Skip to main content
sharethis

สปสช.จัดเวิร์กช็อป สร้างความรู้เกี่ยวกับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแก่เครือข่ายชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ หวังขยายพื้นที่เครือข่ายให้ครอบคลุมและพัฒนาเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยให้ความรู้และคุ้มครองสิทธิแก่สมาชิกในเครือข่ายในอนาคต 

6 พ.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งข่าวว่า สปสช.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางเพศ ระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย. 2566 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการเข้าถึงสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ และพัฒนาบทบาทการเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือยกระดับเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน หรือหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน โดยมีตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์และกลุ่มความหลากหลายทางเพศประมาณ 20 คนเข้าร่วมประชุม 

ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ส่วนมากจะเป็นแกนนำหรือเครือข่ายกลุ่มใหม่ๆ ที่ สปสช. ขยายความร่วมมือในการทำงานให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา สปสช. มีการทำงานร่วมกับแกนนำระดับบนแล้ว แต่ถ้าพิจารณาลงไปจะพบว่าการรับรู้สิทธิต่างๆ ก็ยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งต้องสร้างการตระหนักรู้ให้รู้สึกว่าทุกคนควรได้สิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ 

“เครือข่ายที่มาประชุมครั้งนี้เป็นกลุ่มใหม่ๆ ที่พร้อมเข้ามาร่วมงานกับ สปสช. กลุ่มนี้รู้ถึงปัญหาของตัวเองและคิดว่าจะรอการทำงานของเครือข่ายอื่นๆ ไม่ได้แล้ว เราจึงชักชวนให้เข้ามาดูแลเรื่องสิทธิของเครือข่ายของตัวเอง ต้องเดินไปอีกก้าวในฐานะที่เป็นแกนนำภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง อาจจะพัฒนาจนเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพหรือทำเรื่องการสร้างการรับรู้ เข้าถึงสิทธิและคุ้มครองสิทธิในเครือข่ายของตนให้มากขึ้นในอนาคต”ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว 

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และจะต้องมีการทำงานร่วมกันกับ สปสช. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่มีการประชุมที่ส่วนกลางแล้ว ต่อไป สปสช. เขตต่างๆ ก็จะรับลูกในการประสานการทำงานร่วมกันต่อไป 

ด้าน สุมาลี โตกทอง ผู้ประสานงานโครงการข้ามเพศมีสุข กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่ที่ผ่านมาเครือข่ายความหลากหลายทางเพศยังไม่ค่อยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนมากจะพ่วงไปกับเครือข่ายสตรีต่างๆ แต่จริงๆแล้วกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็มีประเด็นเฉพาะและต้องการบริการที่แตกต่าง จึงเป็นโอกาสดีที่เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับ สปสช. ในครั้งนี้ 

สุมาลี กล่าวต่อไปว่า การทำงานร่วมกับ สปสช. จะเป็นโอกาสดีที่จะได้พาเพื่อนๆ ในเครือข่ายมาเรียนรู้กลไกการเข้าถึงสิทธิในระบบบัตรทอง ขณะเดียวกันก็จะได้สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มข้ามเพศแก่คนที่ทำงานในระบบสุขภาพหรือแม้แต่ในองค์กร สปสช.เอง เช่น การเกิดมามีสภาพจิตใจไม่สอดคล้องกับร่างกายหรือสอดคล้องกับความคาดหวังทางสังคม ก่อให้เกิดความเครียด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า หรือ เรื่องคำนำหน้าชื่อ เวลาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแล้วถูกเจ้าหน้าที่เรียกชื่อเป็นนายแต่แต่งตัวเป็นหญิง ทำให้รู้สึกถูกจับจ้อง จนรู้สึกไม่อยากไปรับบริการที่โรงพยาบาล เป็นต้น 

“ที่สำคัญคือหลายคนอยากเปลี่ยนแปลงร่างกายให้สอดคล้องกับความรู้สึกทางจิตใจ แต่เรื่องนี้ถูกตีให้เป็นเรื่องของความสวยงามหมด ทั้งที่จริงๆแล้วมันเป็นความรู้สึกถึงตัวตนที่สามารถมีสภาพร่างกายที่ตรงกับจิตใจ แต่เนื่องจากสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพไม่คุ้มครองในส่วนนี้ ทำให้ต้องจ่ายเงินเองและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกไปรับบริการจากหมอกระเป๋าที่มีราคาถูกกว่า ทำให้บางคนเกิดความเสียหายกับร่างกาย ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ”สุมาลี กล่าว 

สุมาลี กล่าวอีกว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจหรืออาจต้องปรับในเชิงระบบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับกลุ่มข้ามเพศเลย ดังนั้นจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้มีบริการเกี่ยวกับกลุ่มข้ามเพศเป็นสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ในอนาคต 

ด้าน นายชัยยุทธ วัยเหนิดลื้อ จากเครือข่ายชาติพันธุ์กะเลิง จ.สกลนคร กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของกลุ่มชนเผ่าคือเรื่องสถานะทางทะเบียน ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่รัฐจัดให้ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ก็ต้องอาศัยเครือข่ายที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ประสานงานให้  

ขณะเดียวกัน ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังมีช่องว่าง เช่น ยังเข้าไม่ถึงงบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ทำให้ต้องอาศัย อสม. หรือ รพ.สต. ช่วย ดังนั้นต้องมีกลุ่มองค์กรที่สามารถเข้าถึงงบ กปท. ได้ การเข้ามาร่วมงานกับ สปสช. จึงเป็นโอกาสที่จะได้ประสานงาน สร้างความเข้าใจ และนำองค์ความรู้กลับไปสื่อสารกับสมาชิกในกลุ่มชนเผ่าต่อไป 

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) นครพนม ทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาร้องเรียน สิทธิบัตรทอง 

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นการทำงานที่เชื่อมกับสมาคมคนพิการจังหวัดนครพนมด้วย โดยมีนายวันชัย นักบุญ ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมด้วย คณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ประกอบด้วย เครือข่ายคนพิการทางการเคลื่อนไหว ที่มีสมาชิกครอบคลุม 12 อำเภอ รวมถึงเครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม และหน่วยบริการในพื้นที่ จำนวน 50 คน ให้การต้อนรับ  

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าวของ สปสช. มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์จากกรณีใช้บริการสิทธิบัตรทองแล้วเจอปัญหาไม่ได้รับบริการตามาตรฐาน หรือไม่ได้รับความสะดวก รวมไปถึงการถูกหน่วยบริการเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเก็บในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครพนม  

สำหรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม มีบทบาท 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา 2.คุ้มครองสิทธิประชาชน สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับรู้สิทธิ และใช้สิทธิบัตรทองอย่างถูกต้อง และ 3.ร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับตำบลจำนวน 103 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครพนม   

นายวันชัย นักบุญ ประธานคณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนมและเครือข่ายผู้สูงอายุ กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครพนม ยังมีปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการอยู่เรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของหน่วยงานใด หรือของใคร เพียงแต่อาจจะยังไม่เข้าใจการใช้สิทธิบัตรทอง รวมถึงหน่วยบริการด้วยเช่นกันที่ยังไม่ชัดเจนถึงการให้บริการประชาชนในสิทธิบัตรทองสำหรับการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ  

ทั้งนี้ จึงอยากเสนอให้แก้ไขเชิงนโยบายควบคู่กับการทำงาน โดยที่ สปสช.เขต 8 ร่วมกับ หน่วยบริการรัฐ หน่วยบริการรัฐนอกสังกัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดตั้งกองทุน แก้ไขปัญหา Extra Billing หรือเป็นการจัดการค่ารักษาพยาบาล ค่ายานอกบัญชียาหลัก รวมถึงสิทธิไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ เพื่อให้หน่วยบริการทุกแห่งในพื้นที่ สปสช.เขต 8 ไม่เก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยในทุกกรณี   

นางรุจิรา สิทธิกานต์ รองประธานคณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง  ลจ.นครพนม กล่าวว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) เป็นรูปแบบกลไกภาคประชาชน ซึ่งทำงานด้วยใจรัก และส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา แต่ทั้งนี้ อยากเสนอให้มีการขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมระดับตำบล /หมู่บ้านเพิ่มขึ้น และให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งจะช่วยให้สร้างการรับรู้สิทธิบัตรทองกับประชาชนให้กระจายไปทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล  

ด้าน น.ส.พิมพ์มาดา สุริยาราช คณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม และยังเป็นผู้แทนเครือข่ายคนพิการ จ.นครพนม กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 ได้รณรงค์ให้ความรู้เรื่องสิทธิ การตรวจสอบสิทธิ และการย้ายสิทธิผ่านแอปพลิเคชันของ สปสช.กับประชาชนสิทธิบัตรทอง และคนพิการที่ใช้สิทธิบัตรทองด้วย และพบปัญหาส่วนใหญ่คือประชาชนสิทธิการรักษาไม่อยู่ในพื้นที่ เนื่องจากต้องไปทำงานต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ และเมื่อกลับมาแล้วยังไม่ได้ย้ายสิทธิการรักษากลับมาด้วย ส่งผลให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างหน่วยบริการ ที่เมื่อเจ็บป่วยแต่ไม่ฉุกเฉินและไปทำการรักษา จะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งหน่วยได้ประสานแก้ไข และย้ายสิทธิบัตรทองให้กับประชาชน รวมถึงคนพิการด้วย  

“ปัจจุบันการย้ายสิทธิทำได้ง่าย และใช้สิทธิรักษาได้ทันทีไม่ต้องรอ ทำให้สะดวกมากขึ้นต่อประชาชน อีกทั้ง ยังมีผลประโยชน์โดยตรงต่อจังหวัด ที่หน่วยบริการได้งบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.ลงในพื้นที่ เพื่อนำมาส่งเสริมป้องกันโรค และดูแลประชาชนได้มากขึ้น” น.ส.พิมพ์มาดา กล่าว  

ขณะที่ ทพ.อรรถพร สปสช. กล่าวว่า ชื่นชมความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายที่มีใจรักของเครือข่ายคนพิการและเครือข่ายผู้สูงอายุในจังหวัดนครพนม ที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ และรู้เรื่องสิทธิของตนเอง อีกทั้ง ยังแก้ปัญหาเมื่อสิทธิไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ เมื่อไปรับบริการก็จะลดปัญหาเรื่องร้องเรียนและความไม่สะดวกต่างๆ ได้    

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเรียกเก็บเงินจากประชาชนสิทธิบัตทองไม่ควรเกิดขึ้น แต่ที่มีปัญหาเพราะอาจเกิดจากความไม่เข้าใจของระบบ และโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการอาจยังไม่รับทราบข้อมูลสิทธิประโยชน์ของบัตรทองว่าครอบคลุมเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ สิทธิสิทธิประโยชน์ของบัตรทองครอบคลุมเกือบทุกด้านแล้วในปัจจุบัน รวมถึงครอบคลุมการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย  

“หากบอกว่าบัตรทองทำอะไรได้บ้าง อาจจะต้องพูดกันยาว เพราะสิทธิประโยชน์เยอะอย่างมาก แต่หากบอกว่าบัตรทองทำอะไรไม่ได้บ้าง จะพูดได้ง่ายกว่า เพราะมีแค่ 4 เรื่อง คือ 1.บริการเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 2.การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 3.การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง และ 4.การปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย” ทพ.อรรถพร กล่าว  

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย คณะ สปสช. และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม ยังได้ลงพื้นที่ดูการเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวของประชาชนสิทธิบัตรทองที่เป็นคนพิการ ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานที่ต่างจังหวัด และกลับมายังภูมิลำเนาที่ จ.นครพนม โดยเป็นการย้ายสิทธิการรักษาผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ซึ่งเมื่อดำเนินการเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวแล้วก็สามารถใช้บริการได้ทันที ไม่ต้องรอระยะเวลา 15 วันเหมือนที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net