Skip to main content
sharethis

เปิดมุมมองตัวแทนภาคประชาสังคม 2 ปีกในชายแดนใต้/ปาตานี “สภาประชาสังคมชายแดนใต้และสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ” กับความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ ชี้ประชาธิปไตยคือโอกาสของสันติภาพ เพราะมีนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหา มีนักกิจกรรมสันติภาพลงเลือกตั้งเอง และมีพรรคการเมืองเสนอนโยบายสันติภาพได้ตรงประเด็น และเป็นที่ต้องการของประชาชน เผยภาคประชาสังคมพร้อมเป็นทั้งกลไกร่วมและพื้นที่กลางสร้างสันติภาพ แต่ต้องกำหนดวาระร่วมกันก่อน เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาในรัฐสภา

ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 2 ปีกที่สำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานีได้ออกมาแสดงความคาดหวังต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่ หลังจากได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะเลือกตั้งได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)มากที่สุดได้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล และเรียกร้องให้สมาชิวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชนโดยโหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

ได้แก่ สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ  (CIVIL SOCIETY ASSEMBLY FOR PEACE) หรือ CAP ที่องค์กรสมาชิกทั้งหมดเป็นกลุ่มของนักกิจกรรมชาวมลายูมุสลิมปาตานี และ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งมีองค์กรสมาชิกที่หลากหลายทั้งกลุ่มของชาวมุสลิมและชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประชาธิปไตยคือโอกาสของสันติภาพ

อัยยุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) กล่าวว่า การออกแถลงการณ์นี้ เนื่องมาจากสถานการณ์ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะยกระดับการแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้ด้วยหลักการประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีความเป็นประชาธิปไตยดีกว่าในช่วงที่ผ่านมา จึงต้องแสดงจุดยืนหรือเจตนารมณ์ให้ชัดเจนขึ้นว่า เราส่งเสริมประชาธิปไตยในการขับเคลื่อนสันติภาพและหลักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

อัยยุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)

ในขณะที่ แวรอมลี แวบูละ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เสียงของประชาชนเกิดขึ้นจริง จึงไม่อยากให้มีอำนาจที่ไม่พึงประสงค์มาขัดขวาง ไม่อย่างนั้นก็จะมีปัญหาตามมาอีก เพราะกลไกที่คณะรัฐประหารวางไว้จะทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ

“อยากให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพราะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อมทุกข์มานานจนประชาชนชินไปแล้ว แต่มันต้องหลุดจากเรื่องวงจรนี้ อยากให้สิ่งที่ประชาชนเสนอทางแก้ปัญหาได้เกิดขึ้นจริง เพราะที่ผ่านมามันมีปัญหาเต็มไปหมด” แวรอมลี กล่าว

นักการเมืองรุ่นใหม่เข้าใจปัญหา

แวรอมลี กล่าวว่า เราคาดหวังกระบวนการประชาธิปไตยเพราะประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้ และการเลือกตั้งครั้งนี้ได้คนรุ่นใหม่ที่ตรงประเด็นเพราะเขาเรียนรู้บริบทปัจจุบัน แต่ก็มีทั้งข้อแข็งและข้ออ่อน โดยเฉพาะบางประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อสังคมชายแดนใต้ เช่นการสมรสเท่าเท่าเทียม แต่กระบวนการทางประชาธิปไตยจะทำให้คุยกันได้ ต่อรองกันได้ เพราะต้องเข้าใจว่าประเทศนี้คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ไม่ใช่มุสลิม

นักกิจกรรมสันติภาพลงเลือกตั้งเอง

แวรอมลี กล่าวว่า คนอยากผลักดันสันติภาพมานานแล้ว ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีนักกิจกรรมในพื้นที่เยอะที่เสนอตัวเองมาเล่นทางการเมือง และสังเกตได้ว่าแม้คนที่ไม่อยู่ใน 3 จังหวัดก็อยากฟังนโยบายแบบนี้มากขึ้น แม้แต่เรื่องของเขตปกครองพิเศษก็ฟังได้ แต่จะตกลงกันได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการพูดคุย

