Skip to main content
sharethis

เมื่อกำไล EM ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมือง อิสรภาพของพวกเขาจึงถูกพันธนาการ แม้จะอยู่นอกลูกกรง แต่ชีวิตก็มีผลกระทบมากเพียงเพราะถูกกล่าวหาในฐานะอาชญากรทางความคิด 

การปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นดูเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อแสดงออกทางการเมือง แต่หากมองลงไปในรายละเอียดจะพบว่าอิสรภาพที่ได้มายังคงมีเงื่อนไข เนื่องจากหลายคนยังถูกติดกำไลติดตามตัวที่ข้อเท้า หรือ กำไล EM บางคนยังถูกกำหนดให้ออกนอกเคหสถานได้เป็นบางช่วงเวลา บางคนถึงกับเคยถูกจำกัดให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง 

แม้การประกาศใช้กฎกระทรวง ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกด้วยวิธีอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต เมื่อปี 2556 ได้อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ EM มาควบคุมตัวผู้กระทำผิดแทนการติดคุก ทว่าการใช้กำไลดังกล่าวกับคดีความว่าด้วยการแสดงออกทางการเมืองนำมาซึ่งคำถามถึงความสมเหตุสมผล

เมื่อธันวาคม ปี 2565 เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าที่ต้องติดกำไล EM 4 คนจากทั้งหมด 12 คน พวกเขาเหล่านี้ บ้างก็ติดกำไล EM มาแล้วเป็นหลักเดือนไปจนถึงปี เพียงเพราะออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา ให้นายกฯ ลาออก และให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

พวกเขาเลือกติดกำไล EM แทนการติดคุก แม้จะเป็นเพียงอิสรภาพลวงตา

เสรีภาพบนกำไล EM 

“ปูน-ทะลุฟ้า” นักกิจกรรมวัยมัธยมปลาย มีคดีที่ถูกแจ้งจากการเข้าร่วมชุมนุมร่วมกันกว่า 20 คดี ปูนต้องติดกำไล EM นับตั้งแต่สิงหาคม 2564 หลังถูกถอนประกันจากเหตุที่ไปร่วมม็อบเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 กรณีเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนๆทะลุฟ้ากว่า 30 คน ที่บริเวณหน้า บก.ตชด. ภาค 1 (กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1) ศาลจึงนำเหตุการณ์นั้นมาเป็นเหตุถอนประกัน

ธนพัฒน์ กาเพ็ง(ปูน)

ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคมปีเดียวกันศาลจังหวัดธัญบุรีก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้ปูนถูกส่งตัวเข้าไปในเรือนจำทันทีในตอนนั้น ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมาและมีเงื่อนไขต้องติดกำไล EM ที่ข้อเท้า 

“ติดคุกมันก็คือการที่เราโดนกักขังเสรีภาพ ไม่ได้ออกไปไหน ต้องทำตามทุกอย่างที่เขาบอก อยู่แต่ในห้องตามเวลาที่เขาสั่ง คือความรู้สึกมันเหมือนสัตว์เลี้ยงอยู่แต่ในกรง ไม่มีอิสระ แต่ติด EM อาจจะเป็นอะไรที่ดีนิดหนึ่งก็คือออกได้ แต่ว่าออกได้แค่นี้นะ ทำได้แค่นี้นะ ไม่งั้นถอนประกันได้นะเพราะว่ามีเงื่อนไข เหมือนกับเสรีภาพบนกำไล EM ถ้าเราไปทำอะไรที่มันกระทบกระเทือนมากก็คือกลับเข้าไปในเรือนจำ” ปูนตอบ 

หากนับจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาปีกว่าแล้วที่ปูนต้องติดกำไลข้อเท้านี้ไว้กับตัว แน่นอนว่าการต้องติดกำไลที่ข้อเท้าแบบนี้ส่งผลกระทบกับชีวิตของปูน หนึ่งในรูปธรรมที่ปูนยกตัวอย่างคือเรื่องของการเดินทางอันสืบเนื่องจากการถูกฟ้องในลักษณะการกลั่นแกล้ง

