแล้ว แต่ก็ยังเห็นว่าในคนที่ตาสว่างก็ยังเหยียดเพศ ยังไม่เข้าใจว่าโลกมันมีความหลากหลายทางเพศขนาดไหน”

ความไม่พอใจทำให้นักกิจกรรมเฟมินิสต์ถูกคุกคามในโลกออนไลน์หลากหลายรูปแบบ

ก่อกวน ล้อเลียน ข่มขู่ คุกคาม

งานศึกษาการคุกคามในโลกออนไลน์ต่อนักกิจกรรมเฟมินิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งที่เคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์และเคลื่อนไหวบนท้องถนนแต่เมื่อนำงานกิจกรรมมาเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียแล้วถูกโจมตี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงมิถุนายน 2565

การคุกคามบนโลกดิจิทัลต่อนักกิจกรรมเฟมินิสต์ที่เกิดขึ้นในไทยมีหลายรูปแบบ ซึ่งคล้ายคลึงกับนักกิจกรรมเฟมินิสต์ในต่างประเทศพบเจอ ได้แก่

  • การ flood comment ในเพจ ไลฟ์สด หรือเฟสบุ๊คของนักกิจกรรม จนทำให้การร่วมถามคำถามของผู้ที่เข้าฟังไม่สามารถทำได้
  • การใช้ภาษาที่ sexist or misogynist comment หรือภาษาที่เหยียดเพศ เกลียดชังผู้หญิง หรือบางโพสต์ก็ถึงขั้น homophobia หรือ transphobia
  • การ comment trolling ในลักษณะที่เป็นการคุกคามทางเพศ เช่น นักกิจกรรมเฟมินิสต์คนหนึ่งที่เคลื่อนไหวตลอดทั้งในออนไลน์และออฟไลน์จะถูกกลุ่มที่ต่อต้านคอมเม้นต์ เช่น ชักว่าวกับน้องกันครับ อยากนอนด้วย หรือถูกจ้องมองเต้านม การโพสต์มีมในลักษณะหยาบคาย หรือบางคนก็ถูกส่งข้อความถึงโดยตรง
  • การ doxing หรือการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของนักกิจกรรมเพื่อต้องการกลั่นแกล้ง เช่น สถานที่เรียน การแอบถ่ายรูป ชื่อ ที่อยู่ เป็นต้น
  • การล้อเลียนกลั่นแกล้ง เช่นเวลาที่นักกิจกรรมไปพูดในประเด็นต่างๆ ก็จะมีการเข้าไปคอมเม้นต์ข่าวในเชิงล้อเลียนว่าหน้าตาอัปลักษณ์ อ้วน และยังแท็กเพื่อให้คนอื่นตามเข้าล้อเลียน
  • การใช้มีมเพื่อลดทอนขบวนการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ นำเสนอภาพให้ดูเป็นกลุ่มคนที่น่ารังเกียจ
  • การใช้แฮชแท็กในทวิตเตอร์โจมตีกลุ่มบุคคล เช่น เฟมินิสต์ขยะสังคม เป็นต้น
  • การสร้างแอคเคาท์ anonymous ขึ้นมาเพื่อโจมตี ด่าทอ แสดงความเกลียดชัง หรือข่มขู่ว่าจะข่มขืนนักกิจกรรมเฟมินิสต์ เช่น อยากให้เฟมทวิตหายไปจากโลก เฟมทวิตจงพินาศ อยากเห็นเฟมทวิตอยู่ในนานกิง 1939 หรือกรณีเพจปลดแอกอีสานโพสต์การ empower รูปร่างผู้หญิงโดยการโพสต์ผู้หญิงที่มีรูปร่างหลายแบบ แอคเคาท์ anonymous เหล่านี้ก็จะเข้ามาคอมเม้นต์คุกคาม เช่น แบบนี้น่า XXX จัง หรือโพสต์วันสตรีสากลก็มาคอมเม้นต์ว่าลดค่าตัวโสเภณีหน่อยได้มั้ย เป็นต้น
  • การตั้งเพจเลียนแบบเพจของกลุ่มเฟมินิสต์ ใช้โลโก้และชื่อคล้ายกัน แล้วแชร์โพสของกลุ่มเฟมินิสต์ไปที่กลุ่มของตนเพื่อให้คนเข้ามาด่าทอโจมตี

“เพจเฟมินิสต้าที่คนรู้จักเยอะ กลุ่มต่อต้านก็เอาไปตั้งเพจแมนิมิสต้า แล้วก็เอาโลโก้เราไปดัดแปลง สีเดียวกัน รูปแบบเดียวกัน โพสต์โจมตีงานที่เราทำ นี่ก็เป็นลักษณะการต่อต้านและคุกคามในโลกออนไลน์ อีกกรณีคือ การไปรีวิวเพจ ให้ดาวเพจต่างๆ หนึ่งถึงสองดาว เขียนเมนโจมตีเพจเพื่อให้ได้รีวิวน้อยๆ”

