Skip to main content
sharethis

ย้อนดูคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ ต.ค.ปีที่แล้ว เคยวางหลักพิจารณาความเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ 'จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่า บริษัทได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่ มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัท เท่านั้น' พร้อมชี้ด้วยว่าดูเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิแต่เพียงอย่างเดียว แล้วมีมติเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

8 มิ.ย.2566 ประเด็นทางการเมืองที่สำคัญช่วงนี้คือการพิจารณาถือหุ้นสื่อ ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่มีผู้ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจาก ถือหุ้นสื่อไอทีวีหรือไม่ ซึ่งจะกระทบต่อสถานะของ พิธา ในทางการเมืองต่อไปนั้น

 

วานนี้ (7 มิ.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'บรรทัดฐานคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญ' นำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (ที่ประชุมใหญ่) ในประเด็นกรณีลักษณะต้องห้ามของการเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท ที่เพิ่งมีคำพิพากษาที่ อ. 963/2565 ไว้เมื่อ 20 ต.ค.2565 มาพิจารณา โดยคำพิพากษา วางหลักว่า “การที่จะพิจารณาว่า บุคคลใดเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้น ในบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง หรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ ว่า บริษัทได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่ มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัท เท่านั้น”

สำหรับคดีดังกล่าว เพจ 'บรรทัดฐานคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญ' สรุปความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีประกาศการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯ หรือ กสทช. ต่อมา พบว่า ผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครเป็นหรือเคยเป็นกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการด้านกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์

แต่ผู้ฟ้องคดีเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ท. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 9 ข้อ โดยข้อ ( ระบุว่า “ประกอบกิจการโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต...” ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ผ่านการคัดเลือก และนำคดีมาฟ้องต่อศาล

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า กรณีลักษณะต้องห้ามข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะต้องพิจารณาตรวจสอบตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏว่า บริษัทได้ประกอบกิจการจริงหรือไม่ มิใช่พิจารณาเพียงวัตถุประสงค์ของบริษัท เท่านั้น

เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานเห็นว่า บริษัท ท. ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แต่ยังคงรักษาบริษัทไว้ เนื่องจากปัญหาเจ้าหนี้และลูกหนี้ และในช่วง พ.ศ. 2547 บริษัทได้เริ่มหยุดดำเนินกิจการ เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน แต่ยังไม่สามารถปิดบริษัทได้ เนื่องจากต้องสะสางบัญชี โดยส่งเอกสารงบการเงินย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2552 ว่าบริษัทมิได้ทำธุรกิจใด ๆ เพิ่มเติม ข้อเท็จจริงจึงยังไม่แน่ชัดว่าบริษัทดังกล่าวได้มีการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ ของบริษัทหรือไม่

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาวัตถุประสงค์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิแต่เพียงอย่างเดียว แล้วมีมติว่า บริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวได้ประกอบกิจการโทรคมนาคม กรณีจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อปี 2556 ศาลปกครองสูงสุด ก็มีคำสั่งในคดีที่ วุฒิพร เดี่ยวพานิช ผู้สมัครเป็นบอร์ด กสทช. แต่ถูกตัดชื่อออกโดยเหตุเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถูกระบุว่า "หุ้นโทรทัศน์" นั้น แต่คำสั่งที่ 114/2556 ของศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ปิดไปแล้ว หลังจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร. 0106/1289 ลงวันที่ 7 มี.ค.2550 แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งให้บริษัทฯ ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งใช้อยู่ในการดำเนินกิจการตามสัญญาเข้าร่วมงานคืย ขณะนี้บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากไม่มีคลื่นความถี่เพราะการประกอบกิจการธุรกิจต้องขออนุญาตจาก กสทช. และบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่ปี 2552 อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานดำเนินกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ พร้อมระบุด้วยว่า การตัดชื่อวุฒิพรออกโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของสำนักบริการข้อมูลธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net