“ตอนที่ต้องไปรายงานตัวที่สุไหงโกลก ก็ขึ้นเครื่องบินไม่ได้เพราะว่าติดกำไล EM ก็ต้องเดินทางโดยรถประมาณ 18 ชม. มันลำบาก อีกอย่างคดีที่เราโดนทำให้ต้องติดก็ไม่ได้ร้ายแรง ก็คือทำให้เสียทรัพย์มากกว่า บางทีปรับแล้วอาจจะจบด้วยซ้ำแต่ต้องมาติดกำไล EM” 

ปูนเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ จ.นราธิวาส พื้นที่แทบจะใต้สุดของประเทศไทย หลังมีคนแจ้งความคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560) จากการแชร์โพสในเฟสบุ๊ค คดีนี้ยังรอการสืบพยาน 

ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยลองขอปลดกำไล EM ชั่วคราวเพื่อให้เดินทางไปรายงานตัวได้สะดวก เพียงแต่ศาลยกคำร้อง จึงยังต้องเดินทางไกลบนถนนต่อไป

“จริงๆเคยขอถอดกำไล EM เพื่อที่จะเดินทางไปรายงานตัว แต่สิ่งที่ได้มาคือ ศาลยกคำร้อง ก็ต้องเป็นเราที่ออกเองทุกอย่าง ศาลบอกว่าต้องต่อสัญญาประกันใหม่จึงจะได้ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ยาก เราคิดว่ามันเป็นแค่การขอถอดชั่วคราว ศาลน่าจะอนุญาตมากกว่าไปขอถอดเลย อีกอย่างการเดินทางโดยรถก็ใช้เวลาหลายวัน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อ่ะเนาะ”

ชีวิตติดกำไล กับสายตาที่มองมาที่ข้อเท้า

กำไล EM ที่ข้อเท้าซ้ายของปูน

ในวันที่สัมภาษณ์(30 ธ.ค. 65) ปูนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ปูนเล่าว่าด้วยความที่สังคมในโรงเรียนหรือตัวนักเรียนยังไม่ได้เปิดกว้างต่อคนที่มีคดีความอย่างที่หลายคนคิด ไม่เว้นแม้กระทั่งคดีการเมือง ซึ่งบางครั้งกลับมีผลกระทบมากกว่าคดีอื่นๆ

“ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องของการที่คนมองมาหรือบุคลิกภายนอก ที่บางคนเขาไม่ได้รู้จักไม่ได้เดินเข้ามาคุยกับเราก็อาจจะคิดไปเอง ก่อนที่คุณครูคนหนึ่งจะรู้ว่าเราโดนคดีอะไรมันก็ต้องผ่านสายตามากมาย เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช้ข้อดีเลย มันผ่านการตั้งคำถามของครู” ในช่วงแรกปูนมักจะเป็นเหมือนสิ่งแปลกใหม่ในโรงเรียน

“มีเพื่อนตะโกนถามแนวหาเรื่อง ว่าใส่กำไล EM หรอ แล้วก็ตะโกนว่าเป็นควยอะไร! เราก็ไม่รู้หรอกว่าคำถามที่เขาตะโกนมาเจตนาคืออะไร แต่คำที่เขาห้อยมาด้วยมันค่อนข้างหยาบคาย”

“เหมือนกับว่าเขาไม่รู้จากปากเราว่าเราไปทำอะไรมาถึงโดนติด EM เป็นเรื่องของการมองคน บางทีมันเกิดการตัดสินขึ้นแล้ว บางคนที่เขาเข้ามาคุยกับเรามันก็ได้ข้อกระจ่างนะ มีเพื่อนที่เขารู้สึกว่าการที่ใส่กำไล EM มันไม่แฟร์กับเรา ทำไมรัฐต้องให้ใส่ ก็กลายเป็นว่าเห็นด้วยกับความคิด(ความคิดแบบประชาธิปไตย)”