“หรือการสร้างคลับเฮาส์ อย่างตอนจัดเสวนาเรื่อง convince ไม่เท่ากับ consent การละเมิดทางเพศคู่รักโดยไม่ได้รับความยินยอมที่ช่วงนั้นมีเยอะมากในหมู่นักกิจกรรมประชาธิปไตย แล้วก็มีกลุ่มต่อต้านมาจัดคลับเฮาส์อีกห้องหนึ่งด่าทอเฟมินิสต์ที่พูดเรื่อง consent เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของเสวนาที่จัดไปก่อนหน้า”

นักกิจกรรมมุสลิม อ้างศาสนามาสั่งสอน

ดาราณียังพบอีกว่าการคุกคามนักกิจกรรมเฟมินิสต์บนโลกดิจิทัล แม้จะมีรูปแบบคล้ายคลึงกันตามที่กล่าวข้างต้น แต่ในกลุ่มนักกิจกรรมที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื้อหาที่โจมตีกลับมีความแตกต่างออกไป กล่าวคือมีการนำการตีความทางศาสนามาใช้โจมตี เธอยกตัวอย่างว่า

“เช่น พอพูดถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมมุสลิมก็จะมีการพูดถึงการคลุมฮิญาบ แล้วพอพูดแบบนี้ก็จะมีคนบอกว่าการไม่คลุมฮิญาบมันทำให้ผู้หญิงคนนี้ไร้ค่าที่จะพูด ใช้ประเด็นทางศาสนามาโจมตี

“หรือคำว่าเฟมทวิตซึ่งเป็นคำที่กลุ่มฝ่ายขวาแปะป้ายเพื่อไม่ต้องการให้เฟมินิสต์ในทวิตเตอร์พูด ก็มีคำว่า เฟมินะ ที่แปลว่าความวุ่นวาย ความสับสนในศาสนาอิสลามเอามาแปะป้ายผู้หญิงมุสลิม คำนี้มาจากคำว่า feminine เวลาเขาเขียนต่อต้านเฟมินิสต์มุสลิมก็ใช้คำว่า เฟมินะทั้งหลายที่ออกมาทำให้ศาสนาเสื่อมบวกเข้าไปอีก หรือการที่ผู้หญิงมุสลิมมาโพสต์บนเฟสบุ๊คก็จะโดนว่าพระเจ้าห้ามไม่ให้ผู้หญิงมาทำอะไรแบบนี้ มันจะมีลักษณะของการเข้าไปสั่งสอนโดยใช้หลักศาสนา”

รายงานวิจัยเรื่อง ‘การข่มขู่คุกคามทางดิจิทัลต่อนักกิจกรรมเฟมินิสต์ในประเทศไทยระหว่างปี 2021-2022’  ดาวน์โหลดรายงานฉบับย่อได้ที่นี่  สำหรับผู้สนใจรายงานฉบับสมบูรณ์ ติดต่อขอรับรายงานได้ที่นี่ 

จากโลกออนไลน์สู่โลกออฟไลน์

ประเด็นที่น่ากังวลคือการคุกคามในโลกออนไลน์ขยายออกไปสู่โลกกายภาพ ดาราณีเล่าตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการสะกดรอยนักกิจกรรมเฟมินิสต์ถึงบ้าน การโทรข่มขู่ ในเกาหลีใต้ที่มีการต่อต้านรุนแรงมากๆ ก็ถึงขั้นมีการประท้วงต่อต้านเฟมินิสต์บนท้องถนนโดยผู้ชายวัยรุ่น หรือนักกิจกรรมผู้หญิงมุสลิมก็ถูก doxing ว่าเป็นใคร อยู่ไหน และโทรบอกให้เปลี่ยนแปลงการกระทำ ใช้ศาสนาสั่งสอน และโทรมาก่อกวนบนเฟสบุ๊ค

ส่วนในไทยมีลักษณะเป็นการขู่ว่าจะฟ้องฐานหมิ่นประมาท เช่นกรณีสตรีมเมอร์เกมส์คนหนึ่งที่เล่นเกมที่มาจากผลงานของ J.K. Rowling ซึ่งต่อต้านคนข้ามเพศ พอมีคนแสดงความเห็นว่าเป็นการสนับสนุนการต่อต้านคนข้ามเพศ สตรีมเมอร์ก็ขู่ฟ้องคนที่เรียกร้องไม่ให้สตรีมเกมนี้ หรือกรณีตัวเธอเองที่ทวิตอธิบายเรื่องระบอบชายเป็นใหญ่ ทำให้คนที่อ้างว่าตนได้รับความเสียหายขู่ฟ้อง

