Skip to main content
sharethis

ช่วงเดือน เม.ย. 2566 มีผลสำรวจระบุว่ากิจกรรมด้านกีฬาในอังกฤษกลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว หลังจากลดลงไปในช่วงโควิด-19 แต่ยังมีช่องว่างระหว่างเพศถึง 5% โดย 66% ของผู้ชายในอังกฤษเล่นกีฬามากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ เทียบกับผู้หญิงที่มีเพียง 61% เท่านั้น


ที่มาภาพ: Women in Sport

Sport England เผยแพร่รายงานการสำรวจ Active Lives Adult ล่าสุดเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2566 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมด้านกีฬาในอังกฤษจะเข้าสู่ปกติแล้ว หลังจากลดลงไปในช่วงโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยมีช่องว่างระหว่างเพศในการกิจกรรมด้านกีฬาถึง 5% โดย 66% ของผู้ชายในอังกฤษมีกิจกรรมด้านกีฬามากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ เทียบกับผู้หญิงที่มีเพียง 61% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อแบ่งระดับกิจกรรมด้านกีฬาสำหรับผู้หญิงตามเชื้อชาติ จะยิ่งเห็นช่องว่างชัดเจนขึ้น ผลสำรวจพบว่ามีผู้หญิงผิวดำเพียง 51% เท่านั้นที่ 'กระตือรือร้นในการเล่นกีฬา' เมื่อเทียบกับผู้ชายผิวดำ 62% นอกจากนี้ยังมีช่องว่างระหว่างเพศ 11% ระหว่างผู้หญิงเอเชียและผู้ที่มีเชื้อชาติอื่น (มีความกระตือรือร้นในการเล่นกีฬาน้อยกว่าผู้ชายที่มีเชื้อชาติเดียวกันมาก เมื่อเทียบกับผู้หญิงผิวขาวชาวอังกฤษ)

สาเหตุที่กิจกรรมด้านกีฬาของผู้หญิงฟื้นตัวช้า


ที่มาภาพ: Women in Sport

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกิจกรรมด้านกีฬาฟื้นตัวช้าตั้งแต่เกิดโรคระบาด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กีฬาในร่มอย่างเน็ตบอล (กีฬาที่เป็นนิยมของผู้หญิง) ถูกให้ระงับลงนานกว่ากีฬากลางแจ้งอย่างฟุตบอล (กีฬาที่เป็นนิยมของผู้ชาย) วิกฤตค่าครองชีพยังทำให้ผู้หญิงลดความสำคัญในการใช้จ่ายด้านกีฬาและการสันทนาการลงด้วย

ระดับความเฉื่อยชาของผู้หญิงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผู้หญิง 27% ทำกิจกรรมน้อยกว่า 30 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าผู้ชาย 3% นอกจากนี้สถานที่อย่างอย่างสระว่ายน้ำ โรงยิม และศูนย์สันทนาการทั่วประเทศ ได้ลดการให้บริการหรือต้องปิดตัวลงด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ ก็กระทบต่อการเล่นกีฬาของผู้หญิงด้วยเช่นกัน

แรงบันดาลใจ การเล่นเป็นทีม และการฝึกสมรรถภาพทางกาย


ที่มาภาพ: Women in Sport

ความสำเร็จของทีมฟุตบอลหญิงของอังกฤษในการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2022 ส่งผลเพียงเล็กน้อยในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่หันมาเล่นกีฬาเป็นทีม ผลสำรวจพบว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงเพิ่มขึ้น 1% แต่โดยรวมแล้วมีผู้หญิงเพียง 3% เท่าที่เล่นกีฬาประเภททีมเป็นประจำ (เข้าร่วม 2 ครั้งใน 28 วันที่ผ่านมา) เทียบกับผู้ชายที่ 11%

นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีโอกาสน้อยที่จะเข้าร่วมการฝึกสมรรถภาพทางกายเพื่อความแข็งแรงกว่าผู้ชาย 8% โดยมีผู้หญิง 40% และผู้ชาย 48% ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ผลกระทบในระยะยาวทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะวัยหลังหมดประจำเดือน

กีฬาช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิต


ที่มาภาพ: Women in Sport

เมื่อพูดถึงด้านจิตใจ ผลสำรวจพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมักจะไม่ค่อยพอใจกับชีวิตของตนเอง มีระดับความทุกข์เพิ่มขึ้น และมีความวิตกกังวลมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงยังพบกับความเหงาในระดับที่สูงกว่า โดยผู้หญิง 29% มีอาการเหงา เทียบกับผู้ชาย 20% เมื่อพูดถึงการเล่นกีฬาและการออกกำลังกาย ผู้หญิงรู้สึกว่ามีความสามารถน้อยลง รู้สึกราวกับว่ามีโอกาสน้อยที่จะได้เคลื่อนไหวขยับร่างกาย และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะพบว่ากีฬาสนุกสนานและน่าพึงพอใจมากกว่าผู้ชาย

การทำกิจกรรมเป็นวิธีแก้ปัญหาเพื่อคลายความเหงา ผู้ที่กระตือรือร้นมักจะรู้สึกเหงาน้อยกว่าผู้ที่ไม่ตื่นตัว ซึ่งการเป็นอาสาสมัครยังสามารถบรรเทาความเหงาได้แม้ในหมู่คนที่ไม่กระตือรือร้น แต่ก็ยังมีช่องว่างระหว่างเพศ โดยผู้ชายมีแนวโน้มมากกว่าผู้หญิงเกือบ 2 เท่า (ผู้ชาย 64% ผู้หญิง 36%) ที่จะทำกิจกรรมอาสาสนับสนุนการเล่นกีฬาและกิจกรรมทางกายเป็นประจำทุกสัปดาห์ 

ที่ผู้หญิงมีแนวโน้มน้อยกว่านั้น มาจากข้อจำกัดด้านเวลาเนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้ดูแลหลักภายในครอบครัว และผลกระทบของการเหมาทางเพศที่ว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับกีฬา ทำให้หลายคนมีแรงผลักดันหรือการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยในการเป็นอาสาสมัครสนับสนุนการเล่นกีฬา 

ต้องปิดช่องว่างระหว่างเพศและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เล่นกีฬา


ที่มาภาพ: Women in Sport

สเตฟานี ฮิลบอร์น CEO ของ Women in Sport ระบุว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้พรากเสรีภาพที่พวกเราหลายคนได้รับและจำกัดโอกาสการมีส่วนร่วมในกีฬาของพวกเราไป แม้ว่ากิจกรรมมากมายจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งที่ผู้หญิงจำนวนมากยังคงถูกมองข้ามและช่องว่างระหว่างเพศก็เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันผู้หญิงในอังกฤษ 97% ไม่ได้เล่นกีฬาประเภททีมเป็นประจำ แม้ว่าสิ่งนี้จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะชีวิตมากมาย เช่น ความยืดหยุ่น การสื่อสาร และความเป็นผู้นำ ในขณะที่เด็กผู้ชายวัยประถมส่วนใหญ่เล่นฟุตบอลภายนอกโรงเรียน แต่เด็กผู้หญิงกลับไม่ค่อยได้รับโอกาสนั้นเนื่องจากทัศนคติเหมารวมทางเพศ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“แม้ว่าเราจะผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์มาแล้ว แต่เราต้องไม่ลืมว่าช่วงเวลานั้นโดดเดี่ยวและอ้างว้างเพียงใด ถึงกระนั้น ผู้หญิงจำนวนมากยังคงประสบกับข้อจำกัดมากมาย ทั้งในด้านเวลา การเงิน และสุขภาพ สิ่งสำคัญคือเราต้องทำงานเพื่อปิดช่องว่างระหว่างเพศและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นได้สัมผัสกับอิสระและความสุขที่กีฬานำมาให้ได้” ฮิลบอร์น


ที่มา: 
Adults’ activity levels in England bounce back to pre-pandemic levels (Sport England, April 2023)
Activity levels are bouncing back to pre-pandemic levels, but women are being left behind (Women in Sport, April 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net