แวรอมลี แวบูละ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

พรรคการเมืองเสนอนโยบายสันติภาพ

อัยยุบ กล่าวว่า CAP ตระหนักในเรื่องหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอยู่แล้วตั้งแต่ก่อตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สอดคล้องกับการที่มีพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคมีนโยบายส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงคิดว่าการแก้ปัญหาจะถูกยกระดับและเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี เพราะคนที่จะเป็นตัวแทนราษฎรในสภาเป็นคนในพื้นที่ที่เข้าใจปัญหามากกว่ารัฐบาลก่อนๆ สามารถนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด 19 ปีที่ผ่านมาได้ดีกว่าที่ผ่านมา

ตรงประเด็น เป็นที่ต้องการของประชาชน

ขณะที่ แวรอมลี กล่าวว่า คาดหวังต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้มีสูงกว่าที่ผ่านมา เพราะนโยบายของพรรคการเมืองมันตรงประเด็นเกี่ยวกับการยกระดับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

“เท่าที่ผมทำงานกับชุมชน เขาต้องการแต่เขาเบื่อหน่ายที่จะพูด เพราะพูดมาเยอะแล้วไม่เป็นผล พูดไปก็เท่านั้น เพราะฉะนั้นการยกระดับกระบวนการพูดคุยให้ชัดเจนความรุนแรงจะลดลง แต่ที่ไม่ลดเพราะไม่ชัดเจน อะไรที่ตกลงกันได้ก็ปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง ที่เหลือก็เอาไว้ก่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าต้องต้องตกลงทั้งหมดทีเดียว” แวรอมลี กล่าว

ภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องทำอะไร

เมื่อถามว่าภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องทำอะไรบ้างเพื่อรองรับนโยบายสันติภาพในพื้นที่ อัยยุบ กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเราพึ่งกลไกจากข้างนอกเข้ามาแก้ปัญหาแล้วคิดว่าจะประสบความสำเร็จ และเราหวังว่าจะมีหลายๆ กลไกเข้ามาช่วย แต่เราไม่ได้สร้างหรือพัฒนากลไกในพื้นที่เพื่อที่จะมาทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับพรรคการเมืองหรือกลไกต่างๆ

อัยยุบยกตัวอย่างเช่น การไม่เห็นด้วยกับกฎอัยการศึกแต่หวังจะให้รัฐสภาพูดเรื่องนี้โดยภาคประชาสังคมในพื้นที่ไม่ได้ทำอะไรในการจะหนุนเสริมการพูดคุยในสภา เช่น การทำความเข้าใจหรือล่ารายชื่อถอดถอนกฎอัยการศึก หรือ หวังจะให้มีการพิจารณาการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกันสภา แต่เราไม่ได้ทำความเข้าใจในพื้นที่หรือล่ารายชื่อให้สภาเห็นว่าการต่ออายุนั้นประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ จำเป็นขนาดไหน

“อย่าคิดว่า เมื่อเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยแล้วพื้นที่ก็จะเปลี่ยนตาม โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย”

อัยยุบ กล่าวว่า ต่อไปเมื่อประชาธิปไตยเติบโตขึ้นภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องทำงานมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจประเด็นที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากจะมีคณะกรรมาธิการสันติภาพก็จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น และต้องผลักสันติภาพให้เห็นวาระแห่งชาติที่ไม่ใช่มาจากการผลักดันของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วมาเคลมในภายหลังว่าเป็นผลงานของพรรค

ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวเรื่องการแต่งชุดมลายูซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามาจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่จะผลักให้เป็นวาระร่วมของพื้นที่ เช่น ให้มีการแต่งชุดมลายูในทุกวันศุกร์ เป็นต้น

คงความเป็นพื้นที่กลาง “พูดคุย รับฟังและเสนอแนะ”

ในส่วนของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แวรอมลี กล่าวว่า ต้องมีบทบาทที่สอดรับกับความคาดหวังของสังคม จะช่วยกันผลักดัน หนุนเสริม สนับสนุน หรือประสานงานอะไรบ้างที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสันติภาพ เพราะต้องอาศัยหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