พันธนาการการแสดงออกทางการเมือง

ในช่วงเวลาเพียงสองปีหลังการก่อตั้งของกลุ่มทะลุฟ้าในปี 2564 กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มนี้ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ราวกับแจกฟรี นับเมื่อ 2 มกราคม 2566 มีคนที่ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีสูงสุดถึง 20 คดีต่อคน แต่มีหนึ่งคดีที่ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะมาดำเนินคดี คือ คดีของอาทิตย์-ทะลุฟ้า 

เชื่อว่าไม่มีใครรู้จักอาทิตย์ก่อนหน้านี้เพราะอาทิตย์มักจะไม่ออกหน้าเวลาไปร่วมชุมนุม “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” หรือทวี เที่ยงวิเศษ เป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี อดีตช่างฝีมือวัย 36 ปี และเริ่มเคลื่อนไหวจาก “เดินทะลุฟ้า” ซึ่งเป็นการเดินเท้ารณรงค์ด้วยระยะทาง 247.5 กม. จากจังหวัดนครราชสีมาสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร เมื่อต้นปี 2564

อาทิตย์ต้องเข้าไปในเรือนจำจากคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงาน และหลบหนีการจับกุมหลัง #ม็อบ3กันยา64 โดยหลังจากไปรายงานตัวตามหมาย ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว และต้องไปเข้าเรือนจำไปกว่า 171 วัน หรือเวลาเกือบครึ่งปี ฟังจากข้อหาดูเหมือนเป็นคดีร้ายแรงน่ากลัว แต่สุดท้ายแล้วคดีนี้ศาลตัดสินให้เป็นเพียงโทษปรับเท่านั้น คดีนี้จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยเพราะเป็นคดีที่ทำให้อาทิตย์ต้องติดกำไล EM

กำไล EM ที่ข้อเท้าของอาทิตย์

ต่อมา 19 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว 7 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าในคดีสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ทำให้นักกิจกรรมทั้ง 7 คนต้องถูกคุมขังในเรือนจำ โดยส่วนใหญ่เป็นการถูกจองจำเป็นครั้งแรก ยกเว้นอาทิตย์ผู้ต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นระลอกที่สอง 

“ชุดที่มันจับทะลุฟ้าล่าสุด 7-8 คนเนี่ย มันจับไปเพื่อที่จะกำหนดเงื่อนไขโดยเฉพาะ จริงๆมันเป็นคดีขี้หมามากเลยนะ ทำให้เสียทรัพย์เนี่ยยอมความได้นะ เขาก็เผาหุ่นฟางของตัวเองที่เอาไป มันไม่ควรมีคดีวางเพลิงอ่ะ โดยทั่วไปมันไม่ควรเอาไปเข้าเงื่อนไขทางการเมือง เพราะคดีนี้เงื่อนไขมันมีตั้งแต่ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม ล่าสุดมีเรื่องห้ามกระทำการที่กระทบต่อสถาบัน มันไม่เกี่ยวกับคดีเลย ผมคิดว่าเขาน่าจะมีข้อมูลว่าทะลุฟ้ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่เคลื่อนไหวและมีมวลชนตามมากที่สุดกลุ่มหนึ่งที่แอคทีฟ(ตื่นตัว) แล้วก็เอาไปกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วน EM เป็นเรื่องของการติดตามตัวว่าคุณไปทำอะไร ที่ไหน มันรู้อยู่แล้วแหละว่าทะลุฟ้าไม่หนีหรอก แต่มันเป็นเรื่องที่ทำให้คุณมีภาระ กังวล ไม่กล้าเคลื่อนไหวต่อ สองคือเขาอยากรู้ว่าคุณไปประชุมสัมมนากันที่ไหน”

นี่เป็นคำสัมภาษณ์ของอานนท์ นำภา หรือ “ทนายอานนท์” ซึ่งเป็นทนายความที่รับผิดชอบว่าความในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคดี ม.112 ที่แซม แม็ก และมิกกี้บังถูกกล่าวหา 

