Skip to main content
sharethis

เวที UN เปิดข้อมูลการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP พบ ไทยพุ่งอันดับ 1 ในเอเซีย นักสิทธิเสนอให้มีกฎหมายป้องกันและเรียกร้องให้องค์กรสิทธิติดตามคดีเพื่อคุ้มครอง-เยียวยาผู้เสียหาย รัฐบาลใน ASEAN ต้องยอมรับบทบาทนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

เวทีแนวทางการจัดการกับ SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความท้าทายและบทเรียนที่ได้รับ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย

สถานการณ์การฟ้องปิดปากหรือฟ้องกลั่นแกล้ง หรือ Strategic Litigation against Public Participation :SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงมีต่อเนื่องและดูเหมือนว่าประเทศไทยจะเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคด้วย ในงานสัปดาห์ UN Responsible Business and Human Rights Forum (UNDP B+HR) ได้มีการจัดเวทีแนวทางการจัดการกับ SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความท้าทายและบทเรียนที่ได้รับ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทยนั้น เวทีดังกล่าวเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนจากตัวแทนภูมิภาค โดยมีการนำเสนอข้อมูลของนักวิจัยและการเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาจากนักสิทธิมนุษยชนที่น่าสนใจ เช่น อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นสมาชิกทำงานสหประชาชาติด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ (WGEID) และ Pochoy Labog นักวิจัย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผู้แทนศูนย์ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (the Business & Human Rights Resource Centre)

กราฟิกข้อมูลจาก BHRRC, Human rights defenders & business in 2021: Protecting the rights of people driving a just transition​, April 2022

ไทยสูงสุดในเอเชีย-แปซิฟิก

ประเด็นสำคัญของเวทีนี้นำเสนอข้อมูลงานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นภาพรวมทั่วโลกของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ถูกฟ้องปิดปากของ Business & Human Rights Resource Centre โดย Pochoy Labog  ระบุว่ามีการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาเรียกร้องให้ธุรกิจดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน มากกว่า 4,700 กรณี นับตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2565 เพียงปีเดียว มีการคุกโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 555 กรณี ซึ่ง 75% คือ กลุ่มที่ออกมาเรียกร้องประเด็นปกป้องสภาพอากาศ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม และ 23% เป็นเรื่องของสิทธิชนพื้นเมือง โดยประเทศแถบละตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกยังเป็น 2 ภูมิภาคที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับผลกระทบมากที่สุดและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2565 จำนวนการโจมตีสูงสุดในเอเชียเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา 40 กรณี และประเทศฟิลิปปินส์ 32 กรณี  

ภาพและข้อมูล ของ Pochoy Labog - BHRRC

Pochoy Labog กล่าวว่า การโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มากกว่า 40% อยู่ในรูปแบบของการใช้กระบวนการยุติธรรมในการกลั่นแกล้ง (judicial harassment) ในปี 2565 มีจำนวนถึง 262 ราย และในช่วงเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2566 พบว่ามีคดีความถึง 437 คดี โดยที่เป็นคดี SLAPP เกี่ยวข้องกับธุรกิจ จำนวนถึง 146 คดี โดยสถิติปัจจุบันจำนวนคดี SLAPP ในเอเชีย-แปซิฟิก พบว่าประเทศไทยมีจำนวนมากที่สุด (51 กรณี) รองลงมาคือประเทศกัมพูชา (28 กรณี) และประเทศอินเดีย (16 กรณี)

Pochoy Labog ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะกลุ่มชนพื้นเมือง ในละติน-อเมริกา ปัจจุบันยังมีการลักพาตัวคนที่ออกมาต่อต้านในการปกป้องสิทธิชุมชน เพราะหลายครั้งประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่จะมีเรื่องธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิชนพื้นเมือง เพราะเกี่ยวข้องกับการแก่งแย่งทรัพยากร กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีการอุ้มหาย หรือถูกฆาตกรรม แต่ในส่วนของการฟ้อง SLAPP ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น มองในประเด็นของการเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับระบบธุรกิจและการใช้อำนาจของภาคธุรกิจที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการโจมตี การพัฒนาประเทศที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงเป็นการทำให้วัฒนธรรมการฟ้อง SLAPP เป็นสิ่งที่คุ้นชิน ว่าเป็นเรื่องทางอาญา โดยทนาย อัยการ และศาล ไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนในกรณีที่เกิดขึ้น  การฟ้องคดีของบริษัทจึงเป็นวัฒนธรรมการร้องเรียนที่สะท้อนให้เห็นของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่นำเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาปรับใช้ แต่กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่นำมาโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรมการฟ้อง SLAPP จึงเกิดขึ้นเพราะขาดความสมดุลหรือการมีส่วนร่วมของบทบาทภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐ ดังนั้น การเรียกร้องให้มีความเข้าใจเรื่องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและการฟ้อง SLAPP จึงควรเกิดขึ้นจากการที่ภาคประชาชนต่อต้านวัฒนธรรมแบบนี้ทุกภูมิภาค

แนะควรมีกฎหมายการป้องกัน SLAPP รัฐบาลใน ASEAN ยอมรับบทบาทนักปกป้องสิทธิฯ และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมติดตามคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

“ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนที่มีคดี SLAPP สูงสุด ในกรณีธุรกิจและสิทธิมนุษยชน รัฐบาลควรจะริเริ่มในการเสนอกฎหมายป้องกันการฟ้องกลั่นแกล้ง หรือฟ้องปิดปาก เพื่อยุติ SLAPP และให้สภาฯพิจารณา โดยคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายควรจะมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย” อังคณา กล่าว

อังคณา เสนอว่า ประเทศไทยควรมีกฎหมายเฉพาะ ป้องกันการฟ้องปิดปากโดยกฎหมายควรกำหนดให้มีการเยียวยาอย่างเหมาะสม และควรสนับสนุนให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมในการประกันตัว และและค่าใช้จ่ายระหว่างการสู้คดี ให้มีการคุ้มครองพยาน โดยยกตัวอย่างกฎหมายเฉพาะ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ( "พ.ร.บ. อุ้มหาย") หรือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 (“พ.ร.บ.ค้ามนุษย์”) ซึ่งเมื่อเป็นกฎหมายเฉพาะแล้วจะทำให้มีขั้นตอนการรับเรื่องที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในคดีการฟ้องปิดปากหรือกลั่นแกล้ง การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกโดยสุจริตเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ โดยศาลควรใช้ดุลยพินิจไม่ฟ้องคดี หรือหากรับคดีไว้พิจารณาก็ ไม่ควรใช้เวลายาวนานอย่างที่เป็นอยู่ 

อดีตกรรมการสิทธิฯ เสนอต่อว่า ภาครัฐต้องยอมรับบทบาท “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นในคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกฟ้องเพราะออกมาปกป้อง ประโยชน์สาธารณะ หน่วยงานของรัฐควรเข้ามาสังเกตการณ์คดี และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อให้ความช่วยเหลือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (NHRCT)  , คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) , The South East Asia National Human Rights Institutions Forum (SEANF) , Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions (APF) องค์กรเหล่านี้ควรมีบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญมากที่จะสร้างกลไกส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องยุติการฟ้องปิดปากตลอดจนให้ความคุ้มครองกับผู้เสียหายด้วย

ภาพ ประชาชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน (อังคณา นีละไพจิตร)

“ประสบการณ์ของตัวเองจากการฟ้องคดีไอโอ คือ ศาลมีคำพิพากษาว่าเว็บไซต์ที่ด้อยค่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีการโพสต์ภาพและข้อความที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง  แต่ศาลไม่สามารถกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายได้ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานใดเป็นผู้ให้การเยียวยา ทั้งที่จริงรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่ากรณีที่มีความเสียหายมีการละเมิดให้รัฐมีการเยียวยาความเสียหาย แต่เนื่องจากประเทศไทย ไม่มีกฎหมายลูกหรือกฎหมายเยียวยากลาง มันจึงมีเฉพาะกฎหมายเรื่องค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีที่เราฟ้องแพ่งกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดว่ากรณีแบบนี้ใครจะต้องเยียวยาให้เรา ดังนั้น แม้ศาลจะพิพากษาว่ามีการละเมิดจริง แต่เมื่อไม่สามารถพิสูจน์หาผู้กระทำผิดได้ ศาลจึงไม่สามารถกำหนดให้หน่วยงานใดเป็นผู้ชดเชยความเสียหาย ทั้งๆที่ตามหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ควรเป็นหน้าที่ของรัฐในการเยียวยาผู้เสียหาย” อังคณา กล่าว

การร่วมเวทีครั้งนี้มีทั้งตั้งคำถามและข้อเสนอแนะโดยจากประสบการณ์ของตนเอง โดยในช่วงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักเคลื่อนไหวที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆที่ออกมาปกป้องสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากรของชาวบ้านหลายคนถูกฟ้องร้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน และได้ผลกระทบอย่างมาก เพราะการฟ้องคดีมีต้นทุนในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อชาวบ้านโดน SLAPP ส่วนมากพวกเขาเข้าไม่ถึงกองทุนยุติธรรม ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ จะมีเฉพาะบางกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนพยายามกดดันจึงจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม เช่น ค่าใช้จ่ายในการประกันตัว แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมักมองว่าชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการต่างๆเป็นพวกต่อต้านรัฐ

“คดีที่ตัวเองถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้อง ศาลใช้เวลาไต่สวนและสืบพยาน จนปัจจุบันเป็นปืที่ 4 แล้ว ซึ่งเสียเวลาอย่างมาก กรณีคดีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มไก่ฟ้องนักสิทธิมนุษยชน แรงงานข้ามชาติ แม้ศาลจะพิพากษาชนะคดีเกือบทั้งหมด ...แต่ถามว่าคนกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับการเยียวยาหรือไม่ เขาต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา เสียสุขภาพจิต บางคนเป็นแรงงานข้ามชาติ เขาก็รอจนสู้คดีจบไม่ไหวก็ต้องหนีกลับประเทศไปแล้วถูกยึดเงินประกัน พอเขาจะกลับมาทำงานที่ไทยอีกก็มาไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ แรงงานเมียนมา หลายคนที่ถูกฟ้องตั้งแต่ ปี 2559 กว่า 7 ปี ที่เขาอยู่ในฐานะจำเลยไม่สามารถกลับบ้านได้ บางคนพ่อแม่ตาย ลูกเจ็บป่วยก็ไม่ได้กลับ สิ่งนี้มันทำลายสายสัมพันธ์ของความเป็นมนุษย์ ทำให้เห็นว่าการสู้คดี SLAPP มันมีค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมเยอะมาก” อังคณา กล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net