Skip to main content
sharethis

"อ่านประวัติศาสตร์จากซาก (โบราณวัตถุ) อ่านอนาคตคน (สังคม) ไทย" บรรยายพิเศษจาก ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช การศึกษาซากจะจากหลักฐานทางโบราณคดีจะทำให้เข้าใจพัฒนาการทางสังคม การปฏิสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงอดีตถึงปัจจุบัน และทำนายอนาคตได้

 

4 พ.ค. 2566  เนื้อหาจากโครงการบรรยายพิเศษ “อ่านประวัติศาสตร์ อ่านอนาคตคนไทย” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และแผนงานคนไทย 4.0 หัวข้อ "อ่านประวัติศาสตร์จากซาก (โบราณวัตถุ) อ่านอนาคตคน (สังคม) ไทย" โดย ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566

ศาสตราจารย์ ดร.รัศมี ชูทรงเดช 

ความหมายของโบราณคดี

โบราณคดี หมายถึง การศึกษาอดีตที่เก่าแก่ หรือศึกษาปัจจุบันที่พึ่งเกิดจากวัตถุทางวัฒนธรรมหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งโบราณคดีเป็นศาสตร์ที่มีการใช้วิธีการทางสหวิทยาการในการศึกษาและอธิบายทั้งวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยการใช้ศาสตร์ที่หลากหลายในการศึกษาและค้นคว้าจนเกิดการผสานผสานกันขององค์ความรู้ที่นำไปสู่การศึกษาให้ความเข้าใจเรื่องราวในทุกด้านของมนุษย์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ตัวมนุษย์ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

ความแตกต่างของโบราณคดีและประวัติศาสตร์

คำนิยาม (Definition)

โบราณคดี (Archaeology) คือ การศึกษาเชิงอัตวิสัยเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์จากการกู้คืนผ่านการสำรวจหรือขุดค้นภาคสนาม และการวิเคราะห์วัตถุทางวัฒนธรรมเพื่อตีความสะท้อนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อลำดับเหตุการณ์ในอดีตว่า โบราณวัตถุชิ้นต่าง ๆ ว่ามีนัยเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในช่วงเวลาขณะนั้นอย่างไร โดยการศึกษาโบราณคดีที่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานที่หลากหลายจึงทำให้มีการนำเอาศาสตร์ของการใช้หลักวิชาการจากสาขาอื่น ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการศึกษาด้วย เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ (History) คือ การศึกษาความเป็นมนุษยชาติตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยอาศัยความพยายามทำความเข้าใจต่อปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความคิดที่ก่อตัวขึ้น พัฒนาการของชาติ สถานบัน และประเทศในทุกด้าน

ขอบเขตการศึกษา (The Scope of Study)

โบราณคดี เป็นการศึกษาเรื่องราว วิถีชีวิต ขนมธรรมเนียม ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านการขุดค้นวัตถุทางวัฒนธรรม โดยอาศัยการค้นคว้าข้อมูลและวิเคราะห์ในเชิงอนุมานที่ต้องมีการใช้วิธีการทางสหวิทยาการเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอดีตของมนุษยชาติขึ้นมา

ประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการบอกเล่า นิทาน และตำนาน โดยประวัติศาสตร์มีการศึกษาผ่านเหตุการณ์ในอดีตและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเชิงวิชาการในลักษณะต่าง ๆ เช่น จารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและการค้นพบที่นำไปสู่การรวมรวบเพื่อตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การใช้หลักฐาน (The Use of Evidence)

โบราณคดี ศึกษาเรื่องราวของผู้คนได้ทุกระดับชั้นที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเกิด การดำรงชีวิต ปฏิสัมพันธ์ของผู้คน การประกอบอาชีพ คติความเชื่อ วัฒนธรรม และการตายของมนุษย์ในอดีตจากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ทั้งนี้นักโบราณคดีใช้วัฒนธรรมมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในอดีตในการศึกษาหาความรู้ เช่น ชิ้นส่วนจากร่างกายมนุษย์ นิเวศวัตถุ โบราณวัตถุประดิษฐ์ และร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์

ประวัติศาสตร์ ศึกษาเรื่องราวทางการเมือง สงคราม ชนชั้นนำ มหาบุรุษ และกษัตริย์ ที่สัมพันธ์อยู่กับการเกิดรัฐเพื่อสถาปนาชาติ ซึ่งประวัติศาสตร์มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกมีอดีตร่วมกันภายใต้คำว่าชาติจึงทำให้ชนชั้นผู้ปกครองต่างใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือการสร้างสิทธิธรรมในการปกครอง จากขอบเขตการศึกษาประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่พบว่า การบันทึกเรื่องราวที่เป็นลายลักษณ์อักษรถูกบันทึกและนำเสนอจากมุมมองและประสบการณ์ของชนชั้นนำแทบทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กระแสหลักมักเชื่อมโยงอยู่กับภาครัฐและชนชั้นนำผ่านการเลือกถ่ายทอดที่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีบทบาทความทรงจำร่วมกัน  อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์มีการศึกษาจากเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ศิลาจารึก พงศาวดาร ใบลาน บันทึกการเดินทาง เป็นต้น เพื่อเข้าใจวิถีชีวิต สภาพสังคม เหตุการณ์สำคัญ วิธิคิดของคนในอดีต