ไม่เพียงเท่านั้น ชาวทะลุฟ้ายังถูกดำเนินคดีจากเหตุที่ไปเข้าร่วมชุมนุมครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. เมื่อปี 2564 โดยถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วย ม.112 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณนางเลิ้งอีกด้วย ผู้ต้องหาในคดีนี้คือ “แซม มิกกี้บัง แม็ก และคาริม ทะลุฟ้า” โดยแซมและมิกกี้บังถูกฟ้องร่วมกันในข้อหาตามมาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก ส่วนแม็ก อัยการโจทก์ได้ฟ้องในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

จากคดีที่ถูกกล่าวหาจากการร่วมชุมนุมในวันครบรอบ 15 ปีรัฐประหาร #ม็อบ19กันยา64 ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้แซม แม็ก และมิกกี้บังต้องเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเป็นเวลานาน โดยแซมถูกคุมขังเป็นเวลา 139 วัน แม็กถูกคุมขังเป็นเวลา 107 วัน และมิกกี้บังถูกคุมขังเป็นเวลา 50 วัน หลังจากได้รับการประกันตัวก็หนีไม่พ้นเงื่อนไขให้ติดกำไล EM 

“แซม ทะลุฟ้า” หรือพรชัย ยวนยี คือนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 57 จนปัจจุบันก็เกือบ 10 ปีแล้ว เขาเล่าว่ากระบวนการในคดีนี้มีความแปลก อยู่ๆ ก็มีหมายจับคดี ม.112 โผล่มาในตอนที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ

พรชัย ยวนยี (แซม)

“แม่งเหี้ย เซ็งๆ ไม่ได้ทำตามแผน รู้สึกเหมือนโดนแกล้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระบวนการมันไม่มีหมายเรียกเลย หมายเรียกก็ไม่มา วันนั้นที่เราไปเช็คหมายด้วยเจตจำนงบริสุทธิ์ ปรากฏว่าก็มาจับแล้วก็ไปฝากขัง และ (ติดคุก) ยาวเลย” แซมระบายความไม่ยุติธรรมที่พบเจอกับตัว แผนไปสหรัฐอเมริกาเพื่อพาลูกสาวไปเรียนต่อกลับล้มไม่เป็นท่า หลังจากเดินทางไปเช็คหมายด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วพบว่าตัวเองมีหมายจับคดี ม.112 ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่เคยโชว์ให้ดูมาก่อน

“เงื่อนไข EM ถึง 2 ทุ่ม มันจะทำอะไรมากไม่ได้ เวลาต้องไปกินข้าวกับครอบครัวก็ต้องรีบกลับ เพราะกลัวเลยเวลา หรือเวลาไปต่างจังหวัดก็ต้องขอศาลก่อนทุกครั้ง” แซมบอก

ส่วน “มิกกี้บัง ทะลุฟ้า” หรือภานุพงศ์ ศรีกระสินธ์ุ อายุ 24 ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สาขาเทคโนโลยีซ่อมบำรุงระบบราง กำไล EM จึงส่งผลอย่างมากกับชีวิตวัยเรียนของเขา

ภานุพงศ์ ศรีกระสินธ์ุ (มิกกี้บัง) 

“ตัดสิทธิ์การใช้ชีวิตของคนไปอย่างน้อยก็ 12 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาเราก็จะมีเวลาร่วมกันกับเพื่อนในมหาลัยน้อย เรียนเสร็จก็ต้องกลับเลย ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อน ไม่ได้ทำงานร่วมกันทำการบ้านร่วมกัน ระยะทางจากมหาลัยมาบ้านก็ใช้เวลา” มิกกี้บังกล่าว

แซม มิกกี้บังและอาทิตย์ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าการใส่กำไล ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