“สภาประชาสังคมชายแดนใต้เป็นพื้นที่กลางสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหลายที่จะมาพูดคุย แลกเปลี่ยน และเสนอความเห็นต่อประเด็นในห้วงเวลาต่างๆ โดยเฉพาะในห้วงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะหลังจากตั้งรัฐบาลเสร็จก็ต้องอาศัยพวกเราอยู่ดีส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อเสนอส่งต่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

“เราคาดหวังว่าเสียงขององค์กรต่างๆ ที่พูดๆ มาในอดีตเยอะแยะไปหมด ถ้าประมวลดีๆแล้วเสนอผ่านช่องทางที่เหมาะสม ข้อเสนอเหล่านั้นก็จะถูกรับฟัง” แวรอมลี กล่าว

สร้างกลไกร่วม เพราะสันติภาพต้องฟังให้ครอบคลุม

เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีกลไกร่วมระหว่างภาคประชาสังคมกับรัฐบาล แวรอมลี กล่าวว่า เป็นสิ่งดีเลย แต่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างภาคประชาสังคม รัฐบาล และประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายไว้ด้วยเพราะมีบทบาทแตกต่างกัน แต่การมีสถานีร่วมนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะกระบวนการสันติภาพต้องอาศัยความเห็นที่ครอบคลุม

“การรับฟังความคิดเห็นถือเป็นวิชาเอก และต้องทำให้ครอบคลุมซึ่งทำได้ เพราะ 3 จังหวัดไม่ได้กว้าง จะทำให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านประมาณ 2,500 หมู่บ้านก็ทำได้ นอกนั้นก็เป็นเวทีเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้พิการ เป็นต้น เพราะภาคประชาสังคมและส่วนราชการในพื้นที่มีประสบการณ์เรื่องนี้เยอะมาช่วยกันออกแบบและประชาชนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว”

ต้องเข้าถึงหมู่บ้านชุมชนให้มากที่สุด

ส่วนจะเป็นรูปแบบไหนนั้น แวรอมลี กล่าวว่า เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อาจจะมีการทดลองรูปแบบใหม่ๆ  แต่ที่สำคัญคือมีจุดเชื่อม อาจจะใช้เทคโนโลยีมาช่วย แต่เบื้องต้นต้องเข้าถึงพื้นที่หมู่บ้านชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพื้นฐานของชาวบ้านถูกละเลยก็แต่ว่าถูกนำมาอ้างตลอด

“หลายๆ เรื่องเราบอกว่าชาวบ้านไม่รู้ไม่เข้าใจ ซึ่งไม่จริง เพียงแต่เราจะใช้วิธีการแบบไหนที่จะให้ชาวบ้านคุยได้ทุกเรื่อง เราต้องมีบุคลากรที่สามารถแปลงแปลงสารให้ชาวบ้านได้เข้าใจง่ายๆ แต่อย่าไปกล่าวหาว่าชาวบ้านไม่สนใจ ไม่รู้เรื่อง เพียงชาวบ้านเข้าไม่ถึงข้อมูล”

ตั้งกองทุนให้ภาคประชาสังคมเป็นสะพานเชื่อม

แวรอมลี กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลตั้งกองทุนและคัดเลือกภาคประชาสังคมที่จะมาเป็นสะพานเชื่อมก็จะช่วยให้การเข้าถึงดีขึ้นเยอะ แต่ถ้ายังใช้ช่องทางราชการเดิมๆ ผลก็จะออกมาเหมือนเดิม แต่ส่วนราชการก็สำคัญ เพียงแต่ต้องใช้ภาคีหลายๆ ส่วนมาร่วมกันคิด โดยเฉพาะภาคประชาสังคมทั้งหลาย ซึ่งพวกเราก็อยากผลักดันสภาประชาสังคมชายแดนใต้ให้มีบทบาทให้มากที่สุดด้วย

ต้องออกแบบพื้นที่ทำงานร่วมของ “ประชาชน ประชาสังคมและนักการเมือง”

อัยยุบ กล่าวว่าที่ผ่านมา CAP ได้ทำงานร่วมกับนักการเมืองมาแล้วคือ Projek Sama Sama โดยหวังว่าจะให้ประชาชน นักการเมืองและภาคประชาสังคมมาร่วมกันถกเถียงปัญหาในพื้นที่ แล้วนำไปผลักดันการแก้ปัญหาต่อในสภา แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก เพราะยังไม่มีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง บางพรรคเชิญแล้วก็ยังไม่ได้มาร่วม