 

ความเหมือนของโบราณคดีและประวัติศาสตร์

ความสนใจในเรื่องของข้อเท็จจริง

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์มีการศึกษาจากเวลา สถานที่ และบริบท รวมถึงการตีความและอธิบาย โดยนักโบราณคดีจะต้องสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีตว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างจากสิ่งที่หลงเหลือจากอดีต เช่น ข้าวของเครื่องใช้ โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นต้น นักโบราณคดีจะศึกษาปัจจุบันที่พึ่งเกิดจากวัตถุทางวัฒนธรรมหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในอดีตแล้วหลงเหลืออยู่ และใช้ศาสตร์หลาย ๆ ศาสตร์ในการเข้าใจถึงการดำรงชีวิตของคนในอดีต เช่น วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์

สิ่งที่ช่วยให้โบราณคดีสามารถอธิบายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ได้ คือ ที่มาของประเพณีและความเชื่อ ที่เราปฏิบัติจนเป็นนิสัยที่เราไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่มาจากอดีต โดยที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสามารถอธิบายได้ในเรื่องของความเชื่อและโรคภัยไข้เจ็บได้ ทำให้เรารู้ถึงวิถีการดำรงชีพหรือสิ่งก่อสร้างของคนในอดีต เช่น ถ้วยชาม นักโบราณคดีเมื่อดูรูปแบบความหลากหลายของถ้วยชามแล้วสามารถอธิบายได้ว่า ถ้วยชามนี้เป็นของคนจนหรือคนรวย ซึ่งพิจารณาจากวัสดุ รสนิยมในการทานอาหาร และลักษณะอาหารที่แตกต่างกัน

วิธีการศึกษา

โดยนักโบราณคดีจะเริ่มจากการสำรวจหรือกำหนดเรื่องที่จะศึกษาก่อนเหมือนกับนักประวัติศาสตร์ จากนั้นจึงเริ่มขุดค้นหรือรวบรวมหลักฐาน วิเคราะห์หลักฐาน อาจจะใช้หลาย ๆ ศาสตร์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐาน และขั้นตอนสุดท้าย คือ การตีความหลักฐาน เพื่อที่จะสามารถอธิบายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในอดีตหรืออธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเหมือนกับนักประวัติศาสตร์

 

วิธีการทางนักโบราณคดี

นักประวัติศาสตร์สามารถอ่านหลักฐานทางโบราณคดีได้จากวัตถุทางวัฒนธรรม แต่นักโบราณคดีอาจจะต้องใช้วิธีการทำงานต่าง ๆเหล่านี้ เพื่อสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีตว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรและ การศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรม เพื่อดูว่ามีลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบอดีตกับอดีต เช่น ศึกษาเมืองพิษณุโลกในสมัยสุโขทัยจำเป็นต้องต้องเปรียบเทียบกับสมัยสุโขทัยหรือเมืองอื่นที่อยู่ใกล้เคียงและรัฐอื่น ๆในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อดูว่ามีลักษณะทางวัฒนธรรมที่คล้ายกันหรือไม่ และการศึกษาเปรียบเทียบปัจจุบันกับอดีต เพื่อเข้าใจว่าอดีตของสถานที่แห่งนี้เป็นยังไง เช่น การศึกษาหลุ่มฝังศพเพื่ออธิบายสังคมในอดีต โดยการดูจากพิธีกรรมความตายของคนในปัจจุบัน เพื่ออธิบายสังคมในอดีตที่มีความคล้ายกันในแต่ละพื้นที่ การทำงานของนักโบราณคดีเราก็จะเชื่อมโยงประเด็นที่ศึกษากับเรื่องของตนเอง ท้องถิ่น ภูมิภาคและโลก ด้วยวิธีดังนี้

1. ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ คือ คาร์บอน 14 เนื่องจากร่างกายของมนุษย์เมื่อทำการหายใจเข้า-ออก ตลอดเวลาร่างกายจะมีการสะสมของคาร์บอนไว้ในกระดูก เมื่อเสียชีวิตแล้วก็ยังมีคาร์บอนหลงเหลืออยู่ในกระดูก ซึ่งสามารถนำไปตรวจสอบเพื่อกำหนดอายุได้ นักโบราณคดีเมื่อค้นพบเศษกระดูกแล้วจึงจะยังไม่แตะกับกระดูกที่พบนั้นเนื่องจากกระดูกสามารถกำหนดอายุได้ ด้วยเครื่อง AMS Dating เป็นเครื่องที่ใช้ตัวอย่างเพียงแค่เศษเล็ก ๆ ก็สามารถกำหนดอายุของกระดูกนั้นได้

2. การกำหนดอายุแบบเปรียบเทียบ โดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะหรือนักโบราณคดีจะใช้รูปแบบเจดีย์ รูปแบบพระ เครื่องถ้วยเพื่อเปรียบเทียบว่าสิ่งเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และสามารถบอกได้ว่าวัตถุที่ค้นพบนั้นมีอายุเท่าไหร่ โดยการเปรียบเทียบกับวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกัน

3. การขุดค้นชั้นดิน เป็นตัวที่สามารถบอกเวลาอย่างหนึ่งได้ เนื่องจากชั้นดินที่ลึกลงไปในแต่ละชั้นต่างมีอายุที่แตกต่างกัน โดยชั้นล่างสุดจะมีอายุมากที่สุด โดยโลกของเรานั้นตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น ได้เกิดการทับถมของชั้นดินในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ ฤดูกาล น้ำขึ้นน้ำลง และฝีมือของมนุษย์ จึงทำให้เกิดการทับถมเป็นชั้น ๆ ในแต่ละชั้นนั้นอาจจะมีวัตถุต่าง ๆ ของคนในอดีตที่มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนั้น รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ โครงกระดูกมนุษย์ โครงกระดูกสัตว์ โบราณสถาน ที่หลงเหลืออยู่ เมื่อเวลาผ่านไปได้เกิดการทับถมของชั้นดินวัตถุเหล่านี้จึงถูกฝังอยู่ในดินรอให้นักโบราณคดีได้ทำการค้นพบ

4. ธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา เพื่อให้นักบาณคดีเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพที่ตั้งของผู้คนในอดีตและการใช้ทรัพยากร เช่น การไปขุดค้นถ้ำ นักโบราณคดีจะต้องต้องรู้ว่าถ้ำนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีลักษณะเป็นย่างไร สภาพโดยรอบเป็นอย่างไร เพื่อเข้าใจสภาพของการทับถมของแหล่งโบราณคดีที่ต้องการเข้าไปศึกษา

5. มานุษยวิทยา เพื่อให้นักโบราณคดีเข้าใจลักษณะรูปแบบพิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สามารถช่วยในการอธิบายและตีความหลักฐานทางโบราณคดี

6. สิ่งแวดล้อมโบราณ โดยการศึกษาจาก วงปีต้นไม้ เพื่อที่จะสามารถบอกได้ว่าในพื้นที่บริเวณนี้ในแต่ละปีเกิดอะไรขึ้นบ้างและในแต่ละใช้บอกถึงสถาพอากาศในแต่ละปีเพื่อให้ทราบว่าในอดีตมรสภาพอากาศเป็นอย่างไร มีปริมาณน้ำฝนมากแค่ไหน โดยดูจากวงปีของต้นไม้

7. การตีความ เป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่มีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานและใช้วิธีการทางโบราณคดีที่กล่าวมาในการรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ จึงตีความหลักฐานเหล่านั้นโดยใช้การศึกษาเปรียบเทียบในเชิงตรรกะจากหลักฐานและบริบทโดยรอบจากสิ่งที่ได้ศึกษาค้นพบเพื่อสามารถอธิบายวิถีชีวิตของคนในอดีตได้

 

อ่านจาก “ซาก” อ่านอนาคตสังคมไทย

โบราณคดีเป็นงานที่ต้องอาศัยวิธีการคิดเป็นกรอบสำคัญในการชี้นำวิธีการค้นคว้า ในส่วนของการตีความหลักฐานเป็นการทำเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตที่สัมพันธ์อยู่กับความรู้เกี่ยวกับอดีตของมนุษย์ ทั้งนี้จากศึกษาซากทำให้เราเข้าใจพัฒนาการทางสังคม การปฏิสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงอดีตถึงปัจจุบัน และทำนายอนาคตได้ โดยอาศัยการใช้การอ่านจากบริบทหลังจากการวิเคราะห์และการตีความนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากการอ่านเป็นการเชื่อมโยงบริบทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงมีการใช้การอ่านจากการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อตีความวัตถุทางวัฒนธรรมให้เกิดความเข้าใจถึงความเป็นมา อายุ และมีความหมายอย่างไร จึงทำให้การตีความถือได้ว่าเป็นงานที่ยากลำบากที่สุดในกระบวนการศึกษาทางโบราณคดี

ความเกี่ยวข้องระหว่างโบราณคดีกับประวัติศาสตร์

แม้ว่านักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีจะศึกษาอดีต ขอบเขตการศึกษา และการใช้หลักฐานที่แตกต่างกัน แต่ในแง่ของการศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันเสมอ การศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคแรกจำเป็นต้องใช้หลักฐานวัตถุทางวัฒนธรรมจากนักโบราณคดี ในส่วนของการศึกษาโบราณคดีย่อมมีความจำเป็นในการใช้หลักฐานพวกเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อประเมินความน่าจะเป็นของหลักฐานที่ขุดค้นพบ ซึ่งการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์เป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้นักโบราณคดีสามารถอนุมานและทำความเข้าใจต่อลำดับเหตุการณ์ในอดีตได้ ทั้งนี้การศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ยังมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรและข้อมูลในอดีต ไม่ว่าจะเป็น บันทึกสำมะโนครัว บันทึกภาษี แผนที่ และรูปถ่าย ว่าหลักฐานที่ค้นพบมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือไม่ อย่างไร ซึ่งทำให้เราสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวอย่างเป็นระบบภายใต้วิธีคิดที่นำไปสู่ความเข้าใจถึงพัฒนาการทางสังคม ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ คติความเชื่อ และทำให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ประกอบกับการคาดคะเนความน่าจะเป็นจากเหตุการณ์ในอดีตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คล้ายคลึงกันอาจนำไปสู่การวิเคราะห์การเกิดของเหตุการณ์นั้น ๆ ซ้ำได้อีกในอนาคตได้

การบูรณาการทางประวัติศาสตร์กับโบราณคดี

ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นการศึกษาที่ต่างเอื้อประโยชน์ต่อกัน เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีสามารถช่วยให้นักประวัติศาสตร์สามารถตั้งคำถามและสมมติฐานที่สอดคล้องกับหลักฐานที่ค้นพบได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาวัตถุทางวัฒนธรรม อาทิเช่น กระดูกสัตว์ ก้อนหิน ภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน เป็นต้น ทำให้ทราบถึงการตั้งถิ่นฐาน การอพยพ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาทางสังคม การปกครอง แนวคิด และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ การศึกษาที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากเช่นนี้ทำให้นักโบราณคดีต้องศึกษาลักษณะ ตรวจสอบอายุ วิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักฐานอื่น ๆ ดังนั้นโบราณคดีจึงมีการหยิบยกแนวคิดและทฤษฎีจากศาสตร์อื่น ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคำอธิบายร่วมด้วย เช่น ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ใช้ในการตรวจสอบอายุผ่านการใช้คาร์บอน-14, ธรณีวิทยาใช้สำหรับการขุดค้นดินเพื่อบอกถึงระยะเวลาหนึ่ง ๆ เพราะชั้นดินที่ยิ่งลึกยิ่งมีอายุมาก, และมานุษยวิทยาเพื่อให้นักโบราณคดีเข้าใจลักษณะรูปแบบพิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตต่าง ในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อช่วยในการอธิบายและตีความหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งบางกรณีการค้นพบหลักฐานใหม่ทางโบราณคดีอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ ในแง่ของการทำงานประวัติศาสตร์จากการค้นคว้าจารึก จดหมายเหตุ ตำนาน พงศาวดาร และบันทึกราชการ ทำให้ทราบถึงตำแหน่งของแหล่งชุมชนโบราณได้เพิ่มขึ้น แต่ด้วยลักษณะการศึกษาโบราณคดีมีเทคนิคและลักษณะเฉพาะตัวนั้นทำให้นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานเหล่านี้ได้โดยตรง ดังนั้นการวิเคราะห์และการตีความหลักฐานโบราณคดีจึงจำเป็นต้องผ่านวิธีการของนักโบราณคดีที่มีความเชี่ยวชาญ ภายหลังนักประวัติศาสตร์จึงสามารถนำหลักฐานและข้อมูลไปตีความต่อได้

ดังนั้น การเรียนประวัติศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีบูรณาการ เพราะประวัติศาสตร์จะศึกษาแต่เพียงหนังสือตำราที่เป็นลายลักษณ์อักษรตำนานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ การที่จะช่วยเพิ่มทรรศนะในการศึกษาของนักเรียนประวัติศาสตร์ได้นั้นจึงจำเป็นต้องสามารถดูซากวัตถุทางวัฒนธรรมให้เป็น ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาศักยภาพในวิธีคิด การตีความ และการเขียนประวัติศาสตร์ โดยประวัติศาสตร์จะเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตเข้ากับปัจจุบันเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และเห็นคุณค่า การบูรณาการทางประวัติศาสตร์กับโบราณคดีจึงถือเป็นประวัติศาสตร์ทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งในทางตีค

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net