Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชายขอบรายงานอ้างสื่อกะเหรี่ยง เผยอาจมีการฟื้นโครงการส่งผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ไปประเทศที่ 3 หลังถูกระงับไปเกือบ 10 ปี


แฟ้มภาพ UNHCR

10 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานอ้าง Karen News ระบุว่าโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 สำหรับผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งถูกระงับมาเกือบ 10 ปี มีแผนที่จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ข่าวนี้กำลังสร้างความยินดีให้กับผู้ลี้ภัยที่ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลาหลายสิบปี

สื่อกะเหรี่ยงรายงานโดยได้รับการเปิดเผยจากนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้ลี้ภัยว่า ตามข้อตกลงระหว่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และรัฐบาลไทย โครงการตั้งถิ่นฐานใหม่หรือไปประเทศที่ 3 สำหรับผู้ลี้ภัยจากพม่ามีกำหนดการจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งผู้ลี้ภัย ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดนไทยและพม่า ไปยังสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยที่มีสิทธิ์ที่เข้าร่วมในโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่เพื่อไปยังประเทศที่ 3นี้ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งรวมถึงการอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยและเคยเข้าร่วมกระบวนการตรวจพิสูจน์ประชากรที่ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทยระหว่างปี 2562-2563 นอกจากนี้ ผู้ที่เคยเข้าร่วมกระบวนการตรวจพิสูจน์ประชากรที่ดำเนินการโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2558 ก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

“จะมีการเริ่มโครงการ โดยตรวจสอบคนในค่ายระหว่างช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ในการเข้าร่วมการตรวจสอบ คุณต้องมีบัตรที่ออกโดย UNHCR ในปี 2558 หรือบัตรที่ออกก่อนหน้านี้ในปี 2562-2563 หากคุณไม่มีคุณสมบัตรตามเกณฑ์เหล่านี้ คุณจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะเน้นที่การประเมินสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก หลังจากนั้น พวกเขาจะแจ้งให้คุณทราบเกี่ยวกับแผนการย้ายถิ่นฐานที่เป็นไปได้” ซอ พวย เซ เลขาธิการคณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง (KRC) กล่าว

ทั้งนี้ โครงการตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามนั้น ซึ่งถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบัน มีเพียงสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวที่เข้าร่วมในโครงการเปิดรับผู้ลี้ภัยจากพม่า

นันหว่ายเต็ง หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ จ.ตาก ที่อยู่ในค่ายผู้ลี้แห่งนี้มากกว่า 10 ปี กล่าวว่ารู้สึกยินดีกับข่าวนี้ โดยเผยว่า การไปประเทศที่ 3 เขาไม่ได้คิดสำหรับตัวเธอเอง แต่คิดถึงอนาคตและความเป็นอยู่ของลูกๆของเธอ ซึ่งขณะนี้ลูกของเธอนั้นต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว

ตามแนวชายแดนไทย-พม่านั้น มีค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ที่รองรับผู้ลี้ภัยจากพม่า โดยปัจจุบันค่ายเหล่านี้ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยราว 100,000 คน ผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนไทย-พม่านั้น ได้หลบหนีออกจากบ้านเกิดของตัวเองเนื่องจากความไม่มั่นคงและความขัดแย้งทางทหาร โดยมาขอลี้ภัยอยู่ในค่ายเหล่านี้ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่มาขอลี้ภัยด้วยเหตุผลอื่นๆ

ตั้งแต่ปี 2548-2549 มีผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งจากค่ายผู้ลี้ภัยจากชายแดนไทยและพม่า เลือกที่จะตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 ในปี 2561 มีผู้ลี้ภัยบางส่วน ซึ่งอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยได้เข้าร่วมโครงการชื่อ Voluntary Repatriation Center (VRC) เพื่อเลือกเดินทางกลับไปตั้งรกรากในพม่า

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2564 หลังจากการรัฐประหารของกองทัพพม่าที่นำโดยพลเอกมิน อ่อง หลาย ทำให้ประเทศพม่าต้องเผชิญกับความไม่สงบอีกครั้ง เป็นผลให้ประชาชนที่เคยตัดสินใจกลับไปตั้งรกรากที่พม่า ภายใต้โครงการศูนย์ส่งกลับโดยสมัครใจ (VRC) เลือกที่จะหลบหนีกลับมายังค่ายผู้ลี้ภัยที่พวกเขาอาศัยอยู่ในตอนแรกอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net