“ในอนาคตเราก็ต้องออกแบบให้เกิดการพูดคุยกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองทุกพรรคได้ จะได้รับปัญหาไปพูดคุยต่อในรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาได้” อัยยุบ กล่าว

ภาคประชาสังคมต้องมาคุยกันเองก่อนเพื่อกำหนดวาระร่วม

อัยยุบ กล่าวว่า อันที่สองคือ เราต้องให้มีการพูดคุยกันระหว่างภาคประชาสังคมในพื้นที่ด้วยกันก่อนที่จะไปคุยกับนักการเมืองเพื่อให้ผลักดันการแก้ปัญหาในรัฐสภา เพราะภาคประชาสังคมแต่ละกลุ่มก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มาคุยกันก่อนว่ามีประเด็นไหนที่เราสามารถผลักดันร่วมกันได้ เช่น เรื่องสันติภาพ แต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นอย่างไร เราเห็นร่วมกันว่าจะผลักดันการพูดคุยสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติได้หรือไม่ เราก็ต้องมาพิจารณาร่วมกันในรายละเอียดให้ได้ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องทำ

ภาคประชาสังคมก็ยังไม่รู้ปัญหาของกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด

อัยยุบ กล่าวว่า ปัจจุบันต่างคนต่างก็เสนอปัญหาของตัวเอง แต่ยังไม่ได้คุยร่วมกันว่าแต่ละกลุ่มมีประเด็นปัญหาอะไร เช่น คนพุทธก็เสนอในมุมมองของคนพุทธ มุสลิมก็เสนอในมุมมองของมุสลิม ทำให้ไม่เห็นปัญหาของแต่ละฝ่าย

“ตอนนี้เราก็ยังไม่เห็นว่าคนพุทธถูกละเมิดจากขบวนการและจากเจ้าหน้าที่รัฐเองอย่างไร แม้ว่าเราทำงานในพื้นที่มานานแล้วก็ตาม สิ่งที่เราเห็นคือคนมุสลิมถูกซ้อมทรมานหรือถูกตรวจค้นตามด่านต่าง ๆ แต่ไม่เห็นคนพุทธถูกกระทำอย่างนี้ จึงไม่แปลกที่คนพุทธกับคนมุสลิมมีความหวาดกลัวต่างกัน แต่การพูดคุยกันเองจะทำให้รับรู้ว่าคนพุทธเองก็ถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน” อัยยุบ กล่าว

“เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกระบวนการเช่นนี้ ต่อให้รัฐมีนโยบายมาอย่างไรก็แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น การยกฐานะภาษามลายูคนในพื้นที่ก็ยังความเห็นคนละทาง ถ้าไม่คุยกันก่อนก็จะเกิดการปะทะกัน ถ้ามาคุยก็จะเห็นมุมมองอื่น ๆ ร่วมกันได้มากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาบางอย่างจะกำหนดเป็นนโยบายมาเลยไม่ได้ ต้องผ่านการถกเถียงก่อนจึงจะเห็นร่วมกันได้ เพราะการมีพื้นที่ถกเถียงกันก็จะทำให้มีทางออกได้” อัยยุบ กล่าว

ภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องมียุทธศาสตร์ร่วมเพื่อสันติภาพ

อัยยุบ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกันที่จะเชื่อมการแก้ปัญหากับรัฐสภา เพื่อจะได้ขยับเรื่องการแก้ปัญหาร่วมกันหรือจะมีการรณรงค์ในเชิงนโยบายร่วมกันอย่างไร โดยไม่สะเปะสะปะ และบางอย่างต้องใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจอีกเยอะ ซึ่งก็ต้องมานั่งถกกัน

อัยยุบ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่สำคัญ กระบวนการแก้ปัญหาแบบนี้ต้องมีหลักประกันบางอย่างมารอรับ เพื่อให้แก้ปัญหามีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามรัฐบาล แล้วต้องนับหนึ่งใหม่ กลายเป็นการย่ำอยู่กับที่แล้วก็แก้ปัญหาเล็กๆ เป็นเรื่องๆ ไป แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในภาพรวมของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net