“ถามว่ากระทบมั้ยก็กระทบมากด้วย ข้อแรกเลยเวลาชาร์จ EM เราต้องชาร์จเวลาที่เรานอนใช่มั้ย ต้องเสียบกับปลั๊กไฟ และเวลานอนก็ไม่รู้ว่ามือไม้จะไปจิ้มปลั๊กไฟตอนไหน อีกอย่างถ้าเราไม่ชาร์จตอนนอนช่วงกลางวันที่เราทำงานมันก็จะไม่มีแบต เราเลยมีความจำเป็นต้องชาร์จตอนนอน ผลกระทบอีกอย่างคือเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร และขึ้นเครื่องบินไม่ได้ เวลาเรารับงานช่างรับต่อเติม เวลาที่เราดีลกับลูกค้า ลูกค้ายังไม่เห็นเรา เรายังไม่เห็นลูกค้า เหมือนลูกค้าจะตกลงแต่พอไปดูหน้างานจริงๆปุ๊บถ้าลูกค้าเห็นว่าเราติดกำไล EM อย่างงี้เขาก็อาจจะไม่จ้างเราต่อเพราะมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย” อาทิตย์เล่า

“ในความคิดก็คิดมาตลอดว่ากำไล EM มันมีมาเพื่อคดีร้ายแรง คดีที่เด็ดขาดอะไรแบบนี้ตามทั่วไปที่เขาใช้กันปกติ แต่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมตัวเองที่เป็นคดีการเมืองต้องมาติดกำไล EM เพราะว่าปกติเราก็ไม่ได้หนีไปไหนอยู่แล้ว” ปูนเสริมเราหลังถามถึงเหตุผลของการนำกำไล EM มาใช้กับนักโทษทางการเมือง เช่นเดียวกับมิกกี้ที่เข้าใจว่าการใช้กำไล EM ติดที่ข้อเท้าก็เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาที่ได้รับประกันตัวไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือคิดจะหลบหนี

นี่เป็นเพียงความอึดอัดของบางคนที่เราเลือกสัมภาษณ์เท่านั้น ยังมีอีกราว 10 คนของสมาชิกทะลุฟ้าที่ไม่ได้ถูกถามไถ่ การที่จะมีอิสรภาพที่แท้จริงและคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้นต้องแลกมาด้วยคุก เรือนจำ และเสรีภาพจำแลงอย่างที่ทะลุฟ้าหลายๆ คนต้องประสบอยู่ในตอนนี้

“อย่างน้อยก็ได้อยู่กับครอบครัว ได้ทำงานบ้าง แต่ติดคุกไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่ติดอะไรสักอย่างดีกว่า” แซมบอกเรา

ถ้าถามว่าคุ้มไหมที่ทะลุฟ้าแล้วต้องมาเจอกรงขังต่อ อานนท์ตอบว่า

“มันไม่มีคุ้ม ไม่คุ้มหรอก” อานนท์ตอบทันที “แต่มันเป็นเงื่อนไขทางการเมือง ไม่ใช่เงื่อนไขในทางคดีโดยตรง น้อยคดีมากที่ทางเราไปยื่นประกันแล้วศาลจะกำหนดเงื่อนไข (คดีอื่นๆที่ไม่ใช่คดีการเมือง) แต่พอเป็นคดีการเมืองมีเงื่อนไขออกมาเต็มเลย มันเหมือนกับเอาคนเข้าไปสุดขบวนการแล้วก็กำหนดเงื่อนไขในการไปจำกัดสิทธิเขาไม่ให้ไปแสดงออกทางการเมือง” 

“หลักสันติวิธียังไม่รู้กันเลย ว่าอะไรคือสันติวิธี อะไรคือความรุนแรง อย่างต่างประเทศในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มันไม่ไปทำร้ายหรือทำลายตัวบุคคลเนี่ยมันคือสันติวิธี ต่างประเทศเขาใช้สีสาดใส่ตำรวจกันเยอะแยะ เพราะตำรวจเขาใช้ความรุนแรงกับการสลายการชุมนุม การต่อสู้มันเป็นสัญลักษณ์ ไทยเรายังไม่เปิดความคิดเรื่องเสรีภาพพวกนี้ ยังเป็นเต่าอยู่เลย (ล้าหลัง) แต่ผมเชื่อว่าเรื่องพวกนี้มันจะถูกเรียนรู้และตอกย้ำให้สังคมรู้ว่าอะไรคือสันติวิธีอะไรคือความรุนแรง” ทนายอานนท์กล่าวในฐานะทนายความเจ้าของคดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net