“ประเด็นล่าสุด มีคนพูดว่าฆ่าเฟมทวิตแล้วได้บุญ แล้วมีคนมาทวิตว่าสะใจที่เฟมทวิตโดนล่าแม่มดซะบ้าง หรืออีกอันบอกว่าถ้าเฟมทวิตไปเม็กซิโกเขาจะกระทืบ พอมีเฟมทวิตมาตอบว่าเข้าใจแล้วว่าทำไมถึงไปที่นั่น เพราะเม็กซิโกมีการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงแบบ femicide คือมีลักษณะการขู่จะใช้ความรุนแรง เราก็เห็นว่ามันสะท้อนความเกลียดชังผู้หญิง มันจะนำไปสู่การ femicide ได้ หลายประเทศมันก็เกิด”

ดาราณีเล่าด้วยว่าในการโจมตีออนไลน์ยังมีการสร้างภาพให้เฟมินิสต์น่ากลัว เป็นปีศาจที่ต้องถูกกำจัด มีลักษณะปลูกฝังความรุนแรงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงเชิงกายภาพได้

ถูกคุกคามจนต้องปิดแอคเคาท์

งานศึกษาชิ้นนี้มุ่งไปที่รูปแบบการคุกคามเป็นหลัก แต่ดาราณีอ้างอิงจากงานศึกษาชิ้นอื่นของเธอต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนักกิจกรรมเฟมินิสต์มุสลิม พบว่านักกิจกรรมหลายคนต้องปิดแอคเคาท์และไม่กล้ารับเฟรนด์ใหม่เพราะกลัวว่าจะถูกคุกคาม

“บางคนถูกเปิดเผยเพศสภาพของตัวเอง เช่นน้องนักกิจกรรมที่เป็นทรานส์ เขาไม่ได้บอกใครว่ามีเพศวิถีแบบไหน ใช้ชีวิตแบบผู้หญิงคนหนึ่งในสังคม พอมีคนเอาข้อมูลไปเปิดเผยว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่ผู้หญิงแท้ เป็นผู้ชายก็ถูกโจมตีว่าเป็นคนบาป วิปริต แต่เขามีองค์กรสนับสนุนเยอะเลยไม่กลัว เคลื่อนไหวต่อไป

“แต่บางคนมีอำนาจน้อย ผู้หญิงมุสลิมไม่มีอำนาจในสังคม เขาเลยต้องลบตัวเอง ตอนแรกเขาพูดในคลับเฮาส์ว่าผู้หญิงโดนกดขี่ พอเจอผู้ชายมุสลิมและนักการศาสนาเข้ามาด่า สั่งสอน เขาเลยหยุดพูด ไม่กล้าพูด ซึ่งสอดคล้องกับงานทางฝั่งแอฟริกาว่า โดยส่วนมากแล้วถ้าผู้หญิงมุสลิมออกมาเคลื่อนไหวแล้วเจอการต่อต้านหลายคนก็ปิดแอคเคาท์ไป”

การข่มขู่คุกคามและล่วงละเมิดหลายรูปแบบผ่านช่องทางดิจิทัลทำให้พื้นที่การพูดของนักกิจกรรมไม่ปลอดภัย ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิต นักกิจกรรมบางคนต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักบำบัดเพราะไม่สามารถรับมือได้ บางคนพยายามหาช่องทางเพื่อยุติการคุกคาม แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายคุ้มครองการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์จึงต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแทน ซึ่งประสบความยากลำบากในการเก็บข้อมูลหลักฐานเพราะต้องเก็บคอมเม้นเหล่านั้นด้วยตนเองเพื่อนำมาฟ้องร้องดำเนินคดี

ดาราณียอมรับว่าเรื่องนี้รับมือค่อนข้างยาก เธอมักแนะนำนักกิจกรรมว่าให้คอยบล็อก กดรีพอร์ต แต่เนื่องจากจำนวนผู้ที่คุกคามและก่อกวนมีจำนวนมาก สุดท้ายแล้วนักกิจกรรมจึงมักลงเอยด้วยการปิดแอคเคาท์หนี

กฎหมายต้องยอมรับ online abuse ว่ามีอยู่จริง

ดาราณีเสนอในรายงานว่าควรมีนโยบายปกป้องคุ้มครองนักกิจกรรมเฟมินิสต์ในแง่มุมต่างๆ ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศทั้งบนโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ มีเพียงกฎหมายอาญาว่าด้วยการอนาจารในที่สาธารณะ

“กฎหมายไทยไม่ครอบคลุม sexual harassment ในหลายรูปแบบ เช่น ส่งข้อความมาขอมีเพศสัมพันธ์หรือส่งอวัยเพศมาให้ ในต่างประเทศนี่ถือว่าเข้านิยาม sexual harassment แล้วตามนิยามของยูเอ็น แต่กฎหมายไทย แค่นี้ตำรวจไม่ทำคดีให้หรอก เหมือนการส่งข้อความทั่วไป มันเอาผิดกันยากมาก พอเราเจอการคุกคามมาเรื่อยๆ ทำเว็บเฟมินิสต์ต้า มีคนส่งมีมมาเป็นมุกตลกข่มขืนที่เป็นรูปผู้ชายผิวดำร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ มาด่าทอว่าทำไมพูดถึงระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมมุสลิมแบบนั้น สอนศาสนาเรามา เราก็แนะนำหนังสือให้ไปอ่านเกี่ยวกับผู้หญิงมุสลิม เขาก็ส่งมีมกลับมาก่อกวน ลดทอน มีมตัวนี้ในต่างประเทศมันคือการขู่จะข่มขืนได้เลย”

เธอมีข้อเสนอทางนโยบายว่ากฎหมายต้องยอมรับสิ่งที่เรียกว่า online abuse หรือ online harassment แล้วบัญญัติกฎหมายออกมาควบคุมจัดการ แต่ปัญหาที่ดาราณีพบคือในไทยยังไม่ยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งทำให้ไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ เชิงนโยบาย

ขณะที่ตัวแพล็ตฟอร์มของเอกชนก็ไม่มีความเข้าใจความรุนแรงในกรณีทำนองนี้ แม้ว่าจะมีเงื่อนไขว่าห้ามมีการแสดงออกที่เป็นการคุกคามทางเพศ การแสดงความเกลียดชังคนข้ามเพศ หรือการละเมิดบุคคลเพศหลากหลาย แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด แพล็ตฟอร์มต้องจริงจังกับการทำตามนโยบายของตน มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

สร้างเครื่องมือสนับสนุนนักกิจกรรมเฟมินิสต์

“ทำยังไงให้นักกิจกรรมเฟมินิสต์ที่ใช้พื้นที่ออนไลน์ได้รับการสนับสนุนจาก digital security tools ซึ่งเป็นเครื่องมือปกป้องนักกิจกรรม สมมติโดนก่อกวนออนไลน์สามารถไปขอความช่วยเหลือ ขอการสนับสนุนนี้จากที่ไหนได้บ้าง มีแหล่งทุนไหนบ้าง อย่างนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์ เมื่อเกิดการต่อต้าน โจมตี ร้องหมิ่นประมาทก็จะมีองค์กรสิทธิมนุษยชนมาสนับสนุนใช่มั้ย แล้วนักกิจกรรมเฟมินิสต์ในออนไลน์มีมั้ย เครื่องมือที่จะมาสนับสนุน องค์กรที่จะให้การสนับสนุน หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่จะรักษาความปลอดภัยของเขาได้”

การทำให้สังคมไทยเกิดการตระหนักรู้ต่อความรุนแรงชนิดนี้ เธอเปรียบเทียบว่าเวลานักกิจกรรมประชาธิปไตยทำงานแล้วเจอกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยด่าทอ สังคมไม่ยอมรับการกระทำนี้ แต่พอเป็นประเด็นเรื่องเพศกลับเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจ ดาราณีเสนอว่าต้องรณรงค์และให้การศึกษาอย่างรอบด้าน

“เรายังไม่มีการศึกษาที่พูดถึงรอบด้าน มีแต่เรื่องสุขศึกษา แต่ไม่มีการศึกษาว่าเพศวิถีคืออะไร อัตลักษณ์ทางเพศคืออะไร อะไรคือการเหยียดเพศ อะไรคือชายเป็นใหญ่ เฟมินิสต์คืออะไร มันไม่มีการสอนในสถาบันที่เป็นระดับฐานราก ไม่ใช่ไปเรียนตอน ป.ตรี

“รวมไปถึงการ funding คนทำงานพวกนี้ในไทยมีน้อยมาก งานวิจัยเราก็ได้เงินจากต่างประเทศ ไม่แน่ใจว่าในไทยองค์กรไหนให้ความสำคัญบ้าง มันยังน้อยอยู่ที่จะทำให้ขบวนการเฟมินิสต์มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกอย่างงานนี้ทำให้เห็นว่าการคุกคามออนไลน์มีลักษณะไหนบ้าง แต่ยังไม่ได้ทำวิจัยถึงผลกระทบของเฟมินิสต์ที่โดนแต่ละคนเป็นยังไงและควรรับมือยังไง ฉะนั้นข้อเสนอของเราคือต้องมีการทำวิจัยต่อว่าในกลุ่มเฟมินิสต์เราเผชิญปัญหาอะไรร่วมกัน รับมือมันยังไง แล้วต้องการอะไรมาสนับสนุนการทำงานบนออนไลน์บ้าง”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net