Skip to main content
sharethis

ส.ส.สหรัฐฯ เสนอมติต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ชี้ปัญหาการละเมิดสิทธิในไทยนับตั้งแต่ คสช.ทำรัฐประหาร 2557 จนออกรัฐธรรมนูญมาสืบทอดอำนาจเป็นรัฐบาลประยุทธ์แล้วและรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องแสดงให้ชัดเจนว่าหากกองทัพไทยและสถาบันกษัตริย์เข้าแทรกแซงทางการเมืองจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ

เว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐฯ เผยแพร่ร่างมติสภาผู้แทนราษฎร 369 (H.Res. 369) ที่ซูซาน ไวลด์ ส.ส.เดโมแครต เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2566 โดยข้อเสนอเป็นการเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าหากกองทัพไทยและสถาบันกษัตริย์แทรกแซงทางการเมืองหลังการเลือกตั้งจะเกิดผลกระทบทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงต้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยทั้ง

เอกสารดังกล่าวเริ่มจากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนานทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง และการทหาร นับตั้งแต่ พ.ศ.2361 เป็นเวลา 185 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตามเอกสารเน้นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อ 22 พ.ค.2557 และทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลนับแต่นั้นมาและยังมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง ต่อมายังจัดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. โดยเรียกการจัดประชามติครั้งนั้นว่า “การประชามติที่บกพร่องอย่างร้ายแรง”

เอกสารระบุว่าในการทำประชามติครั้งนั้นเกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยรัฐบาล คสช.เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องจากองค์การสหประชาชาติและนานาประเทศให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและยังมีการปิดกั้นสื่อ รวมถึงจับกุมดำเนินคดีนักข่าว

อีกทั้งรัฐธรรมนูญของ คสช.ที่ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2560 ยังเป็นการขยายอำนาจของกองทัพในการควบคุมประชาชน ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญต้องเดินไปตามแผนของรัฐบาลทหารที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และทำให้สภาผู้แทนราษฎรอ่อนแอโดยการยึดวุฒิสภาให้มีเพียงวุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งมาจาก คสช. รวมถึงให้วุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งโดยประชาชนเหล่านี้มาร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วย

ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งอิสระยังชี้ถึงปัญหาในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทั้งในส่วนของกระบวนการและระบบการเลือกตั้งว่าไม่มีความอิสระและเป็นธรรมอย่างเต็มที่

ภายหลังการเลือกตั้งศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์โดยใช้ช่องโหว่ของกระบวนการทางกฎหมายและข้อหากล่าวหาที่เป็นเท็จ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกันนี้ยังวินิจฉัยให้พล.อ.ประยุทธ์ที่ครองอำนาจมาตั้งการรัฐประหารยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้เพียง8 ปีด้วย

นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนกรณีที่มีนักกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไทยถูกจู่โจมด้วยการใช้ความรุนแรง ไปจนถึงเกิดกรณีบังคับสูญหายและฆาตกรรมผู้ลี้ภัยทางการเมืองด้วย

นับตั้งแต่เกิดการประท้วงของประชาชนหลายหมื่นคนทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักศึกษาและเยาวชน และในการประท้วงด้วยความสงบนี้ยังมีข้อเรียกร้องรัฐบาลที่ต้องมาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย แก้รัฐธรรมนูญและให้รัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลกลับตอบโต้การประท้วงเหล่านี้โดยการกดปราบด้วยวิธีการต่างๆ เช่น “ข่มขู่ คุกคาม ใช้กำลัง สอดแนม จับกุมคุมขัง”

เอกสารยังระบุถึงสถานการณ์การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2566 ว่ามีจำนวนมากกว่า 1,800 ราย โดยพวกเขาเพียงเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นของพวกเขา โดยในจำนวนทั้งหมดนี้ยังเป็นเยาวชนอยู่ถึง 280 คนและในจำนวนนี้ 41 คนยังมีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

ในปี 2565 องค์กรพัฒนาเอกชนรายงานถึงกรณีพบการใช้สปายแวร์ “เพกาซัส” โดยรัฐบาลไทยสอดแนมนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยราว 30 ราย และบุคคลที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงนักวิชาการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วบ

ในเอกสารยังระบุถึงบทบาทต่างประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมายังงดออกเสียงในการร่วมประณามรัสเซียที่ก่อสงครามกับยูเครน ให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลทหารพม่าเดินทางเข้าประเทศทั้งที่สหประชาชาติและประเทศในอาเซียนตัดความสัมพันท์ทางการทูตไปแล้ว อีกทั้งไทยยังมีจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดด้วย

ประเด็นสุดท้ายในมตินี้คือเรื่องรัฐบาลไทยผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ที่มีเนื้อหาเป็นจำกัดการทำงานขององค์กรไม่แสวงกำไรในไทยอย่างร้ายแรงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคประชาสังคมในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ทั้งนี้ในมติมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไว้ทั้งหมด 10 ประเด็น

  1. เน้นย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนฐานคุณค่าร่วมด้านประชาธิปไตยและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์
  2. สนับสนุนจุดยืนของประชาชนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูปทางการเมือง สันติภาพในระยะยาว และการเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีอยู่
  3. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและธำรงรักษาหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ การแสดงออก และความเป็นส่วนตัว
  4. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างเงื่อนไขสำหรับการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและเที่ยงธรรมในเดือนพฤษภาคม 2566 เช่น โดย
    1. อนุญาตให้พรรคฝ่ายค้านและแกนนำพรรคสามารถจัดกิจกรรมได้โดยปราศจากการแทรกแซงอันไม่เหมาะสมจากเจ้าหน้าที่รัฐ
    2. อนุญาตให้สื่อ นักข่าว และสมาชิกภาคประชาสังคมสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคมได้โดยไม่ต้องถูกตอบโต้และปราศจากความกลัวที่จะถูกฟ้องดำเนินคดี 
    3. รับประกันว่า การนับคะแนนเสียงจะเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส
  5. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยและยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และหยุดคุกคาม ข่มขู่ หรือฟ้องดำเนินคดีผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและกิจกรรมของพลเมือง โดยให้ความสนใจกับสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและนักศึกษาเป็นพิเศษ
  6. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบอื่นๆ ที่จำกัดการแสดงออกอย่างเสรีและการเข้าถึงข้อมูล
  7. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบและหยุดใช้สปายแวร์โจมตีนักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสมาชิกสำคัญของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยต่างๆ
  8. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกและแก้ไขกฎหมายและคำสั่งที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นเนื้อหาและคำพูดบนอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้ง อันได้แก่
    1. กฎหมายหมิ่นประมาทพระกษัตริย์
    2. พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
    3. กฎหมายยุยงปลุกปั่น
  9. สื่อสารต่อรัฐบาลไทยว่า การละเมิดสิทธิของประชาชนไทยในการแสดงออกและเข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง จะทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถยอมรับได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นใด
  10. ระบุอย่างชัดแจ้งทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า การแทรกแซงโดยกองทัพหรือสถาบันกษัตริย์ก่อน ระหว่าง หรือหลังการเลือกตั้งทั่วไปจะทำให้เกิดผลตามมา
    1. กระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง 
    2. คุกคามการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ประเทศไทยและความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมถึงความรวมมือทางเศรษฐกิจ

ร่างมติดังกล่าวถูกส่งต่อไปให้คณะกรรมาธิการต่างประเทศพิจารณาก่อนที่จะให้ ส.ส.ลงคะแนนออกเสียงเมื่อ 11 พ.ค.2566

ทั้งนี้มติที่ ส.ส.เสนอเป็นข้อเสนอเดียวกับที่ก่อนหน้านี้ ส.ว.ของสหรัฐฯ 2 คนคือ Markey และ Dick Durbin ได้เสนอเป็น “มติวุฒิสภา 114” ถึงวุฒิสภาของสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม สิทธิในการชุมนุม และสิทธิในการแสดงออก ซึ่งมีการกล่าวถึงกรณีถ้ากองทัพไทยและสถาบันกษัตริย์เข้ามาแทรกแซงการทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